๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้า ฯ ที่ได้ทรงพระเมตตาประทานตัวอย่างผ้าต่างๆ มาให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นตัวจริงประกอบกับคำที่ทรงอธิบายไว้แล้ว เวลานี้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องผ้าเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น ผิดกว่าเมื่อครั้งที่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้เห็นตัวอย่างผ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายผ้าตาดระกำไหมที่ประทาน คืนมาพร้อมกับหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าฉะบับนี้

ในชั้นเดิมเมื่อได้เห็นคำว่า ระกำไหม ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเฉยอยู่ในคำว่า ระกำ เพราะเห็นเสียว่า คงเป็นคำไทย ต่อเมื่อได้เห็นผ้าตัวจริงข้าพระพุทธเจ้าเฉลียวใจว่า จะเป็นภาษาแขกอีกเป็นแน่ จึงได้สอบค้นในปทานุกรมภาษามลายู ก็พบคำว่า ระกำ แปลว่า เขียนลวดลายบนผืนผ้า เขียนลวดลายให้ชัดต่างหาก บนลายปักทองที่ในผืนผ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้คัดภาษาอังกฤษถวายมาเพื่อทอดพระเนตรด้วย Rakam (Arab) Painting on cloth; painted as distinct from embroidered designs on cloth.

อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าพบหนังสือเก่า เขียนคำ เกณฑ์ เป็น เกน อยู่หลายแห่ง ในพระราชพงศาวดารฉะบับทรงชำระในรัชกาลที่ ๑ ฉะบับจุลศักราช ๑๑๕๗ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในหอสมุดเข้าใจว่าเป็นลายมือในสมัยนั้น เมื่อถึงคำว่าเกณฑ์ทัพ ก็เขียนว่า เกนทับ ทุกแห่ง ถ้าว่าเกณฑ์ทัพเป็นคำที่ถูกต้อง ก็คงจะเขียนอย่างนี้ เหลือตกค้างอยู่บ้าง นอกจากนี้ คำว่า บัณฑูร ก็เขียนเป็น บันทูล ทุกแห่ง

ในเรื่องคำว่า เกณฑ์ นี้ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร เคยสันนิษฐานว่า ในความที่หมายถึงการใช้กำลังบังคับ ทรงเห็นว่ามาจาก เกน ในภาษาเขมร ส่วนที่หมายความอย่างในคำว่า กฎเกณฑ์ ทรงเข้าใจว่า เนื่องมาจากคำว่า เกนทร ในภาษาสํสกฤต ซึ่งแปลว่า จุดภายในวง คำนี้เข้ามาในภาษาไทยโดยทางโหราศาสตร์

ตามที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ทรงสันนิษฐานมานี้ ดูได้เหตุผลเข้ากับที่หนังสือเก่าเขียนว่า เกน ได้ดี เพราะข้าพระพุทธเจ้าได้เคยค้นคำว่า เกน และ ทับ ในภาษาไทยพวกอื่น ก็ไม่ปรากฏว่า สองคำนี้ ที่มีความหมายว่า เกณฑ์ และ ทัพ นอกจาก ทับ ก็แปลว่า กระท่อมที่พัก เท่านั้น คำเขมรและคำไทยมีการยืมกันสับสนมากจนข้าพระพุทธเจ้าไม่ตกลงใจในบางคำว่า ไทยยืมจากเขมร หรือเขมรยืมไปจากไทย แต่ในคำ เกนทับ สองคำนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในภาษาไทยพวกอื่น ก็น่าจะเป็นภาษาเขมร แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่มีโอกาศสอบถามทางภาษามอญ เพื่อยืนยันคำ เกนทับ ว่ามาจากภาษาเขมร

เกณฑ์ ในความหมายที่ว่า กฎเกณฑ์ หรือเอาอย่างนั้นอย่างนี้เป็นเกณฑ์ คงถูกต้องอย่างที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงสันนิษฐาน ว่ามาจาก เกนทร ซึ่งเห็นจะเป็นคำเดียวกันกับคำว่า centre ในภาษาอังกฤษ บางทีรูป เกน ในคำต้นไม่สวย เพราะดูสกดดาด ๆ ไป ผู้เขียนในภายหลังจึงเอาเข้ารูปเดียวกับคำว่า เกณฑ์ เป็นคำเดียวกัน

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ คำต่อไปนี้ด้วย

ทระเกาวพาห พระเสมาธิปัติ ทราบเกล้า ฯ แต่ว่า เป็นเครื่องสูงเพียงเท่านี้เมื่อคราวชำระปทานุกรม ถึงคำว่า กรรภิรมย์ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามไปทางพระยาเทวาธิราช พระยาเทวาธิราชตอบมาว่า กรรภิรมย์ บางทีเขียนว่า กรรภิรม แปลว่า ฉัตรขาว มี ๔ องค์ เป็นฉัตรผ้าขาว ๗ ชั้น สำหรับปักพระคชาธาร ซึ่งพราหมณ์ถวายแทนประชาชน ในงานพระบรมราชาภิเศก อีก ๓ องค์เป็นฉัตรผ้าขาวเหมือนกัน แต่มีอักขระและเป็นฉัตร ๕ ชั้น คือ (ก) พระเสมาธิปัติ เห็นจะสำหรับทัพหลวง (ข) พระฉัตรไชย เห็นจะสำหรับวังหน้า (ค) พระเกาวพาห เห็นจะสำหรับวังหลัง

ตามคำอธิบายนี้ คงได้ความว่า เป็นเครื่องหมายกองทัพเพื่อให้ทราบว่าเป็นทัพผู้ใด แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ถึงเวลาพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราชเสด็จออกทัพ ก็ไม่ปรากฏว่ามีกล่าวไว้ ดูเหมือนจะปรากฏก็แต่ในรายการริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราใหญ่เท่านั้น ในพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เรื่อง ลิลิตราชาภิเษก ทรงกล่าวไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า

เชิญฉัตรชัยเทีดทั้ง เสมา ธิปัติเอย
เกาวพ่าห์ศักดิ์สิทธิมหา โชคไท้
โกศัยเศวตถมอา คมกนก ยันตรเอย
ขลังชงัดยุธะฉัตรใช้ เชีดชั้นบัญจดล

ตามความในโคลงบทนี้ พระเกาวพาหและพระเสมาธิปัติมีห้าชั้นและทำด้วยแพรขาวลงเลขยันตรทอง ใช้เป็นฉัตรในสงคราม

มีท่านผู้หนึ่งสงสัยว่า กรรภิรมย์ จะเพี้ยนไปจากคำว่า อภิรุม เพราะมีกองรักษาเครื่องสูงอยู่ในทำเนียบข้าราชการ และยังมีเครื่องสูง เช่น พระอภิรุมชุมสาย อยู่

เกจ ในปทานุกรมคราวที่แล้วมา ตกลงแปลว่า แก้วประดับ แต่ข้อความที่ข้าพระพุทธเจ้าพบในหนังสือเรื่องพระเมรุ มีความอยู่หลายแห่งว่า ไม่ยอเกจ เลี้ยวตามเกจ ผูกเสาเกจประตู เอาเหลี่ยมเกจ มุขประตู กระจังเกจ ซึ่งถ้าเป็นแก้วประดับ ก็คงอยู่ในที่ใดที่หนึ่งโดยฉะเพาะ

ขนนกการเวก นกการเวกตามหนังสือเก่า ก็ว่าเป็นนกในป่าหิมพานไม่มีใครเห็นตัว เพียงแต่กล่าวว่าร้องเสียงหวานเพราะ ที่จะได้ขนมา กล่าวกันว่าต้องทำพิธีโดยทำร่างร้านไว้บนยอดไม้ เอาขันใส่น้ำไปวางไว้ นกการเวกจะมาอาบน้ำในขัน แล้วสลัดขนล่วงไว้ให้ ขนนกการเวกนี้ว่าวิเศษอาจกลายเป็นทองได้ ข้าพระพุทธเจ้าให้เจ้าหน้าที่ค้นหารูปและคำอธิบายในหนังสือเก่าถึงเรื่องนกการเวก คงได้ความดั่งนี้

(๑) ใน คัมภีร์ปัญจสูทนี (อรรถกถาแก้พระบาลีมัชฌิมนิกาย) ภาค ๓ หน้า ๓๕๒ ว่า (ก) กินมะม่วงสุก ชะนิดที่มีรสหวาน เอาจะงอยปากเจาะจิบน้ำรสที่ไหลออก (ข) ถ้าอยู่ลำพังตัวเดียวไม่ร้อง ต่อได้เห็นพวกพ้อง จึงจะส่งเสียงอันไพเราะ

(๒) สมุดภาพสัตว์หิมพานต์ (ที่หอวชิรญาณ) มีสองเล่ม เรียกว่า นกการเวก ทั้งสองเล่ม รูปก็เหมือนกันทั้งสองแห่ง คือ

ก. มีหัว มือ และตีน เหมือนครุฑ

ข. ปีกอยู่ที่สองข้างตะโพก

ค. ขนหางคล้ายใบมะขาม ยาวอย่างขนนกยูง

(๓) สมุด ภาพรอยพระพุทธบาท (หอวชิรญาณ) ฉะบับวังหน้าในรัชกาลที่ ๓ เขียนรูปมีลักษณะดังนี้

ก. คอยาว และหัวเหมือนนกกะทุง

ข. ขนหางเป็นพวงเหมือนไก่

ค. ขายาวเหมือนนกกะเรียน

ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่า ขนนกการเวกที่มีปรากฏชื่ออยู่ในหนังสือเก่า เช่นในกฎเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี มีคำว่าขนนกการเวก รวมอยู่ในเครื่องราชูปโภคที่พระราชทานออกไป คือ พระพระมาลาทองคำอย่างฝรั่งเหลือง พระเกี้ยวทองคำ พระยอดทองคำ พระยิกาทองคำหนัก ๒ ตำลึง มีขนนกการเวกองค์ ๑ ดั่งนี้ คงเป็นขนนกการเวกที่มีตัวนกจริง บางทีจะเป็นนกที่ฝรั่งเรียกว่า paradise bird ซึ่งแปลกันโดยอนุโลมว่า นกการเวก

กาเยน ข้าพระพุทธเจ้าพบในหนังสือวชิรญานแห่งหนึ่งว่าพระแก้วกาเยน และพบในลิขิตพระพรหมมุนี ถึงเสนาบดีพม่าว่า ประคำกาเยนยางไม้ใหญ่ ขอประทานทราบเกล้าฯ คำ กาเยน นี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ