๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ เดือนนี้ ประทานตำนานของบุษบกไม้จันทน์ ตามที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามและทรงผัดเพื่อสืบสวนเสียก่อนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านทราบเกล้า ฯ ตลอดแล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ที่ทรงพระเมตตาประทานเรื่องต้นเหตุของคำว่า จันทน์ และเรื่องวังจันทร มาในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๙ เดือนก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้รับความรู้เพิ่มเติมจากที่ทรงอธิบายเป็นที่ทราบซึ้งขึ้นไม่น้อย เรื่องคำว่า เวียงจันทน์ มีผู้อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า เดิมเป็นป่าไม้จันทน์ เมื่อมาตั้งบ้านเมืองที่ตรงนั้น จึงได้เรียกว่าเมืองเวียงจันทน์ ที่ข้าพระพุทธเจ้าสืบสวนถึงต้นเหตุของคำนี้ เพราะไปพบชื่อเมืองหนึ่งอยู่ในมณฑลยูนนานของจีน มีเสียงคล้ายคลึงกับคำว่าเวียงจันทน์มาก กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเกิดความคิดนึกออกนอกทางไป คือได้ไปพบชื่อเมืองในแผนที่ของจีนว่า เมืองยงเชียง ซึ่งในตำนานว่าเป็นเมืองตั้งเดิมของพวกไทยสายหง้ายลาว และเป็นบรรพบุรุษของขุนบรมซึ่งมาตั้งเมืองอยู่ในเขตต์ลานช้าง คำว่า ยงเชียงเป็นสำเนียงชาวแต้จิ๋ว ถ้าเป็นชาวกวางตุ้งก็อ่านว่า เวงชอง ในหนังสือของมาโกโปโล ชาวอิตาเลียน ซึ่งมาอยู่ในราชสำนักพระเจ้ากุบลายข่าน กษัตริย์ตาดที่มาได้ครองประเทศจีน เรียกเมืองนี้ว่า Vochan ลางที่ก็เป็น Unchan พะม่าเรียกว่าเมือง Wunzen หรือ Wuntchang ก็ทำให้เห็นชัดว่า คำนี้ใกล้คำว่าเวียงจันทน์มาก นอกจากนี้ จีนยังเรียกแม่น้ำโขง ตอนที่อยู่ในมณฑลยูนนานและตลอดขึ้นไปถึงแดนธิเบตว่า แม่น้ำลานฉอง ธิเบตเรียกว่า แม่น้ำ Lu ts’ ang ส่วนแม่น้ำตอนใต้ลงมา เรียกว่าแม่น้ำเก๊าหลุง ในเสียงกวางตุ้ง แปลว่า แม่น้ำมังกรทั้ง ๙ แต่ที่แท้อาจเป็นเพียงถ่ายเสียงเอามาจากคำว่า เชียงรุ้ง หรือ เกียงรุ้ง ซึ่งแปลเป็นภาษาบาลีว่า กรุงนที ข้าพระพุทธเจ้านึกสงสัยว่า คำ เวียงจันทน์ และ ลานช้าง อาจเป็นชื่อเมืองเดิมของไทยที่ติดมาด้วย มากลายรูปเมื่อภายหลัง แต่ก็เป็นเพียงคิดนึก ไม่มีหลักฐานอย่างไรมาสนับสนุน เพราะคำสองคำนี้ก็แปลได้ความชัดอยู่แล้ว ไม่น่าจะคิดเห็นให้เป็นอื่น แต่ชื่อคนที่เกี่ยวข้องกับ จันทร แปลไม่สู้ได้ความชัดก็มี เช่น นายบุญจันทร แต่มาจนด้วยเกล้า ฯ ที่ค้นหาคำว่า บุญ และ จันทร ที่เป็นคำไทยแท้ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ก็ไม่พบคำที่แปลเข้ากันได้สนิท แต่จีนชอบชื่อว่า บุ๋น ในเสียงแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน ส่วนกวางตุ้งเป็น หมั่น หรือ หวั่น เช่น บุนโฮ้ว บุนป่า แปลว่า ประดับ เลิศ งาม สุภาพ เงามัน พลเรือน (คำ พล กับ บุ๋น หรือ หมั่น หวั่น ก็ใกล้กันมาก) ส่วนคำว่า เชียง ชอง (เสียงโบราณเป็น จอง) หรือที่มาโกโปโลเรียกว่า จัน แปลว่า เจริญรุ่งเรือง ดูงาม

ข้าพระพุทธเจ้านึกสนุกต่อไป ได้เอาแผนที่อาณาเขตต์จีนสมัยโบราณมาตรวจดู พบชื่อแม่น้ำและชื่อเมืองในมณฑลยูนนาน ขึ้นต้นด้วยคำว่า หนำ และ เหม่ง อยู่เป็นกลุ่ม ๆ มากมาย เห็นได้ชัดว่าต้องเป็นคำ น้ำ และ เมือง ในคำไทยแน่ ถ้าเช่นนั้น เบ้งเฮก ที่ในเรื่อง สามก๊ก ว่า ขงเบ้งยกมาปราบ อาจไม่ใช่ชื่อคน จะเป็น เมืองเฮก ก็ได้ ที่ในเรื่องสามก๊กว่าเบ้งเฮกหนีขงเบ้งมาอาศัยเจ้าเมือง โอกอก๊ก ซึ่งในคำอธิบายเรื่องสามก๊กที่หอพระสมุดพิมพ์ ว่ามีแต่ชื่อเมืองในอินเดีย ก็อาจเป็นพวกข่าก้อซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศจีน และพะม่าเรียกว่าพวก Akka ที่ในมณฑลยูนนาน มีเมืองใหญ่อยู่เมืองหนึ่ง จีนเรียกว่า ต้าโฮ ไทยในถิ่นนั้นเรียกว่าหอแต คำนี้น่าจะเป็นคำเดียวกับ ห้อ ใช้เรียกพวกจีนที่มาจากตอนใต้ของประเทศจีน นอกจากชื่อเมือง ก็มีทิวเขาอยู่หลายทิว ล้วนเป็นทิวใหญ่ทั้งนั้น จีนเรียกว่า ทิวเขา หง่ายลาว หรือ อ้ายลาว ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงทิวเขาแดนลาวของสยาม ตลอดจนถึงคำว่า ภูเขาเลาภา ตามที่กราบทูลมานี้ เป็นเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดนึก ผิดพลั้งประการใด ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ผัด-ผลัด สองคำนี้มักใช้กันผิด ๆ เพราะเสียงใกล้กันมาก ข้าพระพุทธเจ้าเองลางคราวก็งง ต้องนึกเสียก่อนจึงใช้ได้ถูก ซ้ำคำซ้อนของคำทั้งสองนี้ก็มีเสียงใกล้กันมาก เช่น ผัดเพี้ยน กับ ผลัดเปลี่ยน อาจทำให้งงได้ ต้องโทษครูผู้สอนมากกว่าผู้ใช้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ผัด กับ ผัน ก็เป็นคำเดียวกัน เช่น ผัดผ่อน ผันผ่อน ความใกล้กันมาก คำที่ใช้กันผิดๆ ถ้าไม่รีบแก้ไขก็อาจทำให้คำซึ่งเดิมเป็นสองคำแต่ต่างเสียงกัน กลายเป็นคำๆเดียวไป และอาจมีมาแล้วบ้าง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยลองค้น แต่ทำให้นึกถึงคำว่า พ่าย กับ แพ้ บางทีความหมายในคำว่า พ่าย จะถูกโอนมาอยู่กับ แพ้ ซึ่งแปลว่าชนะในภาษาถิ่นพายัพและอิศานและไทยถิ่นอื่นๆ ได้บ้างกระมัง

เมื่อคราวสอบไล่ชิงทุนหลวงไปศึกษาวิชายังต่างประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามผู้เข้าสอบ ถึงคำว่า บ้าน กับ เรือน ผนัง กับ กำแพง ผิดกันอย่างไร ก็ปรากฏว่า มีผู้รู้เรื่องผนังกับกำแพงผิดกันอย่างไรน้อยเต็มที ลางคนตอบว่าด้านในเป็นผนัง และด้านนอกเป็นกำแพง ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะภาษาอังกฤษเป็นเหตุ ด้วยภาษาอังกฤษ เรียก wall ทั้งสองอย่าง ส่วนคำว่า บ้าน กับ เรือน มีผู้รู้มากกว่าผนังกับกำแพง แต่ก็รู้ไม่หมดทุกคน ที่เจ็บปวดมากก็คือหนังสือพิมพ์ฉะบับหนึ่ง ลงเรื่องที่เด็กแต่งเข้าประกวดชิงรางวัลเรียงความ เด็กผู้แต่งอธิบายถึงเรื่อง เรือน ใช้คำว่า บ้าน ซึ่งกรรมการตัดสินให้เป็นที่ ๑

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ คำว่า จวน เป็นผ้าชะนิดไร ด้วยมีคำกล่าวไว้ในหนังสืออยู่บ่อยๆ เช่น ในอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา มีคำว่า ผ้าปูม ผ้าไหม ผ้าจวนต่าง ๆ

เจ้านุ่งผ้าจวนไหม หุ่มสะไบชั้นชายทอง (สุบินกลอนสวด)

นุ่งจวนชวาตานี ใส่เสื้อสอดสีจับตา (พระราชนิพนธ์ อิเหนา ในรัชกาลที่ ๑)

นุ่งยกทองล่องจวนเจตคลี (รามเกียรติ์) เจตคลี ก็ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่า เป็นอะไร

ทำนอง จวน เป็นภาษามะลายู แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ