- คำนำ
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๓)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๓)
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น (๒)
- ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๓)
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๗๙
พระยาอนุมานราชธน
จะตอบหนังสือของท่าน ลงวันที่ ๑๒ เดือนนี้ ซึ่งส่งพระราชนิพนธ์ทรงพระราชวิจารณ์พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ทั้งมีความเห็นและคำถามคำบอกอะไรต่าง ๆ ไปด้วยนั้น ให้ท่านทราบความเห็นของฉัน
ในการทำสารบาญ ท่านเกรงจะขัดข้องทำไม่ได้ ด้วยมีงบประมาณค่าตีพิมพ์ไว้เพียง ๒๕๐ บาทนั้น ท่านรู้งบประมาณมาโดยทางใด ถ้ารู้มาทางนอกคอกแล้วท่านไม่ควรรู้ ไม่ควรคำนึงถึง เห็นดีอย่างไรก็ทำไป เว้นแต่หม่อมเจ้าอุปลีสาณจะมาบอกอายัติกัดหมายแก่ท่าน ว่าอย่าให้เกิน ๒๕๐ บาทขึ้นไป นั่นแหละจึงควรจะคิดลดหย่อนให้สมตามคำสั่งแห่งเจ้าของ
ทีนี้จะตอบข้อซึ่งท่านขอความเห็น ๖ ข้อ
๑. ข้อที่ว่าหนังสือนั้น ควรจะเรียกว่า พระราชวิจารณ หรือ พระบรมราชาธิบาย ฉันได้ยกคำทั้งสองขึ้นตราชูคิดดูแล้ว รู้สึกว่า พระราชวิจารณ์ นั้นเบากว่า เปนทางทรงแสดงกระแสพระราชดำริ อันว่าจะถูกก็ได้ผิดก็ได้ไม่มีโทษ ส่วน พระบรมราชาธิบาย นั้นหนักกว่า เปนทางเหมือนว่าทรงตรัสรู้แจ้งแล้วนำความมาสอน ถ้าผิดไปก็ทำให้เกิดโทษ จึงเห็นว่าใช้คำ พระราชวิจารณ ดีกว่า
๒. ท่านจะลงฟุตโนตอธิบาย ว่าหัวยักษ์กับพระเจดีย์เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนนั้นลงได้ ไม่มีการต่ำสูงอยู่ในนั้นเลย เพราะไม่ได้กระทบทำความได้เสียอะไรแต่พระราชดำรัส บอกคนให้รู้ตำแหน่งสิ่งของไปทางหนึ่งต่างหากเท่านั้น
๓. ขอบใจท่านที่บอกชื่อเมืองสะอุเลาให้ทราบ แต่ก็ได้เพียงรู้ตราไว้ ฉันไปเที่ยวเมืองกาญจนดิฐมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เอาใจใส่สืบเมืองเก่าอยู่เหมือนกัน ได้ความว่าเมืองท่าทองได้ย้ายถึง ๔ ครั้ง เดิมเมืองเก่าตั้งอยู่ในแม่น้ำซึ่งเรียกว่าท่าทองอุแท (เข้าใจว่าคืออุไทย) อยู่สุดทางตะวันออก ฉันได้ไปถึงที่นั้น พบวัดเก่า ๆ สมควรแล้วที่ว่าเปนเมืองเก่า ครั้นเสียแก่พะม่าแล้วตั้งเมืองใหม่ เลื่อนไปอีกลำน้ำหนึ่ง ถัดลำน้ำเก่าไปทางตะวันตก เรียกว่าตำบลเขาน้อย นานมาลำน้ำตื้นเขิน เรือเข้าออกลำบาก จึงเลื่อนไปตั้งใหม่อีกแม่น้ำหนึ่ง ถัดไปทางตะวันตก เรียกว่าท่าทองใหม่ ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ไปตั้งต่อเรือรบที่บ้านดอนในแม่น้ำหลวง ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ไปตั้งต่อเรือรบที่บ้านดอนในแม่น้ำหลวง ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระราชทานชื่อเปลี่ยนเปนแม่น้ำตาปี ตั้งอยู่ถัดแม่น้ำท่าทองใหม่ไปทางตะวันตกอีก ในการต่อเรือ ก็ย่อมมีช่างมาประชุมกันอยู่มาก ชาวบ้านชาวเมืองจึงพากันมาตั้งขายของมื้อซื้อกิน ปลูกเคหสถาน จึงกลายเปนเมืองขึ้นใหม่ เมืองนี้เองที่ได้พระราชทานนามว่ากาญจนดิฐ ครั้นเมื่อทำรถไฟไปถึงท่าข้าม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชดำริคาดว่า ต่อไปเมืองจะต้องย้ายไปอยู่ที่ท่าข้าม จึงพระราชทานชื่อท่าข้ามว่าสุราษฎร์ธานี แต่ชาวเมืองกาญจนดิฐก็ไม่ไป กลับดึงเอาชื่อสุราษฎร์ธานีมาเปนชื่อเมืองกาญจนดิฐเสียด้วยซ้ำ ทำเอาชื่อกาญจนดิฐหายไป สมเด็จกรมพระยาดำรงกลัวชื่อกาญจนดิฐจะสูญเสีย จึงตรัสสั่งให้เรียกเมืองเก่าที่ตำบลเขาน้อยว่าอำเภอกาญจนดิฐ เปนเช่นนั้นอยู่จนทุกวันนี้ ชื่อเมืองสะอุเลาไม่ได้ยินเลย แต่ไม่ประหลาดอะไร ชื่อเมืองย่อมเกิดขึ้นแล้วก็สูญหายไปเปนธรรมดา ถ้าจะเดาแล้ว เมืองสะอุเลาก็คงเปนชื่อเมืองเก่าที่แม่น้ำท่าทองอุแทนั้นแหละจะเปนได้ดีกว่าแห่งอื่น ที่เรียกชื่อว่าท่าทองนั้น เขาว่าเคยหาแร่ทองได้ที่เขาในละแวกท่าทองอุแทนั้น
๔. ในการที่พราหมณ์อุ้มพระเจ้าแผ่นดินขึ้นภัทรบิฐนั้น ฉันจะลองคาดคะเนให้ท่านฟัง อภิเษก แปลว่ารดน้ำ รดน้ำหมายถึงการให้ ดูแต่ พระเวสสันดรเถิด ให้ลูกให้เมียก็รดน้ำให้ชูชกและพระอินทร์ ราชาภิเษก ก็คือให้ราชสมบัติ แต่ให้ด้วยรดน้ำไม่ใช่ประเพณีของเรา เรารู้สึกไม่พอ จึงต้องแถมประเคนเข้าด้วย เครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสง ประเคนถวายผู้จะเปนพระเจ้าแผ่นดินได้ แต่ภัทรบิฐยกประเคนไม่ได้ จึงต้องอุ้มองค์พระเจ้าแผ่นดินประเคนให้แก่ภัทรบิฐ ท่านคิดว่าเลิกการอุ้มพระเจ้าแผ่นดินเพราะเสื่อมความนับถือพราหมณ์นั้นก็ถูกแล้ว แต่ฉันยังเห็นเหตุลึกเข้าไปอีกว่า อันตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินนั้นเปนตำแหน่งที่แย่งกันหนัก ต้องระวังกันทุกหายใจเข้าออก ในการที่พราหมณ์เข้าอุ้มนั้น เปนการเข้าประชิดถึงพระองค์ ถ้าตาพราหมณ์นั้นแกจะรับสินบนใครมาทำร้าย จะทิ่มแทงอะไรเอาก็อาจทำได้โดยสดวก จึงเลิกวิธีอุ้มนั้นเสีย กันให้ออกห่างจากอันตราย ก็คือนับถือเชื่อพราหมณ์น้อยลงนั้นเอง
๕. พระเจ้ากรุงธนบุรี จะได้ทำราชาภิเษกรับพระราชโองการหรือเปล่า ฉันไม่อาจพูดว่ากะไรได้ หนังสือที่ได้พบก็พูดแตกต่างกัน ปกติของฉันไม่ค่อยจะเชื่อหนังสือมากนัก เห็นว่าการแต่งหนังสือก็ย่อมพูดตามใจ ถูกจริงก็มี เดาเอาผิดไปก็มี ถูกหลอกมาก็มี แกล้งแต่งเอาชั่วร้ายใส่ให้ก็มี แกล้งแต่งยกยอจนเกินจริงก็มี จึงเปนการสุดที่จะเชื่อลงได้
๖. ในการที่ท่านคิดจะเอาพระดำรัสสมเด็จกรมพระยาดำรง เรื่องรูปสัมฤทธิลงต่อท้ายพระราชนิพนธ์นั้นดี แต่สงสัยอยู่ว่าพระองค์ท่านจะเต็มพระทัยให้ลงหรือไม่ เปนหน้าที่ของท่านจะต้องกราบทูลถาม และถ้าลงก็ต้องจดหมายไว้ให้คนเข้าใจในเบื้องต้นแห่งพระนิพนธ์นั้นด้วย
ทีนี้จะให้ความเห็นส่วนของฉัน
๑. คำจ่าหน้าพระราชนิพนธ์ว่า ร่างพระราชพงศาวดารทรงคัดใหม่โดยย่อ นั้น คนจดหมายหน้าสมุดสังเกตผิด ไม่ถูกตามเรื่อง ไม่ควรคัดเอาตีพิมพ์ตามนั้นไป ควรเรียกเสียใหม่ซึ่งท่านก็คิดอยู่แล้ว
๒. ตอนข้างท้ายมีจ่าตอนว่า ท่อนสอง แต่ต้นหามีจ่าว่าท่อนหนึ่งไม่ เปนการมีปลายไม่มีต้นอันควรแก้ไข ท่านจงพิจารณาดู ถ้าเห็นควรมีจ่าก็เติมจ่าเข้าตอนต้นด้วยว่าท่อนหนึ่ง ถ้าเห็นไม่ควรมีจ่าก็ตัดจ่าท่อนสองทิ้งเสีย
๓. พระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระราชนิพนธ์นั้น ออกพระนามตามแบบซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๔ ทรงบัญญัติไว้ มีคนเข้าใจน้อย อาจเปนที่สงสัย เห็นว่าควรจะลงพระนามตามพระราชพงศาวดารสองเล่มในวงเล็บ กำกับไว้ทุกพระนามที่ไม่แจ่มแจ้งด้วย
๔. เลขหมายฟุตโนต ฉันเคยได้รับความลำบากมามากแล้ว ลางทีอ่านผ่านไปเสียไม่เห็น เมื่อไปเห็นฟุตโนตเข้าต้องกลับย้อนไปหาเลขหมายในท้องความ หรือเห็นเลขในท้องความแล้วไปดูฟุตโนต เมื่อกลับจะอ่านท้องความต่อ ต้องหาเลขอยู่นาน เสียเวลา ทั้งนี้เพราะตัวเลขเล็กดูไม่ค่อยเห็น ฉันชอบแบบหนังสือ ไทย-จีน ของท่าน ที่เอาวงเล็บวงเลขเสียอีกทีหนึ่ง ทำให้ใหญ่ เห็นง่ายขึ้น ในพระราชนิพนธ์นี้ จะมีฟุตโนตก็ขอให้ทำเช่นนั้น
๕. เลขหมายหน้ากระดาษ เอาไว้ทางมุมชายกระดาษ ดีกว่าเอาไว้กลาง เพราะเมื่อดูสารบาญแล้วไปหาเลขหมายหน้าง่าย ไม่ต้องกางสมุดออกกว้างใหญ่ ทั้งหาได้เร็วกว่าด้วย
๖. พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ดูเหมือนจะตั้งพระราชหฤทัยทรงเรียบเรียงเปนตอนต้นของเรื่อง ตั้งวังหน้า เพราะฉะนั้นในการเย็บเล่มสมุด เอาเรื่องนี้ไว้หน้า เอาเรื่องตั้งวังหน้าไว้หลัง จะเปนระเบียบอันงดงาม เข้ากันดีที่สุด
๗. ทีนี้ถึงปัญหาเรื่องแก้หนังสือ ซึ่งเปนปัญหายากที่สุด ย่อมมีผิดได้หลายทางนัก เช่น
ก. นักเรียนที่ได้ประกาศนิยบัตรชั้นสูง เข้าใจว่าตนรู้จบโลกแล้ว มารับหน้าที่เปนผู้แก้หนังสือ เห็นหนังสือกล่าวด้วยยกทัพ มีคำว่า หาบโพล่ เข้าใจว่าเขียนผิด แก้เปน หาบโล่ห์ หรือในพระราชนิพนธ์นี้เอง ตอนที่คัดกฎมณเฑียรบาลมา มีในหน้า ๑๕ ว่า ๗ นาฬิกา ประพาส กับ ๑๐ นาฬิกา ประพาส เห็นว่า ๗ นาฬิกาคือบ่ายโมง ๑ แดดร้อน ประพาสไม่ไหว ฉะบับเดิมเขียน ประภาษ น่าจะเปนเวลาตรัสราชการ ไม่ใช่เที่ยว ส่วน ๑๐ นาฬิกานั้นคือบ่าย ๔ โมง จะเที่ยวก็ควรอยู่เพราะแดดลบแล้ว ฉะบับเก่าก็เขียน ประภาษ เหมือนกัน แต่แบบเก่าไม่มี ประพาส แบบใหม่มีทั้ง ประภาษ พูด และ ประพาส เที่ยว นี่สิจึงเปนการทำให้ยาก เมื่อไม่รู้ความก็แก้ให้ถูกไม่ได้ แต่การแก้ชะนิดนี้ไม่เปนอะไร แม้ผิดก็ผิดเพราะไม่รู้ โทษน้อย
ข. อีกประการหนึ่ง เอาทั้งรู้ โดยมีอะไร ฉันพูดไม่ถูก ไม่ใช่พระราชบัญญัติ ไม่ใช่พระราชกฤษฎีกา แต่เปนการบังคับว่าหนังสือราชการให้เขียนตามปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ อันคำพูดนั้นปฏิบัติตามได้ แต่ถึงชื่อคนชื่อสถานเข้าแล้วให้สงสัย ในพระราชนิพนธ์นี้เอง ชื่อเมืองปราจิณ แก้เปนเมือง ปราจีน ผิดไปทั้งอักขระและเสียง จะเปนการทำถูกหรือทำผิด แต่ยังเปนการเคลื่อนคลาศน้อยอยู่ จะแต่งตัวอย่างขึ้นใส่ไคล้ เช่นชื่อพระยาภิรมยภักดี ภิรมย เปนคำบอด ไม่มีในปทานุกรม ถ้าจะเขียนแก้ให้ถูก เปนพระยาอภิรมย์ภักดี จะเปนการทำผิดหรือทำถูก ทีนี้จะหันเข้าไปหาพระราชนิพนธ์อีกที่แก้ชื่อเมือง เช่นเมืองที่ก่อนนี้เขียนว่าเมือง มฤท แก้เปนเมือง มริด ไม่ผิดเสียงแต่อักขระผิดกัน จะควรถือว่าเขียนอย่างไรถูกก็ไม่ทราบ แม้ในพระราชนิพนธ์นั้นเอง ก็ไม่ได้แก้ไปหมด ลางแห่งก็เขียน มริด ลางแห่งก็เขียน มฤท อย่างไรก็ดี คติของฉันย่อมเขียนตามปทานุกรมแต่คำพูด แต่ถึงชื่อแล้วดื้อเขียนตามเก่า เห็นว่าท่านตั้งไว้นานแล้ว เราจะไปแก้ไขไม่ได้ ไปแก้เข้าอาจเกิดอันตรายต่าง ๆ ได้ หรือถ้าจะว่าตามหลักกฎหมาย เขาว่ากฎหมายย่อมไม่บังคับย้อนหลัง แต่ที่คิดดังนี้และทำไปเช่นว่ามาแล้ว จะเปนการถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ
ได้ส่งต้นฉะบับพระราชนิพนธ์คืนมานี้แล้ว
ไปงานศพหม่อมเจ้าเม้า ได้หนังสือแจกเรื่องราชาภิเษกมา พลิกดูเห็นมีคำพระยาพจนปรีชาแสดงความเห็นซึ่งแต่งค้างไว้อยู่ในนั้น ความเห็นมาตรงกันกับที่ฉันเขียนมาถึงท่าน นึกขันอยู่ในใจ
เวียดนาม นั้นเปนคนละคำ นาม น่ำ หนำ นาน แปลว่าใต้-ทิศใต้ เปนแน่ เวียด จะว่าอะไร เปนชื่อเมืองหลวงก็ไม่ใช่ เมืองหลวงชื่อเว้ ประเทศญวน จีนเรียก อันน่ำก๊ก ไทเรียก อานำ อนำ อานาม ท่านค้นคว้าอยู่ทางจีน ญวน ไทย มาก เชื่อว่าจะบอกได้