๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๘๐

พระยาอนุมานราชธน

ได้รับหนังสือของท่าน ลงวันที่ ๗ ธันวาคม คัดสำเนาหนังสือลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ซึ่งมีข้อถามถึงเพลงและปี่พาทย์ไปให้ ขอบใจท่านเปนอันมาก แต่ที่สุดก็ค้นต้นหนังสือได้ ไม่หาย ได้เขียนตอบมาให้แล้ว

ข้อที่ท่านปรารภถึงคำ ตวนกู แปลว่า เจ้ากู ท่านแปลกใจที่คำมะลายู มอญ เขมร ไทย มีคำซึ่งแปลว่า เจ้ากู ใช้เหมือนกัน ฉันจะบอกพระดำริของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรควรพินิตให้ท่านทราบ ได้โปรดประทานพระดำริว่า สิ่งใด ๆ ในต่างภาษา หากว่ามาเหมือนกันเข้า จะต้องพิจารณาไปเปนสามทาง ผเอิญมาเหมือนกันเข้าทางหนึ่ง เรียนมาครูเดียวกันทางหนึ่ง กับเอาอย่างกันอีกทางหนึ่ง ฉันเห็นว่าพระดำริอันนี้ชอบยิ่งนัก คำว่า เจ้ากู ถึงจะมีในหลายภาษาก็ดี แต่เป็นเพียงความอย่างเดียวกัน แต่เสียงไม่เหมือนกัน จึ่งควรยุตติลงว่าได้แก่ทางที่สองคือร่วมครูเดียวกัน ครูเคยใช้เรียกอย่างนั้น ก็จำเอาคำครูผูกขึ้นในภาษาแห่งตนใช้เรียกบ้าง

คำว่า พลาย ท่านเคยบอกก่อนนี้ว่าเป็นภาษามอญ บัดนี้ท่านพบภาษาทมิฬ จะว่ามอญเอาอย่างทมิฬมาก็ยังว่าไม่ถนัด ควรแต่ตราไว้พิจารณาต่อไปก่อน ส่วนทางไทยนึกที่มาในคำว่า พลาย ได้แต่สองที่คือในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน กับที่เรียกช้างว่า พลายพัง ที่ท่านอ้างว่ามีคำ พลายฉงาย ฉันยังไม่เคยได้ยิน คำ พลาย ในเรื่องขุนช้างขุนแผนก็อยู่แต่ในเรื่องเท่านั้น ไม่ได้กระจายมาเปนคำใช้ทั่วไป แต่คำ ช้างพลาย นั้นใช้ทั่วไป จะว่าเราจำภาษาทมิฬมาก็ยังไม่ถนัดเหมือนกัน ควรจะหาคำพัง ซึ่งเป็นคำคู่กันดูเสียก่อน

มีอีกคำหนึ่งที่เพี้ยนตัวไปนิดหนึ่ง คือ พราย คำนี้เปนไปในทางข้างผี ในหนังสือเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ก็มีดกดื่น ทั้งกระจายออกมาใช้อยู่ทั่วไป และคำพูดในทางเรือก็มี พรายน้ำ ทางเรือเปนภาษามะลายูอยู่มาก น่าตรวจทางภาษามะลายูอีกทางหนึ่ง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ