๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๘๐

พระยาอนุมานราชธน

ฉันจะแจ้งความจริงให้ท่านทราบอีกต่อไป ที่แจ้งความในครั้งนี้ ย่อมเปนสำหรับให้ความรู้จำเพาะแต่ตัวท่าน ยิ่งไปกว่าที่เขียนมาให้คราวก่อนเสียอีก ขอให้ท่านรักษาไว้เปนส่วนตัวโดยจำเพาะ เพราะเรื่องราวเปนให้ผลดีร้ายแก่คนมากหน้า

เจ้าพระยาเทเวศรท่านเปนจางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๕ เพราะฉะนั้นปี่พาทย์มหาดเล็ก โขนหลวง และอะไรอื่นอีกอันอยู่ในกรมมหาดเล็ก ก็ย่อมตกอยู่ในบังคับท่านหมด ซ้ำท่านเองก็มีละคอนสำหรับตัวเอง อันเปนมรดกตกทอดมาถึงสามชั่วนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีการหลวงอย่างไรอันต้องการเล่นมโหรศพ มีการรับเจ้าฝรั่งเปนต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาเทเวศรจัดเล่นตามที่ต้องการมากหรือน้อย มีการร้องรับปี่พาทย์ ซึ่งเรียกว่า คอนเสิต เปนต้น มีโขน ละคอนเปนที่สุด

เจ้าพระยาเทเวศรท่านมีความสามารถในทางเปนเถ้าแก่ คือ รู้จักควบคุมและจัดคนใช้ ในการจัดเล่นมโหรศพทั้งนั้น ท่านจึงเลือกจัด ชวนคนที่ท่านเห็นว่ามีความรู้ดีเข้าช่วยท่าน การกระทำจึ่งเปนไปในทางว่าเปนบริษัท มีหัวหน้าช่วยท่านดังนี้

๑. ฉัน มีหน้าที่ในทางปรุงการเล่นและจัดบท

๒. หม่อมเข็ม กุญชร มีหน้าที่คิดการรำและหัด

๓. พระเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) มีหน้าที่คิดแลคัดเพลงร้อง ทั้งหัดด้วย

๔. พระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) มีหน้าที่คิดและคัดเพลงปี่พาทย์ ทั้งหัดซ้อมด้วย

๕. ตัวท่านเอง รับหน้าที่เปนผู้จัดคนเข้าเล่น ดูแลการฝึกซ้อมและเล่นงาน

หัวหน้าทั้ง ๕ แผนกนี้ ใครมีความเห็นอย่างไร ก็แสดงความเห็นให้แก่กันเสมอ เมื่อเห็นดีด้วยกันก็ทำไป ตามที่คนทั้งหลายเอาผลความดีมายกให้ฉันคนเดียวนั้นเกินไป ฉันคนเดียวจัดเอาดีเท่าที่เปนมาแล้วนั้นไม่ได้ดอก รู้ไม่พอ เหมือนเช่นระบำดาวดึงษ์ ฉันเปนผู้ปรุงบท พระเสนาะเปนผู้ปรุงเพลงร้อง หม่อมเข็มเปนผู้ปรุงกระบวรรำ ช่วยกันถึงสามคนจึงสำเร็จ กรมศิลปากรเคยลงโปรกรามว่า ระบำอันนี้ไม่เคยออกไปนอกกำแพงวังเลย แต่ตรงข้ามกับความจริง ยังไม่เคยเข้าไปในกำแพงวังเลย

ต่อไปนี้จะอธิบายถึงละคอนดึกดำบรรพ์ สืบมาแต่เล่นคอนเสิต ซึ่งในระยะแรกเจ้าพระยาเทเวศรท่านจัดเล่นอยู่ก่อน ร้องเพลงต่าง ๆ ซึ่งเห็นว่าไพเราะ และใช้บทร่วง ๆ แล้วแต่จะฉวยมาได้ไม่ว่าจากที่ไร ถัดมาระยะที่สอง ฉันเองเปนผู้ออกความเห็นว่าไม่ดี ควรที่จะใช้บทให้ติดต่อกันเป็นเรื่อง และจัดเพลงร้องที่อ่อนที่แขง ที่เนิบที่รุกร้นให้เหมาะกับบท ต่างก็เห็นดีด้วยกันจึงช่วยกันจัดเล่น ทีนั้นคอนเสิตก็ร้องเป็นเรื่องขึ้น ตกมาระยะที่สาม เกิดมีความเห็นกันขึ้นว่า ถ้าจัดให้มีตัวออกเล่นตามบทร้อง จะดูดีขึ้นอีกมาก ก็เป็นอันเห็นชอบพร้อมกัน จึ่งจัดขึ้นเป็นละคอนดึกดำบรรพ์ด้วยประการดังนี้ ความลับในละคอนดึกดำบรรพ์มีอยู่หน่อยหนึ่ง ฉันเปนคนปรุงบท ฉันไม่เดินตามแบบละคอนเก่า คือตัดคำกล่าวถึงคำกิริยาทั้งหมด คงมีแต่คำพูด ทำเป็นร้องบ้าง เปนเจรจาบ้าง แล้วแต่ที่ควร ที่ตัดคำกล่าวถึงกิริยาออก ก็เพราะเห็นว่าละคอนทำอะไรก็ย่อมเห็นอยู่ด้วยกันแล้ว ทำไมจะต้องบอกอีก การกระทำอันนี้ได้สติมาแต่จัดเล่นละคอนเรื่องอุนรุทธแบบเก่า ตอนทศมุขขึ้นไปเยี่ยมนางอุษา เห็นนอนอยู่กับอุนรุทธก็โกรธ ถึบอุนรุทธตกเตียงลงไป เจ้าพระยาเทเวศรเดือดร้อนว่า กว่าจะร้องสิ้นบททศมุขแล้วจับบทอุนรุทธ กว่าจะลุกขึ้นรบกันได้ อุนรุทธลงไปนอนไม่มีมูลอยู่นานเต็มทีไม่ดีเลย จะทำอย่างไรดี ฉันก็ออกความเห็นว่า จะไปร้องดำเนินเรื่องอยู่ทำไม ทศมุขเชิดปัง ๆ ขึ้นไป เห็นเข้าก็โกรธถีบเอาตกเตียง อุนรุทธก็ลุกขึ้นรบกัน เท่านั้นก็พอ ท่านเห็นด้วยให้ทำตาม ดูดีขึ้นเปนอันมาก แต่บทละคอนที่ไม่ร้องกิริยานั้น จะใช้ได้ดีแต่เล่นละคอน แม้จะเอามาอ่านเปนหนังสืออ่านเล่น จะไม่รู้ว่าเรื่องราวไปทางไหนเลย

คนทั้ง ๕ ซึ่งช่วยกันทำในเวลานั้น ต่างก็ตายไปแล้วสามคน เหลือแต่ฉันกับหม่อมเข็มสองคน ซึ่งไม่ใช่คนหากิน ต่างก็นอนนิ่งอยู่ คราวนี้พวกลูกมือซึ่งเจ้าพระยาเทเวศรจัดมาเล่นในครั้งนั้น ต่างก็ตั้งตัวขึ้นเปนครูบาอาจารย์ ประกอบทั้งผู้ที่ได้เห็นกระเสนกระสายมาก็เข้าผสมโรงด้วย ความจริงพวกครูเหล่านั้นไม่มีปัญญาจะคิดอะไรได้เอง เปนแต่จำได้ เก็บตกมาแต่เจ้าพระยาเทเวศรเล่นทั้งสามระยะ เช่นกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เอามาปรุงเข้าเปนอะไรต่ออะไรอย่างเขลา ๆ ฉันฟังมาตลอด ก็ไม่เห็นว่ามีอะไรใหม่ขึ้นเลย

ในคำของท่านที่กล่าวปาฐกถาอันมีว่า ถ้าเปนละคอนนอกก็ใช้เพลงร่าย เพื่อเดินเรื่องให้เร็วเข้า เพราะจะใช้แต่เพลงส่งต่างๆ เรื่อยไป ก็จะทำให้เรื่องที่เล่นล่าช้ามาก จึงต้องใช้เพลงร่ายร้องสลับเสียบ้าง คำนี้ท่านกล่าวด้วยเข้าใจผิดทีเดียว เพราะท่านเพิ่งสังเกตดูะคอน เมื่อครูที่ไม่มีปัญญาเขาเก็บตกมาปรุงตามบุญตามกรรมขึ้นสอนคนให้เล่น ด้วยหวังใจจะให้เหมือนละคอนดึกดำบรรพ์นั้นเสียแล้ว อันละคอนที่แท้จริงนั้น เขาใช้ร้องร่ายเปนยืนพื้น ที่ร้องลำนั้นใช้น้อยที่สุด ดูเหมือนจะมีจำกัดจัดได้เปน ๒ อย่าง คือ

๑. ร้องเพื่อให้หรู มีร้องลงโรง ร้องลงสรง ร้องจัดพล ร้องรถ ร้องม้า ร้องชมอะไรต่าง ๆ เปนต้น พวกนี้เปนของแถม ไม่สู้เป็นเนื้อเรื่อง แต่งเปนคำไพเราะเพื่อร้องเล่นให้หรู แม้จะตัดออกเสียก็ตัดได้ไม่เสียเรื่อง และโดยมากที่ละคอนเขาเล่น เขาก็มักจะตัดทั้งไม่เอา เพราะเห็นเสียเวลา

๒. ร้องที่ควรร้อง เช่นคำปลอบ คำครวญ คำขับ นี่ตัดออกไม่ได้ เสียเรื่อง ต้องร้อง

ในที่อย่างอื่น เช่นประทะทัพ เปนต้น เขาไม่ร้องลำกันเลย ตามคำที่ท่านอ้างว่า เพลงกระบอก เปนเพลงจังหวะเร็ว กินคำได้มาก ใช้ร้องในที่ประทะทัพนั้น ท่านสังเกตเห็นมาจากที่ครูไม่มีปัญญาเขาเก็บตกจากบทคอนเสิตพรหมมาศอันมีว่า ครั้นถึงที่ประจันบาลราญรอน เห็นวานรนับแสนแน่นหนา นั้นมาปรุงเข้ากับเล่นละคอน แต่ที่จริงใช้ไม่ได้ นั่นมันเปนบทคอนเสิตต่างหาก การประทะทัพละคอนเขาไม่ร้องลำกัน ข้อที่ขัดอย่างยิ่งนั้นการประทะทัพเปนการฉุกละหุก หาใช่ที่จะพึงร้องลำไม่ จะให้เปนละคอนคึกดำบรรพ์ก็เปนไม่ได้ หากเปนละคอนดึกดำบรรพ์ แม้ว่ามีการประทะทัพ ก็ไม่ร้อง เพราะเปนกิริยาประทะกัน ก็เห็นอยู่ทนโท่แล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ