๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ได้รับแล้ว จะตอบเลเพลาดพาดตามเคย

เดิม เคยพบคำเขมร หมายถึงต้นไม้ทีเดียว เขียนว่า เดิมทลอก=ต้นทลอก ต้นอะไรก็ไม่ทราบ

เปลือกกะโดน เขาเรียกชื่อเปลือกไม้ที่เอามารองกูบช้าง ไม่ทราบว่าเปลือกอะไร เพิ่งมาทราบจากหนังสือท่านฉะบับนี้ ว่า กอโดน เปน ต้นจิก ฉะนั้น เปลือก กะโดน ก็เปน เปลือกจิก กะ นั้นหลงมาจากตัวสกด เปลือก

เหล่ากอ ซึ่ง เข้าใจว่าเปนลูกหลานนั้นเห็นจะเปนความเข้าใจภายหลัง เมื่อเข้าใจคำว่า กอ เปนต้นไม้หลายต้น แตกจากกัน ขึ้นรวมอยู่เปนกลุ่มเดียว เช่น กอไผ่

เลา กับ เรา ฉันคิดว่าเปลี่ยนกันได้ ไม่ประหลาดเลย เมื่อเปน เรา แล้วเปน เฮา ก็ไม่ขัดข้องเลย ฉันเคยสงสัยมานานแล้วในพระราชดำรัส ใช้ตรัสเรียกพระองค์ว่า เรา เมื่อเทียบด้วยคำว่าพวกเราดูก็คิดจะขัดขวาง แต่เมื่อมาทราบจากท่านบอกว่าคำ เลา ของไทยขาวแปลว่าผู้ใหญ่ได้ก็สว่างขึ้น เรา ในพระราชดำรัสนั้นจะต้องหมายความว่าผู้ใหญ่ คำเก่าก็ใช้มีว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่

เสียงสั้นยาว ฉันเข้าใจว่าเปน Accent เท่านั้น ภาษามคธหรือบาลีอะไรก็ตามแต่จะเรียก หรือไม่ใช่ก็ไม่ทราบ ที่จารึกหม้อพระบรมธาตุ ซึ่งเจ้านายเรียกว่า สลิละ อันบรรจุไว้บนภูเขาทอง ณ บัดนี้ ไม่มีเสียงสั้นยาวเปนคู่ ไม่มีตัวสกด ไม่มีตัว ร อยู่ในนั้น จำไว้ได้นิดหนึ่งขึ้นต้นว่า อิยํ สลิล นธเน สกิย... นักปราชญ์ฝรั่งเขาเดาว่า อิยํ คือ อยํ สลิล คือ สรีร นิธเน คือ นิธานํ สกิย คือ สกฺย จารึกอันนี้จะจารึกมานานแล้วเท่าไรไม่ทราบ แต่พาให้เห็นได้ว่าเสียงคู่ยาวนั้นเกิดขึ้นทีหลัง จึงว่าเปน Accent นี่เปนความเห็นช่วยให้คำ เลา ลาว ลงรูปว่าเปนอันเดียวกัน

Bangkok ถ้าอ่านว่า บังกอก ก็พอใจอย่างยิ่งทีเดียว แต่เคยได้ยินฝรั่งอ่านว่า แบง-ก็อก ก็มี แล้วไทยก็ออกเสียงตามฝรั่งไป ทั้งรู้ว่าผิด ไม่ฉะนั้นก็จะไม่เปนฝรั่ง อันคำไทยเปนฝรั่ง คำฝรั่งเปนไทยนั้น อย่าพูดถึงเลย ได้พบมาจนอดหัวเราะไม่ได้ เช่นฝรั่งเขาเขียนเรื่องเมืองภูเกต กล่าวถึงตำบลหนึ่งซึ่งชื่อว่า ทุ่งคา ไทยเราเอามาแปล ตอกลงไปว่า ตองแก พระยาพิพัฒนโกษา (เศเลสตีโน) ตัดถนนแยกจากถนนใหญ่เข้าไปในบ้าน ซึ่งเขาได้รับมรดกจากพ่อ ปลูกเรือนให้คนเช่า ให้ชื่อถนนนั้นว่า แพรกบ้านนาย คำว่า นาย หมายถึงพ่อของเขาซึ่งคนเรียกกันว่า นาย แล้วฝรั่งเข้าไปเช่าเรือนอยู่ เขาเขียนตำบลบ้านของเขาเปนหนังสือฝรั่งว่า Prek Bannai ไทยเราเอามาแปลเปน ปริกบ้านใน

เซียมหลอก๊ก หรือ เสี้ยมโหลก๊ก คำจีนคำนี้ หมายถึงประเทศสยามลาวแน่นอน เมืองจีนถวายตราหยกซึ่งเรียกว่า ตราโลโต หองพระเจ้าแผ่นดินไทยให้เปน อ๋อง มีหนังสือจีน ๔ ตัวในนั้นว่า เสี้ยมโหลก๊กอ๋อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำพระราชลัญจกรขึ้นล้อเปนรูปนั้นองค์หนึ่ง พระราชทานชื่อล้อว่า พระราชลัญจกรสยามโลกัคคราชดีเต็มที

คุก คำนี้เคยไปพบมีเปนชื่อหมู่เทวสถาน ที่กำพงธมในเมืองเขมรเรียกว่า ไพรคุก ไพร แปลว่า ป่า ไม่มีสงสัย สงสัยแต่คำ คุก ถามศาสตราจารย์เซเดส์ บอกว่า ตึกเล็ก ๆ คำว่า ตึกมืด กับ คุก จะเปนอันเดียวกันเสียดอกกระมัง

ข้อที่ว่าคนอยู่ต่างประเทศ ย้ายไปตั้งอยู่ที่ไหนก็เอาชื่อเมืองเดิมไปตั้งที่นั่น เปนการถูกอยู่อย่างหนึ่ง ที่ลากเอาชื่อท้องที่เดิมไปเข้าภาษาของตัวก็มี เช่น พวกจีน (เห็นจะเปนฮกเกี้ยน) เรียกพัทลุง เปน คุด-เถ่า-โล้ง ก็มี ที่ได้ยินว่ากษัตริย์องค์ใดที่เมืองไหนเก่ง ขอยืมเอามาตั้งใช้ทั้งชื่อเมืองชื่อกษัตริย์ก็มี เห็นจะมีเปนอเนกมัย ไม่ใช่แต่คนถิ่นไทยย้ายไปตั้งอยู่ถิ่นไหน ก็เอาชื่อถิ่นเดิมไปตั้งถิ่นใหม่แต่อย่างเดียวเท่านั้น

ข้อที่ท่านว่าคำใด ๆ จะดูเอาแต่พจนานุกรมไม่แน่ได้ ด้วยไม่มีทางประกอบคำอยู่ในนั้น นั้นจับใจฉันยิ่งนัก คนทำพจนานุกรมก็เปนคน ไม่ใช่เทวดา อาจรู้เท่าไม่ถึงการหรือเข้าใจผิดไปก็ได้ ฉันก็เคยจับได้บ่อย ๆ ว่าพจนานุกรมแปลผิด คำประกอบนั้นเปนสำคัญที่สุดที่เราจะคิดคาดได้

ตัวอย่างคำ ชวา ของท่าน ฉันก็นึกขัน อาจไม่ใช่เกาะชวาเดี๋ยวนี้หรือสุมาตรา แหลมมาลายู บอนิโอ อะไรเลยก็ได้ อาจหมายถึงเมืองอะไรที่ใกล้ ๆ เช่นกับว่าเปนเมืองนนท์เรานี่เองก็จะเปนอะไรไป เวลาโน้นเขาจะเรียกว่าเมืองชวา เราจะรู้อย่างไรได้ จะให้ตัวอย่าง เช่น สิงคโปร์ สงขลา สังขลบุรี ฉันเห็นเปนชื่อเดียวกัน แต่อยู่ไกลกันเปนไหน ๆ ฉันเคยสงสัยเหมือนกัน เช่น กล่าวถึงพระเจ้าอู่ทองลงมาสร้างกรุงศรีอยุธยา มีเมืองขึ้นถึงนั่นถึงนั่น ดูกว้างใหญ่มาก ไม่สมกับอำนาจวาสนาที่มาตั้งเมืองอยู่ใหม่เลย

บรรพ์ ในชุดคำ ดึกดำบรรพ์ ฉันก็สงสัยเหมือนกัน แต่ไม่มีลูกดินหนุนหลังพอที่จะส่งเดช ก็ต้องนิ่ง

เรื่องใบ้ ฉันลืมบอกท่านไปเสียอย่างหนึ่ง วิชาที่เขาสอนให้เรียนนั้น มันใช้แต่แก่คนดี ส่วนพวกใบ้ด้วยกันมันไม่ใช้แก่กันเลย ใช้ภาษาใบ้ คือใช้กิริยาแก่กันทั้งนั้น แสดงว่าวิชาที่เรียนนั้นยากเต็มที ไม่สดวกที่จะใช้ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าคนไหนหูได้ยินอยู่บ้าง เขากลับเอาสำลีอุดหูเสีย ให้หูบอดไปเสียทีเดียว เพื่อไม่ให้ใจพะวงไปเปนสองฝักสองฝ่าย

ฉันตามจับคำ ชา มาให้ท่านได้อีกคำหนึ่ง คือ กำชับกำชา คำนี้เห็นว่าเปนพวกเดียวกับ กำหนดกฎชา คำ เด็กชา ของท่านนั้น ไปเข้าพวกหมู่ ชา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ