๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๘๐

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๑๔ ตอบหนังสือฉัน แล้วมีปัญหาอะไรอีกต่อไปนั้น ได้รับแล้ว

ขอบใจท่านที่บอกถึงช้างศึกรูปเขมรฉลัก ฉันก็ได้เห็นเหมือนกัน แต่นึกไปไม่ถึง สัปคับนั้นเตี้ยมาก ดูเหมือนพื้นสัปคับจะอยู่ไล่เรี่ยกับสันหลังช้าง ขาสัปคับเปนแต่เครื่องยันสีข้างช้างอยู่เท่านั้น ทีคล้ายกับวองสานของลาว รูปอย่างนี้ <img> เขาสานด้วยหวายเปนสองซีก มีรูที่ปลายเอาเชือกมัดติดกัน ผูกบนหลังช้าง ในนั้นวางเบาะที่นั่ง ไม่ต้องมีพื้น ถ้าสัปคับเตี้ยอย่างนี้ก็ผูกได้ ไม่หนักและไม่บังตาคนท้าย สัปคับของเราพื้นรองหย่องขึ้นไปอยู่สูงโงนเงน ถูกชนทีเดียว ทั้งสัปคับและฉัตรและกลางช้างจะต้องม้วนต้วนลงมาทันที

ช้างศึกจะต้องมีคนประจำหลังช้างอย่างน้อย ๒ คน อย่างมาก ๓ คน ถ้า ๒ คน ก็บังคับช้างคนหนึ่ง รบคนหนึ่ง ถ้า ๓ คน ก็เปนผู้ช่วยรบอีกคนหนึ่ง ใครจะอยู่ที่ไหน เห็นจะตามถนัด ตามรูปฉลักเขมรนั้นเหมือนการรบด้วยรถ ผู้ทำคอเปนคนขับช้างเหมือนสารถี ผู้อยู่บนสัปคับเปนคนรบอย่างขุนรถ อย่างลังกาตามที่ท่านว่ากับไทยเหมือนกัน คนรบขี่คอช้าง คนบังคับช้างขี่ท้าย เจตนาคงมีว่า แม้คนคอจะต้องรบก็ยังมีช่องจะทำการบังคับช้างช่วยกันได้อยู่บ้าง ท่านไม่ต้องสงสัย สัญชาติขัตติยแล้ว จะต้องขี่ม้าขี่ช้างใช้อาวุธแปนทุกคน เปนวิชาประจำตัว คนกลางช้างนั้นแหละเปนคนช่วยรบ คือคอยช่วยแทงฟันซัดอาวุธแก่ข้าศึก ตามโอกาศที่ควรทำ ทั้งคอยส่งอาวุธให้แก่ขุนช้างตามท่าทางที่เข้าช่องควรใช้อาวุธอย่างไรด้วย กลางช้างไม่จำเปนต้องอยู่บนสัปคับ ขี่อยู่กับหลังเปล่าๆ ก็ได้ อาวุธต่าง ๆ อันจะพึงใช้ก็เสียบสอดไว้ที่ไหน ๆ แล้วแต่จะเหมาะ เช่นขี่ช้างน้ำมัน เขาก็มีขออาไหล่ผูกไปข้างช้าง ในริ้วกระบวนเพชรพวง ก็มีสั่งชาวแสง ให้เชิญพระแสงปืนพระแสงดาบไปสอดผูกไว้ตามข้างเบาะที่ประทับนั้นเอง เปนแน่ว่าช้างศึกจะต้องเตรียมอาวุธไปใช้ให้ครบครัน

หางนกยูงนั้น สำหรับใช้โบกเปนสัญญาสังทัพ ให้รุกให้ถอยทั้งกอง หรือว่าให้ซ้ายถอยขวารุก หรือซ้ายรุกขวาถอย ตามท่วงทีศึกซึ่งแม่ทัพจะสั่งให้ทำ อย่างเดียวกับแตรเดี่ยวของฝรั่งนั้นเอง

ท่านออกตัวในท้ายความซึ่งพูดด้วยช้าง ขอโทษว่าไม่รู้ในเรื่องช้าง ขอให้ท่านเข้าใจว่าฉันเกิดมาไม่ทันเรียนเหมือนกัน อาศัยแต่ได้สังเกตและคิดต่อเท่านั้น

ข่าย เห็นว่าควรจะอยู่ที่ชายผ้าเท่านั้น มาแต่เลาะชายผ้าเปนเส้นด้ายให้เปนระบายชายครุย ถ้ายาวเกินไปก็ถักเปนตาสี่เหลี่ยม ตาขนมเปียกปูน ตาหกเหลี่ยมไว้ชายเปนครุย เพื่อให้เห็นงาม ทีว่าสำหรับผ้านุ่งห่มปกคลุมอะไรควรทำเพียงเท่านั้น ตาข่ายหน้าช้างก็ติดอยู่กับพนาด คือ เปนระบายชายของผ้าปกกระพองนั้นเอง ที่ถักเปนตาข่ายทั้งผืน น่าจะควรเปนแต่แหอวนหรืออะไรพวกนั้น

คำว่า กรุยกราย น่าจะหมายถึงคาดกร่ายชายกรุย คำว่า กร่าย สมเปนผ้ามากกว่า แต่จะว่า กร่าย ข่าย กรุย ครุย กรวย เปนคำเดียวกัน ก็จะไปได้กระมัง แต่ควรตราไว้ก่อน

การเขียนตราที่เรือรบทะเล สืบไปจากเรือกระบวนซึ่งทำหัวเปนรูปสัตวนั่นก็คือตราทีเดียว ตราหมายเรือมาแต่ธงทางอินเดีย ขุนรถคนหนึ่งก็มีธงประจำตัวคันหนึ่ง พระมหากษัตริย์ของเราเวลาพยุหยาตราก็มีคนถือธงกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ นำหน้า ธงครุฑพ่าห์นั้นแหละเปนเครื่องหมายองค์พระราชา ธงกระบี่ธุชนึกว่าเปนธงพระมหาอุปราช เวลาไม่มีอุปราชก็เอามารวมในวังหลวง ครั้นมีอุปราชขึ้นก็ไม่ยอมคืนกลับไป ในรูปเขมรฉลักก็มีธงเช่นเดียวกัน ธงรูปครุฑเปนของพระราชา ส่วนแม่ทัพอื่น ๆ เปนรูปลิงเปนพื้น ดูก็สมกับของเรา พวกพระมหาเทพมหามนตรีอะไรเหล่านั้น ถือตราเปนรูปสุครีพหณุมานกันทั้งนั้น

พระอวด คำนี้ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เห็นคล้ายกับคำ บังอวด อันมีในหนังสือเก่า ๆ อาจกลายมาจากคำนั้นได้ เปน ผอวด ประอวด พระอวด เช่น บันทม ผทม ประทม ฉันคิดว่า บังอวด หรือ พระอวด นั้นเปนพะนักลูกกรง แต่ท่านอย่าเพิกถือเอาเปนแน่ เปนแต่ฟังไว้สังเกตดูต่อไป

สักลาด ท่านควรจะเข้าใจ ว่าคำนั้นเราหมายเพียงว่าเปนผ้าทอด้วยขนสัตว ไม่ได้รู้สึกไปถึงสีของมันด้วย หลังคาสี หมายความว่าหลังคาดาษด้วยผ้าสี แสดงว่าเปนของดีมีศักดิ์สูงกว่าหลังคาที่ปล่อยไว้เปนใบไม้ตามปกติ ผ้าสีที่ดาษหลังคาแต่ก่อนก็ดาษด้วยผ้าเมืองไทย ซึ่งย้อมด้วยเปลือกไม้ มีผ้าแดงยอเขียวตะพุ่นเปนต้น อันมีสีมอซอ ภายหลังมีผ้าสักหลาดสีสดใสเข้ามา เราเห็นสีงาม เอาขึ้นดาษหลังคา จึงเรียกว่าสีสักลาด หมายความว่าหลังคาดาษสีด้วยผ้าสักลาด จัดว่าเปนดีที่หนึ่ง ไม่หมายไปถึงว่าเปนสีอะไร

สำนักนิ สนุกนิ ฉันก็เคยพบมามากเหมือนกัน คิดแปลก็ไม่เห็นคนอื่นเขาก็คิดแปลกัน แต่คำแปลของเขา ฉันไม่เห็นชอบด้วย เลยติดอยู่จนทุกวันนี้

ความคิดที่จะเปลี่ยนหนังสือใช้ ก ข เล็ก ฉันทายว่าไม่ได้ เพราะเราใช้ภาษาบาลีสํสกฤตเปนภาษาของเราอยู่มาก ซ้ำภาษาบาลีเราก็บำรุงให้ร่ำเรียนกันอยู่หนักหนา ต้องเลิกภาษาบาลีสํสกฤตก่อน จึงจะเลิกวรรค ฏ ตามไปได้

ในหนังสือซึ่งฉันเขียนมาถึงท่านฉะบับก่อน สันนิษฐานคำ ทองตะกู ว่า เปนทองเทียมเห็นจะผิด ทองน้ำตะกู หรือน้ำตะโก นั่นแหละเปนแน่ว่าทองเทียม แต่ทองตะกูอันไม่มีคำว่า น้ำ อยู่ในนั้น อาจเปนทองชะนิดใดอันเปนทองจริงก็ได้ อนึ่ง ที่ฉันบอกถึงทองน้ำตะโก ว่าเขาทายางแต้วนั้น ลางทีเขาก็เรียกว่าน้ำมันรงค์ แต่ฉันคิดว่าเปนคนละอย่าง น้ำมันรงค์ที่จะทำขึ้นใช้ในเมื่อหายางแต้วไม่ได้ คงใช้น้ำมันยางเอามาเคี่ยวให้ไส ใส่รงค์ลงไปให้สีเหลือง ทาบนตะกั่วก็พอดูได้ แต่เห็นจะเลวกว่ายางแต้ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ