๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ศกนี้ ประทานผ้ากุศราต ๓ ผืนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ดูแล้ว จึงขอประทานถวายคืนมาพร้อมกับหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าฉะบับนี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระเดชพระคุณ ที่ทรงพระกรุณาเป็นล้นเกล้า ผ้ากุศราตนี้ ดูก็คล้ายผ้าลายมาก ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นผ้าที่ใช้ห่อคัมภีร์ บางทีก็มีลักษณะคล้ายกับผ้ากุศราตนี้ และคงจะเป็นผ้าแขกอินเดียที่มีเข้ามาจากต่างประเทศเป็นสามัญ เพราะข้าพระพุทธเจ้าค้นได้ความว่า คำ สุหรัด ซึ่งเป็นชื่อเมืองในแคว้นคุชราดในอินเดียนั้น แต่โบราณมา เคยส่งฝ้ายไปขายยังประเทศอังกฤษ ปรากฏว่า ฝ้ายเมืองสุหรัดเป็นชะนิดเลว เพราะมีการเจือปนมาก จนคำว่า สุหรัด ในภาษาปากตลาดของอังกฤษ หมายความว่าฝ้ายอย่างเลว เมื่อเมืองสุหรัดเป็นท่าที่ส่งฝ้าย ก็คงส่งผ้าของอินเดียออกไปยังต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้น น่าสันนิษฐานว่า แต่โบราณมาผ้าต่างประเทศของสยาม ก็น่าจะได้มาจากเมืองสุหรัด ผ้าสุหรัดก็คงจะเป็นชะนิดคล้ายคลึงกับผ้ากุศราต อนึ่ง แคว้นคุชราตซึ่งมีเมืองสุหรัดเป็นเมืองท่า ก็เป็นที่อยู่ของพวกแขกอิสลาม ที่เรียกว่าแขกเทศ และพวกแขกเทศก็พูดภาษาคุชราตี ซึ่งมีคำภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียปนภาษาฮินดี เพราะฉะนั้นคำว่า กุศราต ที่ทรงสันนิษฐานว่าจะเป็นชื่อเมือง ก็คงเป็นคำเดียวกับคุชราต

ยั่นตานี ข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามค้นคำว่า ยั่น โดยตลอดแล้ว ไม่ปรากฏคำว่า ยั่น ที่เป็นชื่อผ้าหรือเกี่ยวด้วยเรื่องเสื้อผ้า จึงเกิดความสงสัยว่า คำว่า ยั่น จะไม่ใช่ภาษาต่างประเทศ อาจจะเป็นคำว่า ย่าน ที่ แปลว่าถิ่น ก็ได้ แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่มีหลักฐานอย่างอื่นมาสนับสนุนคำนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงลองสอบถามไปทางเมืองปัตตานี เผื่อจะได้เค้าอย่างไรบ้าง เวลานี้ยังไม่ได้รับตอบ

อนึ่ง ในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ มีคำว่า เกี้ยวลาย แปลว่า ผ้านุ่งอย่างดีชะนิดหนึ่ง ในคราวชำระถึงคำนี้ ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่า เกี้ยวลาย เปนผ้าชะนิดใด มีผู้หนึ่งว่าเคยเห็นไม่ใช่แต่เกี้ยวลายเท่านั้น คำว่า ผ้าเกี้ยว เฉย ๆ ก็เคยพบแต่ก็ไม่ทราบว่าผ้าอะไร และคำว่า กร่าย ในความว่า

เทวครีศรีเส้งแสด สรรพางค
คาด กร่าย ชายทองวาง ร่วงรุ้ง
ศรีฟ้าผาสนองบาง เยาย่อง
อมเมี่ยงเชียงชมดฟุ้ง กลิ่นกลุ้มใจหญิง

(กาพย์ห่อโคลง พระศรีมโหสถ)

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระบารมีปกเกล้าฯ ทราบถึง ผ้าเกี้ยว และ กร่าย ด้วย

ที่มีรับสั่งถึงคำว่า อภิธาน ปทานุกรม ตรงกับคำฝรั่งว่า ดิกชันรี หรือต่างกัน ขอประทานกราบทูลว่า เมื่อคราวประชุมชำระปทานุกรมครั้งแรกได้มีการวินิจฉัยและตกลงกันว่า คำว่า ดิกชันรี ควรใช้ว่า พจนานุกรม ที่ใช้ว่า ปทานุกรม นั้นไม่สู้ตรง ปทานุกรม ควรใช้ในเรื่องคำที่เข้าบทหรือคำที่แต่งแล้ว เช่น ทศกรรฐ สุเมรุ เป็นต้น แต่ที่กรรมการยังคงใช้ว่า ปทานุกรม อยู่ ก็เนื่องด้วยของเดิมยังคงใช้อยู่ จึงจะไปเปลี่ยนเป็น พจนานุกรม เมื่อภายหลัง ส่วนคำว่า อภิธาน ตกลงว่าควรจะหมายแต่ที่เก็บเอาคำที่เป็นชี่อรวมไว้ข้างท้ายเรื่อง ซึ่งตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า Vocabulary คำว่า สรรพพจน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นแต่หมอสมิทบางคอแหลมใช้ว่า สรรพพจนานุโยค ซึ่งคงมุ่งหมายความให้ตรงกับคำฝรั่งว่า Comprehensive Dictionary แต่ก็เป็นคำที่มิได้มีใช้อยู่ทั่วไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ