๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๗๙

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ได้รับแล้ว ท่านต้องการจะทราบสิ่งใด ก็ขอจงถามไปเถิด ถ้าสามารถบอกได้ ก็จะบอกท่าน

ในบัดนี้จะบอกเพิ่มเติมในลางสิ่งซึ่งได้บอกมาแล้ว เพื่อประโยชน์ที่ท่านจะได้ทราบความกว้างออกไปอีก

หมวกต่างๆ ที่เรามี คิดว่าจะจำอย่างมาจากต่างประเทศ ชาวเราควรจะใช้ผ้าโพก เพราะเพื่อนเมืองใกล้เคียงเขาก็ใช้ผ้าโพก เช่นพะม่าและญวนเปนต้น ดูในกระบวนแห่ของเราก็ยังแลเห็น ผ้าโพกหูกระต่ายก็ยังมี และลอมพอก ก็คือ ลอมโพก (สระ โอ กับ ออ สับกันอยู่เสมอไม่ว่าภาษาไร) เดิมเราไว้ผมสูงจึงใช้ผ้าโพกพันสูงขั้นไปตามมวยผม ครั้นเราตัดผมเสียแล้วจึงต้องทำลอมสวมต่างผมสูงขึ้นโพกผ้าแทน ที่ว่าหมวกจะมาแต่ต่างประเทศนั้น เพราะได้สังเกตเห็นดั่งนี้

๑. หมวกกลีบลำดวน เห็นรูปพลธนุของฝรั่งใส่หมวกทรงเดียวกัน เว้นแต่ทำด้วยเหล็กและไม่มีกลีบ

๒ หมวกหนัง เห็นรูปทหารฝรั่งโบราณใส่ แต่ทำด้วยเหล็ก ที่ทำด้วยเหล็กนั้นต้องการกันอาวุธ เราทำด้วยหนังก็เพื่อกันอาวุธเหมือนกัน

๓. หมวกทรงประพาส เห็นรูปอินเดียมี ทั้งฝรั่งก็ดูเหมือนมีด้วยเหมือนกันแต่ปกคอปกหูเขาทำลูกโซ่เกี่ยวกันเปนแผ่นดุจผ้าเพื่อกันอาวุธของเราทำด้วยผ้าคิดว่าแต่ก่อนคงเอาแผ่นเหล็กหรือหนังสอดไว้ข้างในเพื่อกันอาวุธเหมือนกัน

๔. พระมาลาเส้าสูง เคยเห็นรูปชาวเมืองเกาหลีใส่กันเปนพื้นเมืองถ้าเราจะได้มาแต่เมืองเกาหลีก็ไม่ประหลาด เพราะธงที่เราใช้ในการแห่ก็มีธงเสือปีก ซึ่งเปนธงประจำประเทศเกาหลี ย่อมจะได้มาด้วยกัน ส่วนพระมาลา คือมาลัยทองรัดรอบหมวกนั้น เราประดับเติมเข้า ขนนกนั้นเราจำอย่างมาจากแขก ยังเรียกอยู่ว่า พระยีก่า ซึ่งตรงกับคำแขก เห็นจะเปนภาษาเปอร์เซีย เรียกอย่างเดียวกัน

๕. พระมาลาเส้าสะเทิน เขาว่ามาแต่ฝรั่ง เปนหมวกครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แห่งเมืองฝรั่งเศส

๖. พระมาลาเบี่ยง เห็นเหมือนกับเครื่องเกราะญี่ปุ่น

ทีนี้จะไขความในเรื่องช่าง ตามปกติการปกครองเมืองย่อมจัดเปนจะตุสดมภ์ คือกระทรวง เวียง วัง คลัง นา กระทรวงใดมีกิจจะต้องทำสิ่งซึ่งต้องประกอบด้วยฝีมือช่าง ก็ต้องหาช่างชะนิดที่ต้องการใช้มารวบรวมตั้งไว้เปนกรมช่างในกระทรวงนั้นเพื่อใช้ จึงได้มีกรมช่างมากมายกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆหลายกระทรวงด้วยกัน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ดั่งจะยกตัวอย่างให้เห็นเช่นกระทรวงวัง มีกรมทหารในเปนกรมทหารรักษาพระองค์แต่มีกรมช่างทหารในขึ้นอยู่ในกรมทหารในนั้นอีกชั้นหนึ่ง เจ้ากรมเปนที่หลวงประดิษฐนิเวศน์ เห็นได้ตามชื่อว่ามีหน้าที่ปลูกสร้างเรือนหลวงในพระราชนิเวศน์คงมีขึ้นด้วยเหตุที่เจ้ากรมหรือปลัดคนใดคนหนึ่งในกรมทหารในเปนผู้เข้าใจการปลูกสร้างจึ่งตรัสใช้ ผู้รับสั่งนั้นก็ต้องเสาะหาช่างมาเปนลูกมือ งานมากขึ้น ช่างมากขึ้น ก็ต้องตั้งขึ้นเปนกรมช่างทหารใน ยังกรมมหาดเล็กก็มีกรมช่างมหาดเล็กเปนกรมขึ้นอยู่อีกเหมือนกัน มีช่างเขียนช่างปั้นและอื่นอีก คล้ายกับกรมช่าง ๑๐ หมู่ นั่นก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินต้องพระราชประสงค์จะทำอะไรเล่นเปนส่วนพระองค์ จึงรวบรวมช่างต่างๆ มาเปนมหาดเล็กเอาไว้ในกรมมหาดเล็ก มากเข้าก็ตั้งเปนกรมขึ้น อันนี้ฉันใด กรมช่าง ๑๐ หมู่ก็ฉันนัน ช่าง ๑๐ หมู่เปนแต่ชี่อกรมที่รวบรวมช่างไว้ มี ๑๐ หมู่ด้วยกัน ไม่ใช่ช่างในบ้านในเมืองมีแต่ ๑๐ อย่างเท่านั้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

ช่างสิบหมู่

รายนามช่างสิบหมู่ ที่ค้นได้จากทำเนียบศักดตินาพลเรือนและทหารในกฎหมายเก่า คัดฉะเพาะที่ไม่ซ้ำกัน คือ

๑. ช่างเลื่อย ๒. ช่างก่อ
๓. ช่างดอกไม้เพลิง ๔. ช่างไม้สำเภา
๕. ช่างปืน ๖. ช่างสนะ (จีน)
๗. ช่างสนะ (ไทย) ๘. ช่างขุนพราหมณ์เทศ
๙ ช่างรัก ๑๐. ช่างมุก
๑๑. ช่างปากไม้ ๑๒. ช่างเรือ
๑๓ ทำลุ (บางคนว่าช่างปรุ) ๑๔. ช่างเขียน
๑๕. ช่างแกะ ๑๖. ช่างสลัก
๑๗ ช่างกลึง ๑๘. ช่างหล่อ
๑๙. ช่างปั้น ๒๐. ช่างหุ่น
๒๑. ช่างบุ ๒๒. ช่างปูน

คัดจาก พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ฉะเพาะที่ไม่ซ้ำ คือ

๒๓. ช่างหุงกระจก ๒๔. ช่างประดับกระจก
๒๕. ช่างหยก ๒๖. ช่างชาดสีสุก
๒๗. ช่างดีบุก ๒๘. ช่างต่อกำปั่น

คัดจาก พระราชบัญญัติรัชกาลที่ ๔ เล่ม ๑ คือ

๒๙. ช่างทอง  

ทำลุ

กฎหมายตราสามดวง ว่าด้วยศักดินาทหารหัวเมือง กล่าวถึงอาษาจามแล้วจึงกล่าวถึงทำลุ อยู่หน้าช่างเขียน ว่าดังนี้

หลวงเทพเดช เจ้ากรมทำลุขวา นา ๘๐๐
ขุนสรจำนง ปลัด นา ๔๐๐
หลวงสุรินทรเดช เจ้ากรมทำลุซ้าย นา ๘๐๐
ขุนจงใจยุทธ์ ปลัด นา ๔๐๐
หมื่นทำลุ นา ๒๐๐

(กฎหมายฉบับหมอบรัดเล พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ เล่ม ๑ หน้า ๑๙๓)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ