๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายสำเนาหนังสือฉะบับลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ มาในซองนี้

เมื่อเที่ยวเมล์ที่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสถึงคำในภาษาชวามลายูที่ตรงกับคำภาษาไทย มีอยู่คำหนึ่ง คือ ตวนกู แปลว่า เจ้ากู คำนี้ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าแปลกใจที่ปรากฏว่า สำนวนคำว่า เจ้ากู นี้ มีอยู่ในมอญ เขมร และไทย บางทีทางพะม่าก็จะเป็นเช่นเดียวกัน แสดงว่า ชาติเหล่านี้ติดต่อกันมานาน จนคำในภาษาปนกัน สืบได้โดยยากว่าเป็นคำของใครมาก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงคำว่า พลาย ซึ่งในภาษามอญแปลว่า ชายโสด แต่มาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าพบคำในภาษาทมิฬเรียกพระคเณศวรว่า Pillai yār แปลว่า Noble Child กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำว่า พลาย เพราะเสียงใกล้กับ pillai ที่แปลว่า เด็กในภาษาทมิฬมาก และในภาษาไทยก็มีคำว่า พลายฉงาย ซึ่งได้ทราบเกล้า ฯ ว่า เป็นจำพวกมหาดเล็กเด็กชา และที่ พลาย ในภาษาไทยแปลว่าช้างได้ด้วย ดูก็เข้าเรื่องกับพระคเณศได้อีกชั้นหนึ่ง คำ pillai และ พลาย จึงใกล้กันมากทั้งเสียงและความหมาย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ