๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ เดือนนี้ ๒ ฉะบับ ประทานเรื่องคำบางคำซึ่งมีผู้สันนิษฐาน และเรื่อง คด ซึ่งทรงพระเมตตาประทานคำอธิบายมานั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

วัดวา คำนี้มีบางท่านสันนิษฐานว่ามาจากคำ วัสส ทางเขมร ภายหลังเขมรเปลี่ยนเขียนเป็น วัต โดยเอาอย่างไทย บางท่านก็ว่ามาจาก วัตร ยังมีคำในภาษาบาลีและสํสกฤตอีกคำหนึ่ง ที่เสียงและความใกล้กับวัด คือ อาวาศ คำว่าเจ้าวัดและเจ้าอาวาศก็ใช้กันอยู่ เสียงสระ ถ้าอยู่หน้าอรรธสระ คือ ย ว มักกลมกลืนเข้าไปอยู่ในเสียงอรรธสระ ในที่สุดเสียงสระก็หายไป เพราะฉะนั้น อาวาศ อาจเหลือเสียงเพียง หวาด หรือ หวัด ได้อีกทางหนึ่ง คำว่า วา ที่เป็นสร้อยคำของวัด อาจเกิดเพราะซ้ำคำวัด โดยผ่อนเสียงคำหลังให้เป็นเสียงสระ และมีพะยานที่ภาษาถิ่นพายัพใช้ วา แทนคำว่า วัด ซึ่งเป็นกิริยา เช่น วัดทาง ก็ว่า วาคลอง บางทีวัดซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์ จะเป็นที่ซึ่งกะวัดเอาไว้เป็นสถานที่พิเศษ แต่ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ข้างต้นนี้ เป็นชะนิดที่ในตำรานิรุกติศาสตร์ เรียกว่า popular etymology ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าใช้ว่า ลากเข้าความ คือ คำใดที่แปลไม่ออกตามธรรมดามักจะคิดหาคำทีมีเสียงและความหมายใกล้กัน ก็อนุโลมถือเอาคำนั้นเป็นหลัก เช่น พระเสื้อเมือง เมื่อแปล เสื้อ ไม่ได้ความ ก็หันเข้าทางลากเข้าความ แก้เป็น พระชื่อเมือง โดยคิดคำอธิบายไปในทางว่า ซื่อตรง หรือ เสาเกียด สำหรับนวดเข้า ก็แก้เป็น เสาเกียรติ การลากเข้าความมีอำนาจในทางเปลี่ยนแปลงภาษา แม้ทั้งรู้ๆ ข้าพระพุทธเจ้าเองก็เคยผิดพลาดที่วินิจฉัยคำว่า ยั่นตานี เป็น ย่านตานี ซึ่งที่ถูกมาจาก Jamdanny ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ผ้าบางเนื้อดีชะนิดหนึ่ง ในตำรานิรุกติศาสตร์กล่าวว่า การหาที่มาของคำ เป็นวิชาทางประวัติศาสตร์ (historical science) เพราะต้องทราบเรื่องราวประเพณีและอื่น ๆ อันเนื่องด้วยคำที่ค้นคว้าเอามาประกอบการสันนิษฐานด้วยอีกชั้นหนึ่งจึงจะใช้ได้ ดั่งตัวอย่างอินทรพรหม ที่ทรงสันนิษฐานไว้เป็นอันถูกต้องพร้อมด้วยหลักฐานทุกอย่าง ข้าพระพุทธเจ้าจึงจับใจไม่รู้หาย เพราะข้อสันนิษฐานเป็นไปตามแนวประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันไป ด้วยมีเหตุผลเป็นลำดับ ลำพังแต่รู้ว่า พรม แปลว่า ขนหรือผม ก็ไม่ทำให้สันนิษฐานออกไปได้กว้างขวาง นอกจากมีความรู้ทางด้านอื่น ๆ อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวเนื่องมาถึง มาประกอบวินิจฉัย ส่วนในคำว่า วัดวา ข้าพระพุทธเจ้าได้ลองสืบสาว คงได้ความว่า วัด นั้นใช้กันอยู่ในประเทศสยามกับประเทศเขมรเท่านั้น ไทยถิ่นอื่นที่นับถือพุทธศาสนามีไทยใหญ่ ก็ไม่เรียกว่า วัด ไทยที่อยู่ติดต่อกับสยาม เช่น ลือ เขีน ผู้ไทย ก็ยังสืบไม่ออกว่าเรียก วัด หรือว่าเรียกอะไร และคำว่า วัด ในภาษาไทยที่จดเป็นตัวหนังสือไว้จะมีมาแต่เมื่อไร และที่บางท่านว่า วัด ในเขมรเขียนว่า วัสส ก็ยังไม่ได้หลักฐานมายืนยัน ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานสอบสวนต่อไป

กำชับ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในข้อที่ทรงสันนิษฐานว่า กำชับ ยืดมาแต่ กะชับ กระชับ แน่นอน (คำว่า กระฉับกระเฉง ก็คงเป็นคำพวกเดียวกัน) ที่มีผู้เห็นว่าถ้าซ้อนคำ กำชับ เข้ากับ กำชา ทำให้ความอ่อนลง เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ความเดิมจะมีความหมายเท่ากัน เพราะคงเป็นคำซ้ำ มุ่งไปในทางผ่อนเสียงคำหลังให้เป็นเสียงสระ แต่เมื่อใช้คำมากในความหมายเดียวกัน และคำหลังกลายเป็นสร้อยคำ ความหมายเมื่อถูกเฉลี่ยก็ต้องอ่อนลง เช่น รบราฆ่าฟัน ถ้าพูดว่า รบกัน ฆ่ากัน ความรู้สึกในความหมายไปรวมอยู่ในคำเดียว ดูออกจะแข็งกว่า รบรากัน ฆ่าฟันกัน หรือ รบราฆ่าฟันกัน

โง่เง่า โง่ทึบ ในพายัพและไทยใหญ่ เป็น เง่า อิศาน เป็น โง่ กวางตุ้งเป็น เหง่า หง่อย และยังมีคำ งั่ง แปลว่า โง่ ด้วย แคะเป็น โง่ แต้จิ๋ว เป็น งั่ว ที่ทรงเห็นว่า เพราะ เง่า แปลว่า บ้าบอ คำว่า เหง้ายุพราช จึงยักเขียนเป็น ห นำนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยในกระแสพระดำริ ที่ยักเขียนเป็น ห นำ เห็นจะเป็นเพราะในเวลานั้น เง่า ยังรู้จักกันอยู่ว่า มีความหมายอย่างเดียวกับ โง่ ยังไม่เลือนมาเป็นสร้อยคำของ โง่ แต่อย่างเดียวเหมือนในทุกวันนี้ ที่เขียน เหง้า เป็น เง่า ไปก็มี คงเป็นเพราะไม่ทราบคำแปลเดิมของคำว่า เง่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี ว่าคำที่ท่านเขียนไว้แต่ก่อนและมาเห็นกันว่าผิด แล้วแก้เสียใหม่ ก็ตกเป็นเรื่องที่โง่มากกว่าอื่น

คำว่า เหง้า ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบในภาษาไทยถิ่นอื่น คงพบแต่ในภาษาจีนชาวกวางตุ้ง เหง่า แปลว่า รากไม้ที่เป็นศีรษะ เช่น เหง้าบัว แปลไว้เพียงเท่านี้ ไม่มีความหมายอื่นอีก

อนึ่ง ในขณะที่ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำว่า เหง้า ได้พบคำอยู่สองคำ ซึ่งนับว่าแปลก ขอประทานถวายมาด้วย คือ

ในภาษาจีนมีคำ หง่า แปลว่า เครื่องปั้นดินเผา กระเบื้อง ในภาษาญวน เพี้ยนเสียงเป็น งั่ว หรือ ง่อย เรือนมุงกระเบื้องว่า หญางั่ว หรือ หญาง่อย ไทยขาวว่า เลือนงัว ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า กระเบื้องหน้างัว ซึ่งคิดไม่เห็นว่า เหตุไรจึงเรียกอย่างนั้น บางทีจะมาจากคำว่า งัว ข้างบนนี้ คำว่า หญา (เสียงขึ้นนาสิก) ในภาษาญวน แปลว่า เรือน เสียงก็ใกล้กับคำว่า ปั้นหยา แต่ บั้นหยา จะมาจากภาษาใด ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นหาไม่พบ

ในภาษาอาหม มีคำว่า งิว แปลว่า คนขันที ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกเลยไปถึงคำว่า งิ้ว ละครจีน ซึ่งยังไม่ทราบเกล้า ฯ ว่า ไทยได้คำว่า งิ้ว มาจากไหน เพราะในภาษาจีนเองก็หาได้ใช้คำว่างิ้วไม่

เรื่องคำพะม่า ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายคำพะม่าที่ตรงกับภาษาไทย คือ

ช้าง ว่า เชน งัว ว่า นัว หนู ว่า จวด แสนหนึ่ง ว่า ตะเซ็น ช้อนว่า โจ่น ตะแกรง ว่า จะก้า ต้นตาล ว่า ทานเป้น

คำว่า ช้าง และ งัว พระยาอินทรมนตรีเคยเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า พะม่าเป็นชาติในตระกูลธิเบต-พะม่า ยกเข้ามาอยู่ในแหลมอินโดจีนภายหลังชาติอื่น ในถิ่นเดิมของพะม่าไม่มีช้างและงัว เมื่อพะม่ายกเข้ามาในดินแดนซึ่งเป็นของไทยใหญ่มาก่อน พบช้างและงัว ก็ตั้งชื่อโดยใช้คำเดิมของไทยใหญ่ว่า เสน และ นัว เพราะพะม่าไม่นิยมเสียง ง จึงเพี้ยนเสียงเป็น น ไป อย่างเชียงใหม่ก็เรียกว่า เจ้นแม เรียกสงฆ์ว่า เซ็นก้า แต่ก็ไม่สู้แน่ เพราะคำที่ใช้เสียง ง ก็มี เช่นเรียกวัดวาว่า กย๊อง ในภาษามอญก็เรียกช้างว่า เจิน บางท่านว่า เจ่ง กับ เจิน ก็เป็นคำเดียวกัน ที่เพี้ยนเสียงไปอาจเป็นภาษาคนละถิ่น ในภาษาพะม่าเรียก บืน ว่า เสนัด แต่คำนี้น่าจะเป็นคำในภาษาตระกูลมอญ-เขมร เพราะมีอยู่ในภาษามอญและภาษาสาขาอื่นๆ เช่น ข่า ขมุ เป็นต้น ก็ ก็เรียกปืนว่า สินาด เสนาด ฉินาด เว้นแต่เขมร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ