๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ที่รับสั่งถึงคำพวกหนึ่ง คือคำที่ใช้กลับหน้าหลังกันได้ความต่างกัน เช่น ดีใจ ใจดี เสียใจ ใจเสีย นั้น ข้าพระพุทธเจ้ารับใส่เกล้า ฯ เป็นที่สังเกตไว้ว่าลักษณะเช่นนี้มีอยู่ดกดื่นในภาษาไทยและภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาใช้คำโดด ในคำอธิบายเรื่องภาษาจีนที่ฝรั่งแต่งไว้ ว่าภาษาจีนไม่มีไวยากรณ์อย่างชะนิดภาษามีวิภัติปัจจัย ความสำคัญของไวยากรณ์จีนจึงอยู่ที่การเรียงลำดับคำ คำพูดโดยมากแต่ละคำเป็นนาม คุณศัพท์ กิริยา กิริยาวิเศษณ์ หรือเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่จะเรียงคำนั้นเข้าเป็นประโยคไว้ในตำแหน่งที่ใด ผิดกับภาษามีวิภัติปัจจัย ซึ่งแต่ละคำมีกำหนดเป็นนาม เป็นคุณศัพท์ หรือเป็นกิริยาตายตัว กระดิกไม่ได้ ที่เขาพูดไว้เช่นนี้ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้สำนึกในภาษาไทยว่าเป็นทำนองเดียวกัน เช่นคำว่า ดีใจ เป็นกิริยา ใจดี เป็นคุณศัพท์ คิดดี เป็นวิเศษณ์ ดีชั่ว เป็นนาม ถ้าเป็นภาษามีวิภัติปัจจัยอย่างภาษาอังกฤษ เป็นนามก็ต้องเป็น goodness ถ้าเป็นคุณศัพท์ก็เป็น good ถ้าเป็นกิริยาวิเศษณ์ก็เป็น goodly ถึงกระนั้นคำในภาษาอังกฤษยังกลายมาเป็นชะนิดคำโดดก็มีเช่น go out, out go ส่วนในภาษาละติน และภาษาบาลี สันสกฤต คำที่เป็นนามก็ต้องเป็นนามอยู่ที่ ถ้าจะเป็นอื่นก็ต้องแปลงวิภัติให้ผิดกันไป ที่รับสั่งว่าตำราไวยากรณ์ภาษาไทย ใช้ตำราภาษาบาลีและภาษาอังกฤษเป็นโครง ภาษาไม่เหมือนกัน จะใช้ได้อย่างไร ข้อนี้เป็นที่จับใจข้าพระพุทธเจ้ามาก เพราะนักปราชญ์ทางภาษาไทยโดยมากมักคุ้นอยู่กับภาษาบาลี จึงมักมองไม่เห็นว่ารูปภาษาบาลีกับภาษาไทยผิดกันตรงข้าม การที่พยายามให้ภาษาทั้งสองใช้หลักอย่างเดียวกัน จึงทำให้เด็ก ๆ เรียนไวยากรณ์ภาษาไทยบ่นว่ายากและไม่สู้เข้าใจ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ