๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน โปรดประทานข้อทรงสันนิษฐานในเรื่องคำยืดคำย่น และชื่อเมืองต่าง ๆ ลางชื่อ ซึ่งทรงคิดเห็นว่าจะเขียนผิด

ที่ทรงเห็นว่า คำไทยซึ่งได้มาจากภาษาเขมร ลางคำเขียนตามหนังสือเขมร ลางคำก็เขียนตามเสียงเขมรอ่าน จึงเป็นเหตุให้เกิดความไขว้เขวขั้น ข้อนี้เป็นความจริงดั่งตรัส ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเขลาไปมาก ด้วยไม่ได้นึกไปถึง ลางคำก็นำมาใช้ทั้งสองอย่าง เช่นในพวกคำมีสระอุ อย่าง สมมติ-สมมุติ ชมพูนท-ชมพูนุท แต่หลักเติมสระ อุ นี้ แปลกที่ไทยสยามไม่ใช้ ส่วนในภาษาไทยทางพายัพ ไทยใหญ่และอาหม เดินหลักเดียวกับเขมร เช่น เขียน คน ก็ต้องเขียนเป็น กุน ถ้าไม่เติม อุ ก็อ่านเป็น ก็อน ไป กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เคยออกความเห็นว่า เจ้าคุณ น่าจะมาจาก เจ้าคน เพราะด้วยเหตุไทยถิ่นอื่นเขียนคนมีสระ อุ อาจอ่านเพี้ยนเป็น คุน ได้ แต่อาจคิดไปทางเจ้าขุนมุนนายก็ได้

ที่ประทานคำว่า บำบัด เป็นคำยืดมาจาก บัด แปลว่า หาย ในภาษาเขมร ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ แต่เป็นคำยืดชะนิดเสริมคำเข้าข้างหน้าคำเดิม ถ้าเป็นชะนิดเสริมเข้ากลางคำเดิม ก็น่าจะเป็น บำนัด

คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำยืดคำย่นลางคำ ที่ภาษาไทยได้มาจากภาษาเขมร คงมีลางคำที่ได้มา มีความผิดกันในรูปไวยากรณ์ แต่ตกมาถึงภาษาไทยซึ่งไม่นิยมรูปไวยากรณ์อย่างเขมร เพราะใช้คำโดดๆ มาเรียงตามลำดับที่ซึ่งต้องการแทนรูปไวยากรณ์ คำที่ได้มาจึงใช้ปนๆ กันไป ที่ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดเช่นนี้ เพราะเห็นรูปคำบาลีที่ไทยมาผูกขึ้นเป็นคำใช้ขึ้น เช่น โทรเลข จะใช้เป็นนาม กิริยา หรือวิเศษณ์ก็ได้ ในคำเดียว ไม่ต้องแปลงรูปคำให้เข้ารูปไวยากรณ์ เช่น โทรเลขฉะบับนี้ ถ้าจะโทรเลขไป ก็ควรใช้ โคด โทรเลข (ถ้าเคร่งต่อไวยากรณ์ก็ต้องเติม ตี ตี หรือ ส่ง ในความที่เป็นกิริยา) ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า คำยืดคำย่นลางคำน่าจะเป็นไปในทำนองนี้ คือนำเอามาใช้ไม่จำกัดรูปไวยากรณ์ ความหมายในคำที่มีรูปไวยากรณ์ผิดกัน จึงกลายเป็นมีความหมายเหมือนกันไปหมด การจะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ที่ตรัสถามว่า เมือง ปราจิณบุรี เปลี่ยนเขียนเป็น ปราจีนบุรี ควรหรือไม่ แม้แต่ก่อนจะเขียนไว้ไม่ถูก แต่เป็นชื่อ ถ้าเขียนไม่ถูก ควรจะเขียนเปลี่ยนไปใหม่ หรือควรคงไว้ตามเดิม ข้าพระพุทธเจ้าขอรับใส่เกล้า ฯ พิจารณาแล้ว เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ไม่ควรเปลี่ยนเป็นอันขาด เพราะการเปลี่ยนชื่อของเก่า มีทางผิดมากกว่าถูก ด้วยชื่อที่ท่านตั้งไว้ โดยมากมักมีความหมายเป็นพิเศษฉะเพาะคำนั้น เมื่อไม่ทราบเหตุเดิมของคำที่ตั้งขึ้น การแก้อาจผิดมากกว่าถูก ชื่อที่ตั้งบางชื่อมักเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นภาษาโบราณเลิกใช้แล้ว เมื่อขาดความรู้แปลไม่ได้ แล้วก็แก้รูปลากเข้าความให้แปลได้ เป็นการทำลายเค้าสำคัญในทางประวัติศาสตร์และทางภาษาด้วย แม้คำที่รู้อยู่ว่าผิดแน่ ก็ควรปล่อยไปตามผิด ถ้าแก้เข้า เรื่องก็ยุ่งใหญ่ เพราะเคยชินกันมาว่ารูปอย่างนั้นหมายความอย่างนั้น ก็เป็นที่เข้าใจกันดี ความมุ่งหมายของภาษาก็อยู่ที่ตรงทั้งสองฝ่ายเข้าใจได้ตรงกันเผง ถ้าไปแก้ให้ถูกต้องตามที่ผู้รู้เห็นว่าถูก แต่อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ไม่รู้มีจำนวนมากกว่า ก็ลำบากไปด้วย เช่น ชื่อเมืองในอินเดียเวลานี้ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ผิดไปจากคำเดิม เพราะด้วยอำนาจการกลายของภาษาซึ่งเป็นไปตามธรรมดา เช่น Benares Bengal Oude ถ้าจะแก้ให้ถูกของเดิมเป็น Varanasi Vanga Ayodhya เรื่องก็จะยุ่งใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีตัวอย่าง ในที่ประชุมกรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์สยาม ถึงคำว่า เมืองขีดขิน ซึ่งเป็นเมืองโบราณ แขวงอำเภอพระพุทธบาท กรรมการหลายท่านเห็นควรแก้เป็น กิษกินธ์ หรือ ขิษขินธ์ ให้ถูกตามของเดิม ข้าพระพุทธเจ้าต้องร้องเสียงแข็งว่า ขีดขิน อาจไม่มาจาก กิษกินธ์ ก็ได้ และอาจเป็นคำไทยแท้ แปลว่า ขีดขั้นก็ได้ และถึงหากจะมาจาก กิษกินธ์ ก็ยังไม่ควรแก้เป็น กิษกินธ์ อยู่นั่นเอง เพราะถ้าแก้ ขีดขิน เป็น กิษกินธ์ ก็ต้องแก้ ไกเกสี กาลอัจฉา เกาสุริยา เป็น ไกเกยี อหัลยา เกาศัลยา เสียด้วย ถึงที่สุดยังเป็นเคราะห์ดีของ ขีดขิน ที่ยังไม่ถูกลบเลือนให้เป็น กิษกินธ์

สังเกตด้วยเกล้า ฯ ว่า ออกจะเป็นธรรมดา ถ้าคำใดแปลไม่ออกหรือแปลออกเป็นคำดาดไป คำนั้นก็มักถูกแก้ลากเข้าความให้แปลได้ อย่าง ไพรมาศ แก้เป็น ปลายมาศ ดั่งที่ตรัส หรือลากเข้าศัพท์ เช่น ไชบาดาล เป็น ไชยบาดาล แต่เมื่อแก้แล้วจนเป็นรูปคำที่รู้จักกันชินทั่วไป ก็ไม่ควรแก้เข้ารูปเดิมที่ถูก เว้นแต่จะมีเหตุผลเป็นอื่นเป็นพิเศษ เพราะจะให้คำพูดอยู่คงที่ตลอดไปไม่ได้ ต้องเปลี่ยนต้องกลายไปตามเหตุการณ์ ถ้าไปช่วยเปลี่ยนช่วยแก้ด้วย ภาษาก็กลายไปเร็วจนเกิดการปั่นป่วนขึ้นในภาษาเสียหมด ในที่สุดก็ไม่เป็นภาษาเดิม กลายเป็นภาษาอะไรไปอีกภาษาหนึ่ง แต่ถ้าไม่เปลี่ยนไม่แก้ไข ภาษาก็ไม่เจริญก้าวหน้า อยู่คงที่ ก็มีแต่จะเสื่อมสิ้นไปได้เหมือนกัน ที่ภาษาคงอยู่ได้ เพราะด้วยอำนาจสองประการที่คอยถ่วงกันไว้ คือ ฝ่ายหนึ่งคอยรั้งเอาไว้ไม่ให้ภาษากลายไปเร็ว อีกฝ่ายหนึ่งคอยดึงให้รุดไปหน้าเสมอ ไม่ให้ภาษาหยุดอยู่ที่ ถ้าหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง ก็เป็นผลในภาษามากและน้อยตามส่วน ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นเช่นนี้ การจะถูกผิดสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ