๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานตอบลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม เรื่องผ้าต่าง ๆ

(๑) ผ้าย่ำมหวาด ที่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่แน่ใจในคำว่า ยามะหวด ก็เพราะทราบเกล้าว่า ผ้าย่ำมหวาดไม่ใช่จะมีแต่สีมะหวดเท่านั้น ย่อมมีสีอื่นๆ ด้วย บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามดูได้ความว่าผ้าลายรุ่นเก่าเป็นสีม่วงและม่วงเจือแดงทั้งนั้น และผ้าตัวอย่างที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็เป็นเช่นนั้นโดยมาก เป็นอันแน่นขึ้นอีกในการสันนิษฐานคำ ย่ำมหวาด ว่ามาจาก ยามะหวด ที่ประทานคำอธิบายถึงเรื่อง ยา นั้น ข้าพระพุทธเจ้าดีใจด้วยได้ความรู้ขึ้นอีก แต่เดิมเข้าใจเสียว่าน้ำยาลงทองอย่างเดียว มิได้เฉลียวว่าสิ่งอื่นที่ละลายน้ำสำหรับเขียนภาพก็เรียกว่า น้ำยา เหมือนกัน

(๒) ผ้าขาวม้า ข้าพระพุทธเจ้าจะได้เก็บคำว่า หักขะม้า ในภาษายี่ปุ่นไว้ เพื่อเป็นทางสอบสวนต่อไป

(๓) ที่ทรงพระกรุณาประทานเรื่องแบบนุ่งผ้าเดี๋ยวเกไล เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ ได้มีผู้อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า พวกข่าย่าเหินซึ่งอยู่ตามลำแม่น้ำโขงแถวเมืองอัตตปือ นุ่งผ้าคาดเตี่ยวแล้วเอาชายข้างหนึ่งพันรอบพุง ส่วนอีกชายหนึ่งเหลือไว้ให้ห้อยยาวลงไป แล้วพับกลับให้เป็นกระเป๋าห้อยไว้ที่หน้าขา สำหรับใส่บุหรี่หรือสิ่งของ การนุ่งชะนิดนี้พวกไทยทางอุดรเรียกว่า นุ่งกะเตียว ถ้าเป็นวันทำพิธีสำคัญเรียกว่า พิธีผีข่า พวกข่าที่เจริญแล้ว หรือพวกไทยที่มีเชื้อข่าปนอยู่บ้าง มักนุ่งผ้าลาย ซึ่งเรียกว่า ผ้าแต้ม แล้วนุ่งกะเตียวทับผ้าลายอีกที เป็นทำนองนุ่งเกี้ยวเกไล แต่ด้านหลังไม่แผ่ปรกกันเท่านั้น

(๔) ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า ที่กระทรวงคลังแต่เดิมมามีเชือกเส้นหนึ่งพันด้วยไหม เมื่อจะเร่งเงินจากเจ้าภาษีอากร ก็เอาเชือกนี้ใส่พานเชิญไปยังเจ้าภาษีอากร เป็นอันเข้าใจกันว่าถูกเกาะกุมตัว เรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบเป็นครั้งแรก ผู้บอกจะบอกผิดถูกอย่างไร ขอประทานทราบเกล้าในเรื่องนี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ