๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๘ เดือนนี้ ทรงแนะแนวสำหรับค้นหาที่มาของคำใช้ไม้ม้วน พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

แนวทางที่ทรงแนะมานี้ เป็นเค้าให้ข้าพระพุทธเจ้าขยายวงความคิดออกไป เพราะไม่ได้เฉลียวนึกมาแต่ก่อน

เรื่องสระของไทยใหญ่ ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าเดาเสียงจากตัวโรมันเป็นดังนี้ อะอา อิอี อุอู เอ (เสียงสั้นและยาว) ไอ (เสียงสั้นและยาว)

เอา (เสียงเอาะ ใช้สระ เอ+อา ไม่ใช่ ออ+อะ)

ออ อาว อิว โอ อือ ออย และ เออ (เสียงไม้ม้วน)

ในภาษาอาหม เติม อํ ระหว่าง อิว กับ โอ

สระเหล่านี้ พอถึงสระที่ใช้ใน แม่เกย ฝรั่งจดเป็นตัวโรมันสับสนและยุ่งมากเพราะเป็นเสียงที่ฝรั่งไม่สู้มีใช้ คงฟังเสียงไขว้เขวไปต่าง ๆ ได้ เช่น เสียงไม้ม้วน ที่จดไว้ว่า aü ในคำอธิบายซึ่งข้าพระพุทธเจ้าพบทีหลังว่าเป็นเสียงสระ aēü (อา+เอ+อือ) ซ้อนกันสามเสียง เมื่อลองออกเสียงดู ก็ไม่ผิดกับเสียง ไอย อาย เลย และในสระเหล่านี้ไม่ปรากฏมีเสียง เอย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเสียงไม้มลายคงตกอยู่ในเสียง เอย ไอย อาย เป็นแน่ บางทีจะโอนคำ ไอย ไปใช้ถ่ายเสียงภาษาบาลี จึงต้องสร้างไม้ ใอ ขึ้น แต่เรื่องก็ยังตกอยู่ในการเดา ไม่ตลอดปลอดโปร่งไปได้

ใคร ในคำอธิบายหน้าต้นของพจนานุกรมอาหม–อังกฤษว่า คำที่เขียนหนังสือเป็นกล้ำ แต่เวลาอ่านเป็นไม่กล้ำ ตรงกับที่ตรัสไว้ในคำว่า ใคร และ ใค ครั้นตรวจดูคำที่ให้ไว้ ความกลับตรงกันข้าม คือ เขียนหนังสือเป็นไม่กล้ำ แต่บอกให้อ่านเป็นเสียงกล้ำ เช่น เขียนว่า ไข่ ให้อ่านว่า ไขร่ กิน ให้อ่านว่า กลิน (ในความว่า กลืน ถ้าในความว่า กิน ก็คงเสียงตามตัวหนังสือ) ที่บอกไว้ก็เป็นบางคำ บางคำก็เขียนหนังสือเป็นกล้ำไว้ทีเดียว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ผู้รวบรวมไม่มีความรู้ในภาษาไทยถิ่นเหล่านี้เพียงพอ จึงจดไว้ไขว้เขวต่าง ๆ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ