๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล ทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๕ เดือนนี้ ว่าจะทรงทำบันทึกการแก้ในเรื่องกฎมนเทียรบาลพะม่า แล้วประทานมาให้ข้าพระพุทธเจ้านั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทราบเกล้าแล้ว

เรื่องภาษาธิเบต ข้าพระพุทธเจ้าเคยตรวจดูอักขรวิธี ในพจนานุกรมธิเบต-อังกฤษ แต่ไม่ได้ผลมากนัก เพราะตัวหนังสือโรมันที่ถ่ายเสียงของธิเบตมาไว้ เป็นเหมือนดั่งรับสั่ง ใช้ตัวโรมันซ้อนกันหลายตัว บางตัวก็เป็นชะนิดขนาดเล็กเอาเข้าควบกับตัวขนาดใหญ่ อ่านดูคำอธิบายก็ยากนักหนา ข้าพระพุทธเจ้าต้องเลิกพยายาม เพราะเป็นการฆ่าช้างเอางา แต่ยังดีอยู่ที่คำใดในภาษาธิเบต ซึ่งมีที่มาจากสันสกฤต คำนั้นมักอ่านได้สะดวก เพราะใช้ตัวโรมันตรงไปตรงมาอย่างเดียวกับการถ่ายเสียงสันสกฤตมาเป็นตัวโรมัน บางคำจะผิดเพี้ยนเสียไปบ้าง ก็พอเดาได้ เพราะเพี้ยนไปในแนวเดียวอย่างสันสกฤตกับปรากฤต

เรื่องสอบเสียงพะม่าเพื่อจดเป็นตัวไทย ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามชาวพะม่าว่าเป็นชาวเมืองหลวงหรือเมืองใด คงได้ความว่าไม่ใช่ทั้งนั้น เว้นแต่หม่องหน่วย ซึ่งได้ความว่า แม้ไม่ใช่ชาวเมืองหลวง แต่ก็ได้ไปศึกษาอยู่ที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงค่อยอุ่นใจ และร้องขอเขาให้พยายามบอกเสียงเป็นอย่างชาวเมืองหลวง ดั่งที่จดถวายมา แต่จะถูกต้องหรือประการใด ยังเป็นการยากอยู่ นอกจากข้าพระพุทธเจ้าจะต้องยอมเชื่อไปพลางก่อน

ข้าพระพุทธเจ้าพบข้อความในหนังสือ Gazetteer ตอนหนึ่ง ว่าด้วยการปกครองของพะม่า ในนั้นมีเรื่องที่พาดพิงไปถึงคำบางคำในกฎมนเทียรบาลพะม่า ได้ข้อความชัดขึ้นอีก

ในนั้นกล่าวว่า ตามลักษณะปกครองของพะม่า แบ่งอำมาตย์ออกเป็นสองพวก แต่โดยเหตุที่ความสิทธิขาดตกอยู่แก่พระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งและหน้าที่ของอำมาตย์ทั้ง ๒ พวกนี้ จึงออกจะรวม ๆ กันไป แยกไม่ได้ ของเดีมอำมาตย์ในพวกที่ ๑ มีอำนาจและความรับผิดชอบฉะเพาะภายในพระราชวัง พวกนี้ในชั้นเดีมว่า คงจะเป็นแต่เจ้าพนักงานในราชสำนัก เพราะมีหน้าที่ซึ่งข้าราชการสามัญ ไม่มีโอกาศจะเข้ารับตำแหน่งได้ (เห็นจะเป็นข้าราชการในราชสำนักนั่นเอง) ส่วนอำมาตย์พวกที่สอง คือข้าราชการปกครอง มีสภาที่ประชุมใหญ่ เรียกว่า ลุด หรือ ลุดต่อ (Hlut หรือ Hlutdaw) ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าแปลไว้ว่าที่ประชุมใหญ่ (หน้า ๑๕) มีอำนาจในการปกครองทั้งหมด ลุดต่อ นี้ นอกจากใช้เรียกข้าราชการที่เป็นสมาชิกในสภานั้น ยังใช้เรียกสถานที่นั้นด้วย สภาลุดต่อตั้งอยู่ภายในพระราชฐานหน้าพระที่นั่ง มะเยนัน (หน้า ๔) ทางประตู ตะคาหนี่ (หน้า ๕) ซึ่งเป็นพระทวารกลางหรือพระทวารใหญ่ ในสภามีพระที่นั่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาประทับเป็นประธานในการประชุม ถ้ามีพระราชโองการอย่างใด ๆ มายังสภา เป็นหน้าที่ของ นาขั่นด่อ (หน้า ๒) เป็นผู้นำสนอง อำนาจของสภานี้เป็นอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน และมีข้าราชการ หวุ่นยี่ ชั้นผู้ใหญ่ หรืออัครมหาเสนาบดี ๔ นายเป็นประธาน

คำว่า ลุด นี้ มีตำนานเล่าว่า พระเจ้าพุกามทรงพระนามว่า Nara-padi-Sithu มีราชโอรสอยู่ ๕ องค์ ครั้งหนึ่งพระเจ้าพุกามประชวรเป็นฝีขึ้นที่นิ้วพระหัตถ์ ทรงรับทุกข์เวทนาสาหัส พระสนมคนหนึ่ง (minor queen) ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าสังข (Zeythanhka) โอรสพระเจ้าพุกามองค์หนึ่งใน ๕ องค์ เอาปากอมฝีไว้ เพื่อให้พระเจ้าพุกามบันเทาความเจ็บปวด จนฝีนั้นแตก พระเจ้าพุกามพอพระทัยในความภักดีของพระสนมคนนั้น ทรงสัญญาว่า จะประทานกรุณาแล้วแต่นางจะกราบทูลขอ วันหนึ่งพระเจ้าพุกามทรงเรียกประชุมโอรสทั้งห้า ให้มานั่งล้อมเป็นวงภายใต้เศวตรฉัตร แล้วตรัสว่า ถ้าเศวตรฉัตรโอนไปทางโอรสองค์ใด ให้โอรสองค์นั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เศวตรฉัตรโอนไปทางเจ้าชัยสังข ซึ่งเป็นโอรสองค์เล็กที่สุด พระเจ้าพุกามทรงระลึกถึงข้อที่ทรงให้สัญญาไว้กับมารดาเจ้าชัยสังขและทั้งมีศุภนิมิตในเรื่องเศวตรฉัตรมาแล้ว จึงทรงตั้งเจ้าชัยสังขอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท (เรื่องตอนนี้ผิดกับที่พระเจ้าราชวรวงศเธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง เที่ยวเมืองพุกาม) ส่วนราชโธรสอีกสี่องค์ ก็ไม่ทรงรังเกียจเดียดฉันท์ในเรื่องนี้ ซ้ำมาประชุมกันทุกวันเพื่อปรึกษาหารือในการปกครองบ้านเมือง สถานที่ประชุมของราชโอรสทั้งสี่นี้ เรียกว่า Yôn หรือ Rôn แปลว่า ที่ประชุม (เสียงคล้ายคำว่า โรง มาก) ภายหลังคำนี้ มีความหมายใช้เรียกไปถึงคำว่า ศาล หรือ ห้องประชุม ต่อมาโอรสทั้ง ๔ เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดิน (จะเป็นองค์ไหนไม่ปรากฏ) มีพระราชภาระมาก จึงอาสาขอปลดเปลื้องราชภาระนั้นเสียให้หมด พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอม แต่นั้นมาจึ่งเรียกสถานที่ประชุมเพื่อปรึกษาราชการแผ่นดินว่า ลุด แปลว่า ปลดเปลื้อง หรือ พ้นแล้ว เพราะพระราชภาระทั้งหมดมาตกอยู่กับโอรสทั้งสี่ จึงได้ชื่อว่า หวุ่นยี่ (Wungyi หวุ่น ว่าภาระ น่าจะออกเสียงเป็น หวุ่นจี้ เพราะ gy ปรากฎว่าเป็นเสียง จ แต่ที่คุ้นกันคือ ยี่ เพราะมีชื่อปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารบ่อย ๆ) เหตุฉะนี้ คำว่า หวุ่นยี่ จึงใช้เรียกอำมาตย์ชั้นสูงสุด ๔ นาย ซึ่งเปนมุขอำมาตย์ของแผ่นดิน

เวลาเช้า ๗ น. หวุ่นยี่ ๔ นาย เข้ามาใน ลุดต่อ เพื่อจัดเตรียมระเบียบวาระสำหรับประชุม เวลา ๘ น. เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินที่ในพระราชฐานเรียกว่า Nyilahkan ชั้นต้นไปที่ บะแยไดก์ (หน้า ๑๕ บะแย เข้าใจกันว่าเป็นภาษามอญ แปลว่า ชายโสด เห็นจะตรงกับคำว่า พลาย ในภาษามอญซึ่งแปลความเดียวกัน) พบกับ อตวินหวุ่น (หน้า ๑๕) ถึงเรื่องที่จะนำความบังคมทูลในวันนั้น แล้วจึงพร้อมกันทั้งข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าไปเฝ้า การเฝ้าประจำวันนี้มักเฝ้าที่ในพระที่นั่งมันนันดอ (หน้า ๑๙) หรือในที่ Lapetyesiang กินเวลาเฝ้าตามปกติสองหรือสามชั่วโมง

เวลาเที่ยง หวุ่นยี่ กลับมาที่ ลุดต่อ เพื่อรับฎีกาและไต่สวนชำระคดี พอบ่ายเวลา ๑๕ น. นาขั่นด่อ อันเชิญกระแสพระราชโองการหรือพระราชวินิจฉัยในเรื่องที่ถวายไว้ออกมาให้แก่ที่ประชุมลุดต่อ เสร็จแล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในตอนบ่าย เรียกว่า Bo-shu ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเข้าเฝ้าทุกคน กินเวลาเฝ้ามักไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เสร็จแล้วพวกอำมาตย์กลับไปที่ ลุดต่อ หรือไปที่ tè คือ ห้องพัก ซึ่งต่างมีห้องไว้ที่ในบริเวณนั้นโดยฉะเพาะเวลา ๑๗ น. จึงต่างกลับบ้านกันได้

ต่อนี้ไปมีข้อความอื่น ๆ อีกเล็กน้อย แล้วถึงรายชื่อตำแหน่งอำมาตย์ที่เป็นสมาชิกในสภาลุดต่อ ซึ่งมีด้วยกัน ๕๗ นาย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ