๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

พระยาอนุมานราชธน

ได้รับหนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๖ เดือนนี้ ส่งคำนำหนังสือแจกงานพระศพพระองค์เจ้าอรพินทุ์เพญภาคย์ไปให้ตรวจ ได้ตรวจแล้ว เห็นรูปความซึ่งท่านเรียงขึ้นนั้นดีแล้ว แต่เห็นความลางตอนและคำลางคำซึ่งควรแก้ จึ่งได้แก้ส่งกลับคืนมาให้ และจะอธิบายเหตุที่แก้ลางแห่งให้ท่านเข้าใจต่อไปนี้

๑. ในปกหน้า แก้ พระพุทธศักราช เปน พ.ศ. เพราะ ศก เปนพระนามพระเจ้าแผ่นดินแห่งพระราชวงศ์หนึ่งในอินเดีย มหาศักราช หมายถึงปีที่พระเจ้าศกองค์ใหญ่ล่วงไปแล้ว จุลศักราช หมายถึงปีที่พระเจ้าศกองค์เล็กล่วงไปแล้ว อย่างเดียวกับ เมยี ของญี่ปุ่น ก็เราเอาคำ พุทธ ใส่เข้าแทนคำ มหา และคำ จุล นั้น ผิดอย่างหมดดีทีเดียว เอาความไม่ได้ พระท่านใช้ พุทธศาสนกาล ถูกอย่างที่สุด ผเอิญอักษรละ พ.ศ. จะอ่านว่า พุทธศาสนกาล ก็ได้ จึ่งยึดเอา พ.ศ. ใช้

๒. คำนำ ขึ้นต้นกล่าวถึงหม่อมเจ้าอุปลีสาณแจ้งความประสงค์ อาจทำให้คนอ่านสงสัยว่า หม่อมเจ้าอุปลีสาณเกี่ยวข้องอะไรจึงเข้ามาวุ่น เห็นควรจะไขความให้แจ่มแจ้ง ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงเอาเปนพระภาระ ตรัสใช้ให้หม่อมเจ้าอุปลีสาณทำการแทนพระองค์ นอกจากได้ความเข้าใจชัดขึ้นแล้ว ซ้ำเปนเกียรติยศแก่พระองค์เจ้าอรพินทุ์ปรากฏไปอีกด้วย จึงได้ลองร่างแก้มาให้ดูใหม่ แต่ถ้อยคำในนั้นลางทีจะมีใช้คำผิดจากทางราชการ หรือผิดแนวที่หอสมุดเคยเขียน ถ้าท่านเห็นว่าใช้ได้ก็จงแก้คำที่ผิดนั้นเสีย แต่ฉันยังวิตกต่อไปว่าสำนวนผิดกันจะอ่านเห็นต่าง ถ้าท่านจะเรียงคำเสียใหม่ให้กินสำนวนกันก็จะดีขึ้นอีก

๓. เกณฑ์ คำนี้สงสัยอยู่ด้วยกันแล้ว เมื่อมีคำอื่นใช้แทนได้ จะขืนใช้ เกณฑ์ อยู่ทำไม จึงแก้เสียให้เปน หลัก

๔. สนม แปลว่าเมียน้อยของพระราชาใช่หรือไม่ สนิทสนม แปลว่าเมียน้อยคนที่สนิทใช่หรือไม่ ถ้าใช่แล้วจะเอามาใช้ในที่อื่นควรแล้วหรือ เพราะสงสัยดั่งนี้จึงตัดคำ สนม ออกเสีย ด้วยเห็นไม่ทำให้เสียความ

๕. ขึ้น ๑ ค่ำ ไม่เปนภาษา จึ่งแก้กลับเปน ขึ้นค่ำ ๑

๖. ในสารบาญ ความที่กินหนังสือสองประทัด ได้หมายแก้ให้ถอยประทัดล่างไปข้างหลังเสียหน่อย หวังว่าจะได้ไม่พาหลงเมื่อดูหาหัวข้อ ในลำดับพระเจ้าแผ่นดินและลำดับวังหน้า ซึ่งตรวจให้มาคราวก่อน หาได้แก้พระนามที่เปนสองประทัดให้ประทัดล่างถอยหลังเข้าไปไม่ ถ้าแก้ตามกันไปเสียได้จะดีขึ้น

๗. ในสารบาญ ลงบัญชีรูปทองสำฤทธิ์ไว้ เมื่อลงบัญชีรูปแล้วก็ควรจะลงบัญชีพระรูป ซึ่งฉันจะทำส่งมาให้ไว้เสียด้วย

๘. มิ คำนี้มีใช้ในคำนำอยู่หลายแห่ง ฉันไม่ได้ตอแยอะไร แต่อยากเตือนให้ท่านพิจารณา ว่าคำ มิ กับ ไม่ นั้นเหมือนกันหรือต่างกัน จะชักตัวอย่างมาให้เห็นแต่เพียงคำเดียวคือ หามิได้ กับ หาไม่ได้ ผิดกันหรือไม่ผิด คนเดี๋ยวนี้เขาออกจะเลิกคำ ไม่ ใช้ มิ กันทั่วทุกแห่ง

เหล่านี้ติดจะเปนเรื่องจู้จี้ แต่รู้สึกว่าท่านชอบจู้จี้ จึ่งได้จู้จี้มาเกินสมควร

พระนาม รัษฎาธิราช ฉันคิดว่าหมายถึง รัฐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริเห็นเช่นนั้น ตระหนักพระราชหฤทัยว่าเขียนคลาดเคลื่อนเปนครึ่งบาลีครึ่งสํสกฤต จึงทรงแก้เปน รัฎฐาธิราช ในทางเขียนรัชฏาธิราช เห็นจะมีความเห็นแตกต่างไปหมายเอา เงิน ท่าน ตัดสินเอาสายกลางเปน รัษฎาธิราช นั้นดีแล้ว เพราะที่ไหน ๆ ก็เขียน เช่นนั้น

มีคำบุบสลายซึ่งสบตาฉันอยู่อีก ๒ คำ คือ มนูสารฤาษี ในหน้า ๒๒ กับ เหวสฐาน หน้าเท่าไรไม่ได้จดไว้ อยู่ตอนท้ายซึ่งกล่าวถึงพราหมณ์ ฉันเห็นไม่สำคัญถึงทำความให้ผิดก็ปล่อยผ่านไป ถ้าท่านผูกใจจะพิจารณา ย้อนดูอีกทีหนึ่งก็ได้

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ