๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๗๙

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๘ สองฉะบับ ได้รับแล้ว เรื่องตีพิมพ์หนังสือยังตอบไม่ได้ จะต้องตรวจดูตันฉะบับก่อน จะตอบได้บัดนี้แต่ที่ถามศัพท์

๑. กำแพงแก้ว เคยใช้เรียกกำแพงเตี้ยซึ่งใช้ล้อมอะไรทุกอย่างมีโบสถ์ เปนต้น สันนิษฐานคำว่า แก้ว ก็หมายความว่าดีว่างาม เช่น ช้าง แก้ว ม้าแก้ว เปนต้น กำแพงแก้วก็หมายความว่ากำแพงทำขึ้นสำหรับให้งาม ไม่ป้องกันสตรูได้ เพราะเปนกำแพงเตี้ย

๒. เรือกิ่ง กับ เรือชัย ใช้เรียกกันสับสนอยู่เสมอ ฉันเคยคิดวินิจฉัยมาพักหนึ่งแล้ว เห็นว่าเรือชัยแปลว่าเรือชะนะ จะเปนเรือชะนิดไรก็ได้ แต่เรือกิ่งจะต้องเปนชื่อชะนิดเรือ และเรือชะนิดนั้นจะต้องมีอะไรที่ควรเรียกว่ากิ่งติดอยู่ นึกไปก็นึกได้ มีความปรากฏในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปไหนแห่งหนึ่ง พวกฝีพายเอากิ่งดอกเลามาปักขึ้นที่หัวเรือท้ายเรือ ทอดพระเนตรเห็นตรัสว่างามดี สั่งให้ช่างจำลักไม้ติดหัวท้ายเรืออย่างกิ่งดอกเลาเปนประจำ แล้วยังได้ไปเห็นเรือบรรทุกสินค้าในเมืองพะม่า ทำหัวท้ายอย่างรูปเรือกิ่งดอกเลาแปลงของเรา เว้นแต่ไม่มีกิ่งซึ่งทำเทียมเปนกิ่งดอกเลาปักสูงขึ้นไปเท่านั้น เปนอันได้ความพอใจประกอบ ว่าเดิมเราเห็นจะใช้เรืออย่างเดียวกับพะม่า แล้วทำกิ่งลายแทนกิ่งดอกเลาปักขึ้นที่หัวท้าย เรือชะนิดนั้นเองคงจะได้ชื่อว่าเรือกิ่ง ลางคราวเรือชะนิดที่ทำเทียมกิ่งดอกเลาปักหัวท้ายเรียกว่าเรือชัยก็มี แต่ก็ไม่ประหลาดอะไร ดั่งได้วินิจฉัยมาข้างตันแล้วว่า เรืออะไรจะเรียกว่าเรือชัยก็ได้ ที่เปนเรือหัวรูปสัตว์เช่นเรือหงส์ เรียกว่าเรือกิ่งสุพรรณหงส์ ยังไม่เคยพบ พบแต่เรียกว่า เรือชัยสุพรรณหงส์ แต่ที่เรียกว่าเรือชัยนั้น สังเกตว่าใช้เรียกแต่พวกเรือพระที่นั่งนอกนั้นก็มีเรียกเรือคู่ชักอีก ๒ ลำ คือเหิรหาวกับหลาวทอง ตามที่ได้สังเกตและสันนิษฐานมาดังนี้ จะผิดถูกอย่างไรก็ไม่ทราบแน่

๓. กุฎไต ต้องเปนชื่อเสื้อ แต่ไม่เคยเห็นตัวจริงเลย เห็นแต่คำในหนังสือ เท่ากับท่าน บอกไม่ถูก

๔. เสื้อเสนากุด เสื้ออย่างนี้บอกได้ เดิมเปนเสื้อตีพิมพ์สีสลับเปนลาย มีสีแดงเหมือนน้ำหมากมากกว่าสีอื่น ที่คอและข้อมือเปนลายสิงห์ขบ ตามตัวเปนลายเกล็ดเกราะ ที่แถวดุมและชายเสื้อเปนลายขอบ จะสั่งทำมาแต่ไหนหาทราบไม่ครั้นผุพังไปจึงจัดทำขึ้นใหม่เอาเอง ลดเสียไม่ทำลายเกล็ดเกราะที่ตัวเสื้อเพื่อให้งานน้อยลง คงเป็นเสื้อพื้นสีมีลายแต่ที่คอกับข้อมือและขลิบรอบชาย ทำด้วยวิธีตัดผ้าสีต่างๆ ปะปักทับ เห็นจะเปนชะนิดนี้ที่ท่านได้เห็น ต้องเรียกว่าเสื้อเสนากุดเหมือนกัน

๕. หมวกฝรั่ง ชื่อนี้เคยได้ยินเรียกหมวกชะนิดที่พวกแตรสังข์ใส่กันอยู่ ซึ่งมีรูปเปนกรวยยาว สวมแล้วปลายพับไปข้างหลัง แต่หมวกอย่างพวกแตรสังข์นั้นไม่ได้ใช้ไปถึงพวกอื่น ไม่สมกับที่มีคำโคลงว่า

นายกองนุ่งลายมี หมวกฝรั่ง ใส่นา

แต่ชะนิดหมวกก็ไม่มีมากอย่างนัก พอจะคาดเอาได้ สำหรับพล มีหมวกกลีบลำดวนอย่างหนึ่ง เช่นพวกกลองชะนะใส่ กับหมวกหนังอีกอย่างหนึ่งรูปเหมือนลูกฟักตัดมีกระบังรอบ เคลือบสีแดง สำหรับนาย มีหมวกทรงประพาส รูปเหมือนหมวกกลีบลำดวน แต่มีปกคอปกหู สำหรับเจ้าพระยา มีมาลาเส้าสูง ไม่มีขนนก สำหรับเจ้านายและพระเจ้าแผ่นดิน มีพระมาลาเส้าสูง ปักขนนกตั้ง กับพระมาลาเส้าสะเทิน รูปเตี้ยกว่าเส้าสูง ปักขนนกนอน นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างหนึ่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน คือหมวกหนังนั้นเอง แต่ติดปกคอปกหูลงรักสีดำ เรียกว่าพระมาลาเบี่ยง หมวกฝรั่งที่มีในคำโคลงเห็นจะหมายถึงหมวกหนัง หมวกชะนิดนั้นจะทำมาแต่เมืองฝรั่งหรืออย่างไรไม่ทราบ ทำในเมืองไทยไม่ได้นั้นเปนแน่ เคยเห็นรูปฝรั่งทหารโบราณใส่มี ดูเหมือนจะทำด้วยเหล็ก และหมวกกรวยพับรูปฝรั่งก็มี พวกผีอะไรตัวเล็กๆ ใส่

๖. ปัสตู เปนผ้าสักหลาดเนื้อฟุ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Serge

๗. ช่าง ๑๐ หมู่ คำนี้เห็นจะไม่ใช่หมายความว่าในบ้านในเมืองมีช่างอยู่ ๑๐ อย่าง อันชื่อต่าง ๆ เถ้าจะนับชื่อก็เห็นจะได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๘ อย่าง เข้าใจว่ากรมช่าง ๑๐ หมู่นั้น คือรวบรวมคนที่เปนช่าง ตั้งขึ้นเปนกรมช่าง แบ่งตามประเทศวิชาคนที่รวบรวมเข้าไว้ได้เปน ๑๐ หมู่ด้วยกันเท่านั้นเอง ในกฎหมายมีบอกไว้เพียง ๙ หมู่ ตกไปหมู่หนึ่ง จึงทำให้ท่านไปนับเอากรมทำลุว่าเปนช่าง ผสมให้ครบ ๑๐ แต่ที่จริงกรมทำลุนั้นเปนกรมทหารอาสา หาใช่ช่างไม่ ดูชื่อเจ้ากรมและปลัด ท่านก็จะเห็นว่าเปนเช่นนั้น พระวรวงศเธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการผู้ซึ่งได้ควบคุมช่าง ๑๐ หมู่ เมื่อรัชชกาลที่ ๕ ได้แต่งโคลงบอกชื่อหมู่ช่างซึ่งท่านได้ควบคุมขึ้นไว้ มีดังนี้

เขียน, กระดาษ, แกะ, หุ่นปั้น, ปูน, รัก, บุ, ฮา
กลึง, หล่อ, ไม้สูง, สลัก, ช่างไม้

จำนวนหมู่ช่างในโคลงนี้นับได้ ๑๓ หมู่อเกินกว่าชื่อไป ๓ หมู่คิดว่าจะเติมเข้าทีหลัง เมื่อเทียบกับชื่อที่มีในกฎหมาย ไม่ต้องกับกฎหมายอยู ๔ ชื่อ คือ ช่างกระดาษ ช่างรัก ช่างไม้สูง กับช่างไม้ อันช่างกระดาษนั้นคือฉลุกระดาษให้เปนลาย เมื่อพิจารณาก็เห็นว่าเปนช่างฉลักนั้นเอง ผิดกันแต่ฉลักไม้หรือฉลักกระดาษเท่านั้น คงจะแยกออกจากช่างฉลักในภายหลัง ช่างไม้สูงเปนช่างทำช่อฟ้าใบระกา เห็นว่าก็คือช่างไม้นั้นเอง ทั้งช่างไม้สูงและช่างไม้ เดิมจะอยู่ที่อื่น แล้วยกมารวมทีหลังก็เปนได้ หรือจะนับรวมอยู่ในช่างหุ่นก็อาจเปนได้ แต่คงเปนหมู่ที่ยกมารวมหรือแยกออกใหม่เปนแน่ ส่วนช่างรักนั้น สงเคราะห์เข้าในช่างอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเปนช่างหมู่หนึ่งโดยอิสสระ คิดว่าคงเปนหมู่ที่มีมาเดิม เมื่อเอาผสมกับชื่อช่างที่มีมาในกฎหมาย ๙ หมู่ ก็ครบ ๑๐ หมู่พอดี

๘. นักเทศขันที คำ ขันที เรารู้กันอยู่มั่นแล้วว่าเปนชายที่ได้ทำลายองคชาติ จะต้องแปลแต่คำว่านักเทศ ผะเอิญฉันได้เห็นสมุดสวดพระธรรมของครั้งกรุงเก่า ซึ่งมีเขียนรูปภาพกับหนังสือปนกัน รูปภาพในนั้นมีเขียนเผนิกหนึ่งเป็นเรื่อง ภูริทัต เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกทอดพระเนตรนายอาลำภายเล่นงู เขียนเปนพลับพลา ตรงกลางมีพระมหากษัตริย์นั่ง ชั้นลดเบื้องซ้ายมีนางในนังอยู่เปนตับ ชั้นลดต่อนางในลงมาอีก มีรูปชายแต่งตัวเปนแขกนั่งอยู่ ๒ คน ข้าราชการที่แต่งตัวเปนไทยหมอบอยู่หน้าพลับพลาทั้งสิ้น เมื่อเห็นเข้าก็สดุดใจ ทำไมแขกจึงขึ้นไปนังอยู่บนพลับพลาต่อกับนางใน คิดไปก็แปลออกว่านั้นเองคือขันที และยังได้ความรู้ต่อไปว่าขันทีของเราที่มีมาแต่ก่อนนั้นไม่ใช่คนไทย เปนแขกที่สั่งหามาแต่เมืองนอก โดยหลักอันนี้ เมื่อเอามาปรับเข้ากับคำนักเทศขันที ก็ได้ความ นักว่าคน เทศว่าต่างประเทศ ขันทีว่าชายทำลายองคชาติ คือคนต่างประเทศซึ่งทำลายองคชาติ

ปัญหา ๘ ข้อของท่าน ฉันพยากรณ์ได้เพียงเท่านี้ หวังว่าคงจะเปนประโยชน์ช่วยความรู้แก่ท่านบ้างไม่มากก็น้อย แต่ถ้าข้อใดฉันคิดผิดไปก็ขอท่านจงอภัยแก่ฉันเถิด

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ