- คำนำ
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๓)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๓)
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น (๒)
- ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๓)
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๗๙
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระกรุณาเป็นล้นพ้น ที่ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ประทานพระอธิบายเพิ่มเติมในลักษณะหมวกโบราณของไทย และเรื่องช่าง ๑๐ หมู่ ที่ทรงอธิบายถึงหมวกทรงประพาสว่า มีรูปทางอินเดีย กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้สติระลึกถึงรูปทหารตาดมุโกล ซึ่งได้มาเป็นใหญ่ในอินเดีย ก่อนที่ตกไปแก่อังกฤษ ตามที่มีในรูปภาพ ก็สวมหมวกอย่างที่ทรงอธิบายมานี้ เจ้าหน้าที่ในหอสมุดได้นำลายพระหัตถ์ฉบับนี้มาให้ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อวานนี้เพราะเอาไปเก็บไว้และลืมเสีย ทั้งนี้พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านดูกฎมนเทียรบาลอีกครั้งหนึ่ง พบคำว่า นักเทศขันที ใช้แต่คำเดียวว่า นักเทษ ก็มี แยกกันก็มี เช่น ตอนกล่าวถึงขบวนเสด็จชลมารคว่า “ถ้าเสด็จในสระแก้ว หฤาไทยราชภักดีลง ถ้าเสด็จหนในมกอกน้ำออกมา ขุนสนมและกันยุบาดราชเสวก และมหาดเล็กนักเทษลง”
“งานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล...............๔ นาฬิกา เสด็จมังคลาภิเศกนักเทศ ตีกรับ” “การพระราชพิธีเบาะพก.........ราชกุมาร อรรคมเหษีขวาราชบุตรี ลูกเธอหลานเธอ แม่เจ้าพระสนม ออกเจ้ากำนัล ซ้าย นักเทศ ขวา ขันทีซ้าย“ “เดือน ๓ พิทธิธานยะเทาห.........ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราช และพระศรีอไภย ขุนราชาข่าน ขุนมโนบหลัด ทั้ง ๔ นักเทษและขันที หมื่นศรีเสาวรักษ หมื่นสรรเพช นายจ่านายกำนัลมหาดเล็กเตี้ยค่อม” ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาดูความตามที่กราบทูลมานี้ รู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่า นักเทศขันที ถ้าแยกกันเป็นขวาและซ้ายแล้ว ก็คงจะมีหน้าที่ผิดกัน บางทีจะเป็นคนจำพวกเดียว คือเป็นแขกด้วยกัน และต้องเป็นขันทีทั้งหมดด้วย มิฉะนั้นจะรับใช้อยู่ในที่ใกล้ชิดไม่ได้ และชื่อขุนนางอย่างขุนราชาข่าน ก็บอกอยู่ว่าเป็นแขก และคงจะมาจากอินเดียฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือจึงใช้คำว่า ข่าน (แต่เขียนเป็น ราชาคาร ในสมัยปัจจุบัน) ทั้งนี้จะผิดถูกอย่างไร ขอพระบารมีเปนที่พึ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้าฯ เรื่อง ระเบง ซึ่งคู่กับ กุลาตีไม้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยเห็นก็แต่ครั้งเดียว เมื่อในงานแห่สลากภัตต์ เนื่องในการช้างเผือก พระเศวตคชเดชน์ดิลก ข้าพระพุทธเจ้าจำได้เป็นเงาๆ ว่า พวกระเบงแต่งตัวคล้ายเทวดา เสื้อลายสีมัวๆ อย่างสีน้ำหมาก ถือคันธนูและลูก จะเป็นธนูชะนิดใด ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ เมื่อเดินกันไป ปากก็ร้องว่า โอละพ่อ จะไปไกรลาศ แล้วก็ยกคันธนูและใช้ลูกตีที่คันเป็นจังหวะ กับมีฆ้องราวตีไปด้วย ถึงตอนหนึ่งว่า โอละพ่อสลบทั้งปวง พวกเหล่านั้นก็ลงนอนบนถนนด้วยกันหมดแล้วก็ลุกขึ้น สังเกตดูในคำที่ร้อง เป็นทำนองเทวดาพากันไปไกรลาศ แล้วก็ไปสลบเพราะอะไรสักอย่างหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า ระเบงเห็นจะเป็นการเล่นออกหน้าออกตา จนพูดติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า ละเมงละคร มาในสมัยนี้ไม่สู้ได้มีระเบง จนปรากฏว่าผู้ที่เล่นระเบงก็ยังนึกอดขันในตัวเองไม่ได้ ส่วนกุลาตีไม้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นแต่ภาพถ่ายไม่เคยเห็นด้วยกับตา นอกนี้ยังมี แทงวิสัย กะอั้วแทงควาย ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยพบเห็นเลย การเล่นเหล่านี้เมื่อพบในหนังสือก็เป็นแต่ผ่านไป ไม่ได้เอาใจใส่ ถือเสียว่า เป็นการเล่นของหลวงเท่านั้น ไม่สนุกสนานอะไร ต่อเมื่อจะต้องอธิบายถึงเรื่องระเบงขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงมารู้สึกว่าเป็นความลำบากไม่น้อย และถ้าไม่ได้รวบรวมเป็นความรู้ไว้ ก็จะเป็นที่น่าเสียดายมาก เมื่อมาระลึกถึงพระกรุณาทีประทานโอกาศไว้ในลายพระหัตถ์ ข้าพระพุทธเจ้าจึงกล้ากราบทูลขอรับประทานพระอธิบายเรื่องการเล่นเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ การจะควรสถานใด ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
โอละพ่อถวายบังคม
โอละพ่อเทวันมาบอก
โอละพ่อพร้อมกันทั้งปวง
โอละพ่อยกออกจากเมือง
โอละพ่อผลัดซ้ายเปลี่ยนขวา
โอละพ่อผลัดขวามาซ้าย
โอละพ่อกลับหน้าเป็นหลัง
โอละพ่อกลับหลังเป็นหน้า
โอละพ่อบัวตูมทั้งปวง
โอละพ่อบัวบานทั้งปวง
โอละพ่อธนูชูชัน
โอละพ่อจะไปไกรลาศ
รักแก้วคะนิเอยจะไปไกรลาศ
รักพี่คะนิเอยจะไปไกรลาศ
รักน้องคะนิเอยจะไปชมนก
รักหน้าคะนิเอยจะไปชมไม้
โอละพ่อขวางหน้าอยู่ไย
โอละพ่อหลีกไปให้พ้น
โอละพ่อตั้งกะบะทั้งปวง
โอละพ่อโก่งศรทั้งปวง
โอละพ่อสลบทั้งปวง
โอละพ่อฟื้นขึ้นบัดใจ
โอละพ่อยกกลับเข้าเมือง
โอละพ่อเราก็มาถึงเมือง