๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

พระยาอนุมานราชธน

ฉันได้ทูลถามสมเด็จกรมพระยาดำรงออกไป ในเรื่องผ้ายั่นตานี ผ้ากุศราด และผ้าสุหรัด ด้วยหวังว่าชะนิดใดที่ทรงทราบ จะได้รับพระดำรัสตรัสชี้แจงประทานมา บัดนี้ฉันได้รับลายพระหัตถ์ตอบตรัสชี้แจงถึงผ้าเมืองสุหรัด ดั่งที่ฉันคัดมาให้ท่านทราบต่อไปนี้

ผ้าที่เรียกว่าผ้าลายสุหรัดนั้น หม่อมฉันพอจะถวายอธิบายได้ ว่าเรียกตามชื่อเมืองที่ทำผ้าลายนั้นเป็นแน่ (แม้จะเรียกว่า “ผ้าลายสุราษฎร์” ก็ได้ ด้วยในหนังสือนำทางเที่ยวอินเดียว่า เมืองนั้นเดิมชื่อสุราษฎร์ อยู่ริมแม่น้ำตาปี) เมื่อหม่อมฉันไปอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๔ รัฐบาลกะโปรแกรมให้หม่อมฉันไปเมืองสุหรัดด้วย เพราะเขาว่าเปนที่ทำผ้าลายส่งมาเมืองไทยปีละหลายล้านรูปีย์ ไปดูไม่เห็นมีโรงจักรกลอันใด ทำตามบ้านราษฎร และผู้หญิงกับเด็ก ๆ ทำแทบทั้งนั้น ใช้ผ้าขาวซึ่งสั่งมาแต่ประเทศอังกฤษ เอามาตัดให้ได้ขนาด ซักน้ำให้หมดแป้ง หรือให้เนื้อแน่นก่อน แล้ววางขึงบนพื้นเรือน เอาหมึกทาแผ่นไม้ลายขนาดสักเท่าฝ่ามือ พิมพ์ลงกับผืนผ้าต่อ ๆ ไปจนเต็มผืน แล้วจึงเอาไปย้อมเปนสี ถ้าจะให้มีดอกเปนสีอื่นก็แต้มเมื่อย้อมแล้ว เมื่อเสร็จกระบวรพิมพ์เอาเบี้ยขัดชักเงา การเหล่านี้ทำด้วยมือตามบ้านราษฎรทั้งนั้น พ่อค้าเปนแต่ซื้อผ้าขาวมาจ่ายและรับผ้าลาย ไปตีตรามัดเข้ากุลีส่งมาขาย เรื่องผ้าลายดูจะถือเปนหลักได้ว่า (ก) ทำส่งมาจากอินเดียตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ (ข) เรียกชื่อตามเมืองที่ทำ คำที่เรียกว่า “ผ้าลายอย่าง” หมายความว่าไทยให้ลายไปทำ “ผ้าลายนอกอย่าง” หมายความว่าเปนลายที่แขกคิดทำตามชอบใจ มีผ้าลายอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ย่ำมะหวาด” ยังไม่มีในรายชื่อที่ประทานมา ก็เห็นจะเปนชื่อเมืองอีก เรื่องชื่อผ้าลายต่าง ๆ ควรทรงแนะนำพระยาอนุมานให้สืบถามพวกแขกที่ตึกขาวตึกแดง หรือถ้ามีใครในพวกนั้น ที่ท่านทรงรู้จักก็ตรัสถามดู เห็นจะรู้ความจริงได้

อนึ่ง ในลายพระหัตถ์ฉะบับนั้น ทรงจดเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพะม่า ๕ อย่างประทานมาด้วย ว่าเพิ่งทรงพบในพงศาวดารของพะม่า ฉันอยากจะเอาแทรกลงไว้ในกฎมนเทียรบาลพะม่าด้วย คิดว่าแทรกได้ในตอนพิธีราชาภิเษก ตรงที่ทรงพระวิจารณ์คาดถึงการปล่อยสัตว แต่เรียงคำลงไม่ถูกเพราะต้นฉะบับอยู่ที่ท่าน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ