๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๕ และ ๑๖ เดือนนี้ โปรดเกล้า ฯ ให้ค้นคำ กระยา ในคำไทยต่าง ๆ ว่าจะมีหรือไม่ และได้ประทานพระอธิบายคำว่า ข้าหลวง เพิ่มเติม ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ

คำ กระยา ที่เข้าประกอบกับคำอื่น เท่าที่ปรากฏ คือ พระกระยา กระยาสารท กระยาบวช กระยาบูชา กระยาทาน กระยาสังเวย กระยาสนาน กระยารง กระยาดอกเบี้ย กระยาเรือนเบี้ย และ กระยาเลย

ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นดูในภาษาไทยต่าง ๆ ไม่พบเค้าเงื่อนคำว่า กระยา ในภาษาไทยถิ่นไร สอบพวกชาวอีศานก็ไม่ได้เค้าความว่าเป็นคำไทยเดิมของถิ่นนั้น ถ้าแปลง กระ เป็น ข้าว แล้วเสียงกร่อนเป็น ขะ อีกต่อหนึ่งก็อาจเป็นได้ตามแนวเทียบการออกเสียง แต่เมื่อเข้าประกอบกับคำ ยา ก็แปลไม่ได้ความ นอกจากคำ กระยาคู กับ ข้าวยาคู ซึ่งอาจเติม กระ เพราะมี กระ หรือ กระยา ในคำอื่นเป็นแนวเทียบให้ชวนหลงไป มาก กว่าจะเพี้ยนไปจาก ข้าว จึงเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า กระยา น่าจะไม่ใช่คำไทย และคงไม่ได้แปลว่า ข้าว เพราะคำที่ไม่ได้แปลว่า ข้าว ก็มีอยู่มาก

ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมมลายูก็ไม่พบ กระยา ที่มีความหมายเข้าประกอบกับคำข้างต้นนี้ได้ ในภาษามอญมีคำ กระยาป้า แปลว่าเครื่องใช้สอย แต่มีอยู่เพียงคำเดียวที่ความหมายพอจะนำเอามาประกอบคำข้างบนนี้ เป็นอันใช้ไม่ได้ เพราะคำ กระยา หรือ ป้า จะเป็นคำไหนที่แปลว่าเครื่อง ก็ไม่ทราบเกล้า ฯ ส่วนในภาษาเขมร คำว่า กระยา ให้คำแปลไว้ ๕ ประการ คือ

(๑) เงินเดิมพัน (๒) จำนำ คำแปลนี้ เข้ากันได้กับคำ กระยาดอกเบี้ย และ กระยาเรือนเบี้ย ซึ่งในโนตที่ข้าพระพุทธเจ้าจดเอาไว้ว่า กระยาดอกเบี้ย คือกู้เงินเขามาแล้วมอบที่นาให้ทำอย่างกระยาดอก กระยาเรือนเบี้ย ให้เขาใช้โดยอาศัยกินข้าว ข้าพระพุทธเจ้าจดเอามาจากหนังสือเรื่องใดนึกไม่ออกและไม่ได้จดที่มาไว้ (๓) อาหาร คำแปลนี้เข้ากันได้กับพวกพระกระยา ในคำว่า กระยาบูชา และ กระยาทาน มีปรากฏในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงหลัก ๕ คือ เคริองกรยาบูชาทังหลาย แลวกรยาทานตาบนนนทองเหมินนังเงินเหมินนิง กระยา ในคำ กระยาบูชา ศาสตราจารย์เซเดส์ แปลว่า อาหาร ส่วน กระยา ในคำ กระยาทาน แปลว่า ของถวาย ในศิลาจารึกอีกหลักหนึ่ง หลักที่จารึกเป็นภาษาเขมร จารึกว่า กริยาทาน แต่ที่ถอดแปลออกมาเป็นคำไทยเป็นเครื่องกระยาทาน ส่วนคำแปลเดิมของสมเด็จกรมพระยาปวเรศ ฯ แปลว่า เครื่องกระยาหารไทยทาน ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า เครื่องถวาย (๔) วัตถุ (substance) คำนี้เห็นจะตรงกับเครื่อง (๕) ค่าปรับ ได้ให้คำตัวอย่างว่า กระยาพิไนตามบรรดาศักดิ์

เมื่อพิจารณาดูคำแปลข้างบนนี้ ถ้าแปลว่า เครื่อง ก็ได้ความตลอดทุกคำ ดั่งที่ทรงเห็น เช่น กระยารง ทรงเห็นว่าจะมาจาก รงค์ และคำว่า ยา จะออกจากคำ กระยา นั้นเอง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นคำว่า ยา ในภาษาไทยต่าง ๆ แล้ว ไม่ปรากฏคำแปลว่า สี และในคำกลอนก็มีอยู่บทหนึ่งที่ความไปทางเรื่องเขียนลวดลายว่า ร่างเส้นรจนากระยารง

กระยาเลย คำนี้แปลก ไม่ทราบเกล้า ฯ คำ เลย แปลว่าอะไร แต่ตามที่เข้าใจกันว่าเป็นไม้แก่น นอกจากไม้สัก ถ้าจะอนุโลมคำแปล กระยา ว่า substance ก็น่าจะเข้ากันได้ เพราะเป็นคำกว้างๆ

ยังมีคำที่เติม กระ เพราะหลงไป ก็คือ กระยาจก ที่เติม กระ เพราะเห็นคำ กระยา มีอยู่มากคำ เลยลาก ยาจก เป็น กระยาจก ไปด้วย

อีกคำหนึ่งในฉันท์ดุษฎีสังเวยแห่งหนึ่งว่า มนตร์อัญสดุดิฮอง กระยานุสกสดาบ ข้าพระพุทธเจ้าแปลไม่ออกหลายคำ แต่ดูคำว่า กระยา น่าจะเป็นเครื่องสังเวย

ที่มีพระเมตตาทรงชี้ให้เห็นคำ น้ำสี่สระ แก้เป็น น้ำศีรษะ ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูต้นฉะบับเดิม ซึ่งเก็บรักษาไว้เป็นฉะบับพิมพ์ดีด พิมพ์ไว้เป็น น้ำศีรษะ เมื่อถ่ายเอามาลงพิมพ์ ผู้ตรวจปรูฟมีความรู้ไม่ถึง ก็เลยปล่อยให้ผิดไปด้วยโดยไม่รู้สึก คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า บางทีผู้แก้ น้ำสี่สระ เป็น น้ำศีรษะ จะนึกอวดดีไปถึง น้ำสรงมูรธา แต่เคราะห์ดีถ้าเติมเป็น น้ำรดศีรษะ เสียด้วยก็จะกลายรูปไปอีกชั้นหนึ่ง มองเห็นรูปเดิมได้ยากเข้า ที่ในภาคอีศานมีวัดชื่อศีรษะเกศอยู่หลายแห่ง ชื่ออำเภอ สิ่งเป็นที่ตั้งจังหวัดขุขันธ์ในเวลานี้ ก็เรียกอำเภอศีรษะเกศ ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยคำแปล สอบถาม มีผู้ชี้แจงว่าที่ถูกควรเป็นสระเกศ บางท่านก็ว่ามาจากคำ ศรีสาเกต ชื่อเมืองในอินเดีย แต่คำ สระเกศ สนิทกว่า และเข้าเรื่องน้ำสี่สระ เป็นน้ำ ศีรษะ คำว่าขุขันธ์ ที่เติม ธ ก็หลงติคมาจากคำ ขันธ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าควรจะเป็น ขุขัน เฉยๆ เพราะเทียบได้กับคำในภาษาทมิฬ ที่เรียก คุห ซึ่งเป็นชื่อนายพรานพวกเงาะนิษาทในคัมภีร์รามายณว่า กุกัน (เพราะภาษาทมิฬแท้ไม่มีเสียง ค และ ห ถ้าจะให้เป็นเพศชายก็เติม อัน) และเพี้ยนมาเป็นขุขันในรามเกียรติ์

ข้าพระพุทธเจ้าได้เสนอคำแปลคำ ข้าหลวง และ คด ต่อที่ประชุมกรรมการชำระปทานุกรม และตกลงยึดถือคำแปลที่ทรงพระเมตตาประทานข้าพระพุทธเจ้ามา ว่าเป็นการถูกต้อง ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ