- พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๓)
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส (๒)
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ น (๒)
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
- ภาคผนวก
๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๒ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
เรื่องคำคู่ ที่ทรงสันนิษฐานว่า คำคู่ชนิด อุดอู้ น่าเป็นว่าได้คิดปรับ ส่วนคำคู่ชนิด กวาดกว้อย จะเป็นคำที่หลุดออกมาไม่ได้คิดปรับ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยในกระแสพระดำริ ในชั้นเดิมคำคู่เหล่านี้ จะเป็นคำที่หลุดออกมา ตามความถนัดของอวัยวะที่ออกเสียงในปากจะเคลื่อนไปได้สะดวกที่สุด เข้าในหลักของฝรั่ง ที่ว่า ตามแนวที่มีต้านทานน้อยที่สุด (follow the line of least resistance) ดีกว่าฝืนออกเสียงซ้ำ เพราะฉะนั้น คำคู่ในภาษาไทยจึงมีหลายรูป แล้วคำคู่เหล่านี้ ต่างถิ่นก็เลือกเอาไปใช้แต่ตัวใดตัวหนึ่ง ให้เป็นคำในภาษาขึ้น คำคู่จึงมีที่ใช้ได้ในภาษาทั้งสองคำก็มี เช่น อุดอู้ ใช้ได้แต่คำเดียวก็มี เช่น หมิ่นเหม่ แต่ในอีกภาษาใช้กลับนำเอาคำที่ไม่เป็นภาษานี้ไปใช้ในภาษาของตนก็มี บางคำเมื่อแยกออกแล้วก็ใช้เป็นคำในภาษาไม่ได้ก็มี เช่น แปดแป๋ (ซึ่งน่าจะเป็นคำเดียวกับ แบนแบ) แต่คำที่ว่าแปลไม่ได้หรือเป็นคำที่ไม่มีที่ใช้ในภาษาอย่างในพวกหลังนี้ อาจไปมีใช้อยู่ในภาษาถิ่นอื่นก็ได้
ข้าพระพุทธเจ้าลองนึกถึงวิธีออกเสียงคำคู่ ก็ปรากฏว่ามีหลายวิธี คือ
(๑) แปลงเสียงตัวหลังเป็น แม่ ก กา หรือ เกย โดยคงเสียงสระและพยัญชนะไว้ เช่น อุดอู้
(๒) แปลงเสียงสระตัวหลัง ให้เป็นสระที่อยู่ใกล้กัน เช่น เงินแงน หรือ เงินงิน หรือ เงินงัน
(๓) แปลงเสียงพยัญชนะตัวหลังซึ่งเป็นตัวสกด ให้เป็นเสียงพยัญชนะนาสิกในวรรคเดียวกัน เช่น แจกแจง ดาดดาน รวบรวม
(๔) แปลงเสียงเหมือนในพวก ๓ แต่ใช้พยัญชนะนาสิกผิดวรรค เช่น ยอกย้อน เปิดเปิง ขับขัน
(๕) แปลงเสียงสระตัวหลังให้ยาว เช่น ทนทาน ลนลาน บางทีก็แปลงเสียงพยัญชนะซึ่งเป็นตัวสกดด้วย เช่น กั้นกาง ฟันฟาง ดักดาน
(๖) แปลงเสียงสระตัวหลังให้เป็นสระอา ซึ่งเป็นสระตัวตั้ง เช่น งุ่มง่าม ซุ่มซ่าม
(๗) แปลงเสียงสระในคำต้น ซึ่งเป็นสระหลัง คือ ออ โอ อู ให้เป็นสระหน้า อยู่ในระดับเดียวกัน คือ แอ เอ อู เช่น อ้อแอ้ โอ้เอ้ อู้อี้ ก้าวก่าย มัวเมา
(๘) หาคำที่มีความเดียว เช่น ใหญ่โต หรือเป็นคำอยู่ในพวกเดียวกัน เช่น เสื้อแสง (ซึ่งน่าจะ เป็นคำเดียวกับ เซี้ยง ในภาษาจีน แปลว่า กางเกง และมักใช้เข้าคู่กับ อี่ แปลว่า เสื้อ เป็น อี่เซี้ยง แปลว่า เสื้อผ้า หรือ เสื้อกางเกง และคงจะเป็นคำเดียวกับ ส่ง หรือ ซง ที่แปลว่ากางเกงในภาษาไทยภาคอีศาน) หรือใช้คำอื่นเข้าแซกกลาง เช่น กินน้ำกินท่า ข้ามน้ำข้ามท่า (ท่า ในภาษาไทย โดยมากแปลว่า แม่น้ำ ท่าสบ ในภาษาไทยที่แปลว่า ปากน้ำ หรือที่น้ำมารวมกัน ก็น่าจะเป็นคำเดียวกัน) บางทีซ้อนสองคู่ ซึ่งน่าจะเป็นความเดียวกัน เช่น เกี่ยวดองหนองยุ่ง กินอยู่พูวาย เก็บหอมรอมริบ
ข้าพระพุทธเจ้านึกหารูปคำคู่ได้เท่าที่กราบทูลมานี้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำเหล่านี้เมื่อครั้งยังไม่มีหนังสือกำหนดเสียงในคำให้ตายตัว ต่างถิ่นก็คงออกเสียงเพี้ยนไปต่าง ๆ แต่การเพี้ยนนั้น คงไม่ออกจากเขตต์ของเสียงที่มีฐานกรณ์อยู่ใกล้กัน ครั้นเมื่อมาพบปะกันอาจฟังไม่ชัด เพราะต่างถิ่น ก็เลยพูดเสียทั้งสองคำ เพื่อตัดปัญหาในความหมาย ข้าพระพุทธเจ้าได้พิจารณาดูคำในภาษาจีน แม้เป็นชาวเดียวกันพูดเสียงก็เพี้ยนไปได้ต่าง ๆ แล้วแต่เป็นชาวตำบลไหน เพราะหนังสือจีนไม่มีพยัญชนะและสระประกอบคำให้เสียงอยู่ที่ เช่น เงิน ในภาษาชาวกวางตุ้ง พูดว่า หงั่น แหง่น เหง่น เหงิ่น ก็ได้ ในภาษาชาวแต้จิ๋วเป็น งึ้น ทางหลวงพระบางและเหนือๆ ขึ้นไปเป็น งึน เพราะฉะนั้นคำว่า เงินแงน เงินงัน ต่างถิ่นต่างภาษาอาจเลือกเอาไปใช้ก็ได้ ดูเหมือนในหนังสือ อนันตวิภาค ให้ศัพท์งัน หรือ แงน ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ถนัดว่าแปลว่ เงิน
คำ ปิ๊ดปี๋ และ แดงแจ๊ด แดงแจ๋ ทรงเห็นว่าจะเป็นคำเดียวกับ ดำมิดหมี และ แดงจ้า ข้าพระพุทธเจ้าดีใจมาก เพราะข้าพระพุทธเจ้าเคยคิดมาแล้ว แต่คิดไม่ออก หาได้นึกเฉลียวถึงคำ มิดหมี และ จ้า นี้ไม่ ยังมีคำที่ประกอบกับสีอยู่อีก ๓ คำ คือ ขาวจ๊วก เหลืองอ๋อย และ เขียวอี๋ ในคำ จ๊วก ข้าพระพุทธเจ้าพบในภาษาไทยขาว อ่านว่า ซวก แปลว่า นัก ใช้ประกอบคำว่า ขาว หรือ สว่าง เช่น ขาวซวก ว่า ขาวนัก รุ่งซวก ว่า สว่างนัก ไทยทางอีศานและทางชลบุรี ใช้ จั๊วะ แทน จ๊วก ส่วน อ๋อย ทางอีศานมี เหลืองห่อย แต่แปลว่า เหลืองอ่อน ความตรงกันข้าม ส่วน อี๋ สอบไม่พบ
คำ อยู่ ที่ชาวอุบลใช้ในที่ว่า หยุด ทรงเห็นว่าจะเหมือนกันกับ อยู่มือ อยู่ในถ้อยคำ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริว่าคงจะเป็นเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้ายินดีที่ได้ความคิดขึ้นอย่างหนึ่งว่า คำซึ่งนำเอามาใช้เลือนออกไปจากความเดิม เพราะความเดิมใช้คำอื่นแทนเสียแล้ว แต่ก็ยังเหลือเค้าให้เห็นความเดิมอยู่ในคำพูดบางคำที่ตกค้างอยู่ เช่น อยู่ ดั่งตัวอย่างที่ประทานมานี้ เป็นคำจำพวกที่มีความหมายเดิมตกค้างเหลือต่อมา ในจำพวก ขนหัว ท่าสบ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานกราบทูลเลยไปถึงคำว่า อยู่ อย่า อยาก อย่าง ซึ่งใช้ อ นำ หาได้ใช้ ห นำหน้าไม่ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าคนโบราณท่านรู้จักเรื่องเสียงของคำเก่งมาก เพราะฐานกรณ์ของ ย และ อ อยู่ใกล้กันมาก อาจเพี้ยนเสียงกันได้ ยิ่งในภาษาจีนด้วยแล้ว ถ้าชาวกวางตุ้งเป็นเสียง ย แต้จิ๋วก็เป็นเสียง อ ไป เช่น ในสี่คำข้างต้นนี้ ของจีนก็มี อยาก ในชาวกวางตุ้งว่า หยก แปลว่า ต้องการ แต้จิ๋วเป็น อ่าย ไป หรือคำว่า ยา กวางตุ้งว่า หยุก แต้จิ๋วเป็น เอี๊ยะ ตกมาเป็นคำคู่ในภาษาไทยว่า หยูกยา กับคำ นกเหยี่ยว กวางตุ้งว่า หยิ่ว แต้จิ๋ว ว่า อิ้ว ตกมาถึงไทยเป็น อิเหยี่ยว คือเสียง อย กล้ำหนักเข้าก็กลายเป็น อีเหยี่ยว ไป
ข้าพระพุทธเจ้าอ่านลายพระหัตถ์ ตอนที่ตรัสเล่าเรื่องเข้าใจผิดในภาษา รู้สึกขบขันอดกลั้นหัวเราะไว้ไม่ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวกรุงเทพ ฯ คนหนึ่ง ขึ้นไปรับราชการเป็นครูอยู่ที่จังหวัดอุดร กลับมากรุงเทพ ฯ แวะมาหาข้าพระพุทธเจ้า มาเล่าให้ฟังว่า ภาษาของชาวพื้นเมืองมีอยู่หลายคำ ซึ่งเมื่อไปอยู่ใหม่ๆ ทำให้เข้าใจผิดไปหลายครั้ง เช่น เด็กคนหนึ่งมีจดหมายมาบอกว่า ทำจดหมายเสียแล้ว ซึ่งที่ถูกหมายความว่า ทำจดหมายหาย ดังนี้ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำคู่ว่า เสียหาย แต่เมื่อแยกคำก็ใช้เป็นคนละอย่าง เมื่อนำมาเข้าคู่ก็เป็นอีกความหนึ่ง ครูคนนั้นเล่าให้ฟังต่อไปว่า ชาวพื้นเมืองที่นั้น ในเวลานี้ ใช้ภาษาไทยกรุงเทพ ฯ เสียโดยมาก ต่อพูดกันเองจึงจะใช้คำของพื้นเมือง ข้าพระพุทธเจ้านึกเสียดายมาก ที่ไม่มีใครสำรวจภาษาถิ่นเหล่านี้ไว้ เพราะต่อไปไม่ช้าก็คงสูญ จะเป็นความลำบากแก่การค้นคว้าเรื่องภาษาไทยในรุ่นหลังไม่น้อย
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายคำไทยที่ใช้กันอยู่ทางพายัพและอีศาน ซึ่งมีความแผกออกไปจากที่เข้าใจกันในกรุงเทพ ฯ คือ
ถ่ายเสื้อ – เปลี่ยนเสื้อ
ไข้หลวง – ไข้ใหญ่
มันแกว – มันเทศ
บาด – แผล
เสียตัว – ตาย
คนคืน – คนเก่า
นุ่งเสื้อ – ใส่เสื้อ
ครัว – ของ (เช่นขายครัว-ขายของ ค่าครัว - ราคาของ)
เสาะครัว – หาของ
ลูกอ่อน – เด็ก (ไทยย้อย เสียงกร่อน เป็น ละอ่อน กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า หล่อน ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือวรรณคดคีสมาคม)
แมว – กระต่ายขูดมะพร้าว
เต่า – กบไสไม้ (สองคำนี้ใช้แต่พายัพ)
ปากเป็น – ช่างพูด
หุงเนื้อ – ต้มเนื้อ
งัวขัน ของชาวปักษ์ใต้แปลกมาก ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นในภาษาไทยถิ่นอื่น ก็พบแต่ ไก่ขัน อย่างเดียว
คำว่า กะจ้อยร่อยกะจิริด ร่อย กับ ริด มาจากไหน ไม่ทราบเกล้าฯ แต่ถ้าเทียบ ร่อย กับ น้อย ริด กับ นิด ดูก็แปลกที่เสียงสระมาพ้องกัน ถ้าจะปรับ ร กับ น ก็มีแนวเทียบ เช่น นัด (นาทาเน้น) - รีด (กวางตุ้ง นีด-ว่า รีด) นุงนัง-รุงรัง ชาวพายัพเรียกตำรวจว่า ตำหนวด ถ้าว่าตามแนวเทียบนี้ ร่อย กับ น้อย ริด กับ นิด ก็ไปกันได้
เรื่องไม้เอกโท ข้าพระพุทธเจ้าเคยแปลกใจที่เจ้าหน้าที่ในหอพระสมุดที่เป็นเชื้อชาวอีศาน อ่านหนังสือตัวไทยเหนือแปลงเป็นเสียงไทยใต้ได้คล่องแคล่ว ครั้นข้าพระพุทธเจ้าจับอ่านดูบ้างก็ติดกุกกัก ต้องนึกหาความหมายในบางคำอยู่นาน ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นว่า ในหนังสือที่ไม่มีเอกโทเช่นนี้ การใช้คำคู่มีประโยชน์มาก เพราะอาจเดาความถูก เช่น ทีนีมีนำ ถ้าเติมคำว่า มีทา เข้าด้วย ความก็คงไม่ไปทาง หมี ข้าพระพุทธเจ้าเคยจดเรื่องระดับเสียงเอกโท ก็ได้เค้าเป็นราง ๆ ว่า ระดับเสียงของคำนั้น เวลาพูดเห็นจะอยู่ที่แล้วแต่ถิ่นไหน เช่น ระดับเสียงชาวอีศาน ถ้าอักษรต่ำ ไม้เอก เช่น ค่า ก็เป็น ข่า ถ้าเสียงไม้โท เช่น ค้า ก็เป็น ค่า เสียงอักษรสูงไม้โท เช่น เสื้อ ก็เป็น เสื่อ ดังนี้เองจึงต้องเติมเป็นคำคู่ว่า เสื่อสาด เสื้อแสง เสือสาง ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีโอกาศสอบสวนเรื่องระดับเสียงได้ตลอด เพราะต้องฟังเสียงเขาพูด มากกว่าจะตรวจดูในหนังสือ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นธรรมดาของภาษา ถ้าผู้ที่ใช้พูดอยู่ในถิ่นที่เป็นพระนครหลวง ซึ่งเป็นสูญกลางแห่งความเจริญของชาติ ภาษาของถิ่นอื่นก็ต้องเดินตาม ในที่สุดเสียงของภาษาถิ่นต่าง ๆ ก็กลายมาเป็นเสียงของถิ่นเมืองหลวงหมด ถ้าประสงค์จะให้พูดเหมือนกัน ก็ต้องกำหนดเสียงให้แน่นอน ข้าพระพุทธเจ้าได้ดูหนังสือแบบสอนอ่านของชาวเวียงจันท์ ซึ่งพิมพ์ขึ้นใช้ในไม่สู้ช้านัก ก็ใช้เครื่องหมายบอกระดับเสียงเอกโท เอาตามแบบกรุงเทพฯ หมด ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นดังนี้ การจะถูกผิดอย่างไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะ โปรดเกล้าฯ
เรื่องไม้ไต่คู้ และ เรื่องใช้วิสัญชนี ข้าพระพุทธเจ้าเห็นเป็นมั่นเหมาะดั่งกระแสพระดำริ การที่มากำหนดขึ้นใหม่ คือให้เดิมไม้ไต่ตู้ลงทุกคำ (เว้นแต่คำมาจากสํสกฤตและบาลี) แม้คำนั้นจะเติมไม้ไต่คู้หรือไม่ก็ไม่เปลี่ยนความ เป็นการเสียเวลาและยุ่งยาก เพราะจะต้องคอยระวังว่า คำนั้นเป็นคำไทยหรือเป็นภาษาบาลี ถ้าเป็นผู้ไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ก็ทำความลำบากให้อยู่ ในเรื่องใช้วิสัญชนีก็ทำนองเดียวกัน นอกจากทำความยุ่งยากให้อ่านผิดเสียงที่ควรออก ยังจะต้องระวังดูว่าเป็นคำไทยหรือไม่ใช่คำไทย ต่อเมื่อคำไทยจึงจะใช้วิสัญชนี ครั้นถึงคำว่า พงัน ก็ไปเติมวิสัญชนีเป็น พะงัน ครั้นสอบถามว่าถ้าเป็นไทย ใครจะแปลว่าอะไร ผู้เขียนก็บอกว่าไม่ทราบ ตกว่าเสียงคล้ายไทยก็ใช้วิสัญชนีไปหมด เว้นไว้แต่ที่ทราบแล้วว่าไม่ใช่ไทย เช่น พนม จึงไม่ใช้วิสัญชนี ถ้าไม่ทราบก็ถือเอาเป็นภาษาไทยหมด ดูออกจะวางกำหนดง่ายไปสักหน่อย ลำบากแก่ผู้ใช้ แต่ผู้ที่เป็นฝ่ายเห็นชอบ กลับเห็นเป็นความสะดวกไป เป็นเรื่องต่างความคิด พระพุทธเจ้าเห็นว่า เรื่องใช้ไม้ไต่คู้และวิสัญชนีตามวิธีที่ใช้อยูในเวลานี้ เป็นต้นเหตุแห่งการกลายเสียงในภาษาได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเห็นกันได้ก็ต่อเมื่อนานวันตั้งร้อยปีขึ้นไป เป็นลักษณะ ที่ในตำรานิรุกติศาสตร์ของฝรั่ง เรียกว่าปรับเสียงให้เข้าแนวเทียบเสมอกันหมด (Analogical levelling)
ข้าพระพุทธเจ้า ได้จดคำ อปราชัย ตามที่ประทานมานี้ไว้ในคำที่กลับความหมายแล้ว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำนี้อาจจะมีเหตุมาจากคำ อับปราชัยก่อน แล้วเสียงจึงกลายเป็น อปราชัย ตามรูปภาษาบาลี แต่ความหมายเดิมที่ว่า แพ้ ยังคงอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบประโยคคำในภาษาไทยพายัพหรืออีศาน (ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้แน่) ซึ่งมีลักษณะที่อาจทำให้ความกลับกันได้ (เป็นทำนองคำปากตลาดในกรุงเทพ ฯ ที่พูดถึงเรื่องหนี้สินว่า ฉันติดท่าน ซึ่งหมายความว่าผู้พูดเป็นเจ้าหนี้ ถ้าไปบ้านนอกก็กลับกันตรงข้าม คือ หมายความว่าผู้พูดเป็นลูกหนี้) ข้าพระพุทธเจ้านึกประโยคคำที่กราบทูลนี้เท่าไรก็นึกค้นหาอีกไม่พบ ซึ่งถ้าได้มาหลายๆ ตัวอย่าง ก็จะเป็นทางให้สันนิษฐานในเรื่องความกลับกันได้บ้าง
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานรับพระเมตตา เพื่อทราบเกล้า ฯ ว่า
อินทรพรหม ที่มีในกระบวนแห่ของหลวง หมายถึง พระอินทร และ พระพรหม หรือว่า หมายความถึงอื่น จึงไม่มีคำว่า พระ นำหน้า อินทรพรหม ถ้าเป็นพระอินทรและพระพรหม ในส่วนพระพรหม จะมีกี่องค์ก็พอฟังได้ แต่พระอินทร ทำไมจึงมีมากองค์ด้วย การแต่งตัวของอินทรพรหม ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ แต่เดาว่า บางทีพวกอินทรจะเป็นพวกแต่งตัวเขียว และพวกพรหมสีแดง ดั่งที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็น แต่ไม่ได้สังเกตกำหนดจำเอาไว้
ในบริเวณเมรุตรงคดล้อม มีที่พระนั่งสวดเป็นแห่ง ๆ เรียกกันว่า ช่าง แต่ที่เขียนเป็น ซั่ง ก็มี ขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า เสียงไหนเป็นถูก และหมายความว่าอะไรแน่ ดูลักษณะ ช่าง หรือ ซั่ง มีอยู่ตรงมุมคด กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึง ซัง ในตาดวด อยู่ที่มุมเหมือนกัน บางทีจะเป็นคำเกี่ยวข้องกันอยู่บ้างก็ไม่ทราบเกล้า ฯ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์