๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ประทานคำภาษาชวาที่เกี่ยวกับภาษาไทยบางคำ คราวที่เสดจประพาสชวาครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระเมตตากรุณาล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าฯ ว่า เสดจประพาสชวาเมื่อวานนี้เอง โดยที่เจ้าคุณประชุมมงคลการมาบอก หวังด้วยเกล้า ฯ ว่า คงจะทรงพระเกษมสำราญในการที่ได้เสด็จประพาสครั้งนี้

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกตื่นใจในคำที่ทรงพระกรุณาประทานมา เพราะเป็นคำที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหาในพจนานุกรมมลายู แต่ไม่พบ เช่นคำว่า สตาหมัน เพิ่งมาทราบเกล้าฯ ว่า เป็นคำผษม คำว่า ปะหนัน เพิ่งมาทราบเกล้า ฯ ว่าเป็นคำเดียวกันกับที่ในภาษาฝรั่งนำเอาไปใช้เรียกพรรณไม้ในจำพวกการเกดว่า pandanus ข้าพระพุทธเจ้าเคยเหนคำว่า pandanus ว่า ต้นการเกด แต่ไม่ได้เฉลียวใจถึงคำว่า ปะหนัน ในภาษาชวาว่าเป็นคำเดียวกัน ถ้าเช่นนั้น คำว่า การเกด ลำเจียก และ เตย ก็คงเป็นคำในภาษาชวามลายูด้วย แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบ

ข้าวปัด ในปทานุกรมใช้ว่า ข้าวปัตร์ ซึ่งคงจะเป็นเพราะต้องการจะแปลคำว่า ปัตร์ ให้ได้ ที่จะกลายมาเป็น ข้าว ข้าพระพุทธเจ้าตื่นใจเพราะเสียงและลักษณะแห่งของเหล่านั้นใกล้กันมาก ที่ภาษาเพี้ยนไปจนค้นหาคำเดิมไม่ได้ ก็น่าจะเป็นไปในทำนองนี้ ซึ่งคงมีอยู่มากคำ เป็นข้อที่สกิดใจข้าพระพุทธเจ้าอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าปลาบปลื้มในพระเมตตา ที่ประทานโอกาศให้ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามคำบางคำที่ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยอยู่ ทั้งนี้รู้สึกเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพระราชนิพนธ์บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์ พบพระบรมราชาธิบายในบางตอน เช่นคำว่า บุตรลบ และ สุกระสาน ในรามเกียรติ์ ซึ่งผิดกับคำในฉะบับเดิม ภาษาสันสกฤต ที่แยกเป็น กุศ และ ลว ศุกร และ สารัณ ต่อมาข้าพระพุทธเจ้าพบหนังสือ รามเกียรติ์ชวา แปลเป็นภาษาเยรมัน มีคำว่า บุตรลบ และ สุกสารณ์ เขียนเป็นคำเดียวกัน ไม่ได้แยกกันเหมือนอย่างฉะบับสันสกฤต และชื่อมเหษีพระศิวะ ก็ใช้คำว่า อุมา เป็นพื้น หาได้ใช้ว่า บารพตี อย่างในฉะบับสันสกฤตไม่ เป็นเหตุให้ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า ถ้าได้สืบสาวฉะบับทางชวา ก็น่าจะได้เค้าของรามเกียรติ์อีกมาก แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะสืบสาวได้ตลอด เพราะไม่ปรากฏว่ามีฉะบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ คงมีอยู่แต่ฉะบับแปลเป็นภาษาเยรมัน และภาษาวิลันดาเท่านั้น

คำ วิลันดา และ อังกฤษ เมื่อเทียบคำเดีมในภาษาทั้งสอง ก็ไม่สู้มีเสียงใกล้กันนัก คิดด้วยเกล้าฯ ว่า คำทั้งสองนี้ จะเป็นเสียงชาวชวามลายู ซึ่งภาษาไทยได้มาเป็นแน่ เป็นทำนองกับคำว่า วิลาด ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย ได้มาในภาษาไทยทางแขกอินเดีย ชาวบังกหล่า ทั้งนี้ขอประทานพระกรุณาทราบเกล้าฯ ว่า ทางชวาจะเรียกชาติวิลันดาและอังกฤษตามเสียงนี้หรือประการใด

คำว่า เภตรา ข้าพระพุทธเจ้าพบในภาษามลายูว่า Bahtera แปลว่า เรือ ว่ามาจาก วาหิตร ในภาษาสันสกฤต ขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า Bahtera จะใช้แก่เรือทั่วไปหรือใช้ฉะเพาะเรือสำเภาเรือใบ

ในภาษามลายู เรียกขนุนว่า Nanka และ Champadak คำหลังคงเป็นขนุนจำปาดะ แต่คำต้นน่าจะเทียบได้ด้วยขนุนหนัง ในศิลาจารึกพระร่วง และในภาษาไทยใหญ่ เรียกขนุนว่า หมากลาง คงจะมาจากคำว่า หนัง ก็ได้ ขอประทานทราบเกล้าฯ ว่า nanka เป็นขนุนชนิดใดในภาษาชวา

อุหรับ ในความว่า ทรงสุคนธ์ปนอุหรับระยับตา คงจะหมายถึงเครื่องสำอาง เครื่องหอมอย่างหนึ่ง

อาน ในคำว่า เครื่องอานพานหมาก น่าจะแปลว่า พานหมาก หรือของที่ใช้ในเรื่องหมากพลู

สะพัง (Subang) กำพู (Krabu) ว่าเป็นชื่อตุ้มหู

ทั้งสามคำ ขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า เป็นของชนิดใด และสะพัง กำพู เป็นตุ้มหูชนิดไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ