๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๗๙

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ได้รับแล้ว ขอบใจเปนที่สุด ทั้งดีเปนที่สุดด้วย ช่วยให้ฉันได้ความรู้กว้างออกไปอีกมาก

๑. สีกุหร่า รู้อยู่แล้วว่าเปนเสียงแขก แต่ทำให้ตื่นใจ ที่กลายเปนตัวหมวก ไม่ใช่สี ฉันเชื่อว่าถูกตามที่ท่านค้นพบ คำแขกที่ได้มา เรามักเข้าใจเคลื่อนคลาดไปเช่นนั้นเนือง ๆ

๒. พระแสงเวียดห้าว ถูกอย่างท่านว่าแน่นอน

๓. ยันตร์ราชะ ท่านค้นพบคำมลายูดีมาก ฉันเห็นด้วยว่าถูกเปนแน่ เราหลงเอาเปนคำบาลีสํสกฤตไป จึงทำความไม่เข้าใจให้เกิดขึ้น คำ คงกะพัน และคำ ชาตรี ฉันก็อยากรู้เหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ ทางที่ท่านสันนิษฐานนั้นเข้าทีมาก ตัว ส เปน ฉ นั้นไม่ประหลาดเลย ตัวอย่างมีถมไป เช่น สลาก เปน ฉลาก สิมพลี เปน ฉิมพลี ฉ เปน ช ก็มี เช่น เฉิด เชิด เปนต้น มีนักปราชญ์เขาว่า ที่จริงพยัญชนไม่มีกี่ตัวนั้นถูกที่สุด

๔. เรื่องไม้ไต่คู้ ท่านบอกข่าวว่าเคยมีการโต้เถียงเมื่อประชุมชำระปทานุกรม ยังไม่ได้ความตกลงกันอย่างไรนั้น ทำให้ฉันอยากบอกความเห็นของฉันให้ท่านทราบเปนส่วนจำเพาะตัว อันเครื่องหมายหยุมหยิมนั้น ฉันอยากให้มีน้อยที่สุด ถ้าไม่จำเปนจริง ๆ แล้วไม่ อยากให้บัญญัติขึ้นใช้เลย เหตุนี้ได้สติมาจากสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสปรารภแก่ฉันว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปเที่ยวทางปักษ์ใต้ ได้ทรงฟังเขาพูดสำเนียงสูงต่ำ ไม่เหมือนกับชาวกรุงเทพ ฯ แต่เมื่อเขาเขียนหนังสือมาถวายก็เห็นเขาใช้ไม้เอกไม้โทถูกดี ทรงสงสัย ตรัสถามเขาว่าเขาใช้ไม้เอกโทถูกถ้วนนั้นเขาสังเกตอะไร เพราะเสียงของเขาพูดไม่ตรงกับไม้เอกโท เขากราบทูลว่าจำไว้เท่านั้นเอง ว่าที่กรุงเทพ ฯ ใช้คำนั่นมีไม้อย่างนั้น นี่เปนข้อปรากฏว่าไม้เอกโทเปนของใช้ได้แต่แก่ชาวกรุงเทพ ฯ อันมีวงแคบนิดเดียวเท่านั้น ไม่เป็นของมีใช้ได้ทั่วพระราชอาณาจักร ไม่ใช่แต่ใช้ไม่ได้ ยังซ้ำไปทำความลำบากให้เขาแบกหนักเปล่า ๆ อีกด้วย เพราะฉันจึงมีความเห็นว่าเครื่องหมายหยุมหยิมนั้น ให้มีน้อยที่สุด เอาแต่เพียงจำเปนที่สุดจะเปนดี จะว่าจำเพาะไม้ไต่คู้ เห็นว่าคำใดซึ่งเขียนเหมือนกัน แต่คำหนึ่งอ่านเสียงสั้น คำหนึ่งอ่านเสียงยาว และมีความต่างกัน เช่น เอ็น กับ เอน นี่แหละจึ่งควรลงไม้ไต่คู้ ส่วนคำใดที่ไม่มีคำสั้นคำยาว ความต่างกัน จะอ่านสั้นหรือยาวก็ไม่ทำให้เข้าใจผิดไปได้แล้ว ฉันเห็นว่าไม่ควรลงไม้ไต่คู้ แต่ที่ว่านี้ก็เปนแต่ความเห็น ส่วนที่ฉันเขียนหนังสือก็ลักลั่น ลงไม้ไต่คู้หรือไม่ลงก็สุดแต่คล่องมือ ออกจะไปข้างทางพวกมากลากไป

๕. บัณฑูร เห็นหนังสือเขมรเก่า เขาเขียน บันทูล ท่าทีจะแปลเอาความได้ดีกว่า บัณฑูร

๖. เสื้อกุฎไต หรือ กุตไต คำที่ท่่านหามาเทียบดูใกล้จะถูกมาก ฉันเคยเห็นรูปเขียนเรื่อง จันทโครพ พวกโจรที่มาชิงนาง เขียนใส่เสื้อกั๊กลงยันตร์ เปนเสื้อเครื่องป้องกันอาวุธ พวกเดียวกับฉลองพระองค์ลงราชะ แต่ก่อนการเกณฑ์ทัพ ใครถูกเกณฑ์ก็ใช้เครื่องแต่งตัวและอาวุธของตนเอง ยูนิฟอมของหลวงจ่ายนั้นมีน้อย เสื้อกุฎไตอาจเปนอย่างเสื้อเครื่องที่ใช้กันอยู่ทั่วไปก็ได้กระมัง สระอี เปน ไอ นั้นเปนได้ ไม่ขัดข้องเลย

๗. ผ้าส่าน ฉันก็อยากทราบอยู่เหมือนกัน ว่าเปนผ้ามีลักษณะเปนประการใด พบที่กล่าวถึงผ้าส่านมามากมาย จนถึงถวายพระภิกษุห่มก็มี ท่านค้นพบมาบอกให้ได้ดีอย่างยิ่ง ขอบใจมาก แล้วยังเนื่องไปถึง ผ้ากำมะหลิด อีกด้วย

๘. ผ้ากาษา ท่านคิดถูกเปนแน่แล้ว เหตุที่นำไปให้เข้าใจว่าเปนผ้าย้อมฝาดนั้น เพราะชื่อพนักงานในกรมศุภรัตมีคำนั้นใช้อยู่มาก เช่น พระศุภรัตกาษายานุกิจเปนต้น แต่ชื่อพนักงานภูษามาลาก็มีขุนสุวรรณกาษาอยู่ ไม่เกี่ยวกับภิกษุเลย จะว่ากาษาเปนผ้าย้อมฝาดอย่างไรได้ คำ กาษา แปลว่า ผ้าเนื้อหยาบ คือผ้าทอในเมืองไทยนั้นเหมาะสมที่สุด เพราะไทยเราทำด้ายให้เส้นเล็กไม่เปน ผ้าเนื้อละเอียดที่ทำมาแต่นอกจึงได้เรียกว่าผ้าเทศ

๙. โหมด ตาด เข้มขาบ สามารถจะบอกให้ท่านเข้าใจได้ดี ด้วยเปนของใช้มาก เห็นอยู่เสมอ

ก. ตาด มีหลักที่ทอด้วยทองแล่งกับไหม ทองแล่งนั้นหมายถึงแผ่นเงินกาไหล่ทอง ตัดแล่งออกเปนเส้นอย่างเดียวกับเส้นตอก เอาเข้าทอกับไหมสี เรียกว่าตาดทอง แล้วยังเรียกตามที่ทอยกเปนลายไปอีกด้วย เช่นยกเปนดอกสี่เหลี่ยม เรียกว่าตาดตาตั๊กกะแตน ถ้ายกดอกเปนคดกฤช เรียกว่าตาดคดกฤช ถ้าปักไหมทับบนเปนดอกไม้อีกทีหนึ่ง เรียกว่าตาดระกำไหม ถ้าเส้นแล่งเปนเงินไม่ได้กาไหล่ทองเอาทอกับไหมขาว เรียกตาดขาว ทีหลังมีของเทียมทำเข้ามา เอาทองแดงทำแทนเงินกาไหล่ทองกาไหล่เงิน ใช้ไปไม่กี่วันก็ดำ เรียกกันว่าตาดทองแดง หรือตาดเยรมันก็เรียก ส่วนตาดที่ทำด้วยเงิน เมื่อเรียกเข้าคู่กับตาดทองแดง เรียกว่าตาดเงิน

ข. โหมด มีหลักที่ทำด้วยกระดาษทองตัดเปนเส้นเหมือนเส้นทองแล่งทอกับไหม แล้วก็เรียกแยกไปตามสีไหม เปนโหมดเหลือง โหมดแดง โหมดเขียว ภายหลังมีผ้าทำมาอย่างใหม่เอากระดาษทองพันเส้นไหมทอกับไหมสีเปนลายเหมือนแพรลายทอง ถ้าทำมาแต่อินเดียเรียกว่าโหมดเทศ ถ้าทำมาแต่ญี่ปุ่นเรียกโหมดญี่ปุ่น คงเปนหลักอยู่ที่ทำด้วยกระดาษแล้วเรียกโหมดทั้งนั้น

ค. เข้มขาบดูต่อไปข้างล่าง

๑๐. เยี่ยรบับ เข้มขาบ อัตตลัด เปนผ้าชะนิดเดียวกัน เอาเงินแผ่บาง กาไหล่ทองหุ้มเส้นไหม หรือที่เรียกว่าไหมทองนั้น ทอกับไหมสียกเปนลายต่าง ๆ เราเรียกชื่อต่างไปด้วยลาย ถ้าเปนลายดอกถี่เห็นทองมากมีพื้นน้อยเรียกว่าเยี่ยรบับ จัดว่าเปนดีที่ ๑ ถ้าลายเปนริ้วเห็นทองกับพื้นเท่ากันเรียกว่าเข้มขาบ จัดว่าเปนที่ ๒ ถ้าเปนดอกลอยห่าง ๆ เห็นพื้นมาก เห็นทองน้อย เรียกว่าอัตตลัด จัดเปนที่ ๓ ทั้ง ๓ อย่างนี้ลางทีก็มีทอแซมไหมเงินด้วย ภายหลังก็มีเยี่ยรบับปลอมทอด้วยไหมทองปลอมเข้ามาขายเหมือนตาด ใช้ประเดี๋ยวก็ดำ เรียกกันว่าเยี่ยรบับเทียม คำเยี่ยรบับนั้นใช้แต่ในหนังสือกับกราบทูล ด้วยถือว่าเปนคำที่ถูก ขยับจะเปนราชาศัพท์ ที่พูดกันทั่วไปนั้นพูดว่า ส้ารบับ ต้องตามที่ท่านค้นพบ

๑๑. ฉลองพระองค์ครุยปัตหล่า (อ่านออกเสียงว่า ปัตตะหล่า) องค์เดิมเปนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เปนฉลองพระองค์เก่าที่สุดซึ่งยังมีเหลืออยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือและโปรดมาก มีงานที่สำคัญแล้วก็ทรง และยังโปรดพระราชทานให้สมเด็จพระน้องยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงในเวลาที่สำคัญ เช่นทรงผนวชเปนต้นด้วย ฉลองพระองค์นั้นเปนผ้าริ้วเขียวสลับทอง ที่ริ้วเขียวเปนริ้วทึบ ที่ริ้วทองเปนริ้วโปร่ง ทอโดยวิธีขึงไหมเขียวชิดกัน ขึงไหมทองห่างกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด จึงตรัสสั่งออกไปให้ทำผ้าชะนิดนั้นเข้ามาใหม่ ทรงตัดเปนฉลองพระองค์เครื่องต้น และพระราชทานแจกแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอไปตัดฉลองพระองค์ทรง เห็นจะมีทุกพระองค์ แต่ผ้าที่ทำมาใหม่นั้นผิดกันกับผ้าเก่า สีผ้าใหม่เปนสีเขียวนกกาลิง ผ้าเก่าเปนสีเขียวเจือครามมาก ทำไมจึงเรียกว่าปัตตะหล่า ก็หาทราบไม่

๑๒. ชื่อผ้าต่าง ๆ ยั่นตานี่ (เคยได้ยินเรียก ยั่นต้าหนี่) สุหรัด กุศราช (เคยได้ยินเรียก กุศหราด) เปนแต่เคยได้ยินชื่อ ไม่เคยเห็นผ้า คิดว่าชื่อเหล่านั้นจะ เปนชื่อเมืองที่ทำผ้าส่งเข้ามา เข้าใจว่าคำสุหรัดนั้นแหละที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายมาเปนชื่อสุราษฎร์ธานี ส่วน ผ้าทิพย์ นั้นเคยพบที่ใช้เรียกมาสองอย่าง ผ้าลาดรองนั่งปล่อยชายห้อยลงมาปรกแท่นอย่างหนึ่ง กับผ้าคาดเอวปล่อยชายห้อยลงมาอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเปนผ้าอย่างไรก็เรียกว่าผ้าทิพย์ ดูเหมือนจะเปนชื่อแห่งอาการห้อย ไม่ใช่ชื่อชะนิดผ้า

๑๓. กุดั่น คำนี้ไม่ควรจะมีปัญหา เปนด้วยปทานุกรมแปลว่า เครื่องทองประดับพลอย นั้นคับแคบไป ถ้าแปลกุดั่นว่าทองแกมแก้วแล้วเปนสิ้นปัญหา คำที่มีในลิลิตเรื่องฉลองวัดพระเชตุพน ว่า ลายปั้นกุดั่นก็คือลายปั้นปิดทองประดับกระจกเท่านั้นเอง พระโกศทรงพระศพซึ่งเรียกพระโกศกุดั่นก็ทำด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกัน

๑๔. ภู่กลิ่น เปนชื่อพวงดอกไม้ วิธีร้อยดอกไม้แขวนนั้นทำกันเปนแบบ มีรูปต่างๆ เรียกชื่อต่าง ๆ สำหรับกันไป มีชะนิดที่เรียกว่า ภู่ ร้อยเปนพวงมาลัยเรียงซ้อนกันลงมาเป็นชั้นๆ ที่สุดมีพวงอุบะห้อย และมีชะนิดที่เรียกว่า กลิ่น อยู่ ๒ อย่าง ร้อยมีลักษณะดุจเข่งปลาทูประกอบด้วยอุบะ ถ้าทำให้ผูกแขวนคว่ำลงเรียกว่า กลิ่นคว่ำ ถ้าทำให้ผูกแขวนตะแคงเรียกว่า กลิ่นตะแคง ที่เรียกว่า ภู่กลิ่น นั้นไม่มี แต่ฉันเข้าใจว่าหมายถึงชะนิดที่เรียกว่า ภู่ นั้นเอง คำในกลอนขุนช้างขุนแผน ซึ่งท่านคัดไปให้ดูที่ว่า กลิ่นชั้นผูกภู่ดูบรรจง นั้นปักเอาชะนิดที่เรียกว่า ภู่ ทีเดียว คำ ภู่กลิ่น นี้ฉันได้เคยพิจารณามาก่อนแล้ว จะเก็บมาบรรยายก็จะมากความไปเปล่า ๆ จะพูดแต่เท่าที่ตกลงใจเห็น คำว่า กลิ่น นั้นหมายถึงดอกไม้อันมีกลิ่นหอม ภู่ นั้นหมายถึงพวงอุบะห้อย ซึ่งหากว่าเปนพวงดอกไม้แขวนแล้ว ย่อมประกอบด้วยอุบะ คือ ภู่ หมดด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหากเป็นพวงดอกไม้แขวนแล้ว ไม่ว่าจะทำรูปเปนอย่างไรก็ควรเรียก ภู่กลิ่น ได้ทั้งนั้น ตั้งแต่เกิดมาพบคำ ภู่กลิ่น ที่ไหนก็พาให้เข้าใจว่าเปนพวงดอกไม้ทั้งนั้น ที่ผู้แต่งสุธนูคำฉันท์ (เขาว่าหลวงนายชาญภูเบศร ในรัชชกาลที่ ๓) เข้าใจว่าเปนศาสตราวุธนั้นแปลกมากอยู่ แต่หวังว่าท่านจะไม่ได้พบที่อื่นรับรอง อีกเปนคำรบ ๒ สงสัยว่าจะเขียนผิด ด้วยฟังขวางหูหนัก คำ รณภู ก็ใช้กันอยู่ทั่วไป หมายความว่าที่รบ คำ กลิ่น นั้นแหละจะเขียนผิด

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ