๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๐

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ได้รับแล้ว

ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบในหลักอักษร อันย่อมใช้ไปตามลักษณฐาน เช่นตัว ง ใช้ไปในความงอ แม่กบแม่กม ใช้ไปในความอุบอิบอมออม ซึ่งฉันไม่เคยคิดไปถึง ดีมาก

ส่วนที่ท่านเอาคำ ต๊ก ของจีนมาปรับกับคำ ตกทุกข์ นั้น ฉันเห็นขัดข้อง เพราะคำ ตก เปนคำไทย หมายความว่า ร่วง หล่น หลุด พลัด คำทุกข์ เปนคำบาลี จะเอาปรับเข้ากับคำ ต๊ก หาได้ไม่ ถ้าจะเอาคำ ต๊ก ปรับกับคำ ถูก นั้น ปรับได้ไม่ขัดข้อง

ต่อไปนี้จะบอกถึงความรู้สึกที่เห็นแปลก ท่านพูดถึงคำอุทาน ทำให้ฉันนึกขึ้นมาได้ กรมหมื่นวรวัฒนสุภากรเคยตรัสทักว่า คำอุทานอันไม่เปนภาษาอะไรนั้น แต่ลางคำก็มีความหมาย เช่น ออ อ้อ แสดงว่ารู้ ว่าเข้าใจ เอ เอ๊ะ แสดงว่าสงสัย เออ แสดงว่าถูก อ้าว แสดงว่าผิด ถ้าท่านยังไม่เคยคิดจะได้คิดเล่น ชอบกลดี

อนึ่ง หนังสือไทยเรานี้ เอาหนังสือสํสกฤตมาเปนโครง แต่เติมสระพยัญชนเข้าให้ใช้เขียนภาษาไทยได้ แต่ก่อนฉันนึกอย่างหยาบ ๆ ว่าเติมพยัญชน เพื่อให้เปนอักษรสูงต่ำ แต่เมื่อตรวจดูเห็นหาใช่ไม่ ถ้าเช่นนั้นจะมีตัวที่ต้องเอา ห นำอยู่ทำไม ตัวเดิมมีเพียง ๒ ตัว คือ ข หยัก ค หยัก ซ ฝ ฟ ฮ

ข หยัก ค หยัก เติมทำไม คิดไม่เห็นเหตุ ตัวไม่หยักก็มีอยู่แล้ว ใช้ก็ปนไปด้วยกัน จึ่งมานึกว่าที่จะเกิดขึ้นแต่กระบวนเขียน ซึ่งแต่ก่อนเขียนหนังสือด้วยปากกาไม้ มีเส้นใหญ่เส้นเล็ก และปากกานั้นเขียนเวียนไปไม่ได้ ต้องเขียนต่อ ต่อไม่สนิทหัวก็เปนช่อง ดูเหมือนหนึ่งหยัก ทำให้เด็กหลงนึกว่าเปนคนละตัว อาจารย์จึ่งเอารวมเข้าไว้ทั้งหยักและไม่หยัก จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ

ซ เห็นไม่ใช่ทำขึ้นให้เสียงเข้าคู่เปนสูงต่ำกับ ส ทำขึ้นเพื่อใช้แทนที่เคยเขียน ชร เช่นในหนังสือเขมร ซาย ก็เขียน ชราย ในคำไทยก็มีที่ยังเห็นปรากฏอยู่ เช่น ซุด ชำรุด แซก ชำแรก คนเขียนโคลงเขียน ไซ้ เปน ไซร้ ก็มี นั่นแสดงว่าเคยเขียน ไชร้ มาก่อน

ฟ แก้ต่อหางตัว พ เพื่อเขียนคำไทย

ฝ แก้ตาม ฟ เพื่อให้เปนคู่สูงต่ำแน่ เติมหนังสือเราไม่มีหมายเสียงต่ำสูง อย่างเช่นหนังสือไทยใหญ่เปนพยานอยู่ คงจะทำตัว ฝ ขึ้นทีหลังเมื่อคิดกำหนดเสียงสูงต่ำ

ฮ ไม่ได้ทำขึ้นเปนคู่สูงต่ำกับ ห ทำขึ้นสำหรับเขียนตัว อ จากคนพูดเพี้ยน เช่นเรียก พระอัฐิ ว่าพระหัฐิ หรือ เอย เปน เฮย เพื่อให้ปรากฏว่าเปนคำเคลื่อนมาจากตัว อ จึ่งขีดไส้ตัว อ เข้า (หนังสือเก่าเขียนหางตวัดลงมาใต้หัวเช่นนี้ <img> มีอยู่ให้เห็น)

อันนี้เขียนมาสำหรับให้ท่านคิดเล่น

เรื่องร้องรำ เมื่อจะเขียนตอบคำถามของท่านก็บังเกิดความเห็นขึ้นอย่างหนึ่ง ท่านไม่มีความรู้ในทางร้องรำ แต่ถูกเกณฑ์ให้แต่งพูดถึงการร้องรำ ท่านจึ่งมาถามฉัน ด้วยท่านเชื่อว่าฉันรู้ดี ฉันก็ไม่มีความรังเกียจที่จะบอกท่านเท่าที่รู้ แต่ธรรมดาความรู้ความเห็นของมนุษย์ย่อมมีต่าง ๆ กัน หากว่าฉันบอกท่านแล้วท่านเก็บเอาไปแต่งพูด คำพูดนั้นไปขัดกันเข้ากับที่กรมศิลปากรจัดทำอยู่ ท่านจะไม่ตกเปนปฏิปักษ์ของกรมศิลปากรไปหรือ จึ่งเห็นว่าท่านควรจะฟังแต่ทางกรมศิลปากร พูดเคล้าเข้าหาทางที่กรมศิลปากรจัดทำอยู่ อย่าให้แตกทางไปได้ นั่นแหละจะเปนท่านได้ทำหน้าที่เต็มตามผู้ใหญ่ต้องการ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ