๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม รวม ๒ ฉะบับเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายตอบลายพระหัตถ์ว่าด้วยเรื่องแก้กฎมนเทียรบาลพะม่าก่อน

(๑) การเขียนคำพะม่าจากตัวโรมันมาเป็นคำไทยตามที่ทรงพระดำริไว้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องตามพระกระแสนั้น ที่รับสั่งถึงคำพะม่าว่าเขียนอย่างหนึ่ง แต่อ่านอย่างหนึ่ง ทรงชักตัวอย่างคำ มอง พะม่าอ่านว่า เมา แต่เขียน ง อยู่ด้วย ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตดูคำที่ผิดเพี้ยนกันในระหว่างที่เขียนกับที่อ่าน มักเป็นไปในคำที่เป็น แม่กง ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับภาษาจีนชาวแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยนและไหหลำ ดังที่ได้เคยกราบทูล เช่น เจียง และ จาง ในคำว่า เจียงไคเชก และ จางโซเหลียง ถ้าเป็นเสียงแต้จิ๋วก็เป็น เจีย และ เตีย ส่วนในภาษาโปรตุเกษได้ทราบเกล้าว่าคำที่เขียนเป็นแม่ ก กา แต่เวลาอ่านเป็นเสียงแม่กง เป็นการตรงกันข้าม เช่น Lelaô อ่านว่า เลหลัง Paô อ่านว่า (ขนม) ปัง ทั้งนี้คงจะเนื่องด้วยเป็นเสียงนาสิก

(๒) Yôn หรือ Rôn ทรงเห็นว่าจะตรงกับภาษาไทยว่า โรง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องตามกระแสพระดำริ คำว่า โรง นี้ ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามได้ความว่า ไทยทางเหนืออ่านว่า โห่ง และใช้ในความเป็นอย่างเดียวกับ โรง วังเจ้านายหรือปราสาทก็เรียกว่า โห่ง มีความเป็นทำนองเดียวกับคำว่า ท้องพระโรง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยทรงวินิจฉัยคำว่า โรง นี้ เดิมจะหมายความถึงสิ่งที่ปลูกสร้างลงกับพื้นดินอย่างโรงรถ โรงละคร ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยว่า ของเดิมคงเป็นเช่นนั้น ในภาษาเขมรก็ดูเหมือนมีคำว่า โรง แต่น่าจะเป็นได้ไปจากคำไทยข้าพระพุทธเจ้ายังไม่แน่ใจ

Hlud ที่ทรงสันนิษฐานว่าได้กับคำ หลุด ในภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าเขลาไม่ได้เฉลียวถึง เมื่อทรงทักขึ้นจึงได้เห็น คำว่า หลุด นี้ ในภาษาไทยทางเหนือก็มีใช้เป็นคำในภาษาปกติ แต่อ่านออกเสียงว่า หลูด ในภาษาไทยใหญ่ใช้กระทั่งไม่สังเกตหรือผ่านตาไปว่า หลุดหน้าหลุดตา ถ้าคำว่า โรง และ หลุด เป็นคำในภาษาไทยมาแต่เดิม ก็น่าคิดอยู่มากว่าประเพณีบางอย่างของพะม่าน่าจะได้ไปจากไทยใหญ่ ซึ่งตามหลักฐานของนักโบราณคดีก็ว่า ไทยใหญ่มาอยู่ในประเทศพะม่าเป็นเวลาช้านาน ก่อนที่พะม่ายกลงมาจากธิเบต มีหลักฐานคำว่า ช้าง และ งัว ซึ่งในพะม่าเรียกว่า สาน และ นัว เจ้าคุณอินทรมนตรีเคยบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ช้าง และวัว เป็นสัตว์ที่อยู่ในแหลมอินโดจีน พะม่ามาแต่ประเทศธิเบต ไม่มีสัตว์สองอย่างนี้ เมื่อพะม่ายกลงมาเห็นช้างและงัว ก็เอาคำของไทยที่มีอยู่แล้วมาใช้ แต่ว่าเรียกเพี้ยนไปตามสำเนียงของพะม่า ข้าพระพุทธเจ้ายังนึกเลยไปถึงคำว่า ช้างสาร ว่าอาจะเป็น ช้างสาน มาก่อน ตลอดจนคำว่า ข้าวสาร เพราะในภาษาไทยทุกพวกที่ข้าพระพุทธเจ้าสอบสวน พบคำว่า ข้าวสาร ตลอดไปจนไทยในเมืองจีน ซึ่งไม่ปรากฏว่าเคยได้ติดต่อกับภาษาทางอินเดีย และข้าวสารก็เป็นอาหารจำเป็นของไทยมาแต่เดิม คงต้องมีคำในภาษาอยู่แล้ว ในไทยใหญ่มีคำว่า สาน แปลว่า เอาเปลือกออก เช่น ถั่วสาน งาสาน ข้าวสาน ภาษาไทยทางปักษ์ใต้ ก็ยังเรียกกุ้งแห้งว่า สารกุ้ง ดีบุกที่ยังไม่ถลุงว่า สารดีบุก บางทีความไปคล้ายคลึงเข้ากับคำว่า สาร ซึ่งแปลว่า แก่น จึงได้ใช้ สาร สกด ร สืบมา ในภาษามอญเรียกช้างว่า เจีน ซึ่งคงเป็นคำมาจากไทย เพราะถ้าจะเป็นคำของมอญแท้ก็น่าจะใกล้ไปทางเขมร ซึ่งเป็นตระกูลภาษาเดียวกัน นามสกุลของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) และเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) ที่ใช้คำว่า คชเสนี ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า น่าจะมาจาก เจ่ง เป็นคำเดียวกับคำว่า ช้าง หรือ ทอเรีย ซึ่งอาจเป็นคำเดียวกับ ดำริย ในภาษาเขมร

ในการแปลงเสียงคำควบ ตามที่ทรงวินิจฉัยไว้ในตัว gy ว่า เขียนกันเป็นตัว ก ก็มี ตัว ค ก็มี ตัว ง ก็มี ตัว จ ก็มี ตัว ย ก็มี กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้สติ ได้รับความรู้ขึ้นมาก ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยพระวินิจฉัยทุกประการ ในเรื่องออกเสียงอักษรควบ ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตเห็นคำไทยทางเหนือ ถ้ากล้ำด้วยตัว ร ก็มักพาเอาเสียงตัวหน้าเป็นเสียงหนักหรือเสียงสูง ส่วนเสียง ร ตัวกล้ำหายไป เช่น ปราสาท โปรด ปราบ แกร่ง กรีด ก็เป็น ผาสาท โผด ผาบ แขง ข็ด เป็นต้น กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า ยสถา ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า ยสตรา มากกว่า ยสฐา (นันดร) ที่เพี้ยนไปเช่นนี้ คงจะเนื่องจากการออกเสียง ร เป็น ฮ แล้วเสียง ฮ ไปกล้ำกับตัวหน้า กระทำให้เกิดเป็นเสียงหนัก เพราะบางคำที่กล้ำเสียง ก ไม่ทันออกเสียง ก เสียง ฮ ก็เข้ามาแทน กลายเป็นเสียงตัว ฮ ก็มี เช่น เกรียน-เหี้ยน ใช่แต่เท่านั้น คำกล้ำนี้ ข้าพระพุทธเจ้าสังเกตเห็นในภาษาไทยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าแยกเอาฉะเพาะเสียงตัวใดตัวหนึ่ง หรือไม่แยกเลย ก็ได้ความทั้งสามคำก็มี ที่เป็นสองคำก็มี เช่น แมบ-แลบ-แมลบ เม็ด-เล็ด-เมล็ด เมือง-เลือง-มเลือง เลื่อน-เคลื่อน รอด-ตลอด คั่ง-คลั่ง หลีก-ปลีก เป็นต้น

ในคำที่กล้ำด้วยตัว ว แปลกที่บางคำเพี้ยนเสียงเป็น ฟ ก็มักจะเป็นอยู่ในไทยตอนใต้ ถ้าไทยพวกอื่นมักจะเป็นเสียง ว บ้าง เสียง อว กล้ำบ้าง เสียงตัวเดิมบ้าง เสียง ว หายไป แต่ที่จะเพี้ยนเป็น ฟ ไม่ปรากฏ เช่น ควันไฟ ควาย และ ความ ไทยทางตะวันออกเป็น วัน วาย และ วาม ไทยในเมืองจีนเป็น อวัน อวาย และ อวาม ไทยทางตะวันตกเป็น ขวน ขาย และ คาม (คำพูด) เพราะฉะนั้นที่รับสั่งถึงข้อที่ว่า ไทยพูดอักษรควบไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วย การที่มามีคำเป็นเสียงควบขึ้น คงจะเกิดจากที่ได้มาติดต่อกับพวกพูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร และตระกูลพะม่า-ธิเบตซึ่งเป็นภาษาที่มีการต่อคำ (agglutinative) เกิดเป็นคำกล้ำขึ้นแทบทุกตัวไป เลยเป็นเหตุให้คำไทยแท้ ๆ เกิดมีคำกล้ำตามไปด้วย มีพะยานอยู่ คือ คำที่กล้ำหรือแยกออกจากกันเป็นคำ ๆ ก็มีความหมายเป็นอย่างเดียว หรือว่าเพี้ยนไปบ้าง ดังได้กราบทูลมาข้างต้นนี้

ในคำว่า สระ หรือ สรง อ่านว่า สะ สง โดยไม่มีกล้ำ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า จริง สร้าง และ เศร้า ในภาษาจีนชาวแต้จิ๋ว มีคำว่า เจีย แปลว่า แน่แท้ แซ แปลว่า เกิด ทำให้เกิด และ เฉา แปลว่า ทุกข์ สามคำนี้กวางตุ้งอ่านว่า เจง จิง หรือ จัง (ใกล้กับคำว่า จริงจัง มาก) เซง หรือ ซัง (ใกล้กับ สร้าง มาก และ สร้าง กับ ซัง ก็ใกล้กัน) เจ๊า หรือ โฉว (ใกล้กับ เจ่า เฉา เซา เสร้า มาก) ถ้าคำว่า จริง สร้าง และ เศร้า เป็นคำไทยมาแต่เดิม ที่เติมตัว ร ขึ้น ก็น่าจะอาศัยคำในภาษาอื่น มีภาษาบาลีและภาษาเขมรเป็นต้น อย่างคำว่า สระ และ สรง เป็นแนวเทียบลากให้เขียนคำไทยบางคำให้มีตัว ร กล้ำตามไปด้วย

ในข้อที่รับสั่งถามถึงการเขียนคำควบ ว่าจะสมควรเขียนตามแบบไหน ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าพิจารณาดูแล้ว เห็นว่า ถ้าเขียนตามแบบใหม่เช่น Mye เป็น เมฺย ดีกว่าที่จะเขียนเป็น มเย หรือ มะเย เพราะถ้าเขียนเป็น มเย อาจเป็นทางให้หายร่องรอยคำเดิมว่าเป็นคำกล้ำ และชวนให้เลือนเสียงเป็น มอเย เป็น มะเย ห่างเข้าทุกที จนบางทีอาจเติม ร เป็นกล้ำ กลายเป็น มระเย อย่าง กษัตริย์ แล้วเป็น กระษัตริย์ ซึ่งจะเป็นการยากในภายหลัง เพราะบางคำอาจไม่ทิ้งร่องรอยของคำเดิมเหมือนอย่างกระษัตริย์ ไว้ให้ทราบก็ได้ ส่วนแบบที่ถ่างคำกล้ำออกเป็น มะเย ข้าพระพุทธเจ้าไม่สู้รัก เพราะหลักที่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงธรรมการถืออยู่ ดูก็ยังไม่เป็นแน่นอนนัก คือถ้าเป็นคำไทย เช่น ตะวัน ตะปู พะยาน ฉะเพาะ ชะนิด เขียนมีประวิสัญชนี ส่วน พนม ซึ่งเป็นคำเขมร ไม่มีประวิสัญชนี ที่ตัว พ เพราะเป็นคำมาจากต่างประเทศ การเขียนรูปนี้ เป็นความสะดวกแก่การเรียน เป็นวิธีลากเอาคำในลักษณะคล้ายคลึงกันให้มาเข้าแม่พิมพ์เดียวกันหมด ซึ่งอาจผิดได้ในบางคำ ฝรั่งเรียกว่า (false analogy) อีก อย่างหนึ่ง การที่จะวินิจฉัยว่า คำใดเป็นต่างประเทศหรือคำไทย เป็นของยากยิ่ง เช่นคำว่า เกาะพะงัน เขียนมีประวิสัญชนี โดยถือหลักว่าแปลไม่ออกและไม่ทราบว่ามาจากภาษาอะไร ก็ลากเอาเข้าพวกเป็นคำไทย จึงมีประวิสัญชนี ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบคำ พะงัน ว่า เป็นชื่อชาติ ๆ หนึ่งในแหลมมลายู เช่นนั้นก็ไม่ควรจะมีประวิสัญชนี ถึงว่าคำอย่าง ตะวัน ตะปู ซึ่งเข้าใจกันเป็นคำไทย เลือนจากเสียงยาวมาเป็นเสียงสั้น ถ้าว่าตามหลักของเสียง เมื่อเป็นเสียงยาวด้วยกันทั้งสองพยางค์ เสียงตัวหนึ่งก็ย่อมหดสั้นเข้าจนเกือบจะกลมกลืนเข้ากับเสียงตัวที่ยังคงเป็นเสียงยาวอยู่ ในที่นี้ถ้าคำเดิมเป็นตาวัน ตาปู ก็จะหดเสียงลงเป็นครึ่งเสียง ตะ และเสียง ตอ จึงน่าจะเป็น ตวัน และ ตปู แต่การเขียนอย่างนี้ ย่อมเป็นความลำบากแก่การเรียนเขียนจำ เหตุฉะนี้ ในคำที่ถ่างเสียงของคำมาจากต่างประเทศซึ่งมีกล้ำ ข้าพระพุทธเจ้าจึงสมัครไปในทางเขียนตามแบบในภาษาบาลี ตามที่ได้กราบทูลมาทั้งหมดนี้ รู้สึกด้วยเกล้าว่าออกจะมาก ๆ ไป จะเป็นการผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้าเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ