- คำนำ
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๓)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๓)
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น (๒)
- ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๓)
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
ขอประทานกราบทูล ทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานกราบทูลเรื่องสืบถามชื่อ ผ้าลายย่ำมะหวาด ในชั้นแรก ข้าพระพุทธเจ้าได้วานคนในกรมศุลกากรสอบถามพวกแขกเทศที่เป็นผู้สั่งผ้าลาย ผู้นั้นได้สอบถามนายเออีนานา ได้ความว่า ย่ำมะหวาด ไม่ใช่ภาษาแขก แต่เป็นภาษาไทยนี่เอง จะแปลว่าอะไร นายเออีนานาไม่ทราบ และอธิบายว่า ย่ำมะหวาด เป็นผ้าลายอย่างดี พื้นขาวดอกม่วง ผู้ดีมักชอบใช้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้รับตอบเช่นนี้ ก็ปลาดใจ เพราะผ้าลายย่ำมะหวาด ซึ่งเป็นที่เข้าใจกัน ก็คือผ้าลายเนื้อดี ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพื้นสีขาวดอกม่วง แต่เมื่อผู้บอกเคยเกี่ยวข้องกับเรื่องผ้าลาย คำอธิบายก็เห็นจะฟังได้ เมื่อเช่นนี้ คำว่า ย่ำมะหวาด จะแปลว่าอะไร เสียงที่ใกล้กับ มะหวาด ก็มี มะหวด ซึ่งบางทีก็ใช้เรียกแทนสีม่วงชะนิดหนึ่ง ดูเข้ากับสีดอกของผ้าย่ำมะหวาดได้ดี ส่วนคำว่า ย่ำ บางทีจะเป็น ยา ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เคลือบเงินทองให้เป็นสีต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า น้ำยา ที่ ยา กลายเป็น ย่ำ คงจะเป็นเพราะเสียง มะ ในตัวต้นของ มะหวาด เข้าไปลากเสียง ยา ให้เป็น ยาม หรือ ย่าม ไป เพราะฉะนั้น ย่ำมะหวาด ก็น่าจะเป็น ยามหวาด หรือ ยาสีมะหวด ได้บ้างกระมัง แต่การวินิจฉัยที่มาของคำในทำนองนี้ เป็นการลากเข้าความ ซึ่งมักผิดมากกว่าถูก และทำความยุ่งยากให้แก่ภาษามาแล้วไม่น้อย ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังไม่พอใจ ได้รอต่อมา ก็ได้พบกับแขกเทศอีกคนหนึ่ง ได้อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ย่ำมะหวาดนั้น เป็นผ้าลายทำจากผ้าขาวเทศ ผิดกว่าผ้าลายธรรมดาที่ทำจากผ้าดิบ เพราะฉะนั้น ผ้าลายย่ำมะหวาดจึงมีราคาแพง ส่วนคำว่า ย่ำมะหวาด ว่าไม่ใช่คำไทย คงจะเป็นคำเดียวกับคำว่า อุมดาหวาด ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งอยู่ในเขตต์เมืองสุรัต และเป็นที่ทำผ้าลายเนื้อดี คือย่ำมะหวาดกันมาก ตามคำอธิบายนี้ดูได้ความดีว่าคำอธิบายแรก เพราะ อุมดาหวาด อาจเพี้ยนเป็น ย่ำมะหวาด ได้ ด้วยเสียง อุม เพี้ยนเป็น อม ได้ อ กับ ย ก็เพี้ยนกันได้ มีตัวอย่างเช่น อง (อาจ) ยง อ่อน หย่อน เป็นต้น ในภาษาจีนมีคำอยู่คำหนึ่งในภาษาแต้จิ๋วว่า อิม แปลว่า เสียง และการร้องลำนำ คำนี้เสียงในกวางตุ้งเป็น หน่ำ บางทีก็เพี้ยนเป็น หย่ำ เพราะฉะนั้น อิม อาจเพี้ยนเป็น อำ-ยำ-นำ ตลอดจนคำว่า ลำนำ ก็เห็นจะได้ แต่การอธิบายคำว่า อุมดาหวาด อาจเพี้ยนเป็น ย่ำมะหวาด เป็นการอธิบายตามหลักของเสียงที่อาจเพี้ยนกันได้เท่านั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมืองอุมดาหวาดนี้อยู่ที่ไหน แขกผู้บอกก็ว่าไม่เคยไป เป็นแต่ได้ยินชื่อเท่านั้น ให้เขียนเป็นตัวฝรั่ง เพื่อสอบค้นในแผนที่ ก็เขียนฝรั่งไม่เป็น ข้าพระพุทธเจ้าได้ลองสอบค้นดู ก็ไม่พบ ถ้ามีก็คงเป็นเมืองเล็กน้อย จึงไม่ปรากฏในแผนที่ ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังไม่พอใจอยู่เพียงเท่านี้ ได้วานให้ผู้อื่นสืบถามแขกคนอื่นต่อไป แต่กว่าจะได้เรื่องก็คงนานเวลา ข้าพระพุทธเจ้าจึงรวบรวมข้อความที่สอบได้เพียงนี้ กราบทูลมาเสียชั้นหนึ่ง ที่ข้าพระพุทธเจ้ายังติดใจคำว่า ย่ำมะหวาด เป็นชื่อเมือง เพราะชื่อผ้าโดยมากมักเรียกตามชื่อเมือง แต่ก็ไม่เป็นเสมอไป เช่นทุกวันนี้มีผ้าลายรามจันทรซึ่งห้างรามจันทรในกรุงเทพ ฯ นำมาจำหน่าย ถ้าต่อไปภายหน้า คำว่า รามจันทร หรือบางทีอาจเพี้ยนเป็น แรมแจน รัมจน ไป ก็อาจต้องสอบสวนกันใหญ่
ผ้ายั่นตานี ตามที่ได้กราบทูลไปว่า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังสอบถามไปเมืองปัตตานีนั้น บัดนี้ได้รับตอบว่า ยั่น ไม่ปรากฎในภาษาแขกทางปัตตานี จึงเป็นอันถือว่า ยั่น ออกมาจาก ย่าน ได้สนิทยิ่งขึ้น
ยังมีผ้าอีกชื่อหนึ่ง โดยมากเป็นผ้าโสร่ง เนื้อดีเป็นมัน ดูเหมือนจะใช้ขัดด้วยขี้ผึ้ง เรียกกันว่า ผ้ามะไลก๊าต คำนี้ได้ความว่า มาจากชื่อเมืองปุลิกัด (Pulicat) ในอินเดีย อยู่ใกล้เมืองมัทราส ซึ่งมีผ้าชะนิดนี้มาก
ยัง ผ้าขาวม้า อีกชื่อหนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่า ทำไมจึงเรียกเช่นนั้น หรือคำเดิมจะเป็นชื่อเมืองหรือชื่ออย่างอื่นของต่างประเทศ หากเสียงคล้ายกับ ขาวม้า จึงลากเข้าความให้แปลได้ อย่างเสาเกียดที่สำหรับนวดข้าว ในบัดนี้ก็เขียนเป็นเกียรติ์ แม้แต่ในทางราชการ เมื่อลากเข้าความให้แปลได้เสียแล้ว ซ้ำบางที ก็แต่งนิยายประกอบเสียด้วย การหาที่มาในคำอย่างนี้จึงเป็นการยากที่สุด แต่ในคำ ขาวม้า นี้ จะเป็นเพราะถูกลากเข้าความ หรือคำเดิมเป็นอยู่เช่นนั้นแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานกราบทูลถามมาด้วย
ในเรื่องลายผ้า เจ้าคุณอินทรมนตรีเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ได้เคยเห็นผู้หญิงแขกทางบอมเบนุ่งผ้าลายกันมาก และนุ่งทำนองที่แขกฮินดูนุ่ง คือหยักสูงข้างหนึ่ง สั้นข้างหนึ่ง ปัญหาจึงมีต่อไปว่า ไทยนุ่งผ้าลายแต่เมื่อไร เจ้าคุณอินทร ฯ เห็นว่าไทยยกลงมาอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้ง ๑๕๐๐ กว่าปีแล้ว และคงจะได้คติมาจากอินเดียทางนครปฐม การนุ่งผ้าโจงกระเบนนี้จะแพร่หลายมาช้านาน ไม่ใช่แต่ในสยาม ถึงพะม่าก็เช่นเดียวกัน ชาวพะม่าผู้ชายถึงจะนุ่งโสร่ง แต่เมื่อเข้าถึงพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านาย ก็หยิบชายสโร่งขึ้นอย่างกระเบน ถกขึ้นจนเห็นชายสนับเพลาแพรหรือกำมหยี่ แต่ไฉนจึงไม่เลยนุ่งผ้าเสียอย่างไทย ข้อนี้ก็น่าคิดอยู่
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท