๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องคำอุทาน ข้าพระพุทธเจ้ามุ่งไปคิดเสียด้วยเรื่องคำที่กลายมาจากเสียงอุทาน คำอุทานตรง ๆ ยังหาได้คิดลึกซึ้งไปไม่ แต่เมื่อมาไตร่ตรองดู คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ลางคำที่มีความหมายเช่น เอ๊ะ แสดงว่าสงสัยก็จริง แต่เป็นความหมายที่ยังไม่แน่นอนลงไปเด็ดขาด เหมือนคำที่เป็นคำพูดแท้ๆ และคำอุทานบางคำเมื่อเปล่งออกมาลอยๆ ก็ทราบในความหมายไม่ได้แน่นอนเช่น จุ๊ๆ ซึ่งแสดงอาการบอกให้นิ่ง อาจหมายความในภาษาว่า นิ่ง, อย่าเอ็ดไป เงียบ อย่าทำเสียงดัง และความหมายอื่น ๆ อีกได้ ไม่ตายตัว เหมือนคำว่า นิ่ง เงียบ บางคำเช่น โอย อาจหมายความตรงข้ามกับที่ได้รับความเจ็บปวดก็มี เช่น โอย สนุกจริง ซึ่งจะทราบความหมายได้แน่นอน ก็เมื่อเห็นกิริยาอาการ หรือมีคำอื่น เข้าช่วยประกอบความหมายข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจด้วยเกล้าฯ ว่า คำอุทาน ถึงมีความหมาย แต่ยังเป็นคำในภาษา ยังไม่บริบูรณ์ เพราะความหมายยังไม่แน่นอนและเอาเข้ารวมเป็นคำพูดเป็นประโยคก็ไม่สู้ได้ เว้นไว้แต่ได้กำหนดคำอุทานเหล่านั้นไว้โดยปริยาย ให้มีความหมายตายตัวแล้ว จึงจะเป็นคำในภาษา เช่น พุดโท่ ซึ่งความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้แล้ว นอกจากแสดงความเสียใจในบางลักษณะ และในคำว่า เออ อ้าว ดั่งที่ประทานมา ก็เห็นจะนับเข้าในคำอุทานที่เป็นภาษาแล้วได้ ทั้งนี้จะผิดถูกสถานใด ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง

เรื่อง ข หยัก ค หยัก และรวมทั้ง ซ ซึ่งเกิดจาก ช หยัก ขอประทานถวายความเห็นของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้เคยเขียนลงในหนังสือมหาวิทยาลัยมาแล้ว เพื่อทรงประกอบพระวินิจฉัย แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นว่า เสียง ข ค ช โบราณอ่านว่า ข้ ค่ ช่ ส่วนเสียง ฃ ฅ ซ ท่านอ่านคงเสียงเหมือนทุกวันนี้ บางที ข ค ช จะนำเอาไปใช้เทียบกับเสียงในภาษาบาลี จึงกำหนดอ่านออกเสียงแยกไว้ต่างหาก คือเทียบ ข้ กับ kh ค่ เทียบกับ g และ เฆาะ เทียบกับ gh และโดยเหตุที่เสียง ข กับ ค ในภาษาไทยมีเสียงเท่ากัน ผิดกันเพียงแขงและอ่อนเท่านั้น และเสียง ค ก็ไม่เปนเสียงโฆษะเหมือนเสียง g ในภาษาบาลี จึงจำเปนต้องสร้างเครื่องหมายของไทยขึ้นให้ใหม่ โดยเขียนเป็น ข หยัก และ ค หยัก เพื่อให้เป็นที่สังเกตให้ผิดกันเสีย

เสียง ช่ คงโอนไปใช้เทียบกับเสียง j ในบาลี จึงได้อ่านว่า ช่ ส่วนเสียง ช แท้ ซึ่งผิดกับเสียง j ในบาลี จึงต้องคิดอักษร ช หยัก ขึ้นอีกตัวหนึ่ง แต่โดยเหตุที่เสียง ช มีลักษณะเป็นเสียงลมเสียดแซกออกมาได้นิด ๆ เสียงก็เพี้ยนเป็นเสียง ซ ไป เพราะฉะนั้นในภาษาไทยถิ่นอื่นจึงไม่มีเสียง ช ถ้าเป็นเสียง ช ทางพายัพ และไทยทางพะม่าก็เป็นเสียง จ ทางหลวงพระบางและตลอดขึ้นไปก็เปนเสียง ซ ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจด้วยเกล้าฯ ว่า เขมรจะออกเสียง ซ ไม่ได้ชัด และไทยก็จะออกเสียง ชร ไม่ได้ถนัก และลักษณะการออกเสียงของ ร ก็มักลากเสียงพยัญชนะตัวอื่นที่เป็นเสียงปิดให้เป็นเสียงเสียดแซก เป็นเสียง ส ซ ไป และคงจะเป็นเพราะด้วยเหตุนี้ คำที่เป็นเสียง ส ซ ในบางคำจึงมีตัว ร ควบไว้

ฟ ฝ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยตามที่รับสั่ง เพราะเป็นเสียงไทย จึงไม่มีการออกเสียงเหนือเป็น ฟ่ ฝ้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยค้นเสียง ฟ ฝ นี้ในภาษาไทยต่าง ๆ ปรากฏว่า ไทยบางพวกก็ออกเสียงไม่ได้ กลายเป็นเสียง ผ พ ไปก็มี บางพวกก็เป็น ฮว เป็น ว ไป บางทีเสียงควบอย่างควัน ก็กลายเป็น ฟัน ไปก็มี เป็นเรืองที่ชี้อยู่ว่า ที่เสียงภาษาไทยบางถิ่นผิดเพี้ยนกัน เพราะด้วยการผษมกับพวกอื่น ๆ ที่ต่างภาษากัน

เสียง ฮ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยกับที่ประทานข้อสันนิษฐานมา ส่วน ห ใช้เทียบกับ ห ในบาลี จึงได้อ่านออกเสียงว่า ห้ และ ฬ ก็ออกเสียงเป็น ฬ่ โดยนัยเดียวกัน ตามที่กราบทูลถวายความเห็นมานี้ จะผิดถูกสถานไรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

เรื่องร้องรำ ที่ทรงพระวิตกว่าความเห็นจะเปนปฏิปักษ์แก่กรมศิลปากรนั้น ขอประทานกราบทูลว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในเรื่องร้องรำทางกรมศิลปากรไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์วางไว้อย่างไร ความรู้ในเรื่องร้องรำหาตำราได้ยาก ผู้ที่รู้โดยมากก็ได้แต่จำสืบ ๆ กันมา จะอธิบายให้ฟังก็ไม่สู้ได้ความชัดเจน ส่วนผู้ไม่รู้ อยากรู้เพียงเป็นเครื่องประดับความรู้ ก็ไม่มีทางจะทราบได้ ครั้นไปได้ฟังการบรรเลงทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อฟังอยู่บ่อย ๆ โดยไม่ทราบความสำคัญในวิชาเหล่านี้ที่พอจะเข้าใจไว้บ้าง ก็เกิดความเบื่อหน่าย ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรารภเรื่องนี้แก่เจ้าหน้าที่ทางวิทยุกระจายเสียง ในฐานะที่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นกรรมการอยู่ด้วย ก็เห็นชอบ ครั้นเจ้าหน้าที่วิทยุมีหนังสือมาขอร้องทางกรมศิลปากร หน้าที่ในเรื่องอธิบายจึงมาตกแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าก็ยินดีรับ เพราะจะได้เป็นโอกาศให้ข้าพระพุทธเจ้าได้รับความรู้ในเรื่องเหล่านี้บ้าง และข้าพระพุทธเจ้าได้แสดงความประสงค์แก่กรมศิลปากรแล้วว่า ถ้าจะให้บรรยายเป็นทางราชการอย่างผู้รู้นั้น ทำไม่ได้ แต่ถ้าให้อธิบายในฐานะเป็นความเห็นเอกชน ความรับผิดชอบถูกผิดเป็นของข้าพระพุทธเจ้าเอง ก็อาจทำได้บ้าง ทางราชการก็ยอม ที่ข้าพระพุทธเจ้ากล้ามีความเห็นไปนี้ ก็เพราะมาระลึกถึงพระเมตตาปรานีในใต้ฝ่าพระบาท ว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าขัดข้องในความรู้เรื่องนี้ ก็คงจะทรงพระกรุณาปรานี ข้าพระพุทธเจ้าได้สำนึกอยู่เสมอว่า ในข้อนี้อาจเป็นเรื่องระคายเคืองในใต้ฝ่าพระบาท ให้เป็นการรบกวน แก่ที่จะทรงพระสำราญอยู่บ่อย ๆ แต่ก็เป็นความจำเป็นที่ข้าพระพุทธเจ้าจะหาความรู้ที่ควรใส่ใจศึกษาไว้ ซึ่งถ้านอกจากใต้ฝ่าพระบาทแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่า จะไปสืบถามได้จากใคร

ข้อความเรื่องร้องรำที่ข้าพระพุทธเจ้าถวายไป ไม่ใช่เป็นความรู้ของกรมศิลปากร แต่เป็นความรู้ที่ข้าพระพุทธเจ้าซักถามได้มาเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้อธิบายเองก็ไม่รับรองแก่ข้าพระพุทธเจ้านัก นอกจากบอกว่ารู้มาเพียงเท่านี้หรือรู้มาอย่างนี้ กลับอ้างว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าต้องการทราบแน่นอน ก็ให้กราบทูลถามขอรับพระกรุณาจากใต้ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายการอธิบายเรื่องละครนอกละครใน ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเรียบเรียงขึ้นเพื่ออ่านทางวิทยุกระจายเสียง คำอธิบายนี้เพื่อประโยชน์แก่คนทั่วไปฟัง จะได้ทราบว่าการร้องรำนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างที่เข้าใจกันเป็นสามัญ และเป็นการอธิบายตามความรู้ความคิดอันน้อยของข้าพระพุทธเจ้า ทั้งนี้การจะควรสถานไร แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ