๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับและทราบเกล้า ฯ ข้อความในลายพระหัตถลงวันที่ ๒๕ เดือนนี้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ตามที่ทรงพระเมตตาประทานอธิบายความเห็นในคำว่า ไสย ว่าจะมาแต่ เสยฺย และคำว่า คุณไสย แปลว่า คุณแห่งมนตร์ทางไสยสาตร์ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยเกล้า ฯ ว่า ความอาจเป็นดังที่ทรงสันนิษฐาน เพราะคำว่า เวทมนตร์ ก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน ที่ความหมายในคำเหล่านี้ ย้ายที่มาจากดี ไปเปนทางไม่ดี น่าจะเกิดจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงทำให้คำกลอนดังที่ทรงชักตัวอย่างประทานมา และคำพูดกันธรรมดาก็เปนไปในทางไม่ดีเสียหมด

คำว่า เสื้อเมือง ควรจะเขียนเป็น เซื่อเมือง เพราะตรงกับคำว่า เชื้อ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยทุกประการ ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านคำอธิบายของนายกุหลาบ ในหนังสือสยามประเภทว่า พระเสื้อเมืองมาจาก พระซื่อเมือง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องลากเข้าความมากกว่าอื่น ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยลงเนื้อเห็นด้วย แต่มาเขลาที่ไม่ได้สอบชาวอีศานถึงคำนี้ โดยหลงผิดไปว่า ในภาษาไทยใหญ่ เรียกเจ้าเมืองว่า เส้าเมือง บางที เสื้อ จะมาจาก เส้า กระมัง แต่มาภายหลังสอบได้ความว่าเสียง จ ไทยใหญ่ก็ออกเสียงได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเสียง ส ซ ความคิดในเรื่องหาที่มาของเสื้อเมืองจึงไปไม่ได้ตลอด จนมาเห็นพระอธิบายที่ประทานมา ความขัดข้องในเรื่องพระเสื้อเมืองก็หมดไป

ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพบในเรื่องของชวา มีคำว่า bisua แปลว่าดุร้าย น่ากลัว และว่าเพี้ยนไปจากคำว่า bhisma ในภาษาสํสกฤต เมื่อข้าพระพุทธเจ้าพบครั้งแรก ก็ตื่นใจ เพราะคำว่า ผีเสื้อ ซึ่งแปลไม่ออก น่าจะมาจากคำนี้เอง แต่ต้องระงับความคิดนี้ เมื่อได้ทราบเกล้าฯ ว่าทางภาคอีศานก็มีคำว่า ผีเสื้อ และใช้กันอยู่มาก ทั้งไม่ได้หมายความไปในทางดุร้ายอย่างยักษ์มารเสมอไป ตลอดจนมีเหตุผลอื่นๆ ซึ่งไม่ชวนให้คิดเห็นว่าจะเป็นคำเดียวกัน เนื่องด้วยคำว่า ผีเสื้อ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นหาคำไทยในถิ่นอื่นว่า ตัวแมลงผีเสื้อเรียกว่าอะไร เท่าที่ค้นพบก็ใกล้ไปในคำภาษาจีนทุกแห่ง ไม่พบคำที่มีเค้าเสียงว่า ผีเสื้อ บางทีคำว่าตัวผีเสื้อจะเพี้ยนเสียงมาจากคำอื่นในภาษาอื่น ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบ

เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไปภาคอีศานปีกลายนี้ เดินทางผ่านศาลเจ้าป่าแห่งหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า พระมเหศักดิ์ ชาวพื้นเมืองบอกข้าพระเจ้าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำว่า ศักดิ์สิทธิ์ ว่าในภาษาไทยเดิมจะเรียกว่าอะไร เพราะการนับถือผีสางเทวดาเป็นขั้นตันของความเชื่อถือ น่าจะต้องมีคำใช้มาแล้ว หากคำนั้นเสื่อมสูญไป หรือกลายไปใความหมายอื่น เพราะเหตุได้คำว่า ศักดิ์สิทธิ์ มาใช้ จนเท่ากับเป็นคำแท้เสียแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามชาวพื้นเมืองหลายคน ก็ว่าไม่มีคำอื่นใช้ นอกจากคำว่า ศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น ในที่สุดข้าพระพุทธเจ้าพบกับพระยาวุฒาธิคุณ ซึ่งเป็นคนสกุลเก่าเมืองหนองคาย รับเป็นผู้สวนให้ ก็ได้มาแต่คำว่า เข็ด (ขยาด) ความไม่สู้ตรงกันนัก ข้อที่แปลกใจข้าพระพุทธเจ้าก็คือในภาษาอาหม มีคำว่า shing แปลว่า holy คำนี้ตรงกับคำในภาษาจีนทั้งเสียงและความ เมื่อคำนี้มือยู่ในภาษาอาหม ก็น่าจะมีอยู่ในภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏมี หรือถ้ามี จะกลายความหมายใช้เป็นอื่นเสียแล้ว คำที่นับว่าใกล้ก็มีแต่ สิง เท่านั้น ที่พอจะอนุโลมกันได้

ที่ประทานพระอธิบายเรื่องทำเพลงมานั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ ทรงสังเกตว่า การทำเพลงมีแต่คิดกันจะให้ดังกึกก้อง ไม่ได้คิดไปในทางที่ฟังให้ไพเราะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำรินี้ เพราะความคิดของมนุษย์ชั้นต้นในเรื่องร้องรำทำเพลง ก็คงมุ่งไปในทางดังกึกก้องก่อน และการทำเสียงให้กึกก้องนี้ ก็น่าจะเกิดเป็นจังหวะขึ้นในตัว เกิดเป็นคำว่า เพลง ขึ้น เพลงจึงต้องเป็นเสียงดัง ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ทราบเกล้า ฯ ว่า เพลง มาแต่ภาษาใด แต่เมื่อพิจารณาถึงคำเหล่านี้ ก็น่าจะคิดเห็นไปได้ว่า เป็นคำมีกำเนิดมาจากที่แห่งเดียวกัน เช่น เบ่ง ตะเบง ระเบง เปล่ง บรรเลง เพลง ล้วนมีความหมายไปในทางทำให้เกิดเสียงดังแทบทุกคำ

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานทราบเกล้า ฯ คำว่า โล่ กับ ดั้ง ผิดกันอย่างไร หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์มาถามข้าพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ และว่าตามที่ทราบ โล่ รูปสี่เหลี่ยม คู่กับดาบ เขน รูปกลม คู่กับหอก ส่วน ดั้ง รูปยาวห่อริม แต่ก็ไม่แน่ใจ เพราะเห็นใช้สับสนปนๆ กันอยู่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ