- คำนำ
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๓)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๓)
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น (๒)
- ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๓)
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๘ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
เรื่องคำกร่อนที่ประทานคำ โต๊ะ กับ โตก และรับสั่งว่าเป็นของสิ่งเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยในกระแสรับสั่ง คำว่า แยก กับ แยะ ซีก กับ ซี่ หลอก กับ ล้อ ก็น่าจะเป็นคำในจำพวกเดียวกัน คำว่า เขย่ง ในไทยใหญ่เป็น หยิ่ง หรือ เหย่ง ส่วน ขะ ถ้าอาศัยแนวคำก่อน อาจเป็นขาเหย่ง แล้วกร่อนลงเป็น เขย่ง ในจำพวกคำกร่อน ข้าพระพุทธเจ้าพบคำในภาษาไทยย้อยที่เป็นแม่ กก กด และ กบ มักเป็นเสียงกร่อนทั้งหมด คำว่า ออกปาก ก็เป็น ออปา กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำว่า โอพาปราสัย ว่าเสียงและความหมายบังเอิญมาใกล้กันมาก น่าแปลกใจ แต่ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระศรีเมือง เป็น จึงโอพานด้วยสารสุนทร
ที่รับสั่งถึงคำว่า เถอด เพี้ยนเสียงมาเป็น เหอด ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายข้อสันนิษฐาน ซึ่งการจะผิดถูกอย่างไร ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง คือ พยัญชนะที่เป็นจำพวกเสียงหนัก ข ค ถ ท ผ พ มีเสียง ห และ ฮ กล้ำอยู่ด้วย เมื่อออกเสียง ถ ผู้พูดบางถิ่นออกเสียง ต ยังไม่ทันให้กล้ำกับเสียง ห ก็ออกเสียง ห ทันที เสียงนั้นก็เหลือแต่ ห ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอยู่ในภาษาไทยหลายถิ่น มีมากในภาษาไทยน้ำ และไทยย้อย ในประเทศจีนตอนใต้ และในพวกผู้ไทย ในภาษากวางตุ้ง คำที่ชาวอื่นเป็นเสียง ข ค ก็เป็นเสียง ห ฮ ส่วนมาก ในภาษาบาลีตามที่ทราบเกล้า ฯ มา ก็ว่ามีลักษณะเป็นทำนองเดียวกัน เช่นคำว่า สัทธา ถ้าเป็นกิริยาก็เป็น สทฺทหติ และว่าออกจากธาตุ ธา ธร ทห คำในจำพวกที่กลายเป็นเสียง ห ในภาษาไทยมีคำเป็นแนวอยู่ดกดื่น ก็ในคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง วรรค ก เพราะที่ตั้งของเสียงอยู่ใกล้กับ ห ส่วน วรรค ต และวรรค ป มีแนวอยู่น้อยคำ เพราะที่ตั้งของเสียงอยู่ห่างจากเสียง ห ออกมา
คำ ปากกบ และ เสดจ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยกับกระแสพระดำริ ข้าพระพุทธเจ้าได้ชี้แจงคำว่า เสดจ ที่ใช้ผิด ๆ กันอยู่ ให้แก่นักเรียนในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ที่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนอยู่ ทราบไว้ดีแล้ว
คำว่า ชาติ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า จะแก้ให้เข้าความเดีมที่ถูกจริง น่าจะลำบาก เพราะในปทานุกรมเอง ก็แปลคำว่า ชาติ ว่า ตระกูล พวก อยู่ด้วย ข้าพระพุทธเจ้าลองตรวจดูในเรื่อง อสูรและยักษ์มารผิดกันอย่างไร ถ้าจะเปลี่ยนคำว่า ชาติ เป็น ชาว และ พวก ก็ได้ดีไม่มีขัด ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ระวังในการใช้คำนี้ต่อไป
เรื่องคำซ้อน ในภาษาจีนก็ใช้เป็นทำนองเดียวกันกับภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าเคยถามชาวจีน ก็อธิบายได้แต่เพียงว่า เป็นคำใช้ไปด้วยกัน ถ้าแยกแปลทีละคำ บางคำก็แปลไม่ได้ความและไม่มีที่ใช้ตามลำพัง ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านคำอธิบายของฝรั่งว่า ลักษณะของภาษาที่ใช้คำโดด เช่น ภาษาจีน ภาษาไทย คำพูดแต่ละคำไม่มีลักษณะความหมายตายตัว เหมือนภาษามีวิภัติปัจจัย และในปทานุกรมภาษาอาหม ตอนคำอธิบายชี้แจงถึงคำว่า ฆ่าฟัน ว่าฆ่า ในอาหมว่า ข้าทาสก็ได้ ถ้าออกเสียงว่า ข้า คำเดียว ก็ทราบไม่ได้ว่าเป็นฆ่าฟันหรือข้าทาส เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้หมายความถึง ฆ่า ก็ซ้อนคำว่า ฟัน ลงไป เพื่อให้ความชัดขึ้น โดยเหตุที่ความสำคัญของความหมายอยู่ที่คำหน้า คำหลังเป็นแต่เครื่องช่วยคำหน้าให้มีความสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ความจำเป็นที่จะให้ทราบความหมายในคำหลังจึงไม่สู้สำคัญ คำหลังในบางคำจึงกลายเป็นสร้อยคำ แปลไม่ได้ ซึ่งในปทานุกรมอาหมเรียกว่า shadow words เพราะถ่ายหรือโอนความหมายในคำไปให้คำหน้าเสียหมด คงเหลือแต่ความหมายเป็นเงาๆ เท่านั้น
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า แม้ในระยะเวลาต่อมา ภาษาไทยสยามได้รับคำต่างประเทศมาใช้ในภาษา เช่น ภาษาบาลี ก็นำเอามาใช้ได้แต่คำโดด ๆ จะนำเอาหลักไวยากรณ์ของบาลีซึ่งมีการแปลงวิภัติปัจจัยมาใช้ไม่สู้สะดวก เพราะรูปภาษาผิดกัน จึงใช้วิธีซ้อนคำตามหลักของภาษาไทย เช่น ทรัพย์สิน รูปร่าง ถึงแม้ว่าคำที่นำมาใช้จะเขียนเป็นอย่างรูปของเดิม แต่เมื่อออกเสียงอ่าน บางคำก็อาจพ้องกับเสียงของคำอื่นที่มีความหมายต่างกัน และการซ้อนคำก็อาจคิดต่อไปถึงคำที่ไม่ใช่ภาษาไทยมาแต่เดิม แต่มีความหมายคล้ายคลึงกันทั้งสองคำ เช่น ทรัพย์สมบัติ
ในส่วนภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ การออกเสียงสูงต่ำในคำไม่สู้แน่นอน ดังที่เคยประทานพระอธิบายแก่ข้าพระพุทธเจ้า ซ้ำเสียงที่ฆรัสสก็ไม่สู้แน่นอนด้วย ความจำเป็นบังคับให้ต้องซ้อนคำ มิฉะนั้นก็ทราบไม่ได้ว่าเป็นคำไหน ยิ่งในภาษาจีนบางคำมีคำแปลในคำเดียวหลายอย่าง เรื่องคำซ้อนจึงเป็นของจำเป็นที่สุด แต่ข้อที่ข้าพระพุทธเจ้าค้นยังไม่พบ ก็ในเหตุที่ว่า คำซ้อนในคำที่กลายมาเป็นสร้อยคำ แปลไม่ได้ ทำไมในภาษาอีกถิ่นหนึ่งจึ่งยังคงใช้เป็นคำในภาษาโดยปกติอยู่
ข้าพระพุทธเจ้าได้รวบรวมคำซ้อนไว้ได้มากคำ บางคำเมื่อสอบค้นไปได้ผลอย่างแปลก เช่น
กงการ ซึ่งในภาษาจีน กง หรือ กัง แปลว่าการงาน อย่างคำว่า จับกัง ซึ่งแปลว่าคนงาน แปลตามศัพท์ว่า งานสิบอย่าง หรืองานเบ็ดเตล็ด ซ้ำคำว่า การ ในภาษาจีนก็มีคำว่า ก๋าน แปลว่า ธุระ การทำมาหากิน หน้าที่ และเพี้ยนเสียงเป็น งาน ก็ได้
ง่ายดาย ในภาษาจีนมี คำว่า หง่าย แปลว่า ตัดหญ้า เกี่ยวหญ้า
นุงถุง ในภาษาจีนมีคำว่า นอง นุง แปลว่า ถุงขนาดใหญ่
ตัดสิน ในภาษาจีนมีคำว่า สิน ในเสียงชาวกวางตุ้ง เฉ่น ในเสียงแต้จิ๋ว แปลว่า ตัด เฉือน ตะไกร ตัดด้วยตะไกร
ในจำพวกคำซ้อนที่เป็นสองคู่ เช่น เก็บหอมรอมริบ เกี่ยวดองหนองยุ่ง เมื่อสอบสวนคงได้ความว่าแปลความเดียวกันทั้งสี่คำ หอม ในภาษาไทยทางภาคอีศาน ตลอดขึ้นไปจนถึงตังเกี๋ยและจีน แปลว่ารวบรวม คงตรงกับคำว่า ออม เป็นทำนองเพี้ยนเสียง ดังที่รับสั่งในคำว่า สหาย เป็น สอาย ในภาษาชะวา ทุกวันนี้มีบางคนเปลี่ยน หอม เป็น เก็บออมรอมริบ ก็มี น่าจะเข้าใจเสียว่า หอม คงเป็นคำผิด คำว่า หนอง ในภาษาชาวกวางตุ้งแปลว่า เกี่ยวติดต่อถึงกัน ซึ่งคงตรงกับคำว่า เนื่อง ยังมีคำว่า เต้นแร้งเต้นกา ซึ่งในภาษาไทยใหญ่มีคำว่า ลั้ง แปลว่า เคลื่อนไหวโดยเร็ว ในภาษาอาหม ไทยใหญ่ มีคำว่า กา แปลว่า เต้น กา คำนี้ ใกล้กับคำว่า เต้นก๋า มาก ถึงคำว่า เต้น ในภาษาไทยใหญ่เขียนเป็น ต้น แต่ให้อ่านว่า เต้น มีความหมายทั้งที่เป็นนามและเป็นกิริยา
ยังมีคำซ้อนในภาษาไทยอีกสองสามชะนิด ซึ่งทำให้ข้าพระพุทธเจ้าแปลกใจ เช่นใช้พูดว่า ซอกแซก โยกเยก โซเซ อู้อี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้จับเอาเสียงสระขึ้นมาเทียบ คงได้ความว่า ในการออกเสียงสระ ย่อมใช้ลิ้นเป็นเครื่องแปลงเสียงสระ ถ้าลิ้นตอนหน้าสูงขึ้นเกือบจดเพดาน ก็เป็นเสียง อี ถ้าโคนลิ้นสูงขึ้นเกือบจดเพดานในระดับเดียวกัน และห่อริมฝีปากเกือบให้จดกันก็จะเป็นเสียง อู เพราะฉะนั้นเสียง อู กับ อีจึงอยู่ระดับเดียวกัน โอ ก็คู่กับ เอ ออ ก็คู่กับ แอ กระทำให้เกิดเป็นคำคู่ เป็น อ้อแอ้ โอ้เอ้ อู้อี้ ตามแนวนี้มีตลอดไปจนถึงคำที่เป็นสระคู่ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน เช่น ล่ายเลี่ย นัวเนีย
ในภาษาไทยใหญ่ คำพูดมีสร้อยคำทุกคำ ซึ่งเป็นชะนิดแปลงเสียงตัวหน้าให้เป็นคำซ้อน อย่าง ไม่กินไม่แกน หรือ ไม่เกิน ในภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าลองสอบสวนดู คงได้ความว่า คำที่แปลงเสียง มักตกอยู่ในจำพวกสระที่มีฐานกรณ์อยู่ใกล้กันแทบทุกคำ
คำซ้อนอีกชะนิดหนึ่งแปลงเสียงตัวหลังเป็น แม่ ก ภา และ เกย เช่น ริบหรี่ ยักย้าย คุดคู้ มั่งมี หมิ่นเหม่ ถ่ายเท แว่นไว คำจำพวกนี้มีมาก และมีหลายรูป ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจด้วยเกล้า ฯ ว่า คงเป็นคำซ้อน แต่ผ่อนเสียงให้สะดวกแก่การพูดในขณะที่เปล่งออกมา แต่ข้อที่แปลกใจ ที่บางคำไปพ้องเป็นคำพูดในถิ่นอื่น เช่น หมิ่นเหม่ ในภาษาจีนกวางตุ้ง เหม่ (แต้จิ๋วเป็น บ๊วย) แปลว่า หาง ที่สุด ตอนท้ายที่สุด ริม แว่น ในภาษาไทยใหญ่แปลว่า ไว
อนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าตรวจเรื่อง ขุนบรม ที่เขาคัดจากตัวหนังสือธรรมทางภาคอีศาน พบคำว่า บ่อจักคิดจักอ่าว ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามถึงคำแปล ได้ความว่า อ่าว แปลว่า คิด ในขั้นแรกข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า อ่าน ซึ่งในภาษาไทยถิ่นอื่นแปลว่า คิด นับ และมักซ้อนคำเป็น คิดอ่าน ได้ซักถามว่า จะเป็น อ่าน กระมัง ผู้คัดตอบว่า อ่าว ไม่ใช่ อ่าน ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงหาแนวเทียบ ก็นึกออกว่า ในคำทำนองนี้ ก็มีคำเช่น ร้าวราน ห้าวหาญ อยู่ เพราะฉะนั้น อ่าว อ่าน ก็คงเป็นทำนองเดียวกัน คำซ้อนในทำนองนี้ กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าพบคำแปลก ๆ อยู่หลายคำ ในภาษาจีนก็เป็นทำนองเดียวกัน เช่น ในภาษาแต้จิ๋ว ปั๊ว แปลว่า ชาม ภาชนะสำหรับบรรจุของ ในภาษากวางตุ้ง เป็น ผ่าน ซึ่งถ้าเทียบกับ พาน ในภาษาไทยก็นับว่าใกล้กันมาก โดยแนวนี้ เป็นแนวให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า พัวพัน ตัวตน ซึ่งเป็นคำซ้อนในภาษาไทย
คำซ้อนอีกชะนิดหนึ่ง แปลงเสียงตัวหลังเป็นพยัญชนะนาสิก เช่น แซกแซง ดัดดั้น รวบรวม เป็นลักษณะเดียวกับในภาษาบาลีสันสกฤต คำเหล่านี้ บางทีก็ใช้แยกเป็นคำในภาษาได้ทั้งสองคำ เช่น เถิดเทิน พรุกพรุ่ง บางคำความหมายก็ต่างออกไปนิด ๆ เช่น แพรกแพร่ง เขยกเขย่ง แต่ถ้าคำหน้าเป็นสระอี คำหลังก็เปลี่ยนเป็นสระสังโยคหรือสระคู่ เช่น ขีดเขียน หลีกเลี่ยง (ในภาษาไทยใหญ่ เขียนเป็น ลิง แต่อ่านว่า เลง ก็ได้ คงเป็นคำเดียวกับคำซ้อนที่ใช้ว่า ลัดแลง) บางทีเสียงสระอี แปลงเป็นเอีย มีความหมายเพี้ยนไปนิดๆ เช่น ขีด-เขีย(น) กะลิ้ม-กะเหลี่ย(ม) สิ้น-เสีย(น) ข้าพระพุทธเจ้าพบคำในภาษามลายู เสียงสุนัขเห่าเป็น gag gang ซึ่งในภาษาไทยเป็น ฮกฮอง ได้ทั้งคำซ้อนและ ค เป็น ฮ
คำซ้อนอีกชะนิดหนึ่ง เป็นชะนิดถ่วงเสียงคำทั้งสองให้เท่ากัน โดยที่ข้าพระพุทธเจ้าไปพบคำภาษามลายูที่ฝรั่งอธิบายไว้ เช่นคำว่า โตกตาก เวลาพูดมักเป็น โตกะตาก จึงต้องเติม กะ เข้าข้างหน้าเป็น กะโตกกะตาก เพื่อให้เสียงถ่วงเท่ากัน ซึ่งในตำราฝรั่งเรียกว่า Euphony ส่วนคำที่ไม่ใช่แม่กก เกิดมีการเติม กะ เข้าด้วย เช่น กะตุ้งกะติ้ง ก็เป็นเพราะคำชะนิด กะโตกกะตาก เป็นแนวเทียบลากเข้าพวกไปด้วย
ที่ข้าพระพุทธเจ้ากล้ากราบทูลมาโดยยืดยาวนี้ ก็โดยเชื่อด้วยเกล้าฯ ว่า แม้จะผิดพลั้งหรือขาดเกินไปอย่างไร คงรับพระเมตตากรุณาและพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง
อนึ่ง เมื่อวันเสาร์ที่แล้วมา ได้มีการชำระคำในปทานุกรมถึงคำว่า เขื่อน ข้าพระพุทธเจ้าเสนอคำว่า เขื่อนเพชร์ โดยอธิบายตามที่ข้าพระพุทธเจ้าจดไว้ว่า กำแพงชั้นในภายในพระราชวัง มีขนาดเตี้ย แต่มีผู้ถามว่า กำแพงชะนิดนี้ ถ้าจะเรียกในที่อื่น ซึ่งไม่ใช้ในพระราชวัง จะได้หรือไม่ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง เพื่อทราบเกล้า ฯ คำ เขื่อนเพชร์ นี้ด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์