คำนำ

มีเงินก็มีสุข เพราะ มีเงินก็เรียกว่าน้อง มีทองก็เรียกว่าพี่ ไม่มีที่จะต้องโต้เถียง ด้วยคนส่วนมากเข้าใจตรงกัน แต่เงินก็เป็นเงิน สุขก็เป็นสุข จะเป็นอย่างอื่นยิ่งไปกว่าสภาพที่เป็นอยู่หาได้ไม่ ที่เห็นกันว่ามีเงินก็มีสุข ก็เพราะไปยึดถือเอาว่าเป็นจริง ความจริง มีเงินแต่ไม่มีสุขก็มี ไม่มีเงินแต่มีสุขก็มี ทั้งนี้ก็เพราะเงินเป็นเพียงแต่ปัจจัยให้เข้าถึงสุข หาใช่เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต คือความสุขอันแท้จริงไม่ คนอาจเข้าถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต ไม่ใช่แต่มีเงินทางเดียว อาจเข้าถึงได้ในทางอื่นก็มี แต่คนทั่วไปรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ก็มักเลือกเอาทางข้างมีเงินถ้าสามารถเลือกเอาได้ เพราะง่ายกว่าทางอื่น ที่ลางคนมีเงินแต่ไม่มีสุข ก็เพราะมีแต่ศิลปในการหาเงิน แต่ไม่มีศิลปในการใช้เงิน

พระสงฆ์องคเจ้ามีสุข โดยไม่ต้องอาศัยทางมีเงิน เพราะท่านถือว่าไม่มีนั่นแหละมี ไม่มีในที่นี้คือไม่มีเงิน และมีก็คือมีสุข ถ้าท่านจะต้องมีเงินบ้าง ก็ถือว่าเงินเป็นเสมือนปัจจัยเท่านั้น ที่ท่านต้องมีเงิน ก็ด้วยความจำเป็น เพราะท่านยังอยู่ในโลกนี้และในสมัยนี้ มิฉะนั้นท่านก็แย่เหมือนกัน และท่านจะเป็นอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าที่เขาเป็นกันอยู่ก็ไม่ได้ เพราะยากมาก ด้วยทุกวันนี้ เป็นสมัยที่เขาถือกันว่าเงินเป็นแก้วสารพัดนึก หรือที่ในสำนวนภาษาฝรั่งว่า สรรพศักดิ์หิรัญ ยิ่งกว่าในสมัยก่อนๆ แม้กระนั้นท่านก็มุ่งเอาสุขทางใจ มากกว่ามุ่งเอาสุขทางกาย เพื่อเป็นความเจริญของท่าน เจริญแปลว่ามีมากขึ้น มีสุขและยิ่งมีมากขึ้นก็เป็นดี แต่จะต้องให้มีสมดุลย์กัน ทั้งทางกายและทางใจ

คราวนี้ให้เราเปลี่ยนคำว่าเงิน มาเป็นคำว่าวิชา ซึ่งหมายความว่าความรู้ที่ได้มาด้วยการเล่าเรียน หรือด้วยการฝึกฝนอบรม เรื่องก็เป็นทำนองเดียวกัน กล่าวคือ วิชาเป็นแต่ปัจจัย ไม่ใช่เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต คือสุขโดยตรง เพราะมีวิชาหรือไม่มีวิชาก็เป็น รู้ก็ชาม ไม่รู้ก็ชาม แต่ว่าถ้ารู้วิชา ดีกว่าไม่รู้ เพราะอย่างน้อยก็ รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม และเป็นทางให้เข้าถึงความสุขความเจริญได้ง่ายกว่าไม่มีวิชา เท่ากับมีทุนคอยหนุนอยู่ ถ้ารู้จักใช้วิชาในระยะของความรู้ที่เรียกว่าศิลป ก็เอาตัวรอดได้ง่าย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นคน มีวิชาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด

ถ้าต้องการเอาตัวรอด ก็ต้องมีการศึกษา และ การศึกษาที่แท้จริงก็คือการศึกษาที่ฝึกฝนด้วยตนเอง แล้วใช้วิชาที่ได้ศึกษาให้เกิดเป็นผลดีงามแก่ตนและแก่คนอื่นด้วย ถ้าเห็นแก่ตน คนอื่นช่างมัน ก็เท่ากับทำความสุขที่ได้มาแล้วเพราะวิชา ให้แปรเป็นความทุกข์ได้ง่าย โดยไม่รู้ตัว เพราะคนเกิดมาไม่ได้อยู่ตามลำพังคนเดียว ถ้าอยู่ได้ก็ไม่ใช่คน ต้องเป็นเทวดา หรือไม่ก็เป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่คน และเราก็จะเป็นเราอยู่ในขณะนี้ต่อไปไม่ได้ คนต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อต่อสู้ภัยซึ่งมีอยู่รอบด้าน ซึ่งลางอย่างตามลำพังคนเดียว ก็เอาชนะมันไม่ได้ ถ้าจะเอาชนะได้ก็ด้วยร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน เพราะ คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย คนต้องต่อสู้ภัยต่างๆอยู่รอบด้าน ประการแรกก็คือ ต่อสู้กับธรรมชาติซึ่งแวดล้อมตนอยู่ เพื่อเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ และความอดอยากหิวโหย ถัดมาก็ต้องต่อสู้กับคนด้วยกันที่เป็นศัตรูเพื่อเอาชนะอธรรม และประการสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุด คือต้องต่อสู้กับใจของตนเอง เพื่อเอาชนะศัตรูคือสิ่งเศร้าหมองซึ่งดองอยู่ในสันดาน เอาชนะสิ่งเหล่านี้ยากมาก แม้ผู้แสดงเองคือข้าพเจ้าก็เอาชนะได้ลำบากเต็มที

ถึงตรงนี้ อาจสรุปได้ว่า เงินก็ดี ความรู้ก็ดี หรืออะไรอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในพวกเดียวกันก็ดี ย่อมมีอรรถาธิบายอย่างเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้นรู้อย่างนี้แหละ เป็น รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

ข้าพเจ้ากล่าวเรื่องเงิน เรื่องวิชา มาเป็นคุ้งเป็นแคว ก็ด้วยเป็นผู้รักทั้งเงินและวิชา แต่ที่รักมากกว่ากัน ก็คือรักวิชา เพราะเมื่อรู้วิชาแล้วถ้ารู้จริงก็คือรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ดีคือมีคุณสมบัติที่อยู่ตรงกันข้ามกับชั่ว เหตุนี้สิ่งใดเมื่อยังไม่รู้ ก็อยากรู้ เป็นอย่างเด็กที่ผ่านชีวิตและพบโลกเป็นครั้งแรก ก็อยากรู้อยากเห็นไปเสียทั้งนั้น ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ทั้งนี้เด็กต้องการจะรู้เพื่อเอาตัวรอดนั่นเอง ถ้ารู้ดีก็รอดตัว ถ้ารู้ชั่วก็พอทำเนา แต่ถ้าไปสมคบกับมันเข้าอย่างใกล้ชิด ก็ไม่รอดไปได้นาน

ที่ข้าพเจ้าอยากรู้ ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้ว่าความรู้นั้นมีขอบเขตจำกัด จะรู้หมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ ถ้ารู้หมดนั่นก็เป็นสัพพัญญู เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องเลือกรู้แต่ส่วนที่ควรจะรู้ ตามแต่โอกาสที่จะศึกษาได้ ทั้งในสิ่งที่ดีและในสิ่งที่ชั่วด้วย ถ้าถามว่ารู้ชั่วรู้เอาไปทำไม ตอบได้ไม่ยาก คืออยากรู้เท่านั้น และไม่ได้นึกว่าถ้ารู้แล้ว ก็เป็นผู้รู้จริง เพราะ เมื่อใดนึกว่ารู้เมื่อนั้นก็ยังไม่รู้ เมื่อใดนึกว่ายังไม่รู้ เมื่อนั้นก็คือรู้ ทั้งนี้เพราะความรู้มีอยู่เป็นขั้นๆ มีตั้งแต่ขั้นต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุด ถ้าผู้ใดรู้ถึงขั้นสูงสุดผู้นั้น อย่างที่ท่านเหลาจื๊อศาสดาลัทธิเต๋ากล่าวไว้ ก็เป็นผู้ไม่พูดเลย ซ้ำจะเหม็นสาบมนุษย์เอาเสียด้วย อยู่ต่อไปในหมู่มนุษย์ทนไหวหรือ ต้องออกไปอยู่ป่าอย่างผู้สำเร็จปรอท หรือไม่ก็หาความวิเวกความสงบแต่ลำพังคนเดียว ดีเหมือนกันถ้าทำได้

ความรู้ ถ้ากล่าวกว้างๆ มีสองอย่าง คือรู้ดีและรู้ชั่ว ต้องรู้ทั้งสองอย่างจึงจะเอาตัวรอดได้ ที่ต้องรู้ชั่วด้วย ก็เพื่อว่าเมื่อมันกล้ำกรายเข้ามาจะได้รู้ตัวทัน ผลักไสให้พ้นไปทันท่วงที มิฉะนั้นก็จะเป็นอย่างฤษีกไลโกฏในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแต่เกิดมาไม่รู้จักว่า เขาที่อก คืออะไร โง่เต็มที แต่พอรู้เข้าเท่านั้น กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ เพราะสิ่งนั้นเข้ามาใกล้ชิดติดตัวเสียแล้ว ปลดออกไม่ไหว ไม่รู้จักหลีกห่างเหมือนอย่างพระที่ท่านรู้อยู่ก่อนแล้ว ไม่ยอมให้มากล้ำกรายเข้าใกล้ตน จึงหลีกพ้นเป็นสมุจเฉทปหาน ท่านกล่าวว่า ผู้ที่เคราะห์ดี คือผู้ที่พบมิตรที่เหมาะและในโอกาสที่เหมาะ และ ผู้ที่พบศัตรูที่เหมาะในโอกาสที่เหมาะ ก็เป็นผู้ที่เคราะห์ดี เหมือนกัน นี่เป็นคำกล่าวของกวีชาวตะวันตกคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าไปตอนเอาของเขามา เพราะจริงจริงจริง ด้วยได้เคยประสบพบมากับตนเอง

ข้าพเจ้าจะเรียกว่าเป็นคนเคราะห์ดีก็เห็นจะได้ที่พบศัตรูที่เหมาะในโอกาสที่เหมาะ จึงเอาตัวรอดมาได้จนทุกวันนี้ ข้าพเจ้าเมื่อยังเด็กอยู่แต่รู้เดียงสามากแล้ว ได้เคยเห็นชายหนุ่มคนหนึ่ง เป็นโรคที่คนหนุ่มมักจะเป็น แต่ข้าพเจ้าเวลานั้นไม่รู้จัก ต่อเมื่อชายหนุ่มคนนั้นบอกและอธิบายให้ฟัง ข้าพเจ้าก็รู้สึกเกลียดกลัวเป็นที่สุด ไม่อยากให้มันมาเข้าใกล้ด้วยเห็นติดตาอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ นี่เท่ากับข้าพเจ้าพบศัตรูที่เหมาะในโอกาสที่เหมาะ ถ้าข้าพเจ้าไม่เห็นติดตาและไม่มีความรู้มาก่อน เมื่อไปเที่ยวกับเพื่อนฝูงก็คงจะแพ้ศัตรูที่มาเผชิญหน้า เหมือนเพื่อนๆหลายคนที่แพ้แล้วอย่างราบคาบ นี่คือรู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี แต่ขอให้ข้าพเจ้ากล่าวเพียงเท่านี้เถิด ด้วยเป็นด้านหลังแห่งชีวิต ให้หันมาดูด้านหน้าแห่งชีวิตกันดีกว่า โดยจับ บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ของข้าพเจ้าว่ามีที่มาเป็นอย่างไร

เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ระหว่างขณะข้าพเจ้ายังรับราชการ เป็นหัวหน้ากองศิลปวิทยาในกรมศิลปากรอยู่ ตำแหน่งหน้าที่ของข้าพเจ้าเป็นเครื่องบังคับ ให้ต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมไทย ที่ สืบๆ ต่อเป็นประเพณีกันมา ข้าพเจ้าได้ความรู้เรื่องเหล่านี้ ก็เพื่อเป็นเงื่อนไข ให้ไต่ขึ้นไปได้สูงโดยลำดับเท่านั้น เท่ากับได้ความรู้เป็นครู เมื่อไต่ขึ้นไปสูงได้เท่าใดก็ยิ่งรู้สึกว่า ส่วนที่ยังไม่รู้แทนที่จะมีลดน้อยลง แต่กลับทวีมากยิ่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าพเจ้าจะไปแสวงหาความรู้ที่ยังไม่รู้ได้จากที่ไหน นอกจากได้ในหนังสือซึ่งมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ แล้วก็ไม่มีที่ไหนอีก ถึงจะมีก็ไม่มีโอกาสจะทราบได้ ด้วยเป็นระยะสมัยที่เก่ากับใหม่ในเรื่องวัฒนธรรมกำลังสะบั้นขาดตอนไม่ต่อกัน แต่เป็นคราวเคราะห์ดีของข้าพเจ้า ซึ่งตกอยู่ในโอกาสที่เหมาะ ที่ได้พึ่งพระบารมี คือคุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่ แห่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งพระองค์ท่านมีพระเมตตา ประทานความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมไทย ให้แก่ข้าพเจ้าเป็นคราวๆ โดยประทานโอกาสให้ข้าพเจ้ามีหนังสือกราบทูลถามได้แล้วตรัสตอบ คือทำให้สว่างให้แจ้งแก่ข้าพเจ้า เป็นอย่างมีจดหมายโต้ตอบกัน เป็นดั่งนี้เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖

ข้าพเจ้าเก็บลายพระหัตถ์ที่ทรงเป็นจดหมายโต้ตอบนี้ไว้เป็นเวลาช้านานเกือบได้ ๒๐ ปี เพราะถือว่าเป็นสมบัติมีค่าอย่างยิ่ง เกี่ยวกับความรู้เรื่องวัฒนธรรมไทย แม้ในสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่เหตุการณ์กำลังคับขันเข้าด้ายเข้าเข็มถึงขั้นรุนแรง สิ่งที่ต้องการจะรักษาไว้ไม่ให้สูญ ก็คือลายพระหัตถ์ตรัสอธิบายเหล่านี้ ครั้นเมื่อสมัยมหาสงครามโลกผ่านพ้นไปแล้วหลายปี ก็มีท่านที่เคารพลางท่านทราบว่าข้าพเจ้ามีลายพระหัตถ์เหล่านี้อยู่ ก็กล่าวเป็นเชิงปรารภว่า ทำไมข้าพเจ้าไม่จัดตีพิมพ์เสีย เพื่อคนอื่นจะได้มีโอกาสรับความรู้ ดั่งที่มีอยู่ในลายพระหัตถ์เหล่านั้นบ้าง

ความจริง ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่เป็นคนใจไม้ใส้ระกำ ถึงกับจะหวงแหนวิชา ที่ยังไม่ได้เปิดเผยในเวลานั้น ก็เพราะมีข้อความอยู่แห่งหนึ่ง ในลายพระหัตถ์เหล่านั้นว่า ขอท่านจงทรงไว้ว่านี่เขียนให้จำเพาะต่อท่าน ขอท่านอย่าเอาถ้อยคำในนี้ไปประกาศที่ไหนในชื่อฉัน แต่ท่านจะเก็บเอาข้อที่พอใจไปเปนความรู้ของท่าน จะพูดหรือเขียนเปนหนังสือไปประกาศที่ไหนในชื่อของท่าน ฉันไม่รังเกียจ อนุญาตให้ท่านทำได้

ท่านที่เคยอ่านเรื่องต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ จะสังเกตเห็นคำว่า ท่านผู้ใหญ่มีเมตตาบอกให้ทราบ หรืออะไรอื่นๆ ในทำนองนี้อยู่บ่อยๆ ทั้งนี้จะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไร เพราะข้อความตอนนั้นๆ ไม่ใช่ของข้าพเจ้าโดยตรง แต่เป็นของพระองค์ท่านแท้ๆ ถ้าจะทึกทักเอาเป็นของข้าพเจ้าเอง เพราะประทานอนุญาตให้แล้วไม่มีโทษ แต่ถ้าความไปปรากฏขึ้นภายหลังว่า นั่นไม่ใช่ความคิดและความรู้ของข้าพเจ้า แล้วใครๆ ก็อาจคาดหน้าข้าพเจ้าได้ว่าเป็นคนชนิดไร ข้าพเจ้าได้อาศัยความรู้ที่ประทานเป็นเค้าให้สามารถเขียนเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่น้อยเรื่องเลย ลางครั้งเมื่อได้มีโอกาสเฝ้าพระองค์ก็ทรงยิ้มอย่างพอพระทัยในเรื่องที่ข้าพเจ้าแต่ง ไม่ตรัสว่าอะไร ลางครั้งตรัสอธิบายเพิ่มเติมให้อีกก็เคยมี

อีกอย่างหนึ่ง พระองค์ท่านทรงจดหมายเหล่านี้ นอกจากเป็นเรื่องความรู้ประทานแก่ข้าพเจ้าแล้ว ยังเป็นมรดกมีค่ายิ่ง ตกทอดไปถึงอนุชนรุ่นหลังด้วย การที่ทรงเรื่องต่าง ๆ เป็นจดหมายโต้ตอบ เป็นทรงอย่างลำลอง เพื่อความสำราญพระองค์ในยามว่าง เจียดจากเวลาที่ไม่ว่าง เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้อีกข้อหนึ่ง ที่ไม่โปรดให้เอาพระนามไปเปิดเผยที่ไหน เพราะไม่ได้ทรงเรื่องเป็นการเป็นงานโดยตรง

ข้าพเจ้าทราบว่า ลายพระหัตถ์ที่ทรงโต้ตอบทำนองนี้กับท่านผู้อื่นมีอยู่อีกเหมือนกัน แต่จะมีกี่ท่านและจำนวนมากน้อยเท่าใด ข้าพเจ้าก็ทราบไม่ได้แน่ ถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัย มีเมตตาเปิดเผยได้บ้างเฉพาะที่สมควรเปิดเผยได้ ก็จะเป็นบุญคุณแก่คนรุ่นหลังไม่น้อย เท่ากับทำให้กระแสธารวัฒนธรรมไทย ไหลได้เรื่อยไม่ขาดตอน เพราะท่านกล่าวว่า คนที่เกิดมามีหน้าที่เป็นกรณียกิจอยู่ ๓ ประการ คือมีหน้าที่ต่ออดีตต่อปัจจุบันและต่ออนาคต ต่อเนื่องกันไป สิ่งใดดีที่อดีตทำไว้ให้เป็นมรดก ปัจจุบันซึ่งเป็นผู้รับ มีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ให้จงดี และมีสิ่งปัจจุบันที่ทำไว้ดีแล้ว เข้าไปผนวกบวกเติมกับของอดีต เพื่อมอบให้เป็นมรดกแก่อนาคตได้ต่อไป ดีกว่าจะให้อนาคตตำหนิได้ว่า ปัจจุบันซึ่งกลายเป็นอดีตแล้ว ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณความดีงาม เหลือทิ้งไว้ไห้เป็นมรดกตกทอดแก่อนาคตเพื่อได้สืบๆ ต่อกันไป ไม่ขาดสาย ขาดตอน กลางคัน

ข้าพเจ้าได้จัดตีพิมพ์ลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงข้าพเจ้าตามสัญญาไว้แก่ท่านที่เคารพ ซึ่งเคยปรารภดั่งกล่าวมาข้างต้น ลงในหนังสือ นิตยสารศิลปากร เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่การตีพิมพ์ครั้งนั้นคงตีพิมพ์แต่เนื้อหาของเรื่องเท่านั้น และไม่ได้ออกพระนามโดยตรง คงใช้คำว่า ท่านผู้ใหญ่ ตามที่เคยใช้มา มาภายหลังคำว่า ท่านผู้ใหญ่ หมายถึงใครย่อมเป็นที่ทราบกันดีและแพร่หลายแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่เป็นนักเลงอ่านหนังสือ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าไม่บังควรจะปิดบังอีกต่อไป เพราะเป็นโอกาสที่เหมาะและเป็นเรื่องที่เหมาะ ด้วยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย มาขออนุญาตตีพิมพ์ลายพระหัตถ์ซึ่งมีถึงข้าพเจ้าทั้งหมด เนื่องในงานฉลองคล้ายวันประสูติครบร้อยปี ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติจัดให้มีขี้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในฐานะที่ทรงเป็นบุรุษเอกของโลกผู้หนึ่ง โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ข้าพเจ้าก็ยินดีอย่างยิ่ง ตอบรับสนองตามคำขอทันที แต่มีเงื่อนไขว่า เงินที่ข้าพเจ้าควรจะได้จากการขายหนังสือนี้ ขอให้สะสมไว้เป็นเงินทุนพิเศษในพระนามของพระองค์ท่าน เพื่อส่งเสริมและบำรุงการศึกษาวิจิตรศิลป์ แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องก็ตกลงกันตามที่กล่าวมานี้ แต่ยังมีข้อแม้อยู่อีกนิด คือเขาขอให้ข้าพเจ้าเขียนคำนำ ถ้ามีข้อความที่เป็นสาระได้มากก็ยิ่งดี ข้าพเจ้าก็รับสนองด้วยความเต็มใจ ทั้ง ๆ ที่มีเวลาว่างเป็นของตนเองได้น้อยเต็มที ต้องเจียดเวลาไม่ว่างมาเป็นเวลาว่างเสียบ้าง เพื่อเขียนเรื่องนี้ เพราะถ้ามีเวลาว่างอยู่ตลอดไป ก็ไม่เป็นว่างอย่างแท้จริง มันต้องไม่ว่างจึงจะมีว่างได้ในระหว่างที่ไม่ว่าง แม้กระนั้นการเขียนของข้าพเจ้า เท่าที่เขียนมานี้ก็มากพอควรอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สะใจ ด้วยยังไม่ได้กล่าวถึงพระประวัติในแง่ที่เป็นบุคลิกลักษณะของพระองค์

อันการเขียนประวัติบุคคลนั้น อาจเขียนได้หลายแง่และหลายนัย เช่น กล่าวในแง่เกี่ยวกับชาติกำเนิด ตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นต้น นี้นัยหนึ่ง กล่าวในแง่เกี่ยวกับความประพฤติและการกระทำของผู้เป็นเจ้าของประวัติว่าเป็นคุณงามความดี และมีความสามารถอย่างไรบ้าง หรือดูจากผลของการงานที่กระทำไปแล้ว ว่าเป็นอย่างไร นี้อีกนัยหนึ่ง

กล่าวประวัติบุคคลอย่างนัยแรก เป็นกล่าวในแง่ข้อเท็จจริง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในชีวิตไม่ว่าของใคร เพราะใคร ๆ ก็ต้องมีชาติคือการเกิด ใคร ๆ ก็ต้องมีผู้ให้กำเนิด และใครๆ ก็ต้องมีตำเหน่งหน้าที่การงาน เหล่านี้ย่อมมีอยู่ในประวัติด้วยกันทุกคน จะต่างกันก็แต่ระดับความสูงต่ำยิ่งหย่อนกว่ากันเท่านั้น ส่วนที่กล่าวอย่างนัยหลัง เป็นกล่าวในแง่ที่เป็นบุคลิกลักษณะคือคุณสมบัติของชีวิตและจิตใจ ซึ่งมีประจำตัวของแต่ละบุคคล และกระทำให้บุคคลนั้นมีลักษณะแตกต่างกันเป็นพิเศษออกไปอย่างไรบ้าง ในที่ต่อไปนี้ ขอกล่าวเรื่องพระประวัติของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในแง่และนัยอย่างที่สอง โดยเก็บข้อความต่าง ๆ จากลายพระหัตถ์ของพระองค์ท่านที่ทรงมีถึงข้าพเจ้า เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับพระประวัติซึ่งมีผู้อื่นเขียนอยู่แล้ว

ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่ไม่มากก็น้อย ว่าคำศิลปนั้นมีความหมายเป็นสองนัย อย่างแรกหมายอย่างกว้าง ๆ ถึงความสามารถประดิษฐ์สร้างหรือกระทำการใดๆ ด้วยความรู้และฝีมือความชำนาญ ได้ผลคือความประณีตเรียบร้อยไพเราะหรืองดงามเป็นต้น เป็นที่ต้องตาต้องใจ นี่เป็นความหมายอย่างทั่วไปในคำว่าศิลป ความหมายของคำว่าศิลปอีกนัยหนึ่งคือการแสดงออกจากสิ่งที่ไม่มี ให้ปรากฏมีขึ้นอย่างงดงามน่าพึงชม และมีบ่อเกิดจากเรื่องนึกเรื่องอารมณ์สะเทือนใจ เป็นความหมายเฉพาะแต่ศิลป ซึ่งเรียกรวมและเป็นคำใช้อยู่ขณะนี้ว่า วิจิตรศิลป์ มีอยู่ด้วยกัน ๕ สาขา คือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ และวรรณคดี สองสาขาหลังนี้มีนาฏศิลป์รวมอยู่ด้วย วิจิตรศิลป์ทั้ง ๕ สาขานี้ มีหลักในเชิงศิลปอย่างเดียวกัน คือเป็นเรื่องนึกเรื่องอารมณ์สะเทือนใจ ต่างกันก็แต่เชิงเทคนิคเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงแสดงให้ปรากฏเห็น ว่าเป็นยอดในหมู่ศิลปินทางวิจิตรศิลป์ไทยอยู่ถึง ๔ สาขา คือ สถาปัตยศิลป์ วิจิตรศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณคดี เพียงแต่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรอย่างเดียว ก็พอจะกล่าวได้เต็มปากว่าพระองค์เป็นยอดสถาปัตยศิลปินในแบบที่เป็นศิลปไทย ท่านคงทราบอยู่แล้วว่า สถาปัตยกรรมไทยที่ถือสืบๆ ต่อเป็นประเพณีกันมาแต่โบราณ เมื่อจะสร้างสิ่งใดเป็นประธานในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ย่อมสร้างเป็นพระระเบียง ล้อมรอบสิ่งที่เป็นประธานอีกที สำหรับให้ผู้ที่เข้าไปนมัสการในสถานที่นั้น ได้มีที่พักอาศัยกำบังแดดกำบังฝนเป็นการชั่วคราวได้สะดวกและอยู่ในที่เป็นวังล้อม แต่ถ้าสิ่งที่เป็นประธาน มีลักษณะงดงาม เมื่อถูกระเบียงบังล้อมไว้ ก็จะเห็นความงามไม่ได้เต็มภาคภูมิ ครั้นจะไม่สร้างระเบียงล้อม เพื่อให้เห็นได้ตลอด ก็เป็นไม่รักษาประเพณีที่สืบๆ ต่อกันมาช้านาน จนเป็นบุคลิกลักษณะอันแท้ของไทย พระองค์ท่านจึงทรงคิดใหม่ ให้มีระเบียงล้อมอย่างของเก่า แต่เชื่อมตรงต่อแค่ด้านข้างของพระอุโบสถ เพื่อให้เห็นด้านหน้าได้เด่น โดยไม่มีอะไรบังให้เสียงาม

ข้าพเจ้าได้กราบทูลด้วยความปลื้มใจ ที่ทรงแก้ของเก่าให้ก้าวหน้าแต่ก็ไม่ทิ้งประเพณีของเก่าให้ขาดตอนเสียทีเดียว ก็ทรงพระสรวลตรัสว่า “ไม่ใช่ความคิดของฉันดอก เป็นความคิดของเก่าที่เขาทำกันมาแล้ว คือที่วิหารทิศประดิษฐานพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก” เรื่องก็เป็นจริงตามนั้น ข้าพเจ้าเคยไปนมัสการพระพุทธชินราชก็หลายครั้ง ครั้งก่อน ๆ ก็ไม่ได้สังเกตเห็น เพราะมุ่งแต่จะเข้าไปนมัสการพระพุทธชินราชแต่อย่างเดียว ถึงมีตาแต่ก็ไม่มีแววอย่างช่าง จึงไม่เห็นแม้พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรจะเหมือนกับวิหารพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก แต่เหมือนกันเพียงหลักใหญ่เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ก็เป็นของพระองค์ท่านโดยไม่มีที่สงสัย จึงดูงดงาม สมส่วนสมทรง ประสานเข้ากันพอดี หาที่ตำหนิแต่นิดไม่มีเลย

นี่แสดงว่าพระองค์ท่านไม่ใช่ศิลปินมีฝีมือแต่อย่างเดียว ยังทรงมีปัญญาตาช่าง สามารถปรับปรุงของเก่าให้เข้ากับสมัยได้ โดยไม่ทิ้งของเก่าซึ่งเป็นครู เพราะ เรื่องเหล่านี้เป็นของนึกทั้งนั้น ถ้าจะนึกขึ้นใหม่ก็ได้ แต่ถ้าเขานึกไว้เก่ามี เราไปนึกใหม่ไม่เหมือนกัน เขาจะว่าไม่ถูกเพราะเป็นเรื่องที่ตาแก่ยายแก่ แกรู้กันมาก (พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) คำว่า นึก ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ เห็นจะเป็นความหมายเดียวกับคำว่าจินตนาการ ซึ่งใช้กันอยู่เกร่อในปัจุจบันนี้

Si Monumentum Requiris Circumspice นี่เป็นคำจารึกภาษาละตินที่วิหารเซนต์ปอลกรุงลอนดอน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ เซอร์คริสโตเฟอร์ เรนซึ่งเป็นผู้ออกแบบสร้างวิหารนั้น แปลเป็นไทยว่า ถ้าต้องการดูอนุสาวรีย์ของท่าน ก็จงมองดูโดยรอบ ถ้าจะยืมคำนี้มาใช้กับพระองค์ท่านและพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรว่า ปสฺสติ ปฺจมารามํ ยเทเวโส นริสฺสรํ ก็ได้เช่นเดียวกัน

คราวหนึ่ง พระองค์ท่านมีลายพระหัตถ์ตรัสถามข้าพเจ้าว่า ปราสาท บุษบก และ มณฑป ผิดกันอย่างไร ข้าพเจ้าแม้จะเคยเห็นสิ่งทั้งสามนี้อยู่บ่อย ๆ และบอกได้ว่านั่น ปราสาท บุษบก และมณฑป แต่เมื่อให้อธิบายถึงความแตกต่างกันมีอย่างไร ก็อธิบายไม่ได้ตามหลักวิชา ครั้นตรัสอธิบายให้ข้าพเจ้าทราบในลายพระหัตถ์อีกฉบับหนึ่ง จึงได้ความกระจ่างแจ้งว่าสามสิ่งนี้มีหลักอันเป็นองค์ประกอบภาคประธาน (principal composition) อย่างเดียวกัน ต่างกันแต่องค์ประกอบ ภาครอง (Subordinate composition) เท่านั้น นี่แสดงว่า พระองค์ท่านทรงใช้หลักองค์ประกอบแห่งศิลปเป็นแนวพิจารณา นอกนี้ยังได้ตรัสอธิบายด้วย ว่าทั้งสามสิ่งนี้มีที่มาและคลี่คลายเป็นวิวัฒนาการมาอย่างไร อันแสดงว่าพระองค์ท่านทรงทราบถึงกฎวิทยาศาสตร์ในข้อที่ว่า กฎวิทยาศาสตร์มีอยู่ว่า ถ้าต้องการทราบสิ่งใดให้ถ่องแท้ เราต้องรู้ที่มาและการเจริญเติบโตของสิ่งนั้น

ข้าพเจ้าไม่มีความรู้เรื่องศิลปทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ รู้ได้แต่เพียงว่าอะไรงามและไม่งาม ตามความรู้สึกนึกเห็นสามัญชนเป็นเฉพาะตัวเท่านั้น และไม่มีข้อต้องโต้เถียงในเรื่องรส (digustibus non est disputandum) ที่ข้าพเจ้ารู้ว่าสิ่งใดงาม ก็เพราะสิ่งนั้นยิ่งดูยิ่งเร้าใจ ทำให้เบิกบานยินดีและยกจิตใจขึ้นสู่สูง เพียงแต่มีงามอย่างเดียวก็เป็นงามมลืทชืด ดูบ่อยๆ ก็จืด เป็นอย่างดูคนที่งามผาด สู้ดูคนที่งามพิศไม่ได้ ยิ่งดูก็ยิ่งงามหาที่ติสักนิดไม่มี ถ้าไม่เชื่อก็เอามาเปรียบเทียบกันดูให้บ่อย ๆ แล้วท่านก็จะทราบเอง ว่าไหนงามผาด และไหนงามพิศ เพราะฉะนั้นศิลปกรรมที่งาม เป็นที่เร้าอารมณ์อยู่ได้นาน ก็มีนัยดั่งนารีผู้ทรงโฉมงามสะคราญ มีอาการแสดงออกอย่างงดงาม ดูจริตกิริยาท่าทางที่เคลื่อนไหวก็ชดช้อยน่าเอ็นดู ใครได้ชมได้ดู ก็ราบรื่นชื่นตาชื่นใจ หาที่ตำหนิสักนิดไม่ได้ ฉะนั้น

ในลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งทรงเขียนกราบบังคมทูลพระกรุณา ในพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช แห่งหนึ่งมีว่า สำเร็จแล้วจะดูดีเต็มที่เหมือนกัน จะไม่เห็นเป็นแต่รูปภาพเขียน อย่างเช่นที่มีอยู่ทั่วไป จะเห็นภาพนั้นมีชีวิตทุกตัว แต่รูปนั้นจะได้เกี่ยวชิดมาเป็นรูปคน ให้เห็นว่าเป็นโมเดินนั้นหามิได้ คงเป็นรูปเขียนแบบเขียนอย่างเก่าอยู่ฉะนั้นเอง............รูปภาพเก่าๆ ที่ช่างเขียนดีๆ แต่ก่อนเขาทำไว้นั้น ย่อมเห็นเป็นเหมือนมีชีวิต มีกิริยาหน้าตาอันมีเอฟเฟกต์ถูกตามท้องเรื่อง ที่สุดจนยักษ์มีหน้าตาแล้วไปด้วยกนก เขายังไค้แคะให้มีเอฟเฟกต์ได้ เช่น ทศกรรฐ์โศก ข้าพระพุทธเจ้าก็จะพยายามที่จะทำให้ถึงคนเก่าเขาเท่านั้น เพื่อให้ปรากฏว่าคนรู้วิชาเขียนเต็มตามวิธีของชาติแห่งตนยังมีมาถึงรัชกาลของใต้ฝ่าละอองพระบาท (ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๑ เรื่องเขียนรูปที่วัดเบญจมบพิตร)

ข้าพเจ้าเพิ่งมาทราบภายหลัง ว่าผนังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรมีอยู่ ๘ ช่อง ซึ่งว่างอยู่ ยังไม่ได้เขียนเป็นรูปภาพอะไร ได้ความจากผู้ที่สมเด็จพระสังฆราชแห่งวัดนั้น เมื่อครั้งยังเป็นที่พระพรหมมุนี สั่งให้มาหาข้าพเจ้า ในฐานะที่เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ขอให้ช่วยกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ทรงพระกรุณาเขียนภาพที่ผนังพระอุโบสถ ๘ ช่องซึ่งยังว่างค้างอยู่ เป็นรูปภาพท้าวโลกบาลทั้ง ๘ ตามที่กำหนดเอาไว้แต่เดิมมา แต่ข้าพเจ้าไม่กล้าไปกราบทูล เพราะเวลาตอนนั้นทรงพระชรามากแล้ว จะเป็นเพราะด้วยเหตุไรจึงยังค้างอยู่ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ เป็นแต่ได้เคยอ่านข้อความเรื่องต่างๆ ในแฟ้มหนังสือราชการ ว่าด้วยการสร้างวัดเบญจมบพิตร มีเรื่องเกี่ยวกับท้าวโลกบาลอยู่เป็นจำนวนมาก หนังสือเรื่องนี้มีค่าไม่น้อยในทางวรรณคดีและยังไม่เคยได้ตีพิมพ์ ต่อมาเมื่อสิ้นหวังจะได้ฝีพระหัตถ์ภาพเขียนท้าวโลกบาลทั้ง ๘ แล้ว ในที่สุดจึงเขียนเป็นรูปภาพจอมเจดีย์ ๘ แห่งตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกำหนดไว้ ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทย ที่ผนังพระอุโบสถ ๘ ช่องซึ่งยังว่างอยู่ ดั่งที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

คราวนี้ก็ถึงเรื่องดุริยางคศิลป์ และวรรณคดี ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวให้ยาวความ ด้วยเป็นที่ทราบกันดี และมีพระนิพนธ์เรื่องร้องรำทำเพลงอันเป็นเรื่องขนาดยาวอยู่ในชุดลายพระหัตถ์แล้ว ในที่นี้จะขอกล่าวเพียงแต่ว่า ถ้าท่านที่ได้อ่านข้อความในลายพระหัตถ์ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ในหนังสือนี้ ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้ว่า จะได้ทั้งปัญญาความรู้ ความบันเทิงและความเพลิดเพลินเจริญใจควบกันไป ในเชิงวรรณศิลป์ของพระองค์ท่าน ยากที่จะหาผู้เปรียบได้ แม้ลายพระหัตถ์เหล่านั้น ก็ทรงไว้เป็นสำนวนความเรียงในลักษณะซึ่งแต่ก่อนเรียกว่าร้อยแก้ว คือมีข้อความกะทัดรัดสละสลวย ไม่มีคำฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ถือเอาเป็นแบบอย่างการแต่งหนังสือไทยที่ดีเยี่ยมได้

นอกนี้ ยังมีสิ่งพิเศษอันเป็นบุคลิกลักษณะของพระองค์ท่านอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่ามีผู้ทราบกันน้อยท่าน ว่าพระองค์ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ภาษาไทยที่เชี่ยวชาญ แม้กระนั้นก็ยังทรงแสวงหาความรู้เรื่องภาษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ และความเห็นของพระองค์ แม้เป็นความเห็นอย่างเอกชน ก็มีอยู่หลายแห่งในลายพระหัตถ์ ซึ่งถ้านำเอามาใช้ในเวลานี้ โดยเฉพาะเรื่องอ่านเรื่องตัวสกดการันต์ในภาษาไทยเป็นต้น ก็จะทำให้คลี่คลายปัญหาที่มีอยู่เฉพาะหน้าเวลานี้ ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องนำข้อความซึ่งมีอยู่มาลงเป็นตัวอย่างไว้ในที่นี้ ก็เพราะมีอยู่ในลายพระหัตถ์นั้นแล้ว

ต่อไปนี้ ขอให้ข้าพเจ้าเขียนสรุปเป็นสดุดี โดยใช้สำนวนขึ้นต้นอย่างภาษาวรรณคดีว่า บัดนี้ พระองค์ได้เสด็จสู่สถานทิพยพิมานแมนแล้ว แต่พระเกียรติคุณอันเพริดแพร้วและงานของพระองค์ ยังคงอยู่เป็นองค์พยานแห่งความเป็นอัจฉริยบุคคลของพระองค์ในงานด้านศิลป สมดั่งภาษิตละตินที่ว่า ศิลปนั้นยืดยาว ชีวิตนั้นสั้น (Ars longa, vita brevis) ชีวิตที่ขาดวรรณคดี คือชีวิตที่ตายแล้ว (Vita sine literis mors est) ด้วยประการฉะนี้

พระยาอนุมานราชธน

ราชบัณฑิตยสถาน

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖

 

  1. ๑. ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เรื่องร้องรำทำเพลง หน้า ๒๒๙

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ