๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๐

พระยาอนุมานราชธน

กาลนี้ได้ฤกษเบิกเรื่องร้องรำให้แก่ท่านตามประสงค์ เดิมคิดว่าพูดไปตามชอบใจจะเปนการเพ้อเปล่าจากประโยชน์ จึ่งขอให้ท่านเขียนเปนคำถาม แต่ครั้นท่านเขียนไปให้ พิจารณาดูจะตอบจำเพาะคำถามกลัวจะไม่แจ้งกระจ่าง จึ่งเขียนอธิบายตามความเห็นเปนเรื่องนำประกอบเข้าด้วย ก็ตกเปนเพ้อนั้นเอง ขอท่านจงทรงไว้ว่านี่เขียนให้จำเพาะต่อท่าน ขอท่านอย่าได้เอาถ้อยคำในนี้ไปประกาศที่ไหนในชื่อฉัน แต่ท่านจะเก็บเอาข้อที่พอใจไปเปนความรู้ของท่าน จะพูดหรือเขียนเปนหนังสือไปประกาศที่ไหนในชื่อของท่าน ฉันไม่รังเกียจ อนุญาตให้ท่านทำได้

ในคำอธิบายเบื้องต้นแห่งเรื่องนี้ เอาคำที่พูดกันว่า ร้องรำทำเพลง มาตั้งเปนกะทู้ ทำเพลง หมายเอาเปนทำปี่พาทย์ เปนอันได้สำรับกันครบถ้วนทีเดียว แม้ว่าคำอธิบายนั้น ท่านมีสงสัยอยู่ในข้อใดไม่เข้าใจแจ่มแจ้งก็ซักได้ ยินดีที่จะอธิบายไขให้แก่ท่านตรงที่สงสัยตามรู้ตามเห็น ท่านอยากได้ตำราร้องรำ แต่ท่านหาไม่ได้ เห็นก็ชอบกล ทีตำราหมอดู และตำรายา ทำไมจึ่งมีดกดื่น ส่วนตำราร้องรำทำไมจึ่งไม่มี คิดดูก็เห็นเหตุ อันตำรานั้นก็เหมือนกันกับสิ่งทั้งปวง เมื่อมีต้องการจึงมีจำหน่าย อันวิชาหมอดู หมอยานั้นเปนวิชาอาชีพแห่งพลเรือน มีคนต้องการรู้จึงมีคนเขียนจำหน่ายให้แก่กัน ส่วนวิชาร้องรำนั้น เปนวิชาของทาส สำหรับบำเรอความสุขให้แก่นาย คนพลเรือนย่อมเกลียดกลัว จนมีคำสอนว่า อย่าตึกลองแขก พาให้ใจแตก มันไม่เปนผล ดั่งนี้เปนต้น เพราะเห็นกันว่าไม่ดีไม่มีใครต้องการ จึ่งไม่มีคนเขียนตำราเพื่อสั่งสอน จริงอยู่ ละคอนตามบ้านมี ปี่พาทย์ตามบ้านก็มี แต่เพราะตัวเจ้าบ้านเคยถูกกดขี่ให้ปฏิบัติวิชานั้นมาแล้ว ได้ผลในภายหลังเปนอันว่าหากินได้ จึงฝึกหัดลูกหลานต่อไป ถึงหากว่าลูกหลานจะไม่เต็มใจก็ต้องจำหัดโดยบังคับ เพราะเปนลูกหลานท่านก็เท่ากับว่าเปนทาสท่าน

ต่อไปนี้เปนคำชี้แจงของฉัน หวังว่าท่านจะชอบ

-ร้องรำทำเพลง-

การร้องรำทำเพลง หมายถึงร้องอย่างหนึ่ง รำอย่างหนึ่ง ทำปี่พาทย์อย่างหนึ่ง เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เดิมทีเกิดขึ้นฝ่ายละแผนก แล้วจึ่งมาติดต่อปนกันเข้าในภายหลัง ดังจะพรรณนาต่อไป ขอให้เข้าใจว่า เปนทางสันนิษฐานว่า สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในโลกอย่างไร ไม่ได้หมายว่าเกิดขึ้นในเมืองไทย ไทยเราอ่อนอายุนัก สิ่งเหล่านั้นต้องจำที่เขาปรุงเล่นมาแล้วเปนหลัก แล้วคิดประกอบเพิ่มเติมเข้าใหม่บ้างเท่านั้น

-ร้อง-

การร้อง คิดว่าเกิดขึ้นจากเปล่งเสียง อุทานอันเกิดขึ้นแต่ความดีใจ เศร้าใจ และเปล่งออกเพื่อให้สงบ ให้พร้อมเพรียง จึงไม่เปนภาษาอะไร เช่น เฮโล โฮ่ฮิ้ว ฉะนั้นเปนต้น แล้วภายหลังแซกคำที่เปนภาษาเข้าประกอบ น่าจะมาแต่ทางเศร้าใจก่อน เปล่งอุทานแล้วก็พิไรต่อ ดังจะเห็นได้จากคำนางร้องไห้ ซึ่งมีว่า โอ้พระร่มโพธิ์ทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย เช่นนี้เปนต้น คำหน้าคำหลังเปนอุทาน กลางเปนคำพิไร แล้วเปนคตินำไปให้แซกการกล่อมลูก เช่น โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึก ทำขนมแชงม้า หรือเห่เรือ เช่น โอละเห่ เจ้าปราไชยโย แล้วเติมคำที่เปนภาษามากขึ้นทุกที กลายเปนเพลงต่างๆ เช่น เพลงปรบไก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือเปนต้น ว่าเกี้ยวกันและปรามาทแก่กัน แล้วก็นำเข้าสู่ความเพราะพริ้ง เช่น ดอกสร้อยสักวาและร้องลำนำต่าง ๆ

การร้องนั้น ลางอย่างก็มีจังหวะ ลางอย่างก็ไม่มีจังหวะ คิดว่าอย่างไม่มีจังหวะนั้นมาก่อน อย่างมีจังหวะเปนของคิดได้ภายหลัง เครื่องประกอบจังหวะก็มีตบมือ แล้วทีจะเจ็บมือเข้าก็ยักไปหาไม้มาตีเปนกรับ ทีหลังเอาโทนเข้าประกอบ เปนอันเอาดุริยเข้ามาผะสม ดั่งจะได้พรรณนาต่อไปในภายหน้า

-รำ-

การฟ้อนรำ เห็นจะสืบมาแต่การโลดเต้นอันเปนไปด้วยความดีใจ เช่น ดีใจที่ต่อสู้ชะนะเปนต้น อย่างที่เรียกกันว่า เต้นแร้งเต้นกา ต่อมาก็จัดดัดแปลงให้การเต้นรำนั้นงามขึ้น เปนสิ่งสำหรับดูเล่นให้เพลิดเพลินใจ ในชั้นแรกเปนระบำ คือรำไม่มีเรื่องก่อน แล้วภายหลังจึงคิดจัดให้รำประกอบเปนเรื่องขึ้น ดังจะพรรณนาต่อไปนี้

ระบำ เปนสิ่งที่รำสำหรับดูเล่นงาม ๆ ไม่มีเรื่อง แต่เราเลิกกันเสียแล้ว เพราะดูไม่สนุกเหมือนรำมีเรื่อง แม้ว่าจะมีระบำ ก็เอาเมขลา รามสูร อรชุน เข้าประกอบกับระบำทำให้เปนเรื่องขึ้น โขนรำหางนกยูงคู่ (เรียกว่าประเลง) ก็ดี และละคอนหลวงรำดอกไม้เงินทองคู่เมื่อแรกลงโรงก็ดี เรียกว่าเบิกโรง นั่นก็คือระบำทีเดียว การหัดละคอนของเราก็สอนเปนสองแยก เริ่มแรกหัดรำเพลงก่อน นั่นก็คือหัดระบำ สิ้นท่ารำเพลงต่าง ๆ แล้ว จึ่งหัดรำใช้บทเพื่อเล่นเรื่องต่อไปทีหลัง

รำเรื่อง ทำไมการรำจึ่งเข้าไปสู่เรื่อง จะต้องชักเอาการเล่นทางชะวามาพูดเปนอุทาหรณ์ การเล่นของชะวามีสามอย่าง ซึ่งเรียกชื่อขึ้นต้นว่า วายัง หนัง เรียกว่า วายังกุลิต แปลว่า เงาหนัง หุ่น เรียกว่า วายังโกเล็ก แปลว่า เงาหุ่น โขน เรียกว่า วายังวอง แปลว่าเงาคน จะเห็นได้ว่าเปนภาษาดีอยู่แต่เงาหนังอย่างเดียว เงาหุ่นเงาคนนั้นภาษาไม่ดี เพราะหุ่นและโขนไม่ใช่ของเล่นดูเงา แต่ส่อให้เข้าใจได้ว่าเปนของเกิดตามหนัง จึงมีชื่อ วายัง ตามกันไป หนังมีมาก่อนเปนตุกตาตัวแบน แล้วเปลี่ยนมาทำหุ่นเปนตุกตาตัวกลม เมื่อคิดเปนตุกตาตัวกลมขึ้นได้แล้วก็ง่ายที่สุดที่จะเอาคนเข้าเล่นแทนตุกตาเปนโขน เมื่อใช้คนเล่นคนจะออกมาทำเซ่อ ๆ เหมือนตุกตาก็ดูไม่ได้ ต้องทำอะไรขึ้นให้น่าดู นั่นแหละการรำระบำจึงถ่ายทอดเข้าไปสู่โขน สิ่งเหล่านี้มีหนังเปนต้น ล้วนมีคนพากย์เจรจาบอกเรื่อง ชะวาเรียกว่าดาหลัง โดยมากเล่นเรื่องนารายณ์อวตาร มีคนเห็นว่าการเล่นอันนั้นตั้งใจจะเผยแผ่บุญบารมีแห่งพระนารายณ์ เพื่อจูงใจให้มีคนนับถือวิษณุเวสมากขึ้น อย่างเดียวกับหมออเมริกันผู้สอนศาสนา เที่ยวเทศน์สรรเสริญพระเยซูไฆรสต์อยู่ตามถนนฉะนั้น การเล่นเหล่านี้ไทยเราก็มีเหมือนกัน และเล่นเปนลักษณอย่างเดียวกัน ซ้ำมีละคอนแถมขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย แต่ละคอนเล่นเรื่องอื่น ๆ ออกไปอีก ไม่จำกัดเล่นแต่เรื่องนารายณ์อวตารอย่างเดียว เห็นได้ว่าคงถ่ายทอดมาจากโขน แล้วขยายการเล่นให้กว้างขวางออกไป แต่ไฉนจึงทั้งการพากย์ และเจรจาเอาร้องเข้าผะสมแทน ข้อนี้ยังคิดไม่ลุ เคยเห็นละคอนชาตรีทางหัวเมืองปักษ์ใต้เล่น มีร้องชมเมืองปีนัง ไม่ประกอบด้วยเรื่อง แล้วก็ทำบทไปตามคำของตน ชะรอยตัวนายโรงจะเปนคนเล่นเพลงได้ด้วย จึ่งเอาเพลงกับละคอนเข้าผะสมกัน ถ้าลักษณเล่นเช่นนี้เปนของเก่า ก็จะสันนิษฐานได้ ว่าละคอนแรกเกิดคงเปนคนที่ว่าเพลงได้และรำได้ คิดเล่นผะสมกันขึ้นก่อน แต่สงสัยอยู่ว่าการร้องไปนอกเรื่องเช่นนั้น จะเปนของใหม่ จึ่งว่าให้แน่ลงไปไม่ได้

ชะนิดละคอนแบบเก่ามีสองชะนิด คือละคอนใน หมายความว่าละคอนหลวงในพระราชฐาน กับละคอนนอก หมายความว่าละคอนของคนภายนอกพระราชฐาน วิธีเล่นต่างกันไปเล็กน้อย ละคอนในหนักไปทางเจือด้วยระบำมาก ร้องรำช้า ๆ เอาแต่ฟังไพเราะและดูงามเปนประมาณ ส่วนละคอนนอกนั้นร้องรวบรัดเอาแต่ให้เรื่องดำเนินไปเร็ว ไม่ประจงในการร้องไพเราะและรำงาม ซ้ำเล่นก็ติดตลกไปในตัวเสียด้วย ทั้งนี้เปนด้วยคนภายในพระราชฐานเข้าใจดูของที่ดีงาม ส่วนคนภายนอกนั้นชอบแต่สนุกเฮฮา ถ้าเล่นให้ดูอย่างงาม ๆ ก็เบื่อใจ และมีผิดกันอีกที่ละคอนนอกตัวละคอนร้องเองแล้วลูกคู่รับ เข้าใจว่าเปนแบบเดิม แต่ละคอนในมีต้นเสียงร้องแทนตัวละคอน เห็นจะเปนด้วยหากว่าร้องเองแล้วเหนื่อย ทำให้รำงามไม่ได้ แต่ภายหลังละคอนนอกก็มีต้นเสียงขึ้นอย่างละคอนในเหมือนกัน เพราะเจ้านายท่านทรงจัดให้หัดมหาดเล็กเล่นละคอนทอดพระเนตร ท่านให้ถ่ายอย่างละคอนในมาหัดทุกอย่าง ด้วยรู้สึกในพระทัยว่าทางนั้นเปนทางดี แล้วละคอนนอกที่ไม่ใช่ของเจ้านาย อยากจะดีก็จำถ่ายไปทำบ้างแต่ลางอย่าง ที่ไม่ขัดข้องแก่ทางหากินของเขา การเล่นละคอนนอกจึ่งปนวิธีเล่นละคอนในเข้าไปหลายอย่าง แต่ก่อนนั้นละคอนเปนผู้ชายเล่นทั้งนั้น เข้าใจว่าเปนแบบเดิมมาเช่นนั้น ดูก็ไม่มีอะไรขัดข้อง มีแต่ละคอนในเท่านั้นที่หัดให้ผู้หญิงเล่น เปนการทำแผลง แต่แล้วละคอนนอกผู้หญิงก็เข้าเล่นบ้าง มีทั้งผู้หญิงล้วน และผู้หญิงปนกับผู้ชาย

ตามที่กล่าวมานี้ กล่าวจำเพาะแต่การรำที่เปนหลักมาแต่เก่าก่อน นอกจากหลักก็มีคนจัดเล่นอย่างโสกโตกไปต่าง ๆ เช่นละคอนตลกเปนต้น ยิ่งถึงเวลานี้ ก็ยิ่งมีละคอนชะนิดต่าง ๆ มากขึ้น เรียกกันว่า ละคอนรำ ละคอนร้อง ละคอนพูด เข้าใจว่าไม่ต้องการคำแถลง

-ทำเพลง-

คำว่าทำเพลงในที่นี้ หมายถึงเครื่องมือที่ทำให้เปนเพลง มีฆ้องกลอง เปนต้น เครื่องเหล่านั้นเข้าใจว่าเกิดขึ้นแต่การตีเกราะเคาะไม้ในการไล่ล่าสัตวเพื่อทำให้สัตวตกใจ แล้วจึ่งคิดต่อแก้ไขให้เครื่องมือเหล่านั้นดังกึกก้องยิ่งขึ้น เพื่อตีให้เปนสง่า เพื่อให้เกรงขาม และเพื่อเปนสัญญาเพื่อเรียก การตีเครื่องเหล่านั้นให้ดัง เรียกกันว่าประโคมอยู่จนทุกวันนี้ ไม่เกี่ยวด้วยการร้องรำเลย

เครื่องประโคมให้เปนเพลงมีใช้เปนหลักอยู่สองชะนิด คือ มโหรีกับปี่พาทย์ อันมโหรีนั้นเห็นจะจำนน อธิบายมากไม่ได้ เพราะไม่มีที่ไหนจะนำให้รู้นอกจากมโหรีหลวง ซึ่งดูเหมือนจะสืบเนื่องมาแต่รัชกาลที่ ๒ (เมื่อได้เห็นก็ร่องแร่งเสียเต็มทีแล้ว) เครื่องเล่นอย่างเต็มที่จะมีอะไรบ้างก็ไม่ทราบ ตามที่ได้เห็น สังเกตได้แต่ว่า มีฆ้อง ระนาดขนาดเล็กๆ เปนประธาน ดูเหมือนจะทำให้เหมาะสำหรับผู้หญิงอันมีว่างเล็กเล่น นอกนั้นก็ประกอบด้วยเครื่องสาย มีซอสามสาย กระจับปี่ จเข้นั้นมีแน่ กับเครื่องเป่ามีขลุ่ย เครื่องกลองมีโทนรำมะนา (คำว่า มโหรี สงสัยว่าจะเปนศัพท์เดียวกับมโหรทึก มโหรศพ มโหรี ท่วงทีเปนอิตถีลึงค์ น่าจะเปนของผู้หญิงเล่น แต่มโหรีภูษามาลาก็มี ผู้ชายเล่น หรือจะเปนของพิเศษ ไม่ใช่ปกติ ก็ไม่ทราบแน่)

มโหรีกับปี่พาทย์ น่าจะได้แก่ ดุริยดนตรี อันมาทางบาลีสํสกฤต ดนตรี ว่าเครื่องสาย ควรจะได้แก่มโหรี ดูริย ทางบาลีว่ามี ๕ อย่าง คือกลองสามชะนิด กับเครื่องเคาะและเครื่องเป่าลม ควรจะได้แก่ปี่พาทย์ ปี่พาทย์ของเรา ซึ่งเรียกว่าเครื่อง ๕ ก็มี ปี่ ฆ้อง ระนาด ตะโพน กลอง คลาดกันที่เครื่องเคาะมากขึ้นเปนสอง คือฆ้องกับระนาด กลองน้อยไปหนึ่ง แต่ก็ทำเสียงได้เปนสาม (คือ เท่งติ๋งต้อม) คงได้ผลเสมอกัน

เครื่องปี่พาทย์ของเราแต่ก่อนก็มีแต่ เครื่อง ๕ เขาว่ามาเพิ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เพราะเจ้านายทรงปี่พาทย์ประชันขันแข่งกัน ต่างองค์ทรงคิดเพิ่มเครื่องขึ้น ด้วยเอาของเก่าซึ่งมีเล่นอยู่แล้วทางอื่นมาเพิ่มเข้าบ้าง จัดทำเพิ่มขึ้นใหม่บ้าง เครื่องปี่พาทย์ซึ่งเล่นกันอยู่ในเวลานี้จึ่งมีเปน ๓ อย่าง

๑. เครื่องใหญ่ มีระนาดสี่ราง คือระนาดเอก (ไม้ไผ่) ระนาดหุ้ม (ไม้ไผ่) ระนาดทอง (ทำด้วยทองเหลืองอย่างระนาดเอก) กับระนาดหุ้มเหล็ก (ทำด้วยเหล็กอย่างระนาดทุ้ม) มีฆ้องสองร้าน คือฆ้องใหญ่กับฆ้องเล็ก ปี่สองเลา คือปี่ใหญ่กับปี่เล็ก เรียกว่าปี่ในปี่นอก กลองมีสามอย่าง คือ ตะโพน เปิงมาง กลองทัด อันกลองทัดนั้นจะใช้ใบเดียวหรือสองใบสามใบก็ได้ เสียงสูงแหละต่ำไล่กันเปนลำดับไป โดยมากใช้สองใบ เปิงมางนั้นต่อเมื่อไม่ตีกองทัดจึ่งใช้ คนตีกลองทัดนั้นเองตีเปิงมางสอดเสียงตะโพน ส่วนเครื่องประกอบอย่างอื่นเช่น ฉิ่ง ฉาบใหญ่ ฉาบเล็ก โหม่ง จะมีครบหรือละเว้นอะไรบ้างก็ได้ไม่จำกัด

๒. เครื่องกลาง หรือ เครื่องคู่ ก็เรียก มีระนาดเอกระนาดหุ้ม (ไม้) คู่หนึ่ง ฆ้องใหญ่ฆ้องเล็กคู่หนึ่ง ปี่ในปี่นอกคู่หนึ่ง (ลางทีก็ไม่มีปี่นอก เพราะคนปี่หาได้ยาก) เครื่องกลอง และฉิ่ง ฉาบ โหม่ง อย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

๓. เครื่อง ๕ เหมือนเช่นกล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

เครื่องทั้ง ๓ อย่างนั้น ถ้าทำรับเสภาเลิกกลองทุกอย่าง ใช้สองหน้าแทน สองหน้านั้นรูปเหมือนกันกับเปิงมาง แต่มีขนาดใหญ่กว่า ใช้ตีทั้งสองหน้า จึ่งเรียกชื่อว่าสองหน้า ส่วนเปิงมางนั้นใช้ตีแต่หน้าเดียว พอประกอบกับตะโพนเปนสามเสียง

คราวนี้จะไขความเครื่องลางชะนิด ระนาดเอก เปนของมีมาแต่ดั้งเดิม ระนาดทุ้ม เปนของทำเติมเข้าใหม่ แต่เติมก่อนที่เจ้านายทรงปี่พาทย์ในรัชกาลที่ ๔ ใครจะเปนผู้ทำเติมและเติมเข้าเมื่อไรไม่มีใครบอกได้ ระนาดทอง เห็นจะคิดทำเติมขึ้นในครั้งเจ้านายทรงปี่พาทย์ในรัชกาลที่ ๔ ทุ้มเหล็ก ได้ทราบแน่ทีเดียว ว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริทำเติมขึ้น ถ่ายทอดมาจากหีบเพลงฝรั่งอย่างเปนเครื่องกลเขี่ยหวีเหล็ก ฆ้องใหญ่เปนของมีมาแต่ดั้งเดิม ฆ้องเล็กเข้าใจว่าเอาฆ้องมโหรีมาผะสม ปี่ใหญ่หรือปี่ใน เปนของมีประจำวงปี่พาทย์มาแต่ดั้งเดิม ปี่เล็กหรือปี่นอก เปนของมีมาเก่าแก่เหมือนกัน เว้นแต่ก่อนนี้ไม่ได้ใช้เอามาเป่าเข้าวงปี่พาทย์ ใช้เป่าแต่ทำหนังจำเพาะเพลงเชิดนอกเมื่อจับลิงหัวค่ำอย่างเดียว ภายหลังจึ่งเอามาเติมเข้าในวงปี่พาทย์คู่กับปี่ใหญ่ เพลงเชิดนอกที่เหมือนกันเลยกับเพลงเชิดที่ทำละคอน แล้วก็ไม่ได้เป่าเข้ากับฆ้องระนาด มีแต่ปี่นอกกับกลองทัดขนาดเล็กมีเสียงสูงสองใบเท่านั้น คิดว่าวิธีนี้เปนเก่าแก่ที่สุด

ได้นึกทีเดียว ว่าฆ้องวงนั้นลางทีเดิมจะมีใบเดียวสำหรับตีจังหวะ แล้วเพิ่มขึ้นเปนสองใบสามใบ และมากขึ้นจนตีเพลงได้ก็เลยตีเพลงไปเสีย ส่วนระนาดนั้นคิดว่าจะมาแต่กรับ ด้วยขนาดไม้สั้นกับยาว ตีลงรู้สึกว่ามีเสียงผิดกัน จึ่งคิดทำเปนผืนระนาดตีเพลงเข้ากับฆ้อง ในการที่เห็นไปเช่นนี้ ก็เพราะเห็นละคอนชาตรีและหนังตะลุงใช้เครื่องประโคมมีโทนสองใบ กลองใบหนึ่ง ปี่เลาหนึ่ง ฆ้องสองใบ เข้าระบอบเครื่อง ปัญจดุริยางค์ ซึ่งมาทางบาลี ว่ามีกลองสามอย่างเรียก อาตต แปลว่ากลองหน้าเดียว วิตต แปลว่ากลองสองหน้า อาตตวิตต แปลว่ากลองหนังทั่วตัว ฆน แปลว่า เครื่องเคาะ สุสิร แปลว่าเครื่องเป่าลม เมื่อเอาเข้าปรับกับเครื่องของเรา ก็เห็นเข้ากับ ปัญจดุริยางค์ ทุกอย่างไป อาตต ได้แก่โทนรำมะนา วิตต ได้แก่กลองทัดกลองละคอนชาตรี อาตตวิตต ได้แก่ตะโพน เปิงมาง สองหน้า ฆน ได้แก่ฆ้องระนาดฉิ่งฉาบ สุสิร ได้แก่ ปี่ขลุ่ย ในหน้าพากย์บทละคอนก็เรียกเพลงว่า ช้าปี่ โอ้ปี่ แสดงอยู่ในตัว แล้วว่าปี่รับอย่างเดียว เหมือนเชิดนอกซึ่งกล่าวมาแล้ว นอกนั้นเปนเครื่องตีจังหวะประกอบ ได้ปรึกษาความเห็นข้อนี้แก่ พระประดิษฐไพเราะ (ตาด) ท่านก็เห็นว่าเปนได้ ดั่งนั้น ท่านค้านอยู่สิ่งเดียวแต่ระนาด ว่าเห็นจะไม่ใช่มาแต่กรับ อาจมาแต่กระบอกก็ได้ แต่ก่อนมีพวกข่าเที่ยวขอทาน ใช้ไม้กระบอกตัดสั้นบ้างยาวบ้าง กระทุ้งลงกับแผ่นดิน ทำให้เปนเสียงต่าง ๆ สลับกัน เพลงกระบอกก็ได้ชื่อมาจากกระทุ้งกระบอกนี้สามสี่คนด้วยกัน ตามที่ท่านว่าเช่นนี้ฟังได้ ไม่ได้คิดไปถึง ก็เพราะเกิดมาไม่เคยเห็นเล่นกระบอกเช่นนั้นเลย แต่นึกแล้วก็ทิ้งเสีย จนกระทั่งไปเที่ยวประเทศชะวา ไปเห็นเครื่องของเขามีฆ้องระนาดมากมายหลายชะนิด มากกว่าเครื่องของเราเปนอันมาก แต่เมื่อได้ฟังเขาตี เขาไม่ได้ทำเพลง เขาตีเปนจังหวะทั้งนั้น ที่เสียงใหญ่ตีเปนจังหวะใหญ่อันเปนประธาน ที่เสียงเล็กตีเปนจังหวะแซกในหว่างจังหวะใหญ่ ที่มีหลายลูกนั้นใช้ตีเปลี่ยนเสียงไปให้เข้ากับเนื้อเพลง สิ่งที่เขาทำเนื้อเพลงนั้นสังเกตได้ว่ามีแต่สามอย่าง คือร้องและซอกับปี่เท่านั้น ฟังดีจริง ๆ ซ้ำความคิดอย่างฝัน ๆ ก็ปรากฏเปนถูกจริงเข้าด้วย ทำให้บังเกิดปีติมาก

ปี่พาทย์ของเราทำกันอยู่สี่ทาง จะว่าตามลำดับแต่เสียงต่ำไปหาเสียงสูง คือ (๑) ทางพงออ หรือ พองออ พวงออ อะไรแน่ก็ไม่ทราบ ไม่เปนภาษา ตัดสินไม่ลง ใช้เล่นมโหรีเปนยืน เพราะว่าเสียงเหมาะแก่เสียงผู้หญิง (๒) ทางใน ใช้เปนทางทำปี่พาทย์โดยสามัญ (๓) ทางกลาง ใช้ทำหนัง เห็นจะเปนด้วยทำในที่กลางหาว ใช้เสียงสูงขึ้นได้ยินไปไกล เพื่อประกาศเรียกคนมาดู (๔) ทางนอก หรือทางเสภาก็เรียก ใช้ในการทำเสภา เพราะว่าเสียงเหมาะกับเสียงผู้ชาย ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก การเปลี่ยนทางก็เหมือนเปลี่ยนทิศ เปรียบว่าเราหันหน้าไปทิศบูรพา บูรพาก็เปนหน้า ทักษิณเปนขวา ปัศจิมเปนหลัง อุดรเปนที่สุด ถ้าหันหน้าไปทักษิณ ทิศทักษิณก็กลายเปนหน้า ปัศจิมก็เปนขวา อุดรเปนหลัง บูรพาเปนที่สุด เวียนไปโดยนิยมดั่งนี้จนรอบตัว ก็เสมอเหมือนหนึ่งปี่พาทย์ตีเปลี่ยนทาง จะไม่มีผลอะไรให้เพลงเปลี่ยนแปลกไป เปนแต่เสียงเพลงจะต่ำลงหรือสูงขึ้นเท่านั้น

ในการเปลี่ยนเสียงนั้น แม้จะไม่ยังผลอะไรให้แก่เพลงก็ดี แต่ทำพิษเอาแก่คนเป่าปี่ยิ่งนัก เพราะเลื่อนเสียงไปนั้นทำเอาขัดนิ้ว จึงเกิดทำปี่กันขึ้นเปนสามชะนิด ตามเสียงที่เลื่อนไปเปนลำดับ คือปี่ในเปนขนาดใหญ่ ปี่กลางเปนขนาดกลาง ปี่นอกเปนขนาดเล็ก ส่วนทางพงออนั้นไม่มีปี่สำหรับกัน เพราะเปนเรื่องของมโหรี มโหรีก็มีขลุ่ยเปนสามชะนิด คือขลุ่ยพงออ ขลุ่ยรองออ ขลุ่ยกรวด จะอธิบายให้กว้างขวางไปอีกไม่ไหวเพราะรู้ไม่พอ

เพลงปี่พาทย์นั้นท่านจัดไว้เปนหมวด คือเพลงกลองมีกลองทัดประกอบ เพลงช้าเพลงเร็วมีตะโพนประกอบ เพลงช้าใช้หน้าทับเรียกว่าปรบไก่ เพลงเร็วใช้หน้าทับเรียกว่าสองไม้ เพลงหน้าทับทะยอยมีตะโพนประกอบเหมือนกัน แต่ตีไปอย่างหนึ่งเรียกว่าหน้าทับทยอย เพลงฉิ่งมีฉิ่งประกอบ นี่ว่าแต่เท่าที่รู้ คงจะมีอื่นอีก แล้วในหมวดหนึ่งยังมีเรื่อง คือหลายเพลงต่อกันไปตั้งสิบเพลงญี่สิบเพลงเรียกว่าเรื่องหนึ่ง ลางเรื่องก็เรียกเพลงว่าท่อน ลางเรื่องก็เรียกว่าตัว มากเรื่องจนเรียกกันไม่หวาดไหว อันชื่อนั้นมีแต่ชื่อเรื่อง ชื่อเพลงไม่มี เว้นแต่คัดเอาออกไปเล่นสิ่งใดแต่จำเพาะเพลงจึ่งได้มีชื่อเพลงนั้นขึ้น เช่น เพลงกราวนอกกราวในก็อยู่ในหมวดเพลงกลอง ทะยอยนอกทะยอยในก็อยู่ในเรื่องทะยอย แต่เพราะคัดเอาไปทำโขนละคอนจึ่งต้องตั้งชื่อเรียกเพื่อรู้กัน ที่จริงกราวในกับกราวนอก หรือทะยอยในกับทะยอยนอกนั้น เปนละคอนเพลง มีเนื้อไม่เหมือนกันเลย เพลงกราวในกับทะยอยใน มีเนื้อเปนไปในทางข้างต่ำ เข้าแนวเสียงที่จัดไว้ว่าเปนทางใน จึ่งเรียกว่ากราวในทะยอยใน ส่วนกราวนอกทะยอยนอกนั้น มีเนื้อเปนไปในทางข้างสูง เข้าแนวเสียงที่จัดไว้ว่าเปนทางนอก จึงเรียกว่า กราวนอกทะยอยนอก คำว่า กราว เห็นมาแต่ตีเกราะโกร่งประกอบเกรียวกราว

อันเพลงต่าง ๆ ในเรื่องนั้น ลางเพลงก็มีทำยืดและทำตัด เรียกว่าสองชั้นและชั้นเดียว เห็นจะเกิดขึ้นจากการที่เอาปี่พาทย์เข้าผะสมทำละคอน อันคติการรำละคอนในทางระบำนั้นย่อมรำรัดเข้าไปเสมอ คือตั้งต้นรำช้า ๆ แล้วรัดเร็วเข้าไปทุกที ปี่พาทย์ก็ต้องทำผ่อนผันไปตามทางท่าระบำ ถ้าปี่พาทย์เลือกเอาเพลงที่มีลีลาศช้ามาทำ เมื่อการรำรัคเร็วเข้าก็ตีไม่ทัน จึ่งตีตัดลัดให้จาวลงครึ่งหนึ่ง เรียกทางที่ตัดนั้นว่าชั้นเดียว ทางเดิมก็เปนสองชั้นไปเอง อีกอย่างหนึ่งก็ตรงกันข้าม คือถ้าปี่พาทย์เลือกเอาเพลงที่มีลีลาศเร็วมาทำ เมื่อละคอนรำช้าปี่พาทย์ทำแต่ช้า ๆ ก็ฟังโตงเตงหนัก จึ่งทำยืดขึ้นให้ถี่เข้าอีกเท่าตัว เรียกว่า สองชั้น เพลงเดิมก็ตกเปนชั้นเดียวไปเอง ส่วนเพลงสามชั้นนั้น เกิดขึ้นแต่พระประดิษฐไพเราะ (มี) ริทำขึ้นก่อนเมื่อรัชกาลที่ ๔ เห็นจะเอาอย่างการยืดเพลงชั้นเดียวเปนสองชั้นนั้นเอง เอามายืดเพลงสองชั้นออกไปอีกเท่าหนึ่ง เรียกว่า สามชั้น จะทำสำหรับอะไรไม่ทราบแน่ แต่พระประดิษฐ์คนนันถนัดซอ พาให้เข้าใจว่าทำสำหรับเล่นรับร้องมโหรี เท่าที่อธิบายในเรื่องเพลงชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น มาแล้วนี้ ผู้ที่ไม่ได้เคยเอาใจใส่ในทางปี่พาทย์มาอาจไม่เข้าใจก็ได้ จึงจะเปรียบไว้ให้เห็นแจ้งขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ก็เหมือนกับเขียนแบบเรือน ถ้าเขียนด้วยสเคล ๑:๑๐๐ จัดว่าเปนชั้นเดียว แล้วเขียนขยายขึ้นเปนสเคล ๑:๕๐ ก็เปนสองชั้น ถ้าเขียนขยายออกอีกเปนสเคล ๑: ๒๕ ก็เปนสามชั้น รูปเรือนที่เขียนซึ่งเปรียบเหมือนเพลงนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลกอะไรไป นอกจากจะได้รูปเรือนโตขึ้น จะมีผลเปลี่ยนแปลกก็ตรงที่เมื่อใช้สเคลเล็ก จะทำให้เห็นละเอียดทุกอย่างไม่ได้ ถ้าขยายใหญ่ขึ้น อาจเห็นละเอียดได้เท่านั้น

นอกจากเครื่องทำเพลงที่กล่าวแล้วนี้ มีเครื่องชะนิดอื่นอยู่อีก เช่นกลองแขกเปนต้น แต่เห็นว่าไม่ใช่หลักของเรา จึ่งไม่ได้เก็บเอามากล่าวให้สิ้นเชิง

-ปน-

ในที่สุดการร้องรำทำเพลง ก็เข้าปะปนกันไปทีละน้อย จนมากที่สุดอย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ โดยสังเกตเห็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

อันการร้องนั้น มีเพลงสำหรับร้องอยู่ต่างหาก ซึ่งทางปี่พาทย์ไม่มีเพลงนั้น แต่เปนธรรมดาผู้ดำเนินอาชีพอยู่ในทางใด ๆ ย่อมชวนขวายให้ทางอาชีพแห่งตนกว้างขวางออก คนร้องจึ่งสอดส่ายไปถ่ายเอาเพลงปี่พาทย์มาคิดเปนลำร้อง เปนเหตุให้ปี่พาทย์เข้าทำรับร้อง แล้วพวกปี่พาทย์อวดเก่งบ้าง จำเอาลำร้องไปคิดทางปี่พาทย์มาทำรับร้องในเพลงซึ่งไม่เคยรับบ้าง ปี่พาทย์กับร้องจึงได้มาปนกันเข้า ชั้นแรกเห็นจะเอาเข้าปนร้องแต่โทนอย่างเดียวก่อน เพลงโทนที่จดไว้ในบทละคอนนั้น ไม่ใช่ชื่อเพลงเปนลำร้องต่าง ๆ ซึ่งตีโทนประกอบด้วย แล้วปี่พาทย์ทั้งวงจึงเข้าปนทีหลัง ดังจะเห็นได้เช่นเล่นเสภา คนขับเสภาก็ขับดำเนินเรื่องไป นาน ๆ ก็ส่งลำให้ปี่พาทย์รับเสียที่หนึ่ง เปนการพักเหนื่อยของคนขับ

การรำก็เหมือนกัน ชั้นแรกเห็นจะไม่ได้มีปี่พาทย์ทั้งวงเข้ามาปน เห็นได้จากครูละคอนเมื่อหัดละคอนให้รำเพลงช้าเพลงเร็วนั้น ครูถือไม้เรียวดีจังหวะอันหนึ่ง แล้วปากก็ร้องไป ในเมื่อหัดเพลงช้าว่า จ๊ะโจ๋งจะถิ่ง โจ๋งง่าถิ่ง และร้องในเมื่อหัดเพลงเร็วว่า จ๊ะถิ่งถิ่ง จนคนจำเอามาร้องล้อเด็กอยู่จนทุกวันนี้ เสียงร้องเช่นนี้แสดงว่าเปนเสียงโทน ไม่ใช่เสียงตะโพน เปนแน่ว่า ใช้โทนประกอบกับการรำก่อน แล้วยังมีร้องแทนที่ปี่พาทย์อีก เช่นร้องเพลงช้า มีบทว่า เจ้าโน ตัดไม้โสน จะมาทำกงพัด เปนต้น บทเพลงเร็วก็มี ชะป่อย แม่นางป่อย เปนต้น เชิดฉิ่งก็มีบทว่า หริงหริ่ง ได้ยินเสียงฉิ่งก็จับใจ เปนต้น หรือร้องฉุยฉาย ก็คือร้องเพลงช้า ร้องแม่สรี (สรี เปนคำขเมร ว่าผู้หญิง ร่อยมาจาก สตรี) นี่ก็คือร้องเพลงเร็วนั่นเอง เห็นได้ว่าแต่ก่อน ละคอนไม่ได้มีปี่พาทย์เข้ามาปน ครั้นเอาปี่พาทย์มาทำเพลงการร้องแทนปี่พาทย์ก็ไม่ทิ้ง คงร้องไปพร้อมกับปี่พาทย์ ร้องก็ร้องไปทางหนึ่ง ปี่พาทย์ก็ตีไปทางหนึ่ง ฟังจอแจไม่เปนส่ำ เจ้าพระยาเทเวศรเปนผู้รู้สึกรำคาญหูก่อนคน ท่านจึงคิดจัดร้องเพลงช้าบท เย็นย่ำ ให้เปนลำ เต่ากินผักบุ้ง และบังคับให้ปี่พาทย์ ทำเพลงช้าด้วยเพลงเต่ากินผักบุ้งด้วยเหมือนกัน จึ่งฟังกลมเกลียวเข้ากันดีหายรกหู คนชอบ จึ่งจำเอามาเล่นกันอยู่จนทุกวันนี้ เพลงเต่ากินผักบุ้ง เปนชื่อเพลงช้าเรื่องหนึ่งมีมากมายหลายท่อน แต่ตัดเอามาทำเล่นเพียงสามท่อน ส่วนเพลงเร็วต่อท้ายซึ่งร้องบท รักเจ้าสาวคำ นั้น จะตอนมาแต่เมื่อไร และมีชื่ออย่างไรหาได้ทราบไม่ เรียกกันแต่ว่าเพลงสาวคำตามบทร้องนั้นเอง การร้องซ้องซ้อนไปกับปี่พาทย์ เพิ่งเลิกกันเสียไม่นานนัก ใช้ปี่พาทย์ทำอย่างเดียว เหลือแต่ฉุยฉายเท่านั้นที่คงใช้ร้องอยู่บ้าง แต่ก็ทำเปนร้องรับ ไม่ได้ร้องซ้องกันไปกับปี่พาทย์

ปี่พาทย์นั้น เห็นได้ว่าเปนของสำหรับทำประโคมให้ครึกครื้น พวกปี่พาทย์ ได้งานหาก็เปนทำสวดมนต์เย็นฉันเช้าเปนพื้น แล้วก็ประโคมฤกษ์ตามงานที่มีสวดมนต์ฉันเช้านั้น เช่นงานโกนจุกเปนต้น ถ้าเปนงานของผู้ที่มั่งคั่ง วันสวดมนต์เย็นเวลากลางคืนมักจะมีเสภาหรือละคอนต่อไป ในการมีเสภาเจ้างานหาคนขับมา แล้วให้ปี่พาทย์ที่ทำสวดมนต์เย็นนั้นทำรับเสภาด้วย พวกปี่พาทย์ที่อ่อนหัดติดจะครั่นคร้าม เพราะไม่ทราบว่าคนขับเสภา เขาจะเอาเพลงอะไรมาส่งให้บ้าง แม้รับไม่ได้เรียกกันว่า จน ถ้าจนแล้วก็เก้อ ทำให้เกิดความอาย นี่ก็เปนการที่ร้องเข้ามาปนกับปี่พาทย์ ถ้าเล่นละคอนแล้วไม่เปนไร ตั้วโผละคอนเขาก็หาปี่พาทย์มากับละคอนของเขาอีกพวกหนึ่ง พวกทำสวดมนต์เย็นไม่ต้องทำ การทำละคอนนั้นไม่สู้ยากเหมือนรับเสภา เพราะว่าเพลงที่ทำนั้นเปนเพลงอยู่ในแบบซึ่งพวกปี่พาทย์ได้ฝึกปรือมาทั้งนั้น สำคัญแต่เพียงว่าจะหยุดเพียงไร หรือจะทำต่อไปเพียงไร ในข้อนั้นถ้ามีคนเคยทำละคอน รู้ทีละคอนเปนผู้นำอยู่ ก็ทำกันไปได้ไม่ขัดข้อง แต่ก่อนนี้เมื่อยังมีโรงบ่อนตั้งอยู่ ขุนพัฒน์ย่อมจัดการให้มีละคอนเล่นที่บ่อน เพื่อล่อให้คนมาดูแล้วจะได้เลยเล่นเบี้ย เปนของหวานของพวกปี่พาทย์ที่จะได้เข้ารับทำละคอนบ่อน เรียกกันว่า ทำเหมา ที่ว่าหวานนั้น เพราะพวกปี่พาทย์เก็บเบี้ยต่อไส้ได้เสมอ ไม่เปนฤดูเหมือนงานฤกษ ส่วนงานฤกษจะมีได้แต่เดือนที่ดี ระหว่างเดือนไม่ดีนั้นพวกปี่พาทย์อด เดี๋ยวนี้โรงบ่อนเลิกเสียแล้ว สิ้นทางหากินของพวกปี่พาทย์ไปทางหนึ่ง

-ตอบข้อถาม-

คราวนี้จะตอบคำถามของท่าน ข้อที่ท่านอยากทราบนั้นหนักไปทางข้างเพลงมาก อันเพลงนั้นก็เหมือนกันกับสิ่งทั้งปวง คือเก่าสูญไป ใหม่มีมา เหตุด้วยคนเราย่อมชอบของใหม่ แต่เพลงใหม่ของเราโดยมากเปนเพลงต่างประเทศ พวกปี่พาทย์ไปเก็บตกมา ส่วนที่เป็นเพลงแต่งขึ้นใหม่ก็มีอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ผู้แต่งต้องเอาเพลงเก่ามาแต่ง เพราะเหตุว่าถ้าใครนึกเอาใหม่ แล้วติกัน ว่าเปนคนไม่มีความรู้ ไม่มีพื้นและไม่มีหลักฐาน ถ้าใครจำเพลงเก่าใหม่ไว้ได้มากกว่าเพื่อน คนนั้นเปนเก่งกว่าเพื่อน ทั้งนี้ก็เหมือนกับนักเลงเล่นสแตมป์เล่นหน้าไม้ขีดไฟนั่นเอง

๑. ช้าผะสม ท่านถามเปนรายละเอียด ฉันตอบไม่ได้ เพราะจำไม่ได้ แม้แต่งเองก็ไม่ได้ใส่ใจจำ ด้วยทะนงใจว่าถ้าถูกผลักไสให้เข้าไปทำอีกก็แต่งเอาใหม่ มีแต่จะดีขึ้นกว่าเก่าเพราะรู้การมากกว่าแต่ก่อน จะบอกได้แต่เหตุที่ทำให้คิดแต่งเพลงช้าผะสมขึ้น ด้วยละคอน อิเหนา ตอนบวงสรวงนั้นเดิมเขาร้องช้า (รับลูกคู่) ฉันก็เห็นว่าเหมาะดีแล้วจึ่งจะทำตามไป แต่ละคอนฉากนั้นเปนฉากใหญ่ มีท้าวดาหามเหษีธิดาโอรสและมีระเด่นมากหลายทั้งเสนากำนัล นับว่าละคอนออกหมดโรง การร้องในฉากนั้นควรจะดังที่สุด จึ่งให้เกณฑ์คนในบ้านเจ้าพระยาเทเวศรทั้งผู้หญิงผู้ชายมาช่วยกันร้อง คนในบ้านนั้นสอนง่าย เพราะได้เคยเห็นเคยฟังอยู่เปนอาจิณ ไม่ใช่อย่างเอาควายมาหัดร้อง การร้องผู้หญิงกับผู้ชายปนกัน เคยเห็นเจ้าพระยาเทเวศรจัดเข้าไปเล่นคอนเสิตในพระราชฐานฟังไม่ได้ผล ประเดี๋ยวได้ยินแต่เสียงผู้หญิง ประเดี่ยวได้ยินแต่เสียงผู้ชาย เพราะผู้ชายเสียงต่ำ ผู้หญิงเสียงสูง ร้องไปทางเดียวกันต้องวางเสียงเปนคู่แปด เวลาเพลงลงเสียงต่ำ เสียงผู้หญิงจ้า เสียงผู้ชายพึมหายไป เวลาเสียงเพลงขึ้นสูงเสียงผู้ชายจ้า ผู้หญิงขึ้นเสียงไม่ถึงต้องหลบเสียงลงเท่ากับผู้ชายก็พึมหายไป ฉันเห็นโทษอันนี้จึ่งคิดแก้ เอาวิธีร้องเสียงแตกอย่างฝรั่งมาใช้ ทำทางให้เสียงผู้ชายลดลงกว่าเสียงผู้หญิง เพียงเข้าเปนคู่สี่คู่ห้าไม่ให้ถึงคู่แปด ฟังได้ผลดีขึ้นแล้ว ยังมีเครื่องประกอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านเห็นจะยังไม่ทราบ ฉันเลือกเอาลูกระนาดเล็กสี่ห้าลูกมาผูกแขวนตีต่างว่าระฆังวัด ใบใหญ่บ้างเล็กบ้าง ตีปนไปพร้อมกับร้องด้วย แต่ลูกระนาดที่เลือกเอามาใช้นั้นไม่ให้ขัดกับเสียงเพลงที่ร้อง ฟังเข้ากันไปได้และสมกับฉากที่เปนวัด ข้อที่ท่านถามว่าช้าผะสม จะเอาไปใช้แทนช้าปี่ได้หรือไม่นั้น ไม่ควรถาม ไม่มีใครห้าม สำคัญอยู่แต่ที่เอาไปใช้ในที่เหมาะหรือไม่เหมาะ จะดีหรือไม่ดีต่างหาก ส่วนชื่อนั้น ดูเหมือนพวกที่เล่นอยู่ด้วยกันเขามาถาม ว่าเพลงนี้จะเรียกเพลงอะไร ฉันก็บอกพุ่งไปตามภาษาพูดว่า ช้าปะสม นึกถึงเอาผู้ชายเข้าผะสมร้องกับผู้หญิง แล้วใครจะเอาไปเขียนหนังสือเปนอย่างไร ฉันไม่ทราบด้วย

๒. ช้าหวล ไม่เคยได้ยินร้อง เคยเห็นแต่ชื่อจดไว้ในบทละคอน ได้เคยค้นจากผู้เคยร้องละคอนมาแล้ว ได้แต่ช้าครวญ ทางร้องก็คล้ายกับช้ารับลูกคู่ แต่มีครวญแซกเข้า ครวญ เปนชื่อวิธีร้องชะนิดหนึ่ง เอื้อนเสียงไปเศร้าๆ ถ้าร้องเพลงอื่น ๆ จะต้องการให้ปี่พาทย์ทำโอดที่คำไหน ก็แซกครวญเข้าในคำนั้น ปี่พาทย์ก็ทำโอดให้ ช้าครวญนี้ได้เคยเอามาจัดให้ท้าวสันนุราฐร้องในเรื่องคาวี ละคอนดึกดำบรรพ์

๓. นั่นแหละ ในคำร้องช้าปี่ จัดว่าเปนสร้อย กระบวนเล่นของเรานั้น คำร้องกวีแต่ง กวีไม่รู้จักว่าการร้องเปนอย่างไร แต่งไปสำหรับแต่อ่าน ครั้นถึงคนร้อง เมื่อคำกวีไม่พอก็ต้องเอาคำอื่นต่อสร้อย จริงอยู่ คำว่า เจ้าเอย น้องเอย เปนสร้อยเหมือนกัน แต่เหมาะสำหรับใช้จำเพาะคำเกี้ยวกัน เปนคำชายพูดกับหญิง และหญิงพูดกับชาย เมื่อเอาไปใช้อื่น ๆ ก็ขวางนั่นแหละ เปนคำกลางใช้ได้ไม่ว่าความใด ๆ ร้องละคอนเรื่องต่าง ๆ จึ่งใช้คำ นั่นแหละ เปนยืน ขอให้เข้าใจว่านี่เปนแก้คำถามโดยอัตโนมัตย์ ได้เคยนึกเหมือนกันว่า ถ้าการร้องนั้นมาถึงตัวเข้า จะจัดให้ร้องเปลี่ยนไปทุกๆ ครั้ง ให้คำกินกับบท

๔. ชมตลาด ก็คือร้องชม การร้องชมนั้นใช้อยู่หลายลำ ที่เรียกว่า ชมตลาด เห็นจะเปนลำที่ร้องง่ายที่สุด และร้องกันดื่นที่สุดอยู่ในตลาด จึ่งเรียกว่าชมตลาด นี่เปนแปลชื่อตามอัตโนมัตย์ ผิดถูกไม่แน่ ส่วนฉุยฉาย เปนร้องเพลงช้าแทนปี่พาทย์ แม่สรี เปนร้องเพลงเร็วแทนปี่พาทย์ ดังได้อธิบายมาข้างต้นแล้ว น่าสังเกตอยู่ที่ร้องฉุยฉายแล้วรับด้วยปี่ประหนึ่งว่าเดิมทีจะเล่นไปด้วยกัน

๕. เครื่องปี่พาทย์ละคอนเรื่องดึกดำบรรพ์ ท่านถามค้นเอาเครื่องมือทุกชิ้น ตามที่ท่านเจียรนัยถามไปก็ถูกหมดแล้ว เว้นแต่ซออย่างเดียว เมื่อครั้งเจ้าพระยาเทเวศรเล่นนั้นไม่ใช้ เมื่อเจ้าพระยาวรพงศ์เล่นเอาใส่เข้า เห็นสีโอ๊ก ๆ ไปเกือบไม่มีเวลาหยุด อันเรื่องเครื่องทำเพลงนั้นไม่จำเปนต้องจำกัด จะใส่อะไรจะถอนอะไรก็ได้ สุดแต่ให้เหมาะแก่การเล่นก็เปนแล้ว หัวใจเครื่องปี่พาทย์ ละคอนดึกดำบรรพ์ อยู่ที่คัดเครื่องเสียงเล็ก ๆ ออกหมด ด้วยฟังหนวกหู ผู้ที่เขาคิดเอาเครื่องเสียงเล็กเข้าผะสมมาแต่ก่อน เขาต้องการให้ดังกึกก้อง แต่ละคอนดึกดำบรรพ์ต้องการไพเราะ จึงคัดเอาอ้ายที่หนวกหูออก คงเอาไว้แต่ที่เสียงนุ่มนวลและเสียงที่เปนหลัก แล้วซ้ำต้องการเสียงที่ต่ำลงไปอีก จึ่งคิดจัดเอาฆ้องหุ่ยเข้าปน นึกมาแต่ฆ้องโหม่ง แต่โหม่งใบเดียว เนื้อเพลงจะไปทางไหนก็ดังโหม่งยืนอยู่ ฟังขวางหู จึงจัดให้มีฆ้องใหญ่หลายใบ ตีเปนจังหวะ ผันเสียงไปตามเนื้อเพลง ควรที่จะภูมใจว่า คิดได้ใหม่ฟังดีขึ้นมาก แต่เปล่า ทางชะวาเขามีแล้วทำแล้ว อนึ่งไม้นวมก็มีมานานแล้ว พวกปี่พาทย์เขาใช้ ในที่นี้จะเรียกว่าสำหรับตีในมุ้ง เพื่อท่องเพลงและไล่มือ ไม่ให้หนวกหูเพื่อนบ้าน ใครจะเอามาเล่นเปนของจริงจังขึ้นไม่ทราบ จำได้แต่ว่าพระยาเทเวศรท่านเอาไม้นวมมาเล่นรับร้องในบ้านท่าน ส่วนที่เอาตะโพนใช้ต่างกลองทัดนั้น ก็เพราะปี่พาทย์ทำไม้นวม ถ้าเอากลองใหญ่เข้าตีก็จะดังกลบเสียงปี่พาทย์เสียหมด จึ่งเปลี่ยนใช้ตะโพนซึ่งจะหยิบเอาได้ง่ายที่สุด ที่จริงที่เรียกว่าปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นั้น ไม่ได้ปรุงขึ้นสำหรับเล่นละคอนดึกดำบรรพ์ เล่นรับร้องอยู่ก่อน รู้สึกว่าฟังดี มีละคอนดึกดำบรรพ์ขึ้นก็โอนเอาไปทำเท่านั้นเอง

-แจ้งจริง-

คราวนี้จะทักความในสำเนาคำบรรยายของท่าน ซึ่งกล่าวประกอบเรื่องละคอนในละคอนนอกแต่ลางข้อ ซึ่งเห็นว่าเข้าใจผิดอยู่

ใน และ นอก อธิบายความหมายเปนละคอนในละคอนนอกอย่างเดียวนั้น เปนอันผิดอยู่ ละคอนในละคอนนอกนั้น หมายถึงละคอนในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ส่วนเพลงทะยอยในทะยอยนอกนั้น หมายถึงปี่พาทย์ เพราะทางปี่พาทย์มีหลายทาง ที่ใช้ลูกข้างต่ำเรียกว่า ทางใน ที่ใช้ลูกข้างสูงเรียกว่า ทางนอก ทะยอยในมีลีลาศเปนเสียงต่ำ เข้าทางในของเครื่องปี่พาทย์จึงเรียกทะยอยใน ทะยอยนอกนั้นมีลีลาศเปนเสียงสูง เข้าทางนอกของเครื่องปี่พาทย์จึงเรียกทะยอยนอก ที่จริงเปนคนละเพลงทีเดียว ปี่ในเปนปี่ขนาดใหญ่ มีนิ้วเหมาะสำหรับเป่าเข้ากับปี่พาทย์ทำทางใน ปี่นอกเปนปี่ขนาดเล็กเสียงสูง มีนิ้วเหมาะสำหรับเป่าเข้ากับปี่พาทย์ทำทางนอก เพลงชื่อ ช้าปี่ใน ช้าปี่นอก ไม่มี มีแต่ช้าปี่เฉยๆ จะรับด้วยปี่อะไรก็ไม่ทราบ เข้าใจว่าเปนชื่อเก่าที่เกินจะรู้ได้ อย่างไรก็ดี ปี่นอกไม่ได้รับเพลงช้าเลย เพราะแต่ก่อนนี้ปี่นอกใช้แต่ทำหนัง หนังไม่มีร้องส่ง เพลงที่มีชื่อเกิดแต่ปี่นอกมีแต่เพลงเชิดนอกเพลงเดียว เพราะเป่าด้วยปี่นอก แม้กระนั้นเพลงเชิด ที่ทำละคอน ก็หาได้เรียกว่าเชิดในไม่ เรียกแต่ว่าเชิดเฉย ๆ เพลงเชิดกับเชิดนอก เปนคนละเพลง ผิดกันไกล เพลงที่มีในมีนอก นึกได้แต่ ๔ คู่เท่านั้น คือ กราวในกราวนอก ทะยอยในทะยอยนอก กับสามไม้ในสามไม้นอก ปีนตาหลิ่งในปิ่นตาหลิ่งนอก แต่ล้วนมีเสียงสูงกับต่ำ เข้าแนวทางในทางนอกแห่งปี่พาทย์ทุกคู่ แต่ที่แท้เปนคนละเพลงทั้งนั้น

ทวน คำนี้หมายถึงร้องย้อนไปต้นคำซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ในการที่ต้นเสียงร้องครึ่งคำ ลูกคู่ร้องต่ออีกครึ่งคำนั้นเรียกว่า รับ คือลูกคู่รับ แล้วจึงร้องทวน แต่การทวนนั้นใช้แต่เพลงร้องที่ไม่ได้รับปี่พาทย์ ถ้าเพลงใดที่มีปี่พาทย์รับก็ไม่ร้องทวน คือว่าปี่พาทย์ทวนให้แล้ว คำที่เรียกว่า ลูกคู่ เห็นจะมาแต่การสวดของพระภิกษุอันมีสี่รูปด้วยกัน แบ่งเปนสองภาค ภาคละคู่ ในคู่หนึ่งแบ่งเปนแม่คู่รูปหนึ่ง ลูกคู่รูปหนึ่ง แม่คู่ร้องตั้งต้นรับ เพื่อประโยชน์ไม่ให้ฟังขาดเสียง เพราะหยุดหายใจ คู่ที่ ๑ สองบาท และคู่ที่ ๒ ผลัดร้องอีกสองบาท เพราะเปนคู่จริง ๆ จึงเรียกแม่คู่ลูกคู่ ร้องละคอนก็ทำอย่างเดียวกัน แต่เติมลูกคู่เข้ามาก ซึ่งไม่ควรเรียกว่าลูกคู่เสียแล้ว แม้กระนั้นเขาก็ยังแบ่งลูกคู่เปนสองภาค จะเรียกเอาเองในที่นี้ว่า ซ้ายขวา ครึ่งคำแรกต้นเสียงร้อง ครึ่งคำหลังลูกคู่ภาคขวารับ แล้วลูกคู่ภาคซ้ายร้องทวนครึ่งคำแรก ลูกคู่ภาคขวาร้องทวนครึ่งคำหลัง คำหนึ่งในบทละคอนนั้นนับเอาสองกลอนเปนคำหนึ่ง เท่ากับคาถาสองบาท

การร้องลำส่งปี่พาทย์ในการเล่นละคอนนั้นเปนของใหม่ แต่ก่อนไม่ใคร่ใช้ ใช้แต่ลำร้องโดยลำพังไม่รับปี่พาทย์

รื้อร่าย คำนี้เปนสองศัพท์ คือ รื้อ คำหนึ่ง ร่าย คำหนึ่ง ร่าย หมายความว่าตลุยไป รื้อ หมายความว่าตั้งใหม่ เหมือนเขียนหนังสือหดหัว ฉะนั้น ถ้าบทเนื่องกันก็ร้องติดกันไป ถ้าตั้งบทใหม่เมื่อไรก็รื้อเมื่อนั้น ไม่เกี่ยวแก่ยศตัวละคอน ว่าจะเปนพระเอกหรือนางเอก แต่เกี่ยวกับความในบทร้อง และคำว่า รื้อ นั้น ไม่ใช้จำเพาะแต่ ร่าย อื่น ๆ ก็มีเรียก รื้อ เหมือนกัน คำที่เรียกว่าร่ายติด ไม่เคยได้ยินใครเรียก

ยานี เปนเพลงร้องแท้ เพลงปี่พาทย์ไม่มี แต่ก่อนมาไม่มีรับปี่พาทย์ พวกปี่พาทย์มาอวดดี แต่งรับกันขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

โทน หมายความว่าตีโทนประกอบกับร้อง มีเพลงที่ประกอบด้วยโทนมากหลาย เดี๋ยวนี้ใช้กลองแขกแทนโทน

ชื่อเพลงนั้นเปนของไม่แน่ โดยมากไม่มีชื่อ ลางเพลงก็มีชื่อเดียว ลางเพลงก็มีชื่อซ้ำกัน เพราะคัดเอามาจากเพลงเรื่องอันเดียวกัน ต้องเติมท้ายชื่อเปนโอดพัน เปนนอกใน เปนใหญ่น้อย ลางเพลงก็มีหลายชื่อ เช่น จรเข้หางยาว กับ สามส้าว ก็คือเพลงเดียวกัน

ละคอนป้องหน้า ไม่ใช้สัญญาให้ปี่พาทย์หยุด ปี่พาทย์จะหยุดเหมือนเทียนตับไม่ได้ ได้แต่สังเกตเห็นละคอนแสดงอาการว่าถึง พอทำหมดท่อนหมดตัวก็ลาให้ ตัวละคอนก็ทำท่าลาลงให้พร้อมกับปี่พาทย์ มีป้องหน้าเปนที่สุด เคยมีตัวอย่างที่เกิดถ้อยร้อยความ มีละคอนโรงหนึ่งป้องหน้าตามชอบใจ ปี่พาทย์ที่ทำผเอิญมีคนดื้อตีระนาดเปนนายวงไม่ยอมหยุด เพราะเชิดยังไม่หมดตัว ละคอนฉุนกล่าวประมาทว่า ปี่พาทย์อะไรนะ ละคอนป้องหน้าแล้วยังไม่หยุด นายวงปี่พาทย์ ก็ประมาทตอบว่า ละคอนอะไรนะ ปี่พาทย์ยังไม่หมดตัวก็ป้องหน้า ตกลงเปนหายกัน ความเข้าใจผิดอันนี้ เปนมาแต่ละคอนเด็ก ๆ ซึ่งยังไม่รู้ประสีประสา พวกปี่พาทย์เวทนายอมให้อภัย จึ่งหักหัวหางจบลงไปให้ตามที่ป้องหน้า แล้วผู้ใหญ่ที่โง่เขลาก็ถือเอาเปนธรรมเนียม แต่ที่ไม่โง่เขลา เช่นนายคุ้มครูพระรามเปนต้น เปนคนผู้ใหญ่มากแล้วก็อุตส่าห์เรียนตีฆ้องต่อเพลงบาทสกุณี เพราะแกออกท่าบาทสกุณีหมดไม่พร้อมกับปี่พาทย์ ลางคราวปี่พาทย์หมดก่อน ท่าของแกยังไม่หมด ลางทีท่าของแกหมดก่อน ปี่พาทย์ยังไม่หมด ก็ต้องยืนเก้ออยู่ ทั้งนี้เปนด้วยรำไม่ลงกับปี่พาทย์ จึงต้องอุตส่าห์ต่อเนื้อปี่พาทย์เพื่อให้รำลงกัน เพลงอื่น ๆ ซึ่งได้ยินอยู่ชินหู เช่น เสมอ หรือ เชิด แกจำเนื้อปี่พาทย์ได้ รำให้ลงกันได้ แต่เพลงบาทสกุณีนานๆ จะใช้ที ไม่ชินหูจำไม่ได้ จึงต้องเรียน เพลงบาทสกุณี ไม่ใช่ ตระ ไม่ได้อยู่ในเรื่อง ตระ เปนเพลงอยู่ในเรื่องเสมอ เดิมเรียกว่า เสมอตีนนก แล้วมใครเห็นว่าเปนคำหยาบ เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียก บาทสกุณี คำ เสมอ หายไป จึ่งพาหลง ควรจะเรียกว่า เสมอบาทสกุณี กระมัง

วา ชื่อเพลงอย่างนี้มีสองเพลง จึ่งต้องต่อชื่อเปน วาลงโรง กับ วาลาโรง เพลงวาลงโรงนั้นติดอยู่ในเรื่องของเพลงโหมโรง มีวาเปนเพลงท้าย พอปี่พาทย์ทำโหมโรงถึงเพลงวา ตัวละคอนก็ต้องออกเพื่อลงโรงเล่น จะเอาวาไปทำเมื่อละคอนออกในกาลอื่นหาได้ไม่ เหตุที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเปนเพลงละคอนออกนั้น มาแต่ละคอนหลวง ต้องคอยเสด็จลงละคอนจึ่งจะลงโรงได้ เมื่อเสด็จลงแล้วจะทำโหมโรงให้เสด็จมาคอยอยู่ก็ไม่ได้ ต้องตัดทำแต่เพลงวาท้ายโหมโรงเท่านั้น หรือถ้าทำโหมโรงก่อนเสด็จลงถึงวาก็ต้องหยุดไว้ ทำวาต่อเมื่อเสด็จลง จึงพาให้เข้าใจไปว่า เพลงวาเปนเพลงทำให้ละคอนออก

-ความเห็น-

ในเรื่องร้องรำทำเพลงตามที่กล่าวมาแล้ว ล้วนกล่าวแต่สิ่งที่เปนอยู่และคาดคะเนว่าจะเปนมาอย่างไร ไม่มีความเห็นส่วนตัวอยู่ในนั้น ตอนนี้จะชี้แจงความเห็นส่วนตัวต่อไป

คนเล่นร้องรำทำเพลงนั้น เห็นว่ามีอยู่สามจำพวก จะตั้งชื่อเล่นว่า นักเรียนพวกหนึ่ง ครูพวกหนึ่ง กับบ้าอีกพวกหนึ่ง อันพวกนักเรียนนั้น เรียนได้มาอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น การหวงวิชาเกิดแต่พวกนี้ เพราะถ้าให้วิชาที่เรียนได้มาแก่ใครไปหากินตัวก็อด พวกครูนั้นรู้วิชามากขึ้นไปอีกหลายสถาน และมีปัญญาที่จะเลือกฟั้นใช้แต่วิชาที่ดีตามแบบแผน ส่วนพวกบ้านั้นแม้จะรู้วิชาก็ละทิ้ง ทำเอาแต่ตามชอบใจตัว

นายผู้อำนวยการเล่นเหล่านั้น หากเปนผู้รู้เท่าไม่ถึงการแล้ว เลือกเอาคนร้องดีรำดีปี่พาทย์ดีขึ้นเปนครู ถ้าคนเหล่านั้นเปนพวกนักเรียนแล้ว ความจำเริญจะงอกงามขึ้นไม่ได้ เพราะคนฝีมือดีสู้คนมีปัญญาไม่ได้หลุดลุ่ย แม้ฝีมือจะไม่ดีก็ชนะคนฝีมือดี เปรียบเหมือนเสมียนที่เขียนหนังสืองาม สู้กวีที่แต่งกลอนดีแต่เขียนหนังสือไม่งามไม่ได้ฉะนั้น

การเล่นจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่คนคนเดียว ความดือยู่ที่คนเล่นมีสามัคคีรสแก่กัน เห็นตัวอย่างมาหนักแล้ว เช่นการรำ ละคอนโรงหนึ่งมีตัวเล่นดีอยู่ตัวหนึ่ง จนมีโรงอื่นริษยา คิดอุบายเกลี้ยกล่อมเอาละคอนตัวดีนั้นไปเข้าโรงคน นึกว่าละคอนโรงเดิมจะยุบยาก และโรงตนจะเฟื่องฟูขึ้น แต่เปล่าเลย โรงเดิม เมื่อถูกแย่งคนดีไปแล้ว ก็เกิดตัวดีใหม่ขึ้น ไม่ตกต่ำอะไรไป โรงที่เกลี้ยกล่อมเอาคนดีไปได้ก็ไม่ดีขึ้น คนดีกลับลับชื่อสูญหายไปเสียด้วยซ้ำ นี่จะว่าเปนด้วยอะไร ต้องว่าเปนด้วยสามัคคีรสแห่งตัวละคอนหมดด้วยกันทั้งโรง คือต่างช่วยอุดหนุนซึ่งกันและกัน โดยธรรมดาบุคคลผู้เดียวจะดีไปไม่ได้ นอกจากได้เพื่อนช่วยอุดหนุน การทำเพลงก็เคยเห็น ท่านผู้มีบุญท่านจัดเอาล้วนแต่ครู ๆ ที่ตีฆ้องระนาดดีเข้าตีผะสมกัน นึกว่าจะได้ฟังดีหรือ แต่เปล่าเลย สู้ปี่พาทย์วงเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ เหตุใดจึงเปนเช่นนั้น เหตุที่ท่านครูท่านไปชิงดีกันเสีย จะเอาชะนะกันเองที่ในวงของท่าน นั่นก็คือขาดสามัคคี วงเด็กที่ฟังดีกว่าก็เพราะว่าเด็กเหล่านั้นเปนสามัคคี ไม่เกี่ยงแย่งกัน อุดหนุนซึ่งกันและกัน การปรารถนาจะอวดตัวว่าดีข่มกันเองในวงในพวกนั้น เปนของแสลงที่สุด มีแต่จะทำให้ฉิบหาย

การจัดร้องรำทำเพลงนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็อยู่ที่จัดคนเล่นนั้นเอง การจะเล่นให้โครมครามครึกครื้นนั้นง่าย อะไรๆก็ใส่เข้าไปเปนแล้ว ส่วนจะเล่นให้ดูดี ฟังไพเราะนั้นแหละยากยิ่งนัก ทีแรกจะต้องพิจารณาตูคนที่จะมาเล่นด้วยก่อนว่า ใครมีนิสสัยอย่างไร ต้องจัดเครื่องเล่นทางเล่นเรื่องเล่น ให้เหมาะสมกับความสามารถแห่งตัวบุคคล นั่นแหละจึ่งจะได้ดี พูดรวมๆดั่งนี้อาจที่จะไม่เข้าใจก็ได้ จะให้ตัวอย่างให้ชัด เช่นโขนโรงที่ใหญ่แต่ก่อนมา ท่านก็จัดตัวที่สามารถในทางต่างกันไว้เปนแผนก เปนตัวนั่งเมือง ตัวรบ ตัวเข้านาง ตัวเล่นไม้ เช่นนี้เปนต้น ถ้าถึงบทออกนั่งเมือง ก็จัดตัวนั่งเมืองออก ถึงบทรบก็จัดตัวรบออก จึ่งจะได้ดูดี แม้คนร้องก็เหมือนกัน ลางคนก็ร้องดีในทางดุดัน ลางคนก็ร้องดีในทางเพราะพริ้ง ต้องหาบทบาทมาให้เขาร้องแสดงสามารถที่เขาถนัด แม้เครื่องทำเพลงก็เหมือนกัน เช่นฆ้องหุ่ยก็ต้องเลือกเอาคนที่ไม่ทะเยอทะยาน แต่แม่นเพลงเข้าตี ถ้าให้คนทะเยอทะยานอยากตีเข้าตี ใส่ลูกมากไปก็เสียรสหมด หรือเครื่องลางอย่างต้องอาศัยคนดี เช่นปี่เปนต้น ถ้าคนเป่าดี เป่าแล้วฟังหวานหู ถ้าคนเป่าไม่ดี เป่าหนวกหู ถ้าเราหาคนที่เปาปี่ดีมาเป่าไม่ได้ จะคัดออกเลิกเสียไม่มีปี่ทีเดียวก็ดีกว่า สิ่งอื่นที่จะพึงฟังได้มีเหลืออยู่ถมไป สิ่งที่จะพึงแก้ไขไปตามกรณีนั้นมีมากสุดจะพรรณนา หากว่าเปลี่ยนแปลงไปด้วยความรู้สึกดี เข้าใจว่ามีแต่จะดีขึ้นหรือแปลก พาให้คนตื่นใจ

นี่เปนความเห็นพวกบ้า จะผิดถูกฉันใดก็ขออภัยโทษ แต่ความเห็นอันนี้เปนความเห็นที่ได้สังเกตเห็นเขาทำได้ผลมาแล้วทั้งนั้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ