๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๓ เดือนนี้ โปรดประทานคำอธิบายเรื่องเขื่อนเพชรมายังข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

คำว่า ขันธ์ ที่ใช้ประกอบกับคำว่า เขื่อน กับยังมีคำว่า ขัณฑ์ ที่ใช้ประกอบกับคำว่า เขตต์ เป็น เขตต์ขันฑ์ ถ้าดูคำแปลในภาษาสันสกฤตและบาลี ความไม่สู้สนิทกัน และไม่ปรากฏว่าในภาษาเดิมใช้คำทั้งสองนี้ในความที่ว่ากำหนดหมายปันเขตต์แดน และคำว่า เขตต์ขัณฑ์ ก็ใกล้กับเสียงและความหมายในคำว่า กีดกั้น และ ขีดขั้น ในภาษาไทย กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า ขันธ์ และ ขัณฑ์ จะเป็นคำที่ใช้ขึ้นภายหลัง เพื่ออนุโลมให้เข้ากับคำในบาลี คำทั้งสองนี้จึงไม่กลมกลืนกับความหมายอย่างไทย ข้าพระพุทธเจ้าสอบดูในพจนานุกรมภาษาเขมร ในคำว่า boundary ก็พบแต่คำว่า พรม ไม่ปรากฏว่าใช้ ขันธ์ หรือ ขัณฑ์ จึงได้สอบดูในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ในคำว่า เขตต์แดน ภาษาไทยใหญ่ใช้ว่า ขิญขัน ขัน เป็นคำประกอบคำว่า ขิญ ชะนิดซ้อนคำ ในภาษาไทยนุงและไทยย้อย ใช้ว่า หัน ใช้หมายความตลอดไปถึงที่กีดกั้นและคันนา ตรงกับภาษาจีน แปลว่า เขตต์ จำกัด อย่าง limited จีนก็ใช้ว่า หัน ในไทยขาวใช้ว่า เหน ในความเดียวกัน หัน กับ เหน เป็นเสียงเดียวกัน มีแนวเทียบเป็นตัวอย่าง ในคำว่า แลดู ซึ่งไทยพายัพใช้ว่า เหน อย่างภาษาสยาม แต่ทางหลวงพระบางเพี้ยนเป็น หัน ไป เสียง ข ค อาจเพี้ยนเป็น ห ได้ง่าย เพราะ ข ค เป็นเสียงหนัก และเสียงสระ อิ อี กับ เอ ก็เพี้ยนกันได้ง่าย ด้วยฐานกรณ์อยู่ใกล้กัน ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ขิญ ขัน หัน เหน ในความที่ว่า ขีดขั้น และ คัน เป็นคำเดียวกัน ถ้าแปลงเสียงคำ ว่า ขิญ ให้เป็นคำซ้อนชะนิดใช้ตัวสะกดตัวหน้าและตัวหลังในวรรคอย่าง ดีดดิ้น ขอดข้อน ก็จะได้คำว่า ขีดขิญ ถ้าแปลง อี เป็น เอ ในคำว่า ขีด ก็จะเป็น เขดเขน (ในภาษาอาหม ขิญ แปลว่า เขตต์ แต่ให้อ่านว่า เขน) และในหนังสือกลอนสวดเรื่องพระมาลัย ตอนหนึ่งมีความว่า ได้ว่าทั้ง อากร ด่านขนอนและขีดขิน ส่วยนาค่ามันดิน ทั้งสวนเรือกและเชิงเรือน (เฮือก ในภาษาไทยใหญ่แปลว่าสวน) ด้วยเหตุผลดั่งนี้ จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นไปว่า คำว่า ขีด ขิน เขต เขน เหน หัน ขัน เขื่อน คัน คั่น กัน กั้น ตลอดจนคำว่า (สะ)กัดกั้น คงมีที่มาเป็นคำเดิม หมายความว่า กีดกั้น หรือ ขีดขั้น เป็นเส้นเป็นแนวเอาไว้ หากเพี้ยนเสียงและเพี้ยนความหมาย เพื่อใช้ในภาษาให้ได้กว้างขวางออกไป แล้วมาภายหลังจึงแปลงเสียงบางคำให้เข้ารูปเสียงในภาษาบาลี ทั้งนี้การจะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ