๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๙

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

อนุสนธิหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าลงวันที่ ๒ เดือนนี้ กราบทูลไปด้วยเรื่องตีพิมพ์หนังสือพระราชนิพนธ์ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศเธอ พระองค์เจ้าอรพินท์เพญภาคนั้น บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้เจ้าหน้าที่ไปคัดเรื่อง พระราชวิจารณ์พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จากตันฉะบับที่เก็บรักษาไว้ยังกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้ว คงเป็นหนังสือ ๒๒ หน้าตัวพิมพ์ดีดเท่านั้น การพิมพ์จะสมควรพิมพ์ตัวเขื่อง เพื่อเข่นให้เล่มหนังสือหนาขึ้น หรือจะสมควรประการไร ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้โรงพิมพ์ไปติดต่อกับหม่อมเจ้าอุปลีสานโดยตรงแล้ว

อนึ่ง การพิมพ์หนังสือที่สำคัญ ควรจะมีสารบาญสำหรับค้น แต่ที่ไม่มีมาแต่ก่อน เป็นเพราะการพิมพ์กระชั้นมาก ไม่มีโอกาศจะจัดทำสารบาญสำหรับค้นได้ มาในคราวนี้ มีเวลาพอที่จะจัดทำสารบาญเช่นนั้นได้ทัน แต่ได้ทราบเกล้าฯ ว่างบประมาณค่าพิมพ์มีไว้เพียง ๒๕๐ บาท เท่านั้น ถ้าจะต้องเพิ่มการพิมพ์อีกสัก ๒ ยก ก็น่าจะเกินเงินงบประมาณไป ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกเสียดายมาก

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายสำเนา พระราชวิจารณ์พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา มาในซองนี้ด้วย แต่มีข้อความบางประการที่ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบารมีปกเกล้า ดั่งจะกราบทูลต่อไปนี้

(๑) หนังสือฉะบับนี้ จะสมควรเรียกว่า พระราชวิจารณ์ หรือ พระบรมราชาธิบาย ที่ปกต้นฉะบับสมุดไทยเขียนว่า พระราชพงศาวดารทรงคัดใหม่โดยย่อ

(๒) หน้า ๓ พระเจดีย์ที่ขุดขึ้นได้ในองค์พระปฐม และศีรษะรูปปั้นยักษ์ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าจะลงคำชี้แจงไว้ข้างใต้ว่าพระเจดีย์นั้น เดี๋ยวนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถาน ส่วนศีรษะยักษ์อยู่ที่ทางขึ้นองค์พระปฐมเจดีย์ด้านตะวันออก ดั่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นการสูงต่ำสมควรประการไร

(๓) หน้า ๕ ชื่อเมืองต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ข้าพระพุทธเจ้าได้พบใน ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เป็นสมุดไทยตัวเขียนแบบไทยย่อ มีสำนวนเก่ามาก จดเมืองสะอุเลา (ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่กล่าวไว้ในกฎมณเทียรบาล) ว่าเมืองท่าทอง คือ กาญจนดิฐเดี๋ยวนี้ ที่กราบทูลมาด้วย ก็เพียงแต่ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้พบ หาได้เกี่ยวข้องกับข้อความในพระราชนิพนธ์อย่างไรไม่

(๔) หน้า ๑๗ กล่าวว่า ในงานบรมราชาภิเศก พราหมณ์ต้องเป็นผู้อุ้มพระเจ้าแผ่นดินขึ้นบนพระภัทรบิฐ พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จขึ้นเองไม่ได้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าพึ่งพบเป็นครั้งแรก เข้าใจด้วยเกล้า ฯ ว่าการนับถือพราหมณ์ในชั้นหลัง เห็นจะเสื่อมทรามลง จึ่งไม่ปรากฏในตำราบรมราชาภิเศกถึงเรื่องนี้

(๕) หน้า ๑๗-๑๘ เรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้รับพระราชโองการนั้น ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ หน้า ๑๗ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มีการบรมราชาภิเศก แต่เห็นจะทำอย่างสังเขป บางทีจะบกพร่องไม่ถูกต้องตามตำรา

จึงมีคำผู้ใหญ่กล่าวสืบกันมาว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทำพิธีบรมราชาภิเศก ในหนังสือโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี นายสวนมหาดเล็กแต่ง หน้า ๙ ว่า

ใครอาจอาตมตั้ง ตัวผจญ ได้ฤา
พ่ายพระกุศลพล ทั่วท้าว
ปราบดาภิเศกบน ภัทรบิฐ บัวแฮ
สมบัติสมบูรณ์ด้าว แด่นฟ้ามาปาน

ถ้าพิจารณาตามโคลงบทนี้ ก็น่าจะเป็นดั่งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ ทั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะควรผ่านไปหรือจะสมควรอย่างไร ขอประทานทราบเกล้า ด้วยจะเป็นการสูงต่ำขึ้นได้

(๒) หน้า ๒๒ ตอนจบ เรื่องรูปพระโคและรูปสิงห์สัตว์นั้น ในคราวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเมืองพม่าครั้งที่แล้วมา ได้ประทานพระอธิบายและรูปถ่ายมายังหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ขอคัดสำเนาและถวายมาด้วย พระอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะพิมพ์ต่อท้ายพระราชนิพนธ์ด้วย จะเป็นการสมควรประการไร

ทั้งนี้ การจะควรสถานไร ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ