- คำนำ
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๓)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๓)
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น (๒)
- ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๓)
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๙
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือของท่านลงวันที่ ๖ เรื่องผ้าต่าง ๆ และคำถามต่าง ๆ นั้น ได้รับแล้ว
ท่านค้นได้ว่าคำ ระกำ เปนคำแขกนั้นดีมาก ฉันก็คิดว่าเปนคำไทยอยู่จนท่านบอก ขอสารภาพว่าเขาเรียกกันเปนพื้นว่า ตาดระกำ เท่านั้นเปนเข้าใจกัน ที่เรียกว่า ตาดระกำไหม นั้นเปนเรียกอย่างถี่ถ้วน ก็ไม่ผิด เพราะคำระกำนั้นเปนเขียนเปนจิ้มทาด้วยสีก็ได้ ระกำไหมแสดงว่าระกำด้วยไหม
เกณฑ์ คำนี้ฉันเคยวุ่นมาทีหนึ่งแล้ว พอเขียนลงไปก็สดุด หยุดคิดว่าแปลว่ากระไร ตรวจปทานุกรมภาษาบาลีก็ไม่ได้เรื่อง ไม่รู้จะเขียนอย่างไร ก็ตำไปตามเคย แล้วจะตัดสินว่า เกน หรือ เกนทร อะไรเปนถูกก็แปลกอยู่หนักหนา หาหลักที่จะวางใจลงไปยังไม่ได้ ต้องระงับไว้ที
ทัพ ขอให้ท่านสังเกตคำอันหนึ่ง ซึ่งพูดกันอยู่ว่า ทัพพะสัมภาระ เกรงว่าคำ ทับ ซึ่งหมายว่าเรือน ก็จะสกดตัว พ ด้วย
กรรภิรมย์ ชื่อนี้เขียนต่าง ๆ กันหลายอย่าง ไม่ทราบว่าอย่างไหนจะถูก คิดว่าเปนด้วยเขียนตามเสียงที่เรียกกัน แล้วแต่ใครจะเห็นควรเขียนอย่างไร แม้แต่เสียงที่เรียกก็มีต่างกันเสียแล้ว ตามที่ฉันเคยได้ยินมา เรียกกันว่า พระกันภิรม ก็มี พระกันภิรุม ก็มี แต่เปนแน่ว่าสองคำประกอบกัน คือ อภิรม หรือ อภิรุม ซึ่งหมายความว่า ฉัตร นั้นคำหนึ่ง กัน อีกคำหนึ่ง จะหมายความว่า ฉัตรกันภัยกระมัง เพราะฉัตรนั้นลงยันตร์ เชิญนำหน้าพระราชยาน เข้าใจว่าเปนเครื่องรางอย่างหนึ่ง หรือลางทีจะเปน กรรม์ภิรม หมายความว่า ฉัตรเข้ากรรม ก็จะเปนได้ เพราะเคยเห็นเอาเข้ากรรมด้วยเสมอ มีคชกรรมเปนต้น นี่บอกตามที่เห็นอยู่ในสมัยนี้ ถ้าจะเอาไปปรับกับสมัยเก่า เช่นสมัยกฎมณเฑียรบาล คงลงกันไม่ได้ สมัยก่อนๆ กันภิรม จะมีลักษณเปนอย่างไรหาทราบไม่ กันภิรมสมัยนี้เปนฉัตร ๕ ชั้น หุ้มผ้าขาว (ได้ตรวจชิดแล้ว ไม่ใช่แพร) ลงยันตร์เส้นทอง มีสำรับเปน ๓ คัน มีชื่อต่างกันดั่งนี้
๑. เสมาธิปัต-ปัตร อะไรจะถูก และหมายความว่าอย่างไร ก็ไม่ทราบ ได้ค้นปทานุกรมสํสกฤตหาศัพท์อื่น แต่ผเอิญไปเห็นศัพท์ เสนาธิปัตย เข้า ซึ่งเขาแปลว่าที่บัญชาการทัพ ทำให้นึกว่าลางทีจะเปนศัพท์นี้เอง หากฟังกันเคลื่อนคลาด เรียกผิดไป สันนิษฐานว่าเดิมจะเปนร่มขาวกั้นจอมพล คือพระเจ้าแผ่นดิน ให้เปนที่สังเกตหมายได้กระมัง
๒. ฉัตรไชย ไม่มีปัญหา
๓. เกาวพ่าย หรือ เกาวพ่าห์ ก็เรียก ชื่อนี้เห็นได้ว่าเคลื่อนคลาด พ่าย เปนคำไม่ดี จะต้องเปนคำผิด เชื่อว่า พ่าห์ ถูก แต่คำ เกาว จะแปลว่ากระไร ย่ำใจที่พบคำ เสนาธิปัตย จึงพลิกปทานุกรมสํสกฤตค้นหาดูอีก เห็นคำ กัว <img> เปนใกล้ที่สุด เขาแปลให้ไว้ว่าสี Color ถ้าประกอบกับคำ พาห ว่านำไป อาจเปนธงหรือร่มก็อาจเปนได้ เปนอันได้ความพอใจเพียงเล็กน้อย
ทีนี้ปัญหาเกิดขึ้นในใจว่า เหตุใดพระกันภิรม จึงได้มี ๓ คัน เมื่อคิดว่า ถ้าเดิมเปนร่มเครื่องหมายแม่ทัพแล้ว อาจจะเปนสำหรับกั้นแม่ทัพหน้าคันหนึ่ง แม่ทัพหลวงคันหนึ่ง แม่ทัพหลังคันหนึ่ง ฉะนั้นก็ได้ ถึงยุคไม่มีวังหน้าวังหลัง แล้วเอามารวมใช้ในวังหลวงทั้ง ๓ คัน แล้วเลยติดเปนธรรมเนียมถอนไม่ออกเช่นเดียวกับธง กระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ เห็นรูปฉลักที่ระเบียงพระนครวัด ทัพหน้าใช้ธงรูปลิง ทัพหลวงใช้ธงรูปครุฑ ตราประทับชาดประจำตำแหน่งวังหน้าของเราแต่ก่อน ก็เปนรูปพระลักษณ์ทรงหณุมาน พาให้เชื่อว่ากระบี่ธุชเปนธงวังหน้า เมื่อยุคไม่มีวังหน้าก็ยกมารวมวังหลวง เลยติดอยู่จนทุกวันนี้เหมือนกัน แต่นี่เปนเดาทั้งนั้น อาจไม่เปนเช่นว่านี้เลยก็ได้ เปนแต่แจ้งความคิดให้ท่านทราบเท่านั้น
อนึ่ง คนเชิญพระกรรภิรมย์นั้น แต่งตัวสวมกางเกงขาวมีขลิบ เสื้อเสนากุฎพื้นขาว สวมหมวกทรงประพาสขาวมีขลิบ
เกจ ถ้ามาในทางจินตกวีหมายความว่าแก้วประดับ ถ้าไปในทางช่าง สิ่งใดที่ยกขึ้น <img> ดั่งแผนผังเช่นนี้ เรียกว่า เกจ ยกเกจ ย่อเกจ ลางทีก็เรียก กะเปาะ ยกกะเปาะ ย่อกะเปาะ ลางคนเรียกว่า เกลด ก็มี แปลได้เปนสองแยกอยู่ฉะนี้ ลางทีชื่อที่ช่างเรียกจะผิดเพี้ยนจากอะไรมาเสียแล้วก็ได้
นกการเวก ตามที่พูดกันนั้นพิสดารมาก เหตุด้วยเมืองเราไม่มีเหมือนราชสีห์ เราก็พูดกันพิสดารมาก เมื่อได้ตัวเปนเข้ามาบอกว่า นี่แหละราชสีห์ก็ไม่เชื่อ เพราะไม่เหมือนกับที่เดาเขียนไว้ ในตำราสัตวหิมพานซึ่งทำรูปนกการเวกหัวเปนนกตัวเปนครุฑนั้น เพื่อจะลากเอาไปเข้าคู่กับนกทัณฑิมา เพราะชื่อมันคล้องกันได้เหมาะ เปน ทัณฑิมา การวิก ได้วางแบบลงไปแล้วให้นกทัณฑิมามีหัวเปนนกตัวเปนครุฑ เพราะมันมีไม้ท้าว ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่มีมือจะถือไม้ท้าว เมื่อเปนดังนั้น ก็ต้องวางรูปนกการวิกให้เปนไปตามกัน ที่จริงได้ค้นหนังสือทางบาลีดูนกทัณฑมานวก เล่นพักหนึ่งแล้ว ได้ความว่าเปนนกปากยาวดุจไม้ท้าวเที่ยวจดจ้องอยู่บนใบบัว ตัวเล็กผิดคาดและไม่พิสดารอะไร จะเปนพวกนกปากซ่อมหรืออะไรเทือกนั้น หลักที่จะหานกการเวกตัวจริง ก็มีขนนกการเวกซึ่งใช้เสียบพระมาลาเปนหลักอยู่ เมื่อรัชชกาลที่ ๔ ได้ตัวจริงเปนนกยัดไส้มีขนติดบริบูรณเข้ามา คือ paradise bird นั้นเอง ทรงจัดเอาขึ้นเกาะคอนมีด้าม ให้เด็กถือนำยานมาศในงานสมเด็จเจ้าฟ้าโสกันต์ อีกนัยหนึ่งขนนกการเวกซึ่งใช้เสียบพระมาลานั้น เรียกว่า ขนนกวายุภักษ์ก็มี (ดูหมายท้ายหนังสือ พระราชวิจารณจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี) ที่ได้นามเช่นนั้นก็เพราะพูดกันว่า นกการเวกมันสิงสู่อยู่บนฟ้า กินลมเปนภักษาหาร
เสนาะเสียงสำเนียงนกการเวก
ออกจากเมฆแซ่ซ้องร้องถวาย
(รามเกียรติ์)
กาเยน เขาว่าเปนยางไม้ชะนิดหนึ่ง จะเกิดจะมีที่ไหน ไม่ทราบ เห็นทำเปนพระพุทธรูปและลูกประคำมาแต่เมืองพะม่าเนือง ๆ สีเหลืองแก่น้ำคล้ายแก้ว ถ้าจะเปรียบให้ใกล้ก็คล้ายซ่นกล้องเมชอมชะนิดที่ใส ซึ่งเราเรียกว่า อำพัน หรือลางทีจะเปนสิ่งเดียวกันด้วยซ้ำไป