๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๗ เมษายน เป็นที่จับใจข้าพระพุทธเจ้ามาก ที่ทรงเห็นว่าคำพูดคำเดียวกัน ต่างพวกก็ใช้มีความหนักเบาไปต่าง ๆ กัน ถูกกันบ้างขัดกันบ้างเป็นธรรมดา ความข้อนี้ใช้เป็นหลักแนวทางในการค้นคว้าความหมายในคำ ๆ เดียวกัน ซึ่งย้ายที่ไปต่าง ๆ กันได้ดี คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำที่เคลื่อนความหมาย น่าจะเป็นเพราะได้คำใหม่มาใช้เป็นคู่แข่งขัน คำเก่าก็เคลื่อนที่ในความหมายไป ข้าพระพุทธเจ้าเคยสอบค้นคำไทยบางคำที่มีความหมายตามธรรมดา เช่น ผม ฟัน ซึ่งเป็นคำที่ควรจะมีมาแต่เดิม แต่ไฉนไทยถิ่นอื่นจึงเรียก ผม ว่า ขนหัว (เว้นแต่อาหมใช้ว่า พรม หรือ ผรม ใกล้ไปในคำว่าไหมพรม) ฟัน ว่า เขี้ยว หรือ แข้ว จมูกว่า ดัง ยังคำว่ายน้ำ ไทยแทบทุกถิ่นใช้ว่า ลอย

ส่วนลอย ใช้ว่า ฟู และที่แปลกมากก็คือคำว่า แพ้ กลับหมายความว่า ชนะ ทุกถิ่นภาษาตลอดจนภาษาจีน น่าจะมีเหตุการณ์อะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ใช้กลับความหมายกันไป

เรื่อง ประทัด ที่ตรัสว่าอยู่ข้างปลาค ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าค้นไปก็ทำให้งง เพราะคำฝรั่งเศส petard มีอยู่ในภาษายุโรปหลายภาษา รวมทั้งอังกฤษและโปรตุเกสด้วย ค้นหาที่มาของคำก็ได้ร่วมกันทุกตำราว่า น่าจะมาจากเสียงของวัตถุที่ระเบิดแตก เอามาตั้งเป็นตัวธาตุในภาษาขึ้น คำว่า ผ่าว หรือ เผียว ในภาษาจีน เสียงเดิมเป็น ผัก พัก ในภาษาหนังสือ ทางแต้จิ๋วยังเรียกประทัดว่า ผักเตก ผัก หรือ เผ่า แปลว่าเผา ทำให้ไหม้ เตก แปลว่า ไม้ไผ่ อธิบายว่าก่อนรู้จักใช้กระดาษห้อดินปืน จีนสมัยโบราณใช้บรรจุดินปืนในไม้ไผ่ ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยว่า เดิมจะเป็นคำเกิดจากเสียง และภายหลังแก้เสียงลากเข้าความให้แปลได้ แต่คำ ผักเตก คงไม่ใช่คำเดียวกับประทัด เพราะถ้าสืบมาจาก ผักเตก ก็จะมีเค้าให้เห็นเหลือตกค้างอยู่บ้างในไทยบางถิ่น แต่ไทยถิ่นต่าง ๆ ก็เรียก เผ่า อย่างภาษาจีน ในถิ่นอีศานเรียกประทัดว่า กะโพะ ซึ่งคงจะมาจากเสียงอีก ในภาษามอญไม่มีคำว่าประทัด ถ้าจะมีก็ต้องเป็น เผ่า ตามภาษาจีน ซึ่งเป็นเจ้าของประทัด

ในภาษามลายู ข้าพระพุทธเจ้าค้นพบในพจนานุกรมมลายู-อังกฤษเล่มหนึ่ง คำว่า ประทัด มลายูเรียก merchun และ petas คำหลังตรงกับประทัดในภาษาไทย พจนานุกรมอีกเล่มหนึ่งแปล petas ว่า น้ำที่ปุดเดือดเป็นฟองขึ้นมา และแปลว่าประทัดด้วย แต่ทำเครื่องหมายสงสัยไว้ว่า จะมาจากเสียงหรือว่ามาจาก petard ในภาษาอังกฤษ ในพจนานุกรมอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นฉะบับเก่า ตีพิมพ์ไว้หลายสิบปีแล้ว ไม่มีคำว่า petas แต่มีคำ petus หรือ petfus แปลว่าสายฟ้า และเสียงฟ้าลั่น ฟ้าผ่า ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า petus กับ petas จะเป็นคำเดียวกัน คำ petas ที่แปลว่า ประทัด คงเป็นความหมายรุ่นหลัง ขยายความเลื่อนออกไปจากเสียงฟ้าลั่นเอามาเป็นแนวเทียบใช้เรียกประทัด ซึ่งมีเสียงโด่งดังในลักษณะเดียวกัน และคงเป็นของใหม่ ไม่ใช่มีมาแต่เดิม ถ้าคำ petas เป็นคำเก่า ก็ควรจะมีอยู่ในภาษาชวา และมีคำแปลว่าประทัดไว้ในพจนานุกรมมลายู-อังกฤษเล่มเก่าด้วย และควรจะมีในภาษาเขมรและไทยพ้องกัน ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่มีโอกาศสอบสวนผู้ที่รู้จักภาษาถิ่นปักษ์ใต้ว่าประทัด ในคำเก่าทีเดียว

เรียกว่าอะไร ถ้าได้มาก็อาจทราบเรื่องได้แน่นอนขึ้น

ส่วนคำ petard ในภาษาฝรั่ง เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับคำประทัด น่าจะเกิดเพราะตั้งคำด้วยเลียนเสียงมากกว่าอื่น เพราะคำที่ตั้งจากเสียงมักพ้องกันได้ในภาษาต่าง ๆ แม้จะเป็นภาษาอยู่กันคนละตระกูล เพราะตั้งมาจากเสียงอย่างเดียวกัน เช่น คำ murmur ในภาษาอังกฤษแปลว่า พึมพำ กับคำว่ามะเมอ หรือ ละเมอ และเพ้อในภาษาไทย ถ้าเป็นชื่อนกชื่อสัตว์ต่าง ๆ ก็พ้องเสียงกันมาก อย่างนกกะเรียนนกเขียน Crane และเกราญจ ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบคำว่า ตุ๊กแก ในภาษาต่าง ๆ ปรากฏว่าตั้งตามเสียงตุ๊กแกร้องทั้งนั้น และเสียงร้องก็ฟังกันต่างๆ กัน เป็น อักแอ กับไก่ ตอกแต คัดโค้ เยกโก้ จักโก โตเกก เป็นต้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ