๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๘ เดือนนี้ ประทานพระอธิบายประกอบทางสันนิษฐาน ในคำบางคำที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลถามขอรับพระกรุณา ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

๑. สีกุหร่า คำนี้พราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี เห็นว่าเป็นคำเดียวกับ กุหล่า ซึ่งในภาษาทมิฬหมายความว่าหมวก สีกุหร่า ก็อาจเป็น ศรีกุหล่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ลองสอบค้นในหนังสือเก่า คำว่า กุหร่า พบแต่ที่ใช้คู่กับพระมาลาพระเส้าสูง สีกุหร่า อีกแห่งหนึ่งว่าพระมาลาพระเส้าสูง กุหร่า ไม่มีคำว่า สี ส่วน กุหร่า ที่ใช้ในที่อื่นนอกจากพระมาลายังไม่พบ ข้าพระพุทธเจ้าจึงค้นดูในปทานุกรมภาษามลายู และปทานุกรมภาษาฮินดูสตานี พบคำว่า กุหล่า ว่าเป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่าหมวก หมวกแก๊บ หมวกคลุม ผ้าคลุมศีรษะและกะบังมงกุฎ (tiara) เพราะฉะนั้นคำว่า กุหร่า ถ้าเป็นคำเดียวกับ กุหล่า ที่แปลว่าหมวกจริง ความเดิมก็น่าจะกลายมาหมายความเป็นชื่อสีชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะแล้ว จะแปลเป็นหมวกต่อไปหาได้ไม่ บางทีหมวกที่เรียกว่า กุหล่า จะมีสีเช่นนั้นมาก่อนชื่อนั้น จึงย้ายความหมายจากหมวกมาเป็นชื่อสี ก็อาจเป็นได้

๒. พระแสงเวียดห้าว ในภาษาจีนมีคำว่า ห่าว แปลว่ากตัญญูกตเวที ซึ่งในภาษาญวนออกเสียงว่า เฮี้ยว ทั้งสองคำนี้คงเป็นคำเดียวกัน หากเพี้ยนเสียงไป ถ้าเทียบคำนี้กับคำว่า ห้าว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ความได้กันสนิท คือพระแสงพระเจ้ากรุงเวียดนามผู้มีกตัญญูกตเวที

๓. ฉลองพระองค์ลงราชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้พบที่มาอีกแห่งหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ คือในคำให้การนายอน ตอนไต่สวนพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์คิดก่อการกับพวกว่า จะเขียนชื่อพระยาจักรี พระยาพิชิตภักดี พระสุรินทรภักดี หลวงอินทรเดชและขุนเหล็กขุนเทพรัตน์ ลงในราชะ เอาศิลาทับไว้ มิให้คนมีชื่อทั้งนี้ออกปากคิดอ่านได้ เพื่อจะระงับถ้อยความทั้งปวง และพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์เห็นชอบด้วย จึงพระศรีภูริปรีชาเอาตำราราชะของตัวให้แก่นายเพชร์ทูลให้เขียนชื่อคนทั้งนั้น ลงราชะแล้ว ก็ให้หลวงกระลาโหมเอาศิลาทับไว้ในพระตำหนักนั้น การลงราชะในที่นี้น่าจะเป็นการลงอาถรรพ์ด้วยประการหนึ่ง ส่วนการลงยันตร์ในเครื่องพิชัยสงคราม ข้าพระพุทธเจ้าค้นพบลวดลายยันตร์ราชะที่เสื้อในสมุดไทยเล่มหนึ่ง ซึ่งหอพระสมุดจดไว้ว่าจำลองเอามาจากตันฉะบับของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า ราชะ ในที่นี้ คงเป็นคนละคำกับคำ ราช ที่แปลว่าเจ้าแผ่นดิน จึงได้ค้นดูในปทานุกรมภาษามลายูเพราะทราบเกล้า ฯ อยู่ว่า มลายูมีคติในเรื่องเวทมนตร์อยู่มาก ก็พบคำ ราชะ ซึ่งแปล ว่า “วิธีสัก การขีดหรือสักเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ ลงในตะกรุดและยันตร์” และกล่าวต่อไปว่า ในตำราหนังสือว่าด้วยเวทมนตร์ มักเขียนข้อความไว้ที่หน้าต้น เป็นทำนองคำว่า อีนิละ รายะ นยะ แปลว่า “นี้คือรูปลวดลาย (ราชะ)” ข้าพระพุทธเจ้าลำเอียงไปในทางที่จะเชื่อว่า ราชะ ของมลายูนี้ จะเป็นคำเดียวกับ ราชะ ของเรา และไม่เกี่ยวกับ ราช ที่แปลว่าเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในภาษามลายูตามที่ ซึ่งในภาษามลายูตามที่จดเป็นตัวโรมันก็เป็น raja ผิดกับ ราชะ ที่จดไว้เป็น rajah นอกจากนี้ คำว่า อยู่คงกะพัน ได้มีผู้สันนิษฐานว่าเพี้ยนไปจาก อยู่คงแก่ฟัน โดยเสียงกร่อนไป บ้างก็ว่าเพี้ยนไปจาก กะพนธ์ ซึ่งเป็นชื่อยักษ มีปากอยู่ที่ท้องและฆ่าไม่ตาย ดั่งมีเรื่องแจ้งอยู่ในคัมภีรรามายณะ แต่ในรามเกียรติ์เรียกว่า กุมพล ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่สู้เห็นด้วย เพราะในภาษามลายูก็มีคำว่า กะบัล แปลว่าอยู่คง และของเขาจำแนกลักษณะของ กะบัล หรือ อยู่คง ออกไปตั้ง ๑๐ ลักษณะ ดูสมที่จะเป็นคำเดียวกับ กะพัน ในภาษาไทย นอกจากคำว่า กะพัน ก็ยังมี ชาตรี อีกคำหนึ่ง ซึ่งเข้าใจกันว่าเพี้ยนไปจากคำว่า กษัตริย์ ที่แปลว่า นักรบ เพราะแขกอินเดียออกเสียงกษัตริย์ว่า ฉัตรี แต่ถ้าจะพิจารณาตามความเข้าใจที่เป็นสามัญ ชาตรี น่าจะหมายความถึงผู้มีวิชาเวทมนตร์ขลัง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักรบหรือผู้อยู่ในวรรณกษัตริย์ ใคร ๆ ที่มีวิชาเวทมนตร์ขลังก็เป็นชาตรีได้ บางทีชาตรีคำนี้อาจเพี้ยนไปจากคำว่า ศาสตรี ได้ เพราะศาสตรีใช้แก่ผู้ที่เป็นพราหมณ์รอบรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ และมักใช้เป็นชื่อตัวหลังของพวกพราหมณ์ภาคใต้ของอินเดีย เช่น พราหมณ์ ป.ส.ศาสตรี ที่ประจำการอยู่ในหอสมุดทุกวันนี้ ทั้งปรากฏเป็นหลักฐานอยู่มากว่าพราหมณ์ในอินเดียฝ่ายใต้ได้เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศและชาติต่างๆในแหลมอินโดจีนแต่สมัยโบราณมากกว่าพราหมณ์ทางมัธยมประเทศ คำว่าชาตรีอาจเพี้ยนไปจากคำว่าศาสตรีก็น่าจะได้ เพราะเสียง ศ ในสำเนียงทางอินเดียบางแห่ง ก็มีเสียงคล้าย sh ซึ่งนั้บว่าใกล้กับเสียง ช มาก

๔. ที่ทรงทักคำว่า ทรงฉลองพระกรน้อย คงจะตกคำว่า พระองค์ ไปเสีย ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบดูแล้ว เจ้าหน้าที่คัดตกคำว่า พระองค์ ไปจริง ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งแก้แล้ว ส่วนคำว่า อิสาน ก็แก้เป็น อิศาน ด้วย

๕. มนต์ และ มนตร์ ที่ทรงเห็นว่าควรจะใช้ในที่มีความหมายต่างกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยอย่างยิ่ง เพราะกระทำให้ภาษามีคำใช้มากขึ้น

๖. เรื่องไม้ไต่คู้ ที่ทรงพระกรุณาประทานความเห็นมา ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้า ฯ ไว้แล้ว เพราะในการชำระปทานุกรม ก็ได้เคยมีการโต้เถียงกัน ถึงว่าคำไหนควรมีไม้ไต่คู้ คำไหนไม่ควรมีไม้ไต่คู้ ในที่สุดคงตกลงกันเพียงพิจารณาเป็นคำๆ ไป เพราะยังไม่ได้เหตุผลที่สมควรวางเป็นหลัก ที่ในปรูฟเรื่องราชาภิเษก คำว่า สรรเพชญ เพชร์ แก้ใส่ไม้ไต่คู้ไว้ทั้งนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจปรูฟแก้ตามที่มีกำหนดไว้ในปทานุกรม ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้เอาไม้ไต่คู้ออกหมดแล้ว

แม้น กับ แม้ ข้าพระพุทธเจ้าได้แก้ตัวตามที่ทรงทักท้วงแล้ว ในหนังสือเก่ามักใช้ แม้น ปน ๆ ไปกับคำที่หมายความว่า แม้ หรือ ถ้า ถ้าจะพิจารณาถึงภาษาไทย ที่ชอบใช้คำคู่หรือคำซ้อน ซึ่งมีความหมายแปลคำเป็นอย่างเดียวกัน ก็มีคำว่าแม้นเหมือน และ ถ้าแม้ เห็นได้ว่ามีความหมายต่างกัน แต่ก็มีคำอยู่อีกคำหนึ่งคือ แม้นว่า ซึ่งความหมายใกล้ไปในทางที่ว่า ถ้า ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า คำว่า แม้น และ แม้ ว่าเดิมอาจแปลว่าเหมือนทั้งสองคำ ต่อมาเมื่อภาษาเจริญขึ้น จึงได้แยกให้มีความหมายต่างกัน และสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้ให้ต่างกันอย่างนั้น

๗. บัณฑูร ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นแล้ว ยังไม่พบที่มา สอบผู้ที่รู้ภาษาเขมร ก็ว่าเป็นภาษาเขมร แต่ไล่เลียงเข้าจริง ก็แปลไม่ได้สนิทว่าเป็นภาษาเขมร คงอธิบายแต่ว่าเขมรก็ใช้เหมือนกัน

๘. เสื้อกุฎไต กุตไต คำนี้ข้าพระพุทธเจ้าเกิดความคิดขึ้นในคราวแรกว่า อาจจะเป็นคำเดียวกับคำว่า cotti ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าเสื้อพบเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นหลักฐานพอที่จะลงข้อวินิจฉัยได้ว่าใช่ จึงสอบค้นในปทานุกรมภาษาฮินดูสตานี พบคำ khurti แปลว่าเสื้อกั๊กทหาร ดูเข้ากับเสื้อกุฎไตได้สนิท ว่าในส่วนเสียงสระอี เพี้ยนไปเป็นเสียงสระไอ ก็ย่อมจะเป็นได้ง่าย มีตัวอย่างเป็นแนวเทียบได้หลายภาษา เช่นคำว่า กำไร ก็มีคำว่า กำรี้กำไร ในภาษาจีน กำไรว่า ลี้ แต่จะออกเสียงเป็น ไล้ ก็ได้ในภาษาเขมรก็มี ดำรี-ดำเรย-ดำไร เป็นต้น ถ้ากุฎไตเป็นเสื้อกั๊กทหารแล้วจะมีรูปร่างและสีสรรอย่างไร เชื่อด้วยเกล้า ฯ ว่าในรูปภาพของเก่าคงมี ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังไม่มีโอกาศค้นหา

ในโอกาศที่ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำในปทานุกรมภาษามลายูและภาษาฮินดูสตานี ได้พบคำต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวด้วยเครื่องเสื้อผ้าของแขกซึ่งพอจะปรับเข้ากับคำบางคำที่เป็นชื่อเสื้อผ้าของไทยในสมัยก่อนได้บ้าง เช่น

ผ้าส่าน ในปทานุกรมแปลว่าผ้าขนสัตว์โบราณ ผ้าเปลือกไม้โบราณ ได้ความกว้าง ๆ เพียงเท่านี้ ผ้าส่านนั้นข้าพระพุทธเจ้าเดาว่า จะเป็นผ้าที่มีราคาเป็นของที่นิยมกันมาแต่ก่อน จึงได้มีกล่าวไว้ในเพลงยาวพระยามหาเทพปาน ว่า นุ่งปูมเขมรใหม่วิไลเหลือ สวมเสื้อประทานห่มส่านขาว ดั่งนี้ ในภาษาเปอร์เซียมีผ้าชะนิดหนึ่งเรียกว่า Shal ว่าเป็นผ้าทอด้วยขนอูฐปนไหม ซึ่งเป็นผ้าของแขก ต่อมาเปลี่ยนเป็นทอด้วยขนแกะ หรือขนสัตว์อื่น ๆ ปนไหมหรือฝ้ายก็ได้ ซึ่งในภาษาฝรั่งเรียกว่า Camlet คำนี้เสียงใกล้กับคำ กำมหลิด ในภาษาไทย บางทีจะโดยเหตุที่เรียกชื่อผ้าส่านเป็นผ้ากำมหลิดเสียแล้ว เพราะลักษณะของผ้าได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของวิชาช่าง คำว่าส่านจึงได้สูญไปทั้งชื่อและผ้า

ผ้ากาษา หรือ กาสา มีกล่าวไว้ในหนังสือเก่าเช่น ฝันว่าห่มผ้ากาษาคลังถวายผ้ากาสา บางทีจะด้วยเข้าใจผิด เขียนกันเป็น กาสาย ก็มี ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า คำว่า กาษา จะเป็นคำเดียวกับ กาสา คำนี้ในภาษามลายู แปลว่า หยาบ และมักประกอบเข้ากับคำว่าผ้า ในภาษาทมิฬมีคำว่า กาสามัล แปลว่าผ้าดิบ

โหมด ตาด เข้มขาบ ผ้าทั้งสามอย่างนี้จะผิดแปลกกันอย่างไรบ้าง ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามเจ้าหน้าที่ทางพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้ความชัด ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า tash และ kimkhab แปลว่าผ้าทอง ไม่อธิบายอะไรอีก ส่วน โหมด ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่พบที่มา ขอประทานทราบเกล้า ฯ ด้วยว่าทั้งสามอย่างนี้ผิดกันอย่างไร

ผ้าเยียรบับ คำนี้เห็นจะตรงกับคำว่า Zarabaft ในภาษาเปอร์เซียซึ่งหมายความถึงผ้าทอง แปลตามพยัญชนะ Zara ว่าทอง baft ว่าทอ ข้าพระพุทธเจ้าพบในภาษาเขมรเขียนว่า ซ่าระบับ เสียงใกล้คำเดิมมากกว่าของไทย แต่ก็แปลกอยู่หน่อยที่เสียงนี้มาเป็นเสียง ย ในภาษาไทย ไม่ใช่แต่เยียระบับเท่านั้น คำว่าลูกผักชียี่หร่า ในภาษาเปอร์เซียก็เป็น Zira

อัตตลัด พบในภาษามลายูว่าเป็นแพรต่วน แต่เขียนเป็น อัตเตลัด ก็มี อัตตลัส ก็มี ซึ่งแสดงว่าคงไม่ใช่เป็นภาษามลายูมาแต่เดิม

ในเรื่องเสื้อผ้าต่าง ๆ ยังมีอยู่อีกหลายอย่างที่ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ ด้วย เช่น

ปัตหล่า มีอยู่ในหนังสือบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖ ว่า ผ้ากรองทองริ้วปัตหล่า

ยั่นตานี ในความว่า นุ่งผ้ายั่นตานี (เพลงเกี่ยวข้าว)

สุหรัด ในความว่า ทั้งสี่นางนุ่งสุหรัดแล้วผัดหน้า

ผ้าทิพย์ ในความว่า ใส่ห้อยผ้าหน้าทิพย์ขลิบมะยม ทั้ง ๒ ชื่อนี้ มีอยู่ในเรื่องพระอภัยมณี

กุศราช ในความว่า คลี่ผ้ากุศราชออกคาดพุง (สังข์ทอง)

กุดั่น คำนี้ในปทานุกรมแปลว่า “เครื่องทองประดับพลอย” ครั้นเมื่อชำระปทานุกรมมาถึงคำนี้ พระพินิจวรรณการทักว่า ในลิลิตโคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน มีกล่าวว่า ลายปั้นกุดั่น ซึ่งเป็นลายฐานพระประธาน เพราะฉะนั้น กุดั่น คงไม่หมายความมากแต่เครื่องทองประดับพลอยเท่านั้น ขอประทานทราบเกล้า ฯ

ภู่กลิ่น ในหนังสือ ลัทธิธรรมเนียมภาค ๘ ว่า สนมพลเรือนรับเครื่องต่อข้างใน เครื่องทองใหญ่ทรงจุดสำรับ ๑...... แล้วรับภู่กลิ่นต่อข้างในมาแขวนเตียงพระมณฑล อีกแห่งหนึ่งว่า ดอกไม้ร้อยภู่กลิ่น ในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีอยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งว่า แขวนย้อยห้อยดวงพวงสุกแดง กลิ่นชั้นผูกพู่ดูบรรจง อีกแห่งหนึ่งว่า

เป็นชวากวุ้งเวิ้งตะเพิ่งพัก แง่ชะงักเงื้อมชะชะง่อนล้วนก้อนหิน
บ้างใสสดหยดย้อยเหมือนพลอยนิล บ้างเหมือนกลิ่นภู่ร้อยห้อยเรียงราย

ความตามที่กราบทูลมานี้ ภู่กลิ่น ก็คงเป็นพวงมาลัยหรือพวงดอกไม้ชะนิดหนึ่ง แต่มาถึงความแห่งหนึ่งในสุธนูคำฉันท์ ว่า

พรัดฟ้าหล้าโลกรณภู กลิ่นศาสตร์ศัตรู
ก็แหลกเป็นจุณจรัญจราย  

ภู ในที่นี้ก็คงเป็นคำเดียวกับ ภู่ เช่นเดียวกัน แต่ทำไมจึงไปอยู่กับศาสตราวุธ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพระแสงที่มหาดเล็กอัญเชิญโดยเสด็จ มีพวงมาลัยสวมอยู่ที่ด้าม บางทีจะเรียกว่า ภู่กลิ่น ด้วยกระมัง ขอประทานทราบเกล้า ฯ ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ