๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ ประทานข้อสันนิษฐานคำ นิ ในคำว่า สนุกนิ และคำ เพราะ ว่ายืดมาจาก พิเราะห์ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกปีติยินดีเป็นล้นเกล้า ฯ ในข้อที่ทรงสันนิษฐานนี้ เป็นอันแน่ว่า ความจริงเป็นดังที่ทรงสันนิษฐาน บางที นิ จะเกิดเพราะต้องการเสียงหนักในพวกกลอนก่อน แล้วจึงเลยใช้มาถึงหนังสือร้อยแก้วด้วย หรืออีกอย่างหนึ่งเกิดจากถ่วงเสียงให้มีเสียงหนักแซกเข้าในประโยค เพื่อสะดวกแก่การผ่อนออกเสียง เช่นพูดว่า ไปนิไม่ไป แต่คำ นิ มักมีต่อคำที่เป็นแม่ กก กด ซึ่งเป็นเสียงอัดเอาไว้ ไม่ปล่อยให้เสียงตัวสกดออกมา เมื่อจะออกเสียงคำอื่นต่อไป ก็ต้องหาเสียงอื่นเข้าช่วยแซกในบางโอกาส เช่น สนุกนี่กะไร เสียงที่อยู่ในระหว่างเสียงสั้นเลยถูกลากให้เสียงหดสั้นไปด้วย ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าเดานี้ จะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เปนที่พึ่ง แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ที่ตรัสว่า ไพเราะ ยืดมาจาก เพราะ ก็จะต้องเป็น พำเราะ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริว่าเป็นถูกแท้จริง เพราะ เกิดจากเสียง พิเราะ กลมกลืนกัน เป็นจำพวก ทีเดียว-เทียว ฉันใด-ไฉน แต่ละ-ตละ

คำยืดในภาษาไทย เป็นเรื่องที่ติดใจข้าพระพุทธเจ้ามานาน ว่าเหตุไรเมื่อจะยืดเสียง จึงต้องใช้ยืดด้วย อัม อัน เป็นส่วนมาก คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า หลักแห่งการยืดคำนี้ ไม่ใช่ของไทยมาแต่เดิม เพราะตามตำรานิรุกติศาสตร์ฝรั่งแบ่งรูปภาษาออกเป็นสามชะนิด คือ (๑) ชะนิดที่มีวิภัตติปัจจัย (๒) ชะนิดที่ใช้คำซึ่งไม่ใช้เป็นคำพูดโดยลำพัง ไปติดต่อเข้ากับคำที่ใช้เป็นคำพูด และ (๓) ชะนิดใช้คำโดด ในชะนิดที่สอง บางภาษาก็ใช้เดิมคำที่ไม่ใช้โดยลำพังเข้าข้างหน้าคำที่ใช้เป็นคำพูด บางภาษาก็ใช้เติมกลางคำ บางภาษาก็ใช้เติมหลังคำ ในภาษาตระกูลมอญเขมร ใช้เติมหน้าและกลางคำ ที่ใช้ น เติมกลางแปรความหมายในคำเป็นนามที่มีหน้าที่กระทำ หรือแปรให้เป็นคุณศัพท์ เช่น put ในภาษามอญแปลว่าเจาะด้วยสิ่ว pnut (p-n-ut) แปลว่าตะไกร ในภาษา Khasi (อยู่ในตระกูลเดียวกัน) kian แปลว่าย่ายาย kenian (ke-n-ian) แปลว่าแก่ ในภาษาตระกูลชวามลายู kuman (k-um-an) ในภาษาชาว Dyak เกาะบอร์เนียว แปลว่า กิน คือใช้ อัม ต่อกลางคำว่า kan ซึ่งเป็นตัวธาตุให้เกิดเป็นกิริยา ซึ่งเป็นการกระทำโดยตรง ถ้าเดิม อิน กลายเป็นกิริยาซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ เช่น ในภาษา Malagasy ชาวเกาะ Madagascat-in-apaka แปลว่า ทำให้แตก คิดด้วยเกล้าฯ ว่า หลักยืดคำของไทยก็คือการเติมคำเข้าแซกกลางคำนี้เอง และจะได้เค้ามาจากภาษาชะนิดที่ใช้ติดต่อคำ ซึ่งล้อมอยู่รอบภาษาไทย มีตระกูลมอญเขมร ชวามลายุ และธิเบต พะม่า เมื่อไทยได้หลักนี้มาใช้ ในชั้นเดิม ก็เพื่อจะแปลงความหมายในคำ แต่ต่อมาก็เลือนไป จนคำเดิมและคำที่ยืดออก มีความหมายไม่ผิดกัน เช่น ตรัส-ดำรัส

คำว่ามังกรถูกลากเข้าสู่ มกระ สิงถูกลากเข้าสู่ สีห คิดด้วยเกล้าฯ ว่า มกร เสียง ม เป็นนาสิกโฆษะ ลากเอาเสียง ก ซึ่งเป็นอโฆษะ ให้เป็นเสียง ง ซึ่งเป็นเสียงนาสิกโฆษะ ในพวกวรรค ก อย่าง มกุฏ เป็น มงกุฎ เสียง ง ไม่มีในภาษาบาลีสํสกฤต แต่เสียง ง ใกล้กับ น ม มาก เพราะเป็นชะนิดนาสิกด้วยกัน เวลาออกเสียง ง ถ้าภาษาใดไม่มีเสียง ง ก็จะฟังเพี้ยนเป็น น ม ไป อย่างเดียวกับสระ แอ ถ้าแขกฟังก็จะได้ยินเป็น เอ หรือเป็นเสียงเพี้ยนของ เอ เพราะ แอ ไม่มีอยู่ในเกณฑ์เสียงของแขก เช่น พราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ฟังเสียง ข ค ในภาษาไทยเป็นเหมือน ก ไปหมด เวลาพูด ถ้าเป็น ข ค ก็ปนกันยุ่งกับเสียง ก เพราะในภาษาของทมิฬไม่มีเสียง ข ค คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเสียง ง น ม จะเป็นด้วยลักษณะนี้ เมื่อไทยฟังแขกพูด เช่น คำว่า สํสกฤต ก็เป็น สัมสกฤต บ้าง สันสกฤต บ้าง และ สังสกฤต บ้าง จึงตกลงเขียนเป็น สํสกฤต เพื่อตัดปัญหาเรื่องเสียงว่าอ่านอย่างไหนจึงจะถูก ในภาษาพะม่าไม่สู้นิยมเสียง ง พอถึงคำว่าหงส์ ก็เป็น เฮนซา สิงห์ก็เป็น เซนเซะ

ที่ประทานคำ จลุง จรลุง และ ตลุง ว่าเป็นคำเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้ขึ้นอีก ถ้า จรอก-ตรอก-ซอก ใช้เป็นแนวเทียบ จรลุง-ตลุง-ซุง ก็เข้ากันได้สนิททั้งเสียงและความหมาย

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ ถึงความหมายคำว่า ข้าหลวง เมื่อชำระปทานุกรมมาถึงคำนี้ ได้อธิบายไว้ว่า

ข้าหลวง น. คนที่ถวายตัวเป็นข้าในหลวงและเจ้านาย ผู้มีตำแหน่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินส่งไปราชการ ข้าหลวงเดิม น. คนที่ถวายตัวก่อนเสวยราชย์ ข้าหลวงน้อย น. คนใช้ของเจ้านาย

ภายหลังมีผู้ขอแก้ว่า

ข้าหลวง น. ผู้มีตำแหน่งซึ่งทางราชการมอบหน้าที่ให้ไปทำบางตำแหน่ง เช่น ข้าหลวงประจำจังหวัด ข้าหลวงปักปันเขตต์แดน ผู้ที่ถวายตัวรับใช้ราชการส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์และเจ้านาย เช่น ผู้ที่ประจำการในสำนักพระยุพราชหรือเจ้าฟ้า เรียกว่า ข้าหลวงน้อย ถ้าไม่อยู่ประจำการเรียกว่า ข้าหลวงเรือนนอก เมื่อพระยุพราชหรือทูลกระหม่อมฟ้าองค์ใดขึ้นทรงราชย์แล้ว ข้าหลวงของพระองค์ท่านซึ่งโปรดให้ตามไปประจำตำแหน่งในราชสำนัก เรียกว่า ข้าหลวงเดิม ส่วนข้าราชการในสำนักเก่าที่คงเหลืออยู่เรียกว่า ข้าหลวงใหญ่

เมื่อพิจารณาก็เกิดมีข้อขัดข้องต่าง ๆ แต่ก็หมดความรู้ของกรรมการ ด้วยเป็นเรื่องในราชสำนัก ยากแก่คนภายนอกจะทราบได้ถูกต้องโดยตลอด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ