๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

ได้รับหนังสือลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคมของท่าน อันว่าด้วยคำต่างๆ ลางคำ ทำให้นึกถึงความเห็นอย่างโสกโดกขึ้นมาได้ ให้นึกขัน อดที่จะบอกท่านไม่ได้

วัดวา มีคนเห็นว่าเปน วตฺวา ภาษาบาลี อธิบายว่า เปนที่ไปสนทนาธรรม

กำชับ ฉันเห็นว่ายึคมาแต่คำ กะชับ กระชับ หมายความว่าทำให้แน่น มีคนรับรองเห็นด้วยว่าถูก แต่เขาออกความเห็นว่า ถ้าซ้อนคำเข้าเปน กำชับกำชา แล้ว ทำให้ความหมายอ่อนลง เปนกำชับแต่พอเปนที เข้าทีอยู่มาก

คำซ้ำ ท่านหาตัวอย่างมาได้ มีซ้ำถึงสี่ครั้ง เจ็บปวดมาก บรรดาคำซ้ำออกจะเปนพหุพจน์

ท่านเดาคำ ใบ้ บ่า บอ ทำให้นึกขึ้นมาได้ถึงคำใช้ว่า โง่เง่า เราใช้ติดกันไปเปนความอันเดียว แต่ได้ทราบว่าทางพายัพเขาแยกคำ เง่า ออกไปเปนมีความหมายขึ้นอย่างหนึ่ง ใช้แก่คนในจำพวก บ้า หรือ บอ นั้น เข้าใจว่าเพราะคำนี้เอง เหง้ายุพราช จึงยักไปเขียนเปน ห นำ

คำ แงแง ถึกถึก ฉันไปรู้มาจากไปเที่ยวหาซื้อโอเงินฉลักผีมือดีๆ ที่เมืองย่างกุ้ง เขายกเอามาให้ดูล้วนแต่ใบโตโตทั้งนั้น ฉันจึงบอกล่ามว่าให้เอาใบเล็กเล็กมาดู เขาหันไปบอกกันว่า แงแง ฉันก็ตระหนักในใจว่าแงแง แปลว่า เล็กเล็ก จับใจขึ้นมาจึ่งถามเขาว่า โตโต พูดว่ากะไร เขาบอกว่า ถึกถึก เห็นเข้ารูปภาษาไทยจึ่งได้จำมาบอกท่าน พม่าจะจำเอาคำไทยไปใช้ แต่มีความหมายเปนอย่างอื่นไปนั้นเปนอย่างง่ายที่สุด เขาว่างัวก็เรียกว่า งัว น้ำพริกก็เรียกว่า น้ำพริก เปนคำไทยทั้งนั้น คงจะมีอีกมาก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ