๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ เดือนนี้ รวม ๒ ฉะบับ ทรงพระเมตตาประทานคำอธิบายและข้อสันนิษฐานถ้อยคำต่าง ๆ พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ในเรื่องเสียง ง กับ ห เมื่อทรงสะกิดขึ้นถึงคำ หับ กับ งับ ซึ่งภาษาไทยใช้ทั้งสองคำ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าอดอยู่ไม่ได้ ต้องค้นและลองคิดถึงคำอื่นๆ ต่อไป ก็เห็นแปลกที่ปรากฏคำในจำพวกเดียวกันผุดขึ้นหลายคำ เป็นเหตุให้เกิดฟุ้งซ่านในความคิดนึก ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบารมีปกเกล้าฯเป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงกรุณา

เสียงพยัญชนะใน วรรค ก กับเสียง ห อาจเพี้ยนกันได้ง่ายกว่าเสียงพยัญชนะในวรรคอื่น เพราะที่ตั้งของเสียงอยู่ที่คอด้วยกัน มีตัวอย่าง คือ

ก-ห ก่าน-หาญ (ประ) กับ--หับ

ข-ห ขื่น-หืน ข่ม-ห่ม ยิ้มขัว-ยิ้มหัว

ค-ฮ คึก-ฮึก ค้างคาว-ฮุ้งคาว (พายัพ)

และโดยเหตุที่เสียง ห กับ ร ล มักเปลี่ยนกันได้ เมื่อออกเสียง ร ไม่ได้ ก็กลายเป็นเสียง ห ฮ ไป แล้วลามมาถึง ล ด้วย เสียงพยัญชนะ วรรค ก จึงเป็น ร ล ได้อีกชั้นหนึ่ง โดยอาศัยเสียง ห เป็นสะพาน เช่น ก้าว-ห้าว-ร้าว-กร้าว ขื่น--หืน-คลื่น เคี้ยวคด-เลี้ยวลด

คำที่เพี้ยนเสียงใน วรรค ก กับ ห ในภาษาจีนมีแปลกอยู่คำหนึ่ง คือ หับ ในเสียงชาวกวางตุ้ง แต่เป็น ขับ ในเสียงแต้จิ๋ว ซึ่งแปลว่า ง่วงนอน หลับตา ถ้าเทียบกับคำ ขับ ในสำนวนที่ว่า อดตาหลับขับตานอน ความก็เข้ากันได้สนิทสนม ดีกว่าแปลว่า ขับไล่ให้ตานอน ถ้าพิจารณาตามแนวเทียบข้างบนนี้ ก็เข้ารูปกันได้ เป็น ขับ-หับ-หลับ และคำนี้ในตัวหนังสือจีน ถ้าเอาเครื่องหมายที่เป็นตาออกเสีย เติมคำว่า ประตู เข้าแทน ก็อ่านอย่างเดียวกัน แปลว่า ประตู หรือ ปิดประตู ถ้าเหลือแค่คำโดยลำพัง ไม่เติมเครื่องหมายว่าตาหรือประตู ก็แปลว่าครอบ ว่างำ ถ้าแปลงรูปตอนบนของคำ ก็แปลว่าถาดที่มีฝาปิด หีบเล็ก ๆ หรืออับ ถ้าอ่านคำนี้ว่า อำ หรือ ออม อม ก็แปลว่าปิดสนิท เพราะฉะนั้น คำว่า ประกบ ประกับ กำ หับ หีบ งับ งำ ขับ หลับ อับ ครอบ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เป็นคำพวกเดียวกัน แล้วยังเลยไปถึงคำในจำพวก อม ออม โอบ อ้อม หอบ หอม งอบ รอบ รวบ รวม ร่วม ลอม งวม กรอบ กรวม คร่อม ขอบ ซึ่งล้วนเป็นคำมีความหมายในเรื่อง ปิดงำรวมเอาไว้ และมีเสียงตัวหน้าอยู่ในพยัญชนะ วรรค ก และ ห ฮ ร ล อ ทั้งนั้น

พงัว ที่ทรงเห็นว่า พ จะเป็น พระ หรือ พ่อ ก็ได้ ตลอดจนคำเช่น พนักงาน พนาย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ เพราะถ้าจะพิจารณาถึงเสียง ก็เข้าอยู่ในหลักเสียงกร่อน ซึ่งอาจเป็นได้ และความหมายก็เหมาะกัน ในไทยอาหมและไทยคำที่ เรียกบุตรชายคนที่ห้าว่า งัว ไม่มี พ อยู่หน้า ส่วนคำ พณฯ ข้าพระพุทธเจ้าพบเอกสารซึ่งเกี่ยวกับการทัพตีเวียงจันท์ครัวรัชกาลที่ ๓ เขียนเป็น พันหัวเจ้าท่าน ทุกแห่ง แต่ความไม่สนิทเท่ากับ พ่อ หรือ พระ จะว่า หัวพัน ก็มีศักดิ์ต่ำไป จะว่า พันหัว ก็ไม่ปรากฏมีใช้ในที่อื่น น่าจะเป็นเรื่องลากเข้าความมากกว่าอื่น

หงส์ ในคติของจีนจัดเข้าในจำพวกสัตว์ทิพย์ ซึ่งมีอยู่สี่พวก คือ กิเลน หงส์ เต่า และมังกร หงส์ของจีนมีลักษณะเป็นคนละอย่างกับหงส์อินเดียในทางพงศาวดาร หากเสียงในภาษาชาวแต้จิ๋วและฮกเกี้ยนออกเสียงว่า หง พ้องกับ หงส์ เข้าด้วยบังเอิญ เพราะชาวกวางตุ้งและแคะออกเสียงว่า ฝง หรือ ฝอง ชาวจีนหลวงเป็น เฝง ชาได้ออกเลียงว่า หง ร่วมกันทุกชาวไม่ ผิดกับ คำว่า หง อีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่า ห่านป่า จีนทุกชาวออกเสียงว่า หง ห่ง ห่อง ร่วมกัน ซึ่งคงตั้งชื่อตามเสียงร้องของห่านป่า หงส์ และ หง ที่แปลว่า ห่านป่า ฝรั่งแปลว่า swan ส่วน หง ซึ่งเป็นนกทิพย์ของจีน ฝรั่งแปลโดยอนุโลมว่า phoenix อันเป็นนกทิพย์ของคติฝรั่ง

หง ที่เป็นนกทิพย์ของจีน ถ้าเป็นตัวเมีย เรียกว่า หว่อง เรียกรวมกันทั้งตัวผู้และตัวเมียว่า ฝงหว่อง(กวางตุ้ง) ฮ่งฮวด(แต้จิ๋ว) และ เฝงหว่าง(จีนหลวง) นกนี้กล่าวว่าศีรษะคล้ายนกพญาลอ จงอยปากคล้ายอีแอ่น คอคล้ายเต่า รูปลายตัวคล้ายมังกร และมีหางอย่างปลา แต่ตามรูปที่นิยมเขียนกัน เป็นรูปครึ่งนกยูงและนกพญาลอ เป็นแต่เติมสีสลับกันเป็นห้าสี หงนี้ถือเป็นเครื่องหมายพระราชินี คู่กับมังกรซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระราชา หงจะมาปรากฏให้เห็นตัว เมื่อมหากษัตริย์ทรงราชธรรม เป็นเครื่องหมายว่าสวรรค์ทรงโปรดปราณ

กิเลน ถ้าเป็นตัวผู้เรียกว่า ขี่ ตัวเมียเรียกว่า หลิน รวมเรียกว่า ขี่หลิน เป็นสัตว์ทิพย์ ปรากฏขึ้นเมื่อใดก็เป็นสวัสดิมงคล เพราะฉะนั้นจึงมักปรากฏตัวเมื่อบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขหรือผู้มีบุญเกิด ตามตำราว่า กิเลน ตัวเป็นกวาง หางเป็นงัว มีเขาเดียว ไม่บอกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่รูปที่เขียนศีรษะคล้ายมังกร ส่วนมังกรในตำราก็ให้ลักษณะไว้พิสดารไม่แพ้สัตว์หิมพาน คือ มีศีรษะคล้ายอุฐ เขาคล้ายกวาง ตาคล้ายกระต่าย หูคล้ายงัว คอคล้ายงู ท้องคล้ายเหี้ย เกล็ดคล้ายปลาหลีฮื้อ (ในจำพวกปลาตะเพียน) เล็บคล้ายนกอินทรี อุ้มเล็บคล้ายเสือ เกล็ดมีจำนวน ๘๑ เกล็ด เสียงคล้ายเสียงฆ้อง สองข้างปากมีหนวดเครา ใต้คางมีมุกดา ใต้คอมีเกล็คย้อน หายใจเป็นเมฆ บางทีก็แปรเป็นฝนหรือเป็นไฟ

ที่ทรงอธิบายถึงพระพุทธรูปชินะ เป็นทีจับใจข้าพระพุทธเจ้ามาก ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยมานานว่า เหตุไรการสร้างพระพุทธรูปจึงสร้างพระรูปลุ่น ๆ ไม่มีกลีบผ้าย่นให้เห็น ซึ่งถ้าจะทำก็ไม่มีติดขัดลำบากอะไร ที่ไม่ทำก็คงเนื่องด้วยเจริญรอยสืบประเพณีจากพระพุทธรูปต้นเดิมที่ได้มา ซึ่งมีเค้าไปในทางศาสนาชินะอยู่ด้วย เรื่องลัทธิศาสนาที่มีหลักคล้ายคลึงกันและอยู่ในทางที่ติดต่อกันได้ง่าย ย่อมเป็นโอกาศให้ปนกัน คิดด้วยเกล้าฯว่า เป็นทำนองเดียวกับภาษาที่ลากเอามาจากภาษาหนึ่งให้เข้ามาอยู่ในอีกภาษาหนึ่ง จนสืบสาวกันได้ลำบากเพราะปนกันหมด ในเรื่องศาสนาพุทธกับชินะ ที่ประทานข้อสันนิษฐานมานี้ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้ซึ่งเดิมเป็นแต่เพียงสงสัย คลำหาเค้าไม่ถูก เมื่อทรงพระเมตตาแนะเค้าทางให้เช่นนี้ ก็เป็นช่องให้ข้าพระพุทธเจ้าขยายวงความคิดออกไปได้อีก

ปั้นหย่า ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อสนิทตามข้อสันนิษฐานที่ประทานมา ที่พระปั้นหย่า กลายเป็นชื่อโรงที่ไว้พระปั้นหย่า เป็นเรื่องความหมายย้ายที่มีเหตุผลที่ย้ายเข้ากันได้สนิท

ที่ทรงพระเมตตาประทานคำ ไพเราะ ว่า เขมรเป็น ปิเราะ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ เป็นอันได้หลักฐานแน่นอนว่า เพราะ ย่นมาจาก พิเราะ หรือ ไพเราะ แน่

เรื่องคำยืดคำย่น ในคำว่า ตรัส และ ดำรัส มีความต่างกัน เมื่อทรงอธิบาย ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้เห็นว่าผิดกันจริง ไม่เช่นนั้นจะยืดคำทำไม แต่ก็อาจมีบางคำซึ่งเกิดขึ้นเพราะกวีอาศัยหลักยืดคำนี้เป็นแนวเทียบ ไปยืดเอาคำอื่นให้ได้พยางค์กลอนโดยไม่มุ่งหมายไปในทางจะแปลงความหมาย ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลนี้เป็นแต่เดาเท่านั้น ยังหาได้สอบสวนให้ถ่องแท้ไม่

ที่ประทานคำแปลคำ ตรัส ว่า สว่างแจ้ง ตรงกับแจ้งความนั่นเอง จับใจข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าคิดไปไม่ถึงว่าเป็นคำเดียวกัน ทั้งเป็นทางให้ข้าพระพุทธเจ้านึกเลยไปถึงคำ จรัส ซึ่งคงเป็นคำเดียวกับ ตรัส ที่แปลว่า สว่างแจ้งนั่นเอง ข้าพระพุทธเจ้าเคยสนใจเรื่องคำยืดคำย่นอยู่พักหนึ่ง ได้ลองเก็บคำต่างๆ มาเปรียบเทียบดูถึงหลักที่ใช้ยืด ดูก็ไม่มีมากลักษณะนัก แต่เมื่อจับเทียบก็กลับเป็นเรื่องยุ่งยาก คำยืดส่วนมาก ถ้าไม่ใช่คำกล้ำก็มักแซก อำ และ น เช่น กัน-กำนัน ขด-ขนด คูณ-คำณูน จำ-จำนำ ชาญ-ชำนาญ เสียง-สำเนียง เดิร-ดำเนิร ติ-ตำหนิ ทาย-ทำนาย บวก-ผนวก ผัง-ผนัง พัก-พำนัก ราว-ระนาว เลา-ลำเนา อวย-อำนวย ในที่นี้ คำที่ขึ้นตันด้วยพยัญชนะนาสิกไม่มีตัวอย่าง เพราะเอาไปใช้เป็นตัวยืดเสียงเสียแล้ว พยัญชนะที่ขึ้นตันด้วย ฝ ฟ ก็ไม่มี ยิ่งแสดงให้เห็นว่า หลักยืดคำไม่ใช่หลักของภาษาไทย เพราะ เสียง ฝ ฟ มีอยู่แต่ในเสียงไทย ซึ่งเสียงชาติเพื่อนบ้านไม่มี นอกจากมลายู ซึ่งน่าจะได้มาจากอาหรับอีกต่อหนึ่ง เสียงขึ้นต้นด้วย ฉ ข้าพระพุทธเจ้านึกค้นหาตัวอย่างคำยืดไม่พบ แต่มีคำที่ยืดแปลกไปจากหลักอยู่คำหนึ่งคือ ปัด-บำบัด ซึ่งควรจะเป็น บำนัด บางที บำบัด จะไม่ได้ยืดมาจาก ปัด จึงไม่เข้ารูปอยู่ในหลักข้างต้น

ส่วนคำที่มี ร ล กล้ำ แซก อำ อย่างเดียว เช่น กรอ-กำรอ เขลาะ-กำเลาะ เจรียง-จำเรียง

ขึ้นต้นด้วยเสียง ซ แปลง ซ เป็น ช แล้วเติม ร เช่น แซก-ชำแรก เซาะ-ชำเราะ

ขึ้นต้นด้วยเสียง ถ แซก ล เช่น ถก-ถลก ถา-ถลา

ขึ้นต้นด้วยเสียง ส แซก อำ เช่น สอาง-สำอาง

แต่ที่แปลกออกไปจากหลักข้างต้นนี้ก็มี เช่น

กโบล-กำโบล เขดา-กำเดา แขง-กำแหง

ฉะเพาะ-จำเพาะ ชะงัด-ชำงัด

ผสม-บันสม-ประสม ผเอิญ-บังเอิญ ผธม-บันธม ระลึก—รำลึก ระดับ-ลำดับ (แซก น)

เสวย-สังเวย เสวียน-สังเวียน สกัด-สังกัด ถวาย-ตังวาย ผก-ผงก ผาด-ผงาด (แซก ง)

ทอย-ทยอย (แซก ย)

ฉีก-ฉลีก (แซก ล)

ฉวย-ฉมวย (แซก ม)

ลือ-ระบือ ลบอง-ลำบอง เรียบ-ระเบียบ เริด-ระเบิด เรียง-ระเบียง รำ-ระบำ (แซก บ)

คำเหล่านี้บางคำก็พอเห็นเค้า เช่น แขง เป็น กำแหง กระจาย ข เป็น ก ห แล้วแซก อำ หว่างกลาง บางคำเมื่อแซกแล้วแปลงเสียงอโฆษะเป็นโฆษะ เช่น ติ-ตำหนิ ปราบ-บำราบ แต่พอถึงคำที่ตัวเดิมเป็นโฆษะกลับแปลงเป็นเสียงหนักไป เช่น บวก-ผนวก เสียงหนักกลับแปลงเป็นเสียงโฆษะ เช่น แถลง-ดำแลง แต่แปลงเสียงหนักเป็นเสียงอโฆษะก็มี เช่น ถวาย-ตังวาย เป็นอันค้นหาหลักให้แน่ไม่ได้ สงสัยด้วยเกล้า ฯ ว่า หลักยืดคำในภาษาไทยในบางลักษณะอาจฟั่นเฝือเสียแล้วก็ได้ หรือตัวอย่างที่นำมาเปรียบเทียบบางคำจะผิดก็ทราบเกล้า ฯ ไม่ได้ นอกจากจะได้สอบหลักคำยืดในตระกูลภาษา มอญ-เขมร และชวา-มลายู แต่ก็หาตำราที่อ่านออกไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ยังเป็นเรื่องน่าคิดอยู่ เมื่อมีอะไรมากระทบ ข้าพระพุทธเจ้าก็อดคิดอยู่ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ทราบเกล้า ฯ อยู่ว่าไม่มีทางจะคิดไปได้ตลอด คล้ายกับว่าเรื่องคำยืดมีเสน่ห์เพราะในบางภาษาเช่น ภาษาอาหรับ ภาษาฝรั่ง และภาษาอินเดียตอนใต้บางภาษา ชอบยืดคำด้วยการเติม น จนมีศัพท์ฉะเพาะในตำรานิรุกติศาสตร์เรียกว่า nunniation ก็ไปตรงกับหลักยืดคำในวิธีแรกที่กราบทูลมาข้างต้นนี้ คำยืดในจำพวกนี้จึงมีตัวอย่างของคำอยู่มากกว่าวิธีอื่น เพราะออกจะเป็นหลักทั่วไป

ตามที่ตรัสประทานอธิบายเรื่องคำแปลคำ ข้าหลวง เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ความจริงข้าพระพุทธเจ้าก็เขลามากที่มัวคิดตามแปลคำว่า ข้าหลวง ให้เข้ารูปกับที่ใช้กันทุกยุคทุกสมัย อันเป็นความนิยมที่กลับไปกลับมาได้ไม่อยู่ที่

ข้าพระพุทธเจ้าได้ผ่านตรามังกรของโบราณคดีมาบ่อย ๆ ก็ไม่ได้นึกว่าทำไมจึงใช้รูปมังกร ครั้นนึกได้ก็ลืมกราบทูลขอประทานพระเมตตาเสียทุกคาว เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ ถึงเหตุที่ใช้ตรารูปมังกรนี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ