๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๘ เดือนนี้ รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ในพระเมตตาปรานี เป็นพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าดีใจที่ได้ทราบเกล้าฯ ว่า ได้ทรงคิดถึงคำที่เสียงคล้ายกัน และมีความหมายใกล้กันมาก่อน แต่ก่อนนี้ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เฉลียวใจถึงคำเหล่านี้ จนได้มาเห็นข้อกำหนดในตำราว่าด้วยภาษาของฝรั่งข้อหนึ่งที่วางไว้ว่า คำที่มีรูปเสียงคล้ายคลึงกัน ย่อมมีรูปความหมายคล้ายคลึงกัน ข้าพระพุทธเจ้านำข้อกำหนดนี้มาคิดดูในคำภาษาไทย ก็พบคำในจำพวกนี้มีอยู่มาก เช่นในคำขึ้นต้นด้วยตัว ง ก็มักเป็นคำที่มีความหมายไปในลักษณะที่งอแทบทั้งหมด ตลอดจน คำว่า ง่วง งง งูน ก็อยู่ในลักษณะที่ไม่ตรงทั้งนั้น ในคำที่ใช้สระเอ ก็เป็นเช่นเดียวกัน มักจะอยู่ในลักษณะที่ เก เข รวนเร เห เซ อะไรเหล่านี้ทั้งสิ้น ถ้าเป็นคำที่เป็น แม่กบ แม่กม โดยที่เวลาออกเสียงต้องหุบปากเอาไว้ก่อน จึงเกิดมีคำ เช่น อม ออม ห้อม หุ้ม อุบอิบ รวบ ซึ่งล้วนมีความหมายรวมเอาไว้ทั้งนั้น คำบางพวกอาศัยจากเลียนเสียงมาจากของจริง เช่นเสียงที่ยืดยาว ก็มักเป็น แม่ กง กน กม เช่น ก้อง กังวาน หึ่ง เหง่ง หง่าง (กระ)หึ่ม และคำที่เอามาใช้เป็นคำพูดโดยตรง เช่น กระดิ่ง ระฆัง โด่ง ดัง กระทั่ง ก็คงแปลงมาจากเสียงเดิมอย่าง หง่าง ตึงตัง ก็ทราบเกล้า ฯ ไม่ได้ คำในจำพวกเลียนเสียงธรรมชาติเหล่านี้ มักมีมาก จำพวกชื่อนกและสัตว์บางชะนิด และในจำพวกชื่อเครื่องดนตรี คำอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งน่าจะเกิดจากคำอุทานเนื่องมาแต่การเสวยอารมย์ เช่น โหย ไห้ หา หัวเราะ เพราะเสียงใกล้กับคำว่า โอย ไอ อา มาก ถึงคำว่า หัวเราะ ถ้าจะฟังเสียงจากคนหัวเราะก็มีเสียงต่าง ๆ กัน จึงได้มีคำ เช่น ขิก ๆ ยิ้มขัว เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คำพูดคงจะมีอยู่บางส่วนที่มีกำเนิดมาจากลักษณะดังได้กราบทูลมานี้ หากใช้กันมานาน เสี่ยงก็กลายไป จนบางคำก็จับเค้าไม่ไค้

ที่รับสั่งว่าไวยากรณ์เป็นของทำขึ้นแต่ภาษา ข้อนี้เป็นความจริงที่สุด แต่บางท่านยังเข้าใจผิด ที่ไปพยายามบังคับให้ใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักในตำราไวยากรณ์ภาษาไทย ชาวชนบทหรือชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นและเรียนตำราไวยากรณ์เลย ก็พูดภาษาไทยมาแล้วแต่ไหนแต่ไร และใช้ได้ถูกต้องดีกว่าผู้ที่คอยระวังไม่ให้ผิดหลักไวยากรณ์ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่าฝรั่งว่าภาษาจีนไม่มีไวยากรณ์นั้น ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลไปยังไม่หมดจด ที่ว่าภาษาจีนไม่มีไวยากรณ์ คือ ไม่มีหมวดที่ว่าด้วยชะนิดที่แบ่งออกเป็น parts of speech และกฎเกณฑ์ของไวยากรณ์หมวดนี้ คงมีแต่ไวยากรณ์ที่ว่าด้วย syntax เท่านั้น เมื่อคราวสอบไล่ภาษาไทยเพื่อชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศ กรรมการได้ถามว่า อัครราชทูตอิตาเลียนได้รับคำส่งให้กลับ กับประโยคที่ว่า อัครราชทูตอิตาเลียนถูกเรียกกลับ ผิดกันหรือไม่ ผู้เข้าสอบชิงทุน ๑๐ คน ที่ตอบว่าเหมือนกัน ผิดกันที่แต่ประโยคต้นฟังเพราะกว่าประโยคหลังมีถึง ๙ คน ทั้งนี้ก็น่าจะเนื่องมาจากตำราไวยากรณ์ที่ว่าด้วย passive voice ของฝรั่ง และที่หนังสือพิมพ์นำเอาไปใช้ เป็นปัจจัยให้ใช้ตามๆกันไป ถ้าให้ชาวชนบทที่ไม่เคยศึกษาไวยากรณ์ หรือได้เคยเห็นและได้ยินเขาใช้กัน ก็คงจะไม่ใช้ประโยคที่มีคำว่า ถูก ในเมื่อไม่หมายความถึงเรื่องเดือดร้อนไม่พอใจ เป็นการประหลาดมาก ที่ข้าพระพุทธเจ้าพบข้อความในตำราฝรั่งเล่มหนึ่ง อธิบายไว้ว่า ในภาษาญวน ถ้าเปนเรื่องเดือดร้อนไม่พอใจ ก็ใช้คำที่แปลว่า ถูก เข้าประกอบในประโยค ในภาษาจีนมีคำว่า ต๊ก แปลว่า ได้รับความเดือดร้อน หรือในความหมายที่ได้ทุกข์ เสียงและความช่างใกล้กับคำว่า ตกทุกข์ ในภาษาไทยมาก ข้าพระพุทธเจ้ายังสอบสวนไม่ได้ความว่า ต๊กคำนี้จะใช้ประกอบเข้าประโยคชะนิดคำว่า ถูกอย่างในภาษาญวนหรือไม่ จึงยังไม่ตกลงใจว่า ต๊ก กับ ตกทุกข์ และ ถูก จะเป็นคำเดียวกัน ถ้าจะถือหลักที่ว่ารูปเสียงคล้ายคลึงกัน ความหมายก็คล้ายคลึงกัน คำว่า ตก ถูก และ ทุกข์ ก็น่าจะมีกำเนิดมาจากคำเดียวกัน ข้อขัดข้องที่มีอยู่ก็คำว่า ทุกข์ เป็นภาษาบาลี เป็นคนละตระกูลภาษากับไทย

ในเรื่องการร้องรำ ที่ทรงพระเมตตาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามได้ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯหาที่สุดมิได้ ก่อนหน้าที่ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มีหนังสือฉะบับก่อนกราบทูลไป ได้มีผู้รู้เถียงกันถึง เพลงช้าผษม และเพลงช้าหวาน แต่มีผู้หนึ่งมีความเห็นว่า เพลงทั้งสองนี้ น่าจะเป็นพระนิพนธ์ของใต้ฝ่าพระบาท เพราะวิธีร้องประสานเสียงตามแบบนี้ไม่เคยมีมาแต่โบราณ บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้า ฯ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เป็นเพลงที่ใต้ฝ่าพระบาททรงปรุงขึ้นเอง ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า

(๑) ช้าผษม เปนเพลงมีลูกคู่รับคนละเสียง คือใช้ร้องสองเสียงประสานต่อกัน เมื่อต้นเสียงร้องไปถึงระยะที่ลูกคู่รับ ลูกคู่ก็รับเปนทำนองประสานเสียง เมื่อจบจากร้อง ก็มารวมร้องผษมกันเป็นเสียงเดียว ต้นบทก็ขึ้นร้องไปใหม่ เพลงนี้ไม่มีปี่พาทย์รับ มีลักษณะคล้ายเพลงช้าปี่ใน และขอประทานทราบเกล้าฯ ว่า ตามที่กราบทูลมานี้ ผิดคำอธิบายประการไร ต้นเหตุที่ทรงปรุงเพลงนี้ขึ้น ถ้าจะนำมาใช้ในบทที่เคยใช้ร้องช้าปี่ใน จะได้หรือไม่

(๒) ช้าหวน มีทำนองร้องคล้ายคลึงกับเพลงช้าใน ผิดกันที่ลูกคู่รับ ในเนื้อร้องทีเดียว มีปี่พาทย์รับ และใช้กับบทรำพึงถึงสังขาร ขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่า ช้าหวนมีลักษณะเป็นอย่างไร ตลอดจนการร้องรับผิดกันกับ ช้านอก ช้าใน อย่างไร ใช้ประกอบแก่บทละครชะนิดไร

(๓) ขอประทานทราบเกล้าฯ ว่า เพลงช้าปี่ทำไมจึงใช้ว่า นั่นแหละ ถ้าจะเปลี่ยนใช้ว่า น้องเอย เจ้าเอย บ้าง จะผิดแบบแผนที่มีกำหนดไว้อย่างไรบ้าง

(๔) เพลงชมตลาด ใช้แก่บทที่ต้องการจะอวดเครื่องแต่งตัว ส่วนเพลงฉุยฉาย ต้องการจะอวดท่าทาง ความสำคัญจึงอยู่รำงาม ขอประทานทราบเกล้าฯว่า ตามที่กราบทูลมานี้ ผิดหรือถูกเพืองไร และต้นเหตุของเพลงฉุยฉาย และชมตลาด มีมาอย่างไร

(๕) ลักษณะของปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ใช้เครื่องผษม ที่มีสำเนียงอ่อนนุ่มนวนน่าฟัง เครื่องใช้สำหรับปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือ ระนาดเอก ใช้บรรเลงด้วยไม้นวม ฆ้องวงใหญ่บรรเลงด้วยไม้นวม หุ้มไม้บรรเลงด้วยไม้นวม หุ้มเหล็กบรรเลงด้วยไม้นวม กลองทัดใช้ตะโพน ๑ คู่แทนกลองทัด เรียกว่า กลองตะโพน ตะโพน กลองแขก ขลุ่ย ซออู้ ฉิ่ง โหม่ง ฆ้องหุ่ย ตามรายชื่อตั้งแต่ระนาดเอกถึงฆ้องหุ่ย จะมีแปลกอยู่ก็คือ ฆ้องทุ่ย เพราะฆ้องหุ่ยเคยเห็นกันแต่ในเวลาบวชนาค ใช้ตีในเวลาคนโห่เสร็จ แล้วตีหุ่ย หรือในพิธีต่าง ๆ ที่เรียกว่าฆ้องชัย แต่ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นี้ มีฆ้องหุ่ยผษมอยู่ด้วย ๘ ฆ้อง. มีเสียงตั้งแต่ต่ำที่สุด ถึงสูงที่สุดได้เพิ่งคู่แปดพอดี ฆ้องหุ่ยมีราวแขวนโดยฉะเพาะ การบรรเลงไม่ได้บรรเลงเหมือนระนาดเอกหรือทุ้มไม้ ใช้บรรเลงสอดไปตามระยะเพลงถี่บ้างห่างบ้างตามสมควร ทั้งนี้ กระทำให้ผู้ฟังจะรู้สึกว่ามีความไพเราะมาก ขอประทานทราบเกล้าฯว่า ที่กราบทูลมานี้ จะผิดหรือถูก ประการไร

ทั้งนี้ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ แล้วแต่จะทรงเมตตาปรานี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัคติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ