๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาและพระเมตตาเป็นล้นเกล้า ฯ เมื่อได้อ่านลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ เดือนนี้จบลงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าปลาบปลื้มเปนที่สุด เพราะเพิ่งมาได้สำนึกจากลายพระหัตถ์นี้เองว่า แบบแผนวิชาร้องรำของไทย มีผู้รู้เพียงครูสอนมาอย่างไร ก็สืบต่อกันไว้เพียงอย่างนั้น ซ้ำหาตำหรับตำราเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการศึกษาค้นคว้า ก็ได้โดยยาก ผู้เรียนร้องก็รู้แต่เรื่องร้องอย่างเดียว ผู้เรียนรำก็รู้แต่การรำอย่างเดียว เมื่อซักไซ้ไล่เลียงนอกไปจากนี้ ก็หาผู้ที่รู้ได้ยาก ข้าพระพุทธเจ้าได้ปรับทุกข์เรื่องนี้แก่พระพินิจวรรณการว่า ถ้าความรู้ร้องรำเป็นอย่างที่ได้ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้า และตามที่ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกอยู่ในขณะนี้ เมื่อหน้าต่อไปจะเป็นอย่างไร คงเป็นความยากเย็นแก่ผู้ศึกษาในทางค้นคว้าหาความรู้ไม่น้อย แล้วก็จะต้องรู้สึกเสียใจกันเป็นที่สุด พระพินิจวรรณการก็เห็นเป็นอย่างเดียวกับข้าพระพุทธเจ้า และว่าแม้จะทรงพระเมตตาปรานีแก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยฉะเพาะก็ดี แต่พระคุณทั้งนี้ย่อมสืบไปถึงเบื้องหน้าด้วย ด้วยเหตุดั่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกปลาบปลื้มยินดี เป็นพระเดชพระคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้

ต่อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานถวายความเห็นในเรื่องอักษรภาษาไทย ข้อที่ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลต่อไป เป็นเรื่องที่ยังหมิ่นต่อเหตุผล แต่หวังในพระเมตตาอยู่เสมอว่า ถ้าผิดพลาดไปอย่างไร ข้าพระพุทธเจ้าขอยึดพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า ได้สังเกตเห็นการอ่านหนังสือเขมร ที่ทรงพระกรุณาประทานมา ว่าเสียง อโฆษะ อ่านว่า จอ ชอ และเสียงโฆษะ อ่านว่า โจ โช โญ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าปรับเทียบเข้ากับเสียงบาลี ในพวกอโฆษะ คือ จ ฉ และในพวกโฆษะ คือ ช ฌ ญ ถ้าที่ข้าพระพุทธเจ้าปรับเทียบนี้เป็นการถูกต้อง ก็แสดงว่าเสียงโฆษะในภาษาเขมร ไม่มีครบเหมือนเสียงในบาลี เป็นอย่างเดียวกับเสียงภาษาไทย ซึ่งมีเสียงโฆษะอยู่เพียง ๙ ตัว คือ เสียง ด บ เสียงอนุนาสิก ง น ม และเสียงอรรธสระ ย ร ล ว ส่วนเสียง g gh j jh dh bh ไม่มี เหตุนี้ในหนังสือเขมรที่เทียบด้วยเสียงเหล่านี้ จึงอ่านเป็นเสียง โอ ไป แต่ทำไมจึงใช้เสียง โอ พระพุทธเจ้าคิดไม่เห็น ตามที่กราบทูลมานี้ เปนการกราบทูลโดยที่ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบเกล้าฯ เรื่องภาษาเขมรได้ตลอด ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าจะผิดถูกเพียงไร ถ้าถูกก็แสดงว่าเขมรออกเสียงโฆษะอย่างแขกไม่ได้ จึงต้องหาวิธีอ่านเสียงโฆษะให้แปลกออกไปจากเสียงที่เป็นอโฆษะ ในส่วนภาษาไทย ปรากฏว่าออกเสียงโฆษะอย่างแขกไม่ได้เหมือนกัน จึงออกเสียงอ่านให้แปลกออกไป ตลอดจนเสียงสูงในภาษาไทย ซึ่งตรงกับเสียงธนิตในบาลี ก็แปลงเสียงเสียด้วย ข้าพระพุทธเจ้าลองจับตัวหนังสือไทยมาปรับเทียบเสียงกับบาลี ดั่งนี้

  กอ ข้อ ซอ ค่อ ฅอ   เฆาะ   งอ
  k kh g   gh   ng
  จอ ฉอ ช่อ   ซอ   เฌาะ   ญอ
  c ch j   -   jh   ñ
ดอ ตอ ถ่อ ท่อ       เธาะ   นอ
  t th d       dh   n
บอ ปอ ผอ ฝอ พ่อ ฟอ   เภาะ   มอ
  p ph b   bh   m
  ยอ รอ ลอ วอ สอ ห้อ ฬ่อ ออ ฮ้อ
  y s h l - -

ในเสียงอักษรเหล่านี้ ที่ซ้ำเสียงกันอย่างที่อ่านอยู่ในเวลานี้ ก็คือ ฃ ซ ค ฆ ช ฌ ท ธ พ ภ แต่ที่อ่านกันในสมัยก่อน ออกเสียงตัวหน้าเป็น ข้อ ค่อ ช่อ ท่อ พ่อ และ ฬ่อ ตัว ข้อ คงเทียบได้กับเสียง อโฆษธนิต นอกจากนั้นเทียบได้กับเสียง โฆษสิถิล ส่วนตัวหลังที่ออกเสียงเป็น เอาะ คงเทียบได้กับเสียงโฆษธนิต ส่วน ฃ ค คงเสียงอย่างที่อ่านกันอยู่ในเวลานี้ ไม่อ่านเพี้ยนเป็น ฃอ ฅอ จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเดาว่า น่าจะแปลงรูปให้ผิดกับ ข ค เพราะด้วยเหตุที่ปรับเสียงตัวที่มีอยู่เข้ากับบาลีครบเสียแล้ว ยังเหลือแต่เสียง ค ซึ่งในบาลีไม่มี และเมื่อโอนตัว ค ให้เป็นเสียง g เสียแล้ว ก็ต้องแปลงรูปตัว คอ ให้แปลกออกไป เพื่อรักษาตัวหนังสือที่ใช้สำหรับเสียง คอ ของไทยโดยตรงไว้ มีข้อแปลกอยู่อีกอย่างหนึ่ง ที่ในภาษาไทยอาหม ไทยใหญ่ และพวกไทยที่อยู่ห่างไทยสยามออกไป ไม่มีอักษรสำหรับใช้แก่เสียง ค ช ท พ ถ้าจะต้องออกเสียงในคำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรเหล่านี้ ก็ใช้ ข ฉ ถ ผ หรือบางทีก็ใช้ ก จ ต ป กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าหลงอ่านออกเสียงผิดมานาน เช่น ไทยคำที่ ในภาษาอังกฤษเขียนว่า khamti ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านว่า ขำตี ต่อมาเมื่อเห็นเขาแปล kham ว่า ทอง และ ti ว่า ที่ จึงเกิดสงสัยว่า บางทีจะอ่านว่า คำที่ ได้ เมื่อสอบค้นไปก็คงได้ความว่าเป็นเช่นนั้น จะอ่านเป็นเสียง ข หรือ ค ก็แล้วแต่ความหมายของคำ คำว่า คน เขาก็เขียนว่า ขุน บางทีก็ กุน ส่วน ขน เขาอ่านเป็น ขัน ขาน ถ้าเขาจะเขียนคำว่า ขุน ก็เขียนอย่างเดียวกับคำว่า คน เป็นแต่อ่านแยกเสียงไป แล้วแต่ความหมาย ในชั้นต้นข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจด้วยเกล้า ฯ ว่า ออกเสียงเลอะเต็มที มาภายหลังจึงปรากฏว่า ในการออกเสียงนั้น เสียง ขค ฉช ถท ผพ เป็นเสียงเดียวกัน คือเป็นเสียงหนักอโฆษะ ผิดแต่เสียงแขงกับเสียงอ่อนเท่านั้น เหตุฉะนั้น เสียง ข้อ กับ ค่อ จึงมีค่าเท่ากัน ส่วนเสียงว่า คน ถ้าใช้ ค กับ น เสียงจะเป็น คัน หรือ คอน ถ้าเพิ่ม อุ เสียงจะเป็น คุน หรือ โคน ใกล้กับ คน มากกว่าเสียง คัน และ คอน เนื่องด้วยเหตุผลเหล่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ลงสันนิษฐานว่า ฃ ฅ น่าจะใช้แทนเสียงฉะเพาะคำที่ในภาษาบาลีไม่มีใช้ แต่มาจนด้วยเกล้า ฯ ลงในข้อที่รับสั่งว่า ในศิลาจารึกครั้งพระเจ้ารามกำแหงใช้ ข และ ฃ ปนเปกันไป ไม่มีกำหนดกฎชา บางทีตัวอักษรที่เทียบได้กับเสียงบาลี จะใช้แต่ในการถ่ายเสียงตัวอรรถในภาษาบาลีหรือสํสกฤต ไม่ใช้แก่หนังสือไทย แต่ก็ยังไปติดขัดอยู่ที่ว่า มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้ ข หยัก ค หยัก เพราะใช้ ข ค ตมธรรมดา ก็ได้ประโยชน์เท่ากัน

ตัว ซ ตามที่รับสั่งว่า บางทีจะทำขึ้นเพื่อใช้ถ่ายเสียง ชร ในภาษาเขมร ข้าพระพุทธเจ้าเห็นคล้อยตามกระแสพระดำริ เพราะมาไตรตรองดูในภาษาไทยถิ่นอื่นมักใช้ ส อ่านได้ทังเสียง ส และ ซ เป็นทำนองเดียวซ่ กับการอ่านตัว ข เป็นเสียง ข หรือ ค ก็ได้

ตัว ส ซึ่งมีตัว ร ควบ อ่านเป็นเสียง ส เฉย ๆ คำในภาษาไทยก็มี เช่น เสร้า สร้าง สร้อย สรวญ สรอง ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯว่า ตัว ส ซึ่งมีคัว ร ควบ คงเป็นเพราะจะถ่ายเสียงคำของเขมรมาใช้ ดังที่ทรงพระดำริ แล้วต่อมาก็ถือเอาหลักนี้ เป็นแนวเทียบใช้เขียนคำไทยเดิม โดยเติมอักษรให้เปนคำควบขึ้น เพราะคำว่า เสร้า สร้าง สร้อย สรวญ และ สรอง ใกล้กับความหมายในคำว่า เร่า รัง ร้อย ร่วน และ รอง มาก เรื่องเสียงตัวควบ พระยาอินทรมนตรีเคยอธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง ว่าคำเดิมในภาษาไทยมีคำเสียงควบ ที่มาเกิดเสียงไม่ควบขึ้น เพราะไทยสายที่สืบมาจากก๊กหง้ายลาว คือไทยทางตะวันออก พูตเสียงควบไม่ได้ แล้วเสียงไม่ควบนี้ เข้ามาครอบงำเสียงของไทยน้อย ให้ออกเสียงควบไม่ได้ในตอนหลัง ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีโอกาสซักไซ้ต่อไปว่า ความเห็นนี้มีหลักฐานและเหตุผลอย่างไร ครั้นต่อมาข้าพระพุทธเจ้าได้รับจดหมายจากพระประสงค์เกษมราษฎร์ ข้าหลวงประจำจังหวัดนครพนม ว่ากำลังสอบสวนคำเสียงควบในภาษาไทย ว่าทำไมไทยทางแถบแม่น้ำโขงจึงพูดกล้ำเสียงไม่ได้ ซึ่งพระประสงค์ ฯ เชื่อว่า เสียงเดิมคงออกเสียงกล้ำได้ แต่ก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลที่เชื่อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงมานึกถึงคำในภาษาอาหม มีคำที่เป็นเสียงควบอยู่มากคำ ในชั้นต้นนึกเสียว่า จะได้เสียงของอินเดียเข้าครอบงำ จึงได้เกิดมีเสียงควบขึ้น ข้อแปลกอีกอย่างหนึ่ง ในคำภาษาไทยสยามบางคำไม่มีเสียงกล้ำ ทางอาหมกลับไปกล้ำเข้า เช่น ผม เขี้ยว ของ ก็เป็น ผรม ขริ้ว และ ขรอง (ซึ่งบางทีเทียบได้กับคำว่า เครื่อง เพราะ เครื่อง กับ ของ ความหมายใกล้กันมาก) แต่ความที่ข้าพระพุทธเจ้านึกว่าจะเป็นเสียงของอินเดียเข้าครอบงำ ก็เผอิญมาพบในภาษาผู้ไทยขาว ที่มีคำเป็นเสียงควบอยู่ด้วย ข้าพระพุทธเจ้าจึงละความคิดนั้นเสีย ต่อมาข้าพระพุทธเจ้าพบหนังสือฝรั่งเรื่องหนึ่ง อธิบายว่า ภาษาจีนนั้น บัดนี้ย่อมเป็นที่รับรองกันทั่วไปแล้วว่า คำที่จีนใช้พูดกันอยู่ในปัจจุบัน เสียงหดลงไปมาก เพราะด้วยเสียงกร่อน คำซึ่งแต่เดิมควรเป็นสองหรือสามเสียง ก็กร่อนลงเป็นตัวหนังสือสองหรือสามตัวเท่านั้น ภาษาที่ยังคงรักษาเสียงควบไว้ได้ มีคุณค่าแก่การศึกษาที่สุด เพราะเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นความเกี่ยวข้องกันในระหว่างคำ ซึ่งเดิมเป็นคำเดียวกัน แต่แผกออกไปจนมองไม่เห็นว่าเป็นคำเดียวกัน โดยเหตุที่เสียงของคำ เมื่อใช้ไป ๆ ค่อยกร่อนลง จนในที่สุดคำเสี่ยงควบก็กลายเป็นเสียงพยัญชนะตัวเดียว แต่ก็มักปรากฏอยู่บ่อย ๆ ว่า ภาษาหนึ่งเลือกเอาพยัญชนะเสียงควบไว้แต่พยัญชนะตัวหนึ่ง แล้วอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน เลือกเสียงในพยัญชนะอีกตัวหนึ่ง เกิดเป็นคำขึ้นสองคำ มีความหมายเดียวกัน ซึ่งที่แท้เป็นคำที่มีมาอย่างเดียวกัน แต่แผกเสียงกันออกไปไกล เป็นที่เชื่อว่าลักษณะจะเป็นดังข้างต้นนี้ แต่จะไม่ใช่ตลอดทุกคำไป

ตามที่เขาอธิบายมานี้ก็น่าฟัง เพราะข้าพระพุทธเจ้าได้ลองเก็บพวกคำกล้ำมาพิจารณา ดูก็มีเค้าที่เขาว่าไว้ เช่น กรอบ-ขอบ-รอบ แมลง-แมง-แลง (ในภาษาอาหมแปลว่า ตัวแมลง) ตรึง-รึง (ปักษ์ใต้เป็น ริง จีนเป็น เตง แปลว่า ตะปู ตอกตะปู) ปรก-รก ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า คำเหล่านี้เดิมจะมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยสยามทั้งสองตัว บางคำก็ต้องเพี้ยนความหมายไปบ้าง เช่น แมลง กับ แลง แต่ในภาษาอาหม ยังเหลือเค้าให้เห็นอยู่ว่าเป็นคำเดียวกัน ในภาษาจีน คำว่า เหมง ซึ่งเป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของกษัตริย์จีน แปลว่า รุ่งเรือง ถ้าจะจับเอาคำอย่าง แมลง-แมง-แลง เข้าเป็นแนวเทียบ ก็ตรงกับคำว่า เมลือง-เมือง-เลือง (เรือง) ในภาษาไทย ในไทยพายัพ รุ่งเรือง ใช้ว่า มิง เพราะออกเสียงเมืองไม่ได้ เช่น บ้านเมือง ก็เป็น บานมิง ไป เสียงพวกผู้ไทยทางสกลนครออกเสียง เอีย เป็น เออ ถ้าในคำว่า มิง ก็จะต้องเป็น เมิง

คำ พระ พญา เพี้ย ทรงเข้าพระทัยว่า หมายจะเขียน พ ทั้งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยตามกระแสพระดำริ

เสียง ฟ ข้าพระพุทธเจ้ายังรู้สึกไม่สู้สนิทใจว่าจะมาแต่เสียงภาษาอาหรับ เสียง ฟ มีอยู่น้อยภาษา ในตระกูลภาษาอินเดียยุโรป ก็มีแต่ในสาขาภาษาเยรมัน มีเยรมันกับอังกฤษเป็นต้น ซึ่งถ้าเสียงในสาขาอื่นเช่นลาติน และสํสกฤตเป็น ป ก็เป็นเสียง ฟ ในสาขาเยรมัน ในตระกูลภาษาเซมิติก มีภาษาอาหรับเป็นต้น เสียง ฝ ฟ มีเป็นปกติในภาษา ในตระกูลภาษาตาด มียี่ปุ่นเป็นต้น ก็มีเสียง ฟ ส่วนในภาษาจีน ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นดูในหนังสือฝรั่งที่ว่าด้วยภาษาจีน อธิบายไว้ว่า ตั้งแต่เมืองซัวเถาขึ้นไปตามชายทะเลจนถึงเมืองฟุกเจาในแคว้นฮกเกี้ยน ไม่มีเสียง ฟ นอกนี้มีเสียง ฟ แต่ผู้อธิบายลืมภาษาไหหลำ ซึ่งใช้เสียง พ แทน ฟ ข้าพระพุทธเจ้าสอบค้นคำในภาษาชาวกวางตุ้ง ชาวแคะ ชาวจีฟู และจีนหลวง ซึ่งใช้เสียง ฝ ฟ ปรากฏว่า คำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง ฝ ฟ เสียงเดิมครั้งโบราณ เป็น บ ป ผ พ ทั้งนั้น ภาษาชาวเซี่ยงไฮ้ เสียง ฟ เป็นได้ทั้ง ฟ และ ว ส่วนไทยถิ่นต่าง ๆ มีเสียง ฟ ก็แต่พวกไทยนุงและไทยย้อย ในมณฑลกวางสีกับพวกผู้ไทยดำ ไทยถิ่นพายัพ และไทยถิ่นอีศาน นอกนั้นเท่าที่พบเสียง ฟ เป็น พ และ ว ที่ทรงพระดำริว่าเสียง ฟ จะไม่ใช่เสียงในภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยกับกระแสพระดำริ เพราะเสียงนี้ ไม่มีอยู่ทั่วไปในตระกูลไทยจีน ทั้งคำที่ขึ้นต้นด้วยตัว ฟ ในภาษาไทยที่มีอยู่ ก็เป็นจำนวนราว ๕๐ คำเท่านั้น และทั้งเสียงเดิมของจีน ก็เป็นเสียง บ ป ผ พ หาใช้ ฟ มาแต่เดิมไม่ ถ้าเสียง ฟ มาทางอาหรับ ก็คงจะไม่ได้มาทางทะเล น่าจะต้องสืบสาวพงศาวดารอ้อมไปทางเหนือว่า ภาษาตาดมีเสียง ฟ มาแต่เดิมหรือไม่ และเคยติดต่อกับภาษาตระกูลเซมิติกมาอย่างไรบ้าง แต่ก็เหลือวิสัยที่จะสืบสาว ได้ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าคำที่เป็นเสียง ฟ ในภาษาไทยเดิม ไม่ใช่เสียง ฟ ทำไมจึงพลัดมาเป็นเสียง ฟ แต่บางคำ ซ้ำบางคำเช่นคำว่า ฟ้า และ ฟัน ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในภาษาไทยที่อยู่เมืองจีน และในภาษาจีนไม่พบ พบแต่คำว่า ฟ้า ใช้ว่า แถน ถิ่น เทียน ส่วน ฟัน ก็เป็น เข้ว ขิ้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกไทยที่ติดต่อถึงกันกับไทยถิ่นต่าง ๆ ในสยามเท่านั้น กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า ในคำว่า พระ พระยา และ ฟ้า ที่ประทานพระดำริมา ว่าจะมีมูลที่มาแห่งเดียวกัน

ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อว่า ละคร ที่ถูกมาจาก ละคอน หาใช่มาจากคำว่า นคร ไม่ เพราะละคอนมีใช้อยู่ในภาษาชะวาแล้ว ในหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งว่าด้วยเรื่องละครในชะวา ให้ที่มาของคำว่า ละคอน ในภาษาชะวา มาจาก laku ธาตุ แปลว่า to go, to act แตไม่ได้อธิบายว่าประกอบ laku ธาตุขึ้นเป็นคำ ละคอน ได้อย่างไร ที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนว่า ละคร เพราะเขียนกันมาอย่างนี้นานแล้ว จนเป็นที่เข้าใจกันในความหมาย เป็นทำนองเดียวกับ โรงศาล ช้างสาร และคำว่า โขน ก็น่าจะมีที่มาจากคำเดียวกับ ละคร ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจำได้เงา ๆ ว่า ดูเหมือนเขมรอ่าน ละคร ว่า ละโขน

ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลมาโดยยืดยาว ถ้าผิดพลั้งประการไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

เมล์ไปรษณีย์เที่ยวนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดหนังสือ ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๙ ถวายใต้ฝ่าพระบาท รับสั่งว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ความรู้เพิ่มเติมอีทางหนึ่ง ด้วยมีข้อน่าพิจารณาอยู่ในนั้นมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดหนังสือเรื่องนี้ ถวายมาในซองนี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ