๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล ทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๑ เดือนนี้ ทรงพระปรารภเรื่องตั้งหลักในการแก้และเติมคำในหนังสือกฎมนเทียรบาลพะม่านั้น ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้าพิจารณาหลัก ๕ ข้อที่ทรงตั้งมานั้นตลอดแล้วเห็นพ้องด้วยในหลักที่ประทานมาทุกข้อ ไม่มีความเห็นอื่นที่จะเพิ่มเติมอย่างไรหามิได้

ในข้อที่ทรงปรารภถึงการอ่านหนังสือชาติต่าง ๆ ว่า เขียนกันอย่างหนึ่ง แต่ออกสำเนียงอ่านเป็นอีกอย่างหนึ่งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับความลำบากอยู่บ่อย ๆ ถ้าไปผูกภาษาที่หาหนทางสอบไม่ได้ เช่น ภาษาธิเบต ข้าพระพุทธเจ้าก็ต้องใช้เดา ในส่วนภาษาที่เป็นเพื่อนบ้านอย่างพะม่าและเขมรมอญ ถ้าเป็นคำในภาษาเดิมของเขา หรือโดยเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเคยเขียนตามเสียงของตัวโรมันที่ถอดเอามาจากภาษาเหล่านั้น หรือถ้าสามารถจะสอบสำเนียงอ่านได้จากชาติที่เป็นเจ้าของภาษา ถ้าเสียงไม่ห่างไกลกับเสียงในตัวโรมันมาก ข้าพระพุทธเจ้าก็ใช้จดตามสำเนียงที่เจ้าของภาษาบอก ส่วนคำที่ทราบว่ามาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ข้าพระพุทธเจ้าก็เขียนตามรูปของภาษาบาลีและสันสกฤตอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย ถ้าจำเป็นต้องการให้ทราบสำเนียงของภาษานั้น จึงจะลงสำเนียงเป็นพิเศษไว้ในวงเล็บ ที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเช่นนี้ เพราะได้เคยเห็นผู้แปลนิยายพะม่าเรื่องหนึ่งมาลงไว้ในหนังสือพิมพ์ เขียนว่า เทวดาองค์หนึ่งชื่อ สัคยา ซึ่งในที่นี้ถ้าผู้เขียนทราบและเขียนตามรูปในภาษาสันสกฤตว่า สักระ ก็จะทำให้อ่านเรื่องนั้นซึมซาบดีขึ้นและไม่งง ส่วนคำที่ไทยนำเอามาจากชาติอื่นและกลายเป็นคำในภาษาไทยขึ้นแล้ว เช่น มาส ในภาษา เขมร หรือ เก๋ง ในภาษาจีน ถึงแม้ว่าในสำเนียงเดิมเขาจะอ่านว่า เมียะ หรือ เกง ก็คงจดเสียง มาส และ เก๋ง อยู่ตามเดิม ทั้งนี้จะเป็นการสมควรประการใด ขอรับพระบารมีปกเกล้าเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ