๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๗๙

พระยาอนุมานราชธน

ในฉะบับนี้จะตอบหนังสือลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ซึ่งว่าด้วยเรื่อง ผ้าต่าง ๆ

ผ้าย่ำมะหวาด ท่านสันนิษฐานว่าจะเปน ยา + มะหวด นั้นเข้าทีดีหนักหนา คำว่า ยา ท่านไปอ้างถึงยาลงทองนั้นอ้อมไป ฝุ่น ชาด ครามและอะไรอื่นอีก ซึ่งเขาละลายใส่กะลา ใช้เขียนรูปภาพเขาไม้ลวดลายต่าง ๆ นั้น เขาเรียกว่า น้ำยา ไม่ได้เรียก สี เพราะฉะนั้น ยามะหวด ก็ตรงอยู่แล้ว แม้สนิทถึงปานนั้นท่านก็ไม่เอา เพราะเปนทางสันนิษฐาน เปนการสมควรแล้ว ตามที่แขกคนหนึ่งสันนิษฐานว่าจะมาแต่ชื่อเมือง อุมดาหวาด นั้นอยู่ข้างจะห่างไป อย่างไรก็ดี ตกลงเปนตราไว้ดูทีก่อนดีกว่า

ผ้ายั่นตานี สันนิษฐานว่า ย่านตานี นั้นก็ต้องตราไว้ทีก่อนเหมือนกัน

ผ้ามะไลก๊าต สอบได้ว่าเปนของมาแต่เมืองปุลิกัต เปนอันญัตติลงได้แน่ว่าถูกและเปนชื่อเมือง

ผ้าขาวม้า ฉันเคยสืบหาที่มามาคราวหนึ่งแล้ว ฟังเสียงที่เรียกกัน เปนผ้าขาวม้าก็มี ผ้าขอม้าก็มี ผ้าขะม้าก็มี ฟังเอาแน่ไม่ได้ มีคนที่เขาไปเมืองญี่ปุ่นกลับมาเล่า คำเล่าที่ฟังเข้าทีมีอยู่คำหนึ่ง เขาว่าญี่ปุ่นแต่งตัวอย่างเก่านั้นนุ่งผ้าเตี่ยว เรียกว่า หักขะม้า แล้วจึงใส่เสื้อยาว (กิโมโน) นอก ทำให้สงสัยว่าผ้าขาวม้าจะมาแต่ภาษาญี่ปุ่นเสียดอกกระมัง แต่ยืนยันลงไปไม่ได้ ได้แต่เพียงนำความมาบอกให้ท่านทราบเพื่อพิจารณา

เรื่องคนไทยจะนุ่งผ้าลายกันมาแต่เมื่อไรนั้น ฉันไม่ถนัดทางประวัติศาสตร์ ขอละไว้ให้นักปราชญ์คิดกันไป

เรื่องพะม่านุ่งผ้า ฉันไปเห็นมาเปนการตรงข้ามกับที่พระยาอินทรมนตรีว่า แต่ฉันเห็นในฐานทั่วไป ไม่ใช่ในพระราชสำนัก เวลาฉันไปก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เห็นพวกพะม่านุ่งผ้ากันอยู่สองอย่าง นุ่งลอยชายเหน็บหน้าอย่างหนึ่ง กับนุ่งโจงกระเบนหยักรั้งอีกอย่างหนึ่ง ผ้านุ่งพะม่านั้นยาวเท่ากับผ้านุ่งไทย แต่เขาเย็บหน้าติดกัน เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าโสร่งก็พอจะได้ คนที่นั้นเขาอธิบายให้ฟังว่า นุ่งลอยชายเหน็บหน้านั้นแสดงว่าเปนคนสุภาพ นุ่งโจงกระเบนหยักรั้งนั้นแสดงว่าเปนคนหัวไม้ คือว่าเตรียมตัวพร้อมที่จะเข้าตีรันฟันแทง ถ้าไปพบผู้มีวาสนาบรรดาศักดิเข้าจะต้องปลดชายกระเบนออกลอยชาย จึงจะนับว่าเปนการเคารพ ถ้าไม่ปลดนับว่าดูหมิ่น โดยอธิบายดังนี้ทำให้ฉันต้องออกปากว่าตรงกันข้ามกับไทยเราเจียวหนอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานรูปฉายกับเจ้าพะม่า ในคราวเสด็จไปเที่ยวเมืองพะม่าเมื่อเร็วๆ นี้มา เห็นรูปเจ้าพะม่านุ่งลอยชายเหน็บหน้าอยู่ ไม่ได้โจงกระเบน

ฉันได้ความรู้เติมมาใหม่ ตั้งใจมาบอกท่าน ด้วยได้ไปเห็นตุกตานุ่งผ้าอย่างต่าง ๆ พระยาอุทัยธรรม (อายุ ๘๑ ปี) ทำขึ้นไว้ให้ลูกดูเพื่อสอน รูปเหล่านั้นรูปหนึ่งเปนแบบนุ่งผ้าเรียกว่า เกี้ยวเกไล ใช้ผ้าลายสองผืน ผืนหนึ่งนุ่งโจงกระเบนสนับเพลา อีกผืนหนึ่งคาดพุง วิธีคาดนั้นด้านหลังชักแผ่ลงปรกถึงกัน ด้านหน้ารวบผูกเงื่อนคาด ไว้ชายข้างหนึ่งเสมอเงื่อน อีกชายหนึ่งปล่อยแผ่ยาวเลื้อยลงไป แล้วกลับทบชายขึ้นมาเหน็บไว้ที่พก ดูเห็นเหมือนเอากระเป๋าห้อยไว้ที่หน้าขาฉะนั้น เข้าไจว่าผืนที่นุ่งคงเรียกว่า ผ้านุ่ง ผืนที่คาดคงเรียกว่า ผ้าเกี้ยว คิดว่าแต่ก่อนนี้ผ่านุ่งกับผ้าเกี้ยวคงต่างชะนิดกัน ผ้านุ่งกว้าง ผ้าเกี้ยวแคบ ทีหลังไม่ค่อยได้แต่งกัน ไม่มีผ้าคาดก็ฉวยเอาผ้านุ่งมาคาด เลยทำความยุ่ง เรียกผ้านุ่งว่าผ้านุ่งลายบ้าง ผ้าเกี้ยวลายบ้าง โดยประการดังนี้

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ