๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ทรงพระเมตตาประทานความเห็นด้วยเรื่องคำประกาศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต และคำประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ว่าจะสมควรพิมพ์หรือไม่ ก็อยู่ที่ประกาศนั้น ถ้าไขข้อต่อความในพระราชนิพนธ์ให้เข้าใจกว้างออกไป ก็ควรลง กับได้ประทานพระวิจารณ์เรื่องตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ฉะบับที่ข้าพระพุทธเจ้าถวายไป ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

ประกาศ ๒ ฉะบับข้างบนนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านดูอีกครั้งหนึ่ง เห็นด้วยเกล้าว่ามีความในบางแห่งเป็นทำนองไขข้อต่อความในพระราชนิพนธ์อยู่บ้าง ข้าพระพุทธเจ้าจะได้นำลงต่อท้ายพระราชนิพนธ์ และได้คัดประกาศ ๒ ฉะบับนั้นอีกสำรับหนึ่ง ถวายมาเพื่อทอดพระเนตรด้วยแล้ว

ส่วนเรื่องรูปทองสัมฤทธิ์ บัดนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีลายพระหัตถ์ประทานพระอนุญาตให้พิมพ์คำอธิบายเรื่องประวัติรูปสัมฤทธิ์ของพระองค์ท่าน ประกอบกับพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้นได้ และยังทรงพระกรุณาอนุญาตให้พิมพ์รูปฉายภาพทองสัมฤทธิ์ที่ทรงถ่ายไว้ได้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ประทานพระวิจารณ์พระราชนิพนธ์ ๒ เรื่องที่กำลังพิมพ์อยู่นี้ ว่าพระราชนิพนธ์ ๒ เรื่องนั้นผิดกันชอบกล พระราชนิพนธ์เรื่องวังหน้า ไม่ปรากฏในหนังสือนั้นว่าทรงพระราชนิพนธ์เมื่อใด ทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะได้ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่เรื่องพระราชวิจารณ์พงศาวดาร บอกปีไว้ในหนังสือนั้น ว่าทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีฉลู นพศก และหลังศกมีหมายเลขปีที่ ๑๐ ในรัชชกาล ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๐ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังทรงพระราชนิพนธ์เรื่องวังหน้า ๓ ปี แล้วพระองค์ท่านได้ประทานพระอธิบาย ซึ่งไม่มีพระประสงค์ให้เอาไปลงพิมพ์ในคำนำหนังสือซึ่งจะพิมพ์ใหม่ เป็นแต่ประทานมาเป็นการฉะเพาะตัว ว่าที่ทรงเห็นว่าพระราชนิพนธ์ ๒ เรื่องผิดกันชอบกลนั้น ด้วยพระราชนิพนธ์เรื่องวังหน้าทรงแต่งตาม “หนังสือ” พงศาวดารที่ปรากฏเป็นตำราอยู่แล้ว คือหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับพิมพ์ ๒ เล่ม กับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง (แต่เวลานั้นยังไม่ได้พิมพ์) รูปพระราชนิพนธ์เป็นแต่อย่างบอกบัญชีเจ้านายที่ได้เป็นวังหน้ามาแต่ตั้งกรุงศรีอยุธยา กับอธิบายเหตุที่เจ้านายเหล่านั้นได้เป็นวังหน้า มาปรากฏพระราชวินิจฉัยเป็นข้อสำคัญอยู่ข้างท้ายว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เป็นวังหน้าซึ่งมิได้เป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ และพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงเลือกเองเป็นที่ ๑ (คือองค์แรก) ตั้งแต่กรุงทวาราวดีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์บัดนี้ อันเป็นความจริงที่มิใคร่มีใครรู้ จึงทรงพระราชนิพนธ์พิศูจน์ให้เห็นประจักษ์ ความส่อให้เห็นว่า คงทรงพระราชนิพนธ์เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญหนีลงไปอาศัยอยู่ ณ สถานกงซุลอังกฤษ ในปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ มิใช่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต ใน พ.ศ. ๒๔๒๘ เพราะครั้งหลังมีพระราชนิพนธ์พระบรมราชาธิบายเรื่องวังหน้าอยู่ในประกาศตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แต่พระราชนิพนธ์เรื่องวังหน้าที่จะพิมพ์นี้ ทรงแต่งสำหรับให้อ่านกันที่ไหน พระองค์ท่านไม่ทรงทราบ เพราะยังทรงพระเยาว์อยู่ แต่ที่มิได้พิมพ์โฆษณา ส่อให้เห็นว่าสำหรับแต่ให้ทราบกันเพียงในมณฑลจำกัด พระองค์ท่านจึงทรงเห็นว่าการที่จะพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่องวังหน้า ควรบอกศักราช เช่นว่า สันนิษฐานว่าทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ไว้ด้วย ถ้าไม่บอกสมัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ด้วย ทรงเกรงว่านักเรียนในสมัยนี้ที่ไม่รู้เค้าเงื่อนจะติพระปรีชาญาณของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เพราะศักราชและตัวเรื่องพงศาวดารในพระราชนิพนธ์นั้น เป็นแต่ทรงคัดมาจากหนังสือพระราชพงศาวดาร ไม่ตรงกับที่มาสอบได้เป็นหลักฐานเมื่อภายหลังมีอยู่หลายแห่ง ส่วนพระราชนิพนธ์วิจารณ์พงศาวดารนั้น ทรงพระราชวินิจฉัยตลอดเรื่อง ผิดกับเรื่องวังหน้า ด้วยประการดังนี้ พระองค์ท่านจึงทรงสันนิษฐานว่า เห็นจะทรงพระราชนิพนธ์ในสมัยเมื่อแรกตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะการศึกษาพงศาวดารเริ่มฟื้นขึ้นแต่สมัยนั้น

ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระกรุณาประทานความเห็นมานี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า ถึงแม้พระราชนิพนธ์วิจารณ์พงศาวดารจะได้ทรงแต่งภายหลังพระราชนิพนธ์วิจารณ์เรื่องวังหน้า แต่ก็ดูเหมือนจะทรงแต่งเป็นการไขข้อความเรื่องวังหน้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงคงรูปพิมพ์เรื่องพระราชนิพนธ์วิจารณ์พระราชพงศาวดารไว้ก่อน และพิมพ์พระราชนิพนธ์วิจารณ์เรื่องวังหน้าไว้หลัง เพราะเรื่องจะได้ติดต่อกัน ดังที่ได้ทรงพระกรุณาประทานพระดำริมาแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ