๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๗๙

พระยาอนุมานราชธน

ได้รับหนังสือของท่าน ๕ ฉะบับแล้ว ตั้งใจจะตอบความลางข้อ แต่ก็ค้างอยู่ ต้องว่ายังไม่ถึงฤกษ

บัดนี้จะตอบแบ่งเปน ๒ ฉะบับ คือตอบหนังสือลงวันที่ ๔ และที่ ๑๖ ที่ ๑๗ ธันวาคม อันเปนเรื่องแก้ กฎมนเทียรบาลพะม่า ด้วยกันนั้นฉะบับหนึ่ง กับหนังสือลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม อันว่าด้วยเรื่องผ้าต่างๆ ฉะบับหนึ่ง

ในฉะบับนี้จะตอบด้วยเรื่องแก้กฎมนเทียรบาลพะม่ารวมกันไป

ในการแก้ ฉันตั้งใจถือเอาตัวโรมัน ตามที่สอบฉะบับกาเซตเตียได้ว่าถูกอย่างไรเปนยืน และเขียนออกเสียงเปนหนังสือไทยก็ดำเนินตามตัวโรมัน จะหันไปหาเสียงพะม่าบ้างก็แต่ที่ไม่ขัดกัน เช่น มิบุยะ เปน มิบุยา เปนต้น ที่จะถือเอาเสียงพะม่าเปนหลักนั้นไม่ได้ เพราะเขาอ่านไม่ตรงกับตัวหนังสือ จะให้ตัวอย่างที่รู้แน่ เช่นคำ มอง พะม่าอ่านว่า เมา ฉันเคยเห็นหนังสือพะม่าเขียนมีตัว ง อยู่ในนั้นจริง ๆ แต่เขาไม่อ่าน ท่านจงรอดูฉะบับที่ฉันเห็นควรแก้อย่างไร อันจะส่งมาให้ท่านพิจารณาในวันหน้านั้นเถิด

ต่อไปนี้จะทักถึงคำลางคำที่จับใจ

Yôu หรือ Rôn เห็นว่าจะตรงกับภาษาไทยว่า โรง นั้นเอง ตัว ง น ม เปลี่ยนกันได้เสมอ

Hlud ซึ่งแปลว่าพ้นแล้วนั้น ก็ได้กับคำ หลุด ในภาษาไทยเรานี่เอง

gy ซึ่งว่าออกเสียงเปน จ กลัวจะเปนด้วยอำนาจฟังเสียงสังเกตมาได้ต่าง ๆ กันไป ความจริงตัว g ที่ฝรั่งใช้ ไม่มีเสียงอย่างนั้นในภาษาไทย จึ่งพุ่งกันไปต่าง ๆ เขียนกันด้วยตัว ก ก็มี ตัว ค ก็มี ตัว ง ก็มี ตัว จ ด้วยก็มี และเปนแน่ว่าตัว g ตัวเดียวก็ไม่ตรงกับเสียงพะม่าแท้ ฝรั่งจึงเอาตัว y ควบเข้าไว้ด้วย เข้าใจว่าเสียงจะต้องหนักไปข้าง ท่านให้ตัวอย่างว่าในพระราชพงศาวดารเขียน Wungyi เปน หวุ่นยี่ คือว่ายึดเอาตัวหลัง ตัวอย่างที่พูดออกชื่อว่า อแซวุ่นกี้ กม นั่นก็คำเดียวกันแต่ยึดเอาตัวหน้า ทั้งนี้เพราะไทยเรามาแต่จีน พูดอักษรควบไม่ได้ ขอให้นึกถึงแต่ก่อน ตรา ก็อ่านว่า กรา อินทรา ก็อ่านว่า อินกรา ควาย ก็พูดว่า ฟาย เดี๋ยวนี้หัดอ่านถูกกันได้มากขึ้นแล้ว แม้กระนั้นคำ สระ หรือ สรง ก็ยังคงอ่าน สะ สง ลุ่น ๆ อยู่นั่นเอง แท้จริงคำพะม่าซึ่งฝรั่งใช้ตัว gy นั้น ไทยจะเขียนให้ตรงเสียงไมได้เลยเปนแน่ เพราะเหตุดั่งนั้น จึงเห็นว่าคำ gyi ซึ่งมีอยู่มาก ควรจะเขียน คยี ไปตามตัวโรมันจะเปนหลักฐานดีกว่าส่ายไปเขียนอย่างอื่น ที่จริงก็จะไม่ผิดไกลไปมากนัก จะขอปรึกษาท่านต่อไปเสียทีเดียวว่า ตัวควบเราเขียนอย่างไรดี เช่นคำ Mye ถ้าตามแบบสมเด็จกรมพระยาเทววงศวโรประการ จะเปนเขียน มะเย เพื่อไม่ให้อ่านผิดเปน เมอย ถ้าเขียนตามแบบกรมศึกษาธิการจะต้องเปน มะเย คือว่าแหกออกเสียงไม่ให้เปนอักษรควบ ถ้าเขียนตามแบบเก่าในภาษาบาลีจะต้องมีเครื่องหมาย เม๎ย ถ้าตามแบบใหม่เปน เมฺย ท่านเห็นสมควรจะเขียนอย่างไร

Nahkandaw ฉันเห็นแล้วเหมือนกันว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้แตกต่างกันหลายอย่าง แต่ฉันไม่มีความรู้พอที่จะสันนิษฐานแก้ได้ จึ่งปล่อยไปตามที่ทรงเขียนมา แต่บัดนี้คิดได้แล้ว เทียบตามธรรมเนียมไทย หน้าที่ของใคร ผู้ใหญ่ในหน้าที่นั้นเขาก็กราบทูลเช่นถวายเครื่องบูชาทรงจุดพระราชทานบูชาที่ต่าง ๆ เปนหน้าที่มหาดเล็กตั้งถวาย ผู้เปนใหญ่ในมหาดเล็กเขาก็กราบทูลเจียรนัย ถ้าเปนผ้าเหลืองซึ่งจะพระราชทานไปที่ไหน เปนหน้าที่กรมศุภรัตตั้งถวายจบพระหัตถ์ ผู้ใหญ่ในกรมศุภรัตเขาก็กราบทูลเจียรนัย ฉันจะถือเอาแบบนี้แก้เปนกลางๆ ว่าเจ้าพนักงานผู้ใหญ่ในหน้าที่

สันดอซิน ฉันคิดเห็นเหมือนกันว่าควรจะเปนปลัดทูลฉลอง แล้วก็มาตรงกับที่พระยาอินทรมนตรีว่า Mye nan คำนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่ามาแต่คำ เมรุ ประกอบด้วยคำ คุย ของพะม่า ว่าปราสาทพะม่านั้น ตั้งอยู่กลางวัง กลางเมือง และกลางชมพูทวีป สมที่จะเปนเขาพระสุเมรุ จึงทรงผูกชื่อลงว่า สุเมรุมหาปราสาท ก็เมื่อมาสอบได้ความแปลว่าปราสาทพื้นดิน จะผูกแก้ชื่อเสียเปน ภูมิมหาปราสาท ก็ได้ หรือจะแก้ใช้คำของเขาไปเปน มเยนันมหาปราสาท เท่านั้นก็ได้

ชื่อพิธีต่าง ๆ คิดจะไม่เขียนเสียงพะม่าลงทีเดียว เมื่อบอกว่าพิธีสงกรานต์เท่านั้นก็เข้าใจดีแล้ว ตัวโรมันซึ่งบอกภาษาพะม่าก็ลงต่อไปสำหรับไว้สอบ ดูไม่จำเปนจะต้องเขียนเสียงพะม่าเปนหนังสือไทยกำกับไว้ด้วยเลย แม้จะเขียนไว้ก็เห็นว่าจะไม่มีประโยชน์อะไร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ