๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๘๑

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๘ ได้รับแล้ว

คำ นิ เป็นคำอันหนึ่ง ถ้าใช้ในทางพูดเปน นี่ หนิ ถ้าใช้ในโคลงฉันท์ เปน นิ ฉันเข้าใจว่าออกจากคำที่เขียนหนังสือว่า นี้ แต่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุใดนั้นไม่ได้คิด ทั้งคิดไม่ไหว ท่านเห็นด้วยว่าฉันวินิจฉัยถูกแล้วก็เปนเบาใจเท่านั้น

จะบอกท่านด้วยความยินดีว่า ฉันได้ค้นพจนานุกรมภาษาเขมรพบคำ พิเราะ อ่านว่า ปิเราะ (ไม่มี ห์ การันต์) แต่คำ เราะห์ ไม่มี พิ นำหาไม่พบ เห็นจะเปนแบบเก่าซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้กันแล้ว พิเราะ เปน ไพเราะ ก็เหมือน พิหาร เปน ไพหาร ไม่ขัดข้อง

ตามที่ท่านคิดว่าคำยืดคำย่นเปนทางมาแต่ภาษาอื่นนั้นถูกแท้ทีเดียว มีพยานเห็นได้อยู่หลายคำ ที่ในภาษาเขมรมีคู่อยู่ทั้งคำยืด คำย่น เช่น เปรอ บำเรอ สคัล สำคัล แต่หลุดเข้ามาสู่ภาษาไทยแต่ บำเรอ สำคัล (เราเขียน สำคัญ) เพียงขอนเดียว เห็นได้ดีๆ ว่าไม่ใช่ของเรา คำยืดและคำย่นนั้น ฉันผูกใจคิดอยู่เสมอว่าจะต้องผิดกันอย่างคำ ตรวจ ตำรวจ เหมือนหนึ่งคำว่า ทลายกับ ทำลาย นั้นก็เห็นว่าผิดกัน ทลาย เปนพังเอง ทำลาย เปน รื้อ สอาง เปน สอาด สำอาง แต่งให้สอาค ตรัส ฉันคิดว่าพูด ดำรัส คิดว่าเปนคำ ที่จริง ตรัส นั้นว่า สว่าง แจ้ง ก็ตรงกับแจ้งความนั้นเอง เปนบอกเปนพูดเหมือนกัน แต่ที่คิดไม่เห็นก็มาก

ขอบใจท่านที่แนะให้เห็นคำ ซอก เปนพวกเดียวกับ จรอก ตรอก ซุง พวกเดียวกับ จรลุง จลุง ตลุง ตัว ต กับตัว ส สับกันอยู่เสมอ เช่น สพาน ตพาน สพัด ตพัด เปนต้น

คำ ข้าหลวง ซึ่งท่านถามไปนั้น ตามคำแปลซึ่งท่านเขียนให้ไปก็เปนถูกต้องตามที่เห็นอยู่ ทั้งที่แปลไว้เดิมและที่ขอแก้ ไม่มีอะไรผิดอยู่ในนั้น ถ้าจะตัดสินว่าอย่างไหนดี ฉันชอบอย่างที่แปลไว้เดิม ที่ขอแก้นั้นรุ่มร่าม แต่ก็ลงกับที่แปลเดิมนั้นเอง

ถ้าจะเอาความเห็นฉัน ฉันก็จะแคะเอาความหมายในคำมากล่าว ข้า แปลว่า คนใช้ หลวง แปลว่า ใหญ่ รวมความว่าคนใช้ใหญ่ คือคนใช้ของเจ้า ให้ผิดกับคำซึ่งมีแต่ ข้า เปล่าๆ คือคนใช้ของคนเล็กๆ ดังมีคำคู่พูดกันอยู่ว่า ข้าเจ้าบ่าวขุนนาง ต่อจากนั้นก็เมื่อมีกรณีอะไรมา อันจะพูดกันให้พ้นสงสัยก็เติมคำต่อเข้าอีก เช่นแบ่งระหว่างข้าเจ้าแผ่นดินกับข้าเจ้าซึ่งไม่ได้ครองแผ่นดิน ก็เติมคำเปน ข้าหลวงใหญ่ ข้าหลวงน้อย เมื่อจะแบ่งชนิดข้าในพวกที่มีอยู่เก่า กับที่ติดพระองค์มาเปนเจ้าแผ่นดินก็เติมคำเรียกพวกที่คิดพระองค์มาว่า ข้าหลวงเดิม แล้วที่ทรงแต่งตั้งให้ไปทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก็เติมคำเข้าตามการ เช่น ข้าหลวงเสนา มีหน้าที่ได้ไปเก็บเงินค่านา (ภายหลังเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เปลี่ยน เรียกว่า ข้าหลวงแสรนา แสร ภาษาเขมรว่า นา เปลี่ยนเสียด้วยเห็นว่าเดิมไม่เปนภาษา) พวกไปเดินเก็บอากรสวนก็เรียก ข้าหลวงเดินสวน แล้วภายหลังก็มี ข้าหลวงเทศาภิบาลขึ้น แล้วก็เห็นไม่ดี เปลี่ยนเปน สมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการ ก็ไม่พอ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเปน ข้าหลวงผู้ว่าราชการ สังเกตว่าคราวหนึ่งชอบคำ ข้าหลวง ถัดมาไม่ชอบ ต่อมากลับชอบขึ้นอีก เหล่านี้เปนรายละเอียดทางพงศาวดารทั้งนั้น ถ้าจะเก็บมาจดให้หมด เห็นจะไม่มีกระดาษเขียน ถ้าหากเพียงจะแปลคำ ข้าหลวง ก็หมายความว่าข้าเจ้าเท่านั้นเอง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ