๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล ทราบใต้ฝ่าพระบาท

อนุสนธิหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าลงวันที่ ๑๖ เดือนนี้ เรื่องการตรวจแก้หนังสือกฎมนเทียรบาลพะม่านั้น วันนี้พระยาอินทรมนตรีมาหาข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเลยถือโอกาศสอบสวนเรื่องกฎมนเทียรบาลพะม่า เพราะหนังสือ Gazetteer ที่ลงเรื่องกฎมนเทียรบาลพะม่านั้น เจ้าคุณอินทร ฯ เมื่อครั้งรับราชการอยู่ในพะม่า มีส่วนเป็นผู้รวบรวมอยู่ด้วย ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านคำพะม่าในกฎมนเทียรบาลให้ฟัง คงปรากฏว่า ที่จดเป็นคำไทยไว้แล้วถูกต้องตรงกันเกือบหมด คงมีอยู่หนึ่งหรือสองคำเท่านั้น ที่เจ้าคุณอินทร ฯ ไม่ทราบ เช่นคำว่า chatty (หน้า ๓๑) เป็นต้น ที่ใช้ตัวโรมันในพยางค์หลังว่า ty เป็นการแปลก เพราะเสียง y ของพะม่าเท่ากับ ร ที่มาอยู่ท้ายเช่นนี้ปีนหลัก เจ้าคุณอินทร ฯ ถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าจดเสียงพะม่ามาจากไหน ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่าได้มาจากหม่องหน่วย แกถามว่า คนรูปร่างอ้วนใหญ่ค้ายาบุหรี่อยู่ที่สามแยกใช่ไหม ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่าใช่ แกหัวเราะใหญ่ แล้วบอกว่าหม่องหน่วยคนนี้เคยบวชเป็นภิกษุอยู่ในพะม่ามาตั้ง ๑๕ พรรษา และเคยอยู่ในกรุงมัณฑเลนาน เป็นอันใช้ได้ในการออกเสียงพะม่าชาวเมืองหลวง แต่เรื่องความรู้ทางแปลนั่นแหละยังสงสัยอยู่ เพราะภาษาพะม่ามีคำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตมาก แต่เมื่อถ่ายมาเป็นภาษาพะม่า ถ้าไม่ทราบเรื่องราวเป็นการนำความแล้ว ก็ยากที่จะเดาได้ เพราะถ่ายเสียงเอามาอย่างเหลวแหลก ผิดกับภาษาไทย ซึ่งเห็นตัวก็ยังเดากันได้อยู่ หม่องหน่วยที่พูดนี้เคยเป็นคนอยู่ในบ้านเจ้าคุณอินทร ฯ ที่เมืองพะม่ามาช้านาน จึงได้รู้จักตัวดี เจ้าคุณอินทร ฯ แนะขึ้นว่า ถ้ายังมีที่สงสัยอยู่ จะเชิญหม่องหน่วยมาที่หอสมุด แล้วนัดให้เจ้าคุณอินทร ฯ มาพบด้วยพร้อมกัน เพื่อซักไซ้ไล่เลียงกันดู ก็ยินดี ข้าพระพุทธเจ้าตอบขอบคุณ แต่ขอรอไว้ก่อน เพราะเจ้าคุณอินทร ฯ สอบถามข้าพระพุทธเจ้าว่าใต้ฝ่าพระบาทประทับอยู่เวลาไรเป็นปกติ ข้าพระพุทธเจ้าตอบว่าย่ำค่ำไปแล้ว จึงเป็นที่เชื่อว่า เจ้าคุณอินทร ฯ คงไปเฝ้าใต้ฝ่าพระบาทสักวันหนึ่ง

ข้อความในเรื่องพะม่าที่สอบได้จากเจ้าคุณอินทร ฯ มีบางคำที่สมควรกราบทูล คือ

นาขั่นด่อ คำนี้เจ้าคุณอินทร ฯ รับรองอย่างแน่นแฟ้นว่า นาขั่น คือนักการ ด่อ พระ หรือ หลวง เห็นจะถูก เพราะ นาขั่นด่อ มีหน้าที่เป็นเช่นนั้นจริง

มะเยนัน มะเย นี้เสียงพะม่าจดยาก เป็นเสียงคล้าย เมี้ยว ซึ่งคงเกิดจากออกเสียง มะเย ให้พร้อมกัน เมี้ยว แปลว่า พื้นดิน บนบก เมี้ยวนาน ก็คือพระที่นั่งบก

สันดอซิ้น (หน้า ๑๒) ซึ่งวงเล็บไว้ว่า เห็นว่าจะเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ เจ้าคุณอินทร ฯ อธิบายว่า สัน ว่า เสียงพูด ดอ ว่า พระ ซิ้น ว่า สิงห์ ตรงกับคำว่า ปลัดทูลฉลอง คือเป็นผู้รับสีหนาทมา

บะแยไดก์ คำว่า ไดก์ แปลว่า สถานที่ก่อด้วยอิฐ เป็นคำเดียวกับตึก

หวุ่นยี่ ที่ข้าพระพุทธเจ้ามีความเห็นไว้ว่า ยี่ น่าจะเป็น จี้ นั้น คงได้ความว่า หวุ่นยี่ เป็นถูก ยี่ แปลว่า หลวง ว่า ใหญ่

หนิดสิดกาเดาะ (หน้า ๑๘) หนิด ว่า ปี สิด ว่า ใหม่ กาเดาะ ว่า พิธี

พิธีขอฝน โมมัดปูชอป๊วย โม ว่า ฝน นัด ว่า เทวดา ปูชอ ว่า บูชา ป๊วย ว่า พิธี

พิธีทำรูปปราสาทจำลอง ตาชองเดียงป๊วย ตาชอง ว่า ธงลงคาถาเคียง อ่านมีเสียงไออยู่นิด ๆ คล้าย ไดนก์ แปลว่า เสา เป็นทำนองเดียวกับธงมนต์ของธิเบตที่ชักไว้สูงให้ลมพัด ถือว่าได้บุญ เจ้าคุณอินทร ฯ ว่า ตามวัดในสยามก็เคยมี แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังนึกไม่ออก บางทีจะมีตามหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ได้คติมาทางพะม่า

ในการที่ได้กราบทูลถึงเรื่องเสียงพะม่ามานี้ ข้าพระพุทธเจ้าเกรงว่าจะมีข้อขาดตกบกพร่องอยู่ เพราะได้กราบทูลไปหลายฉะบับซับซ้อนกัน ชื่อที่จดถวายไป ข้าพระพุทธเจ้าต้องคอยพลิกดู เพื่อไม่ให้ผิดกันกับที่ได้กราบทูลมาแล้ว แต่โดยเหตุที่มีการแก้เสียงกันหลายหน จนออกจะงง ๆ ข้าพระพุทธเจ้าอาจจดถวายมาผิดพลาดไปได้บ้าง จึงต้องขอรับพระเมตตาบารมีปกเกล้าเป็นที่พึ่ง หากจะมีการผิดพลาดไปบ้าง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ