- คำนำ
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๓)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๓)
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส
- ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ยส (๒)
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น
- ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น (๒)
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น (๒)
- ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๒)
- ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส (๓)
- ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น
- ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
ขอประทานกราบทูล ทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ สองฉะบับเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้นายสมบุญ ไปรับพระบรมรูปฉายาลักษณ์จากเจ้าหน้าที่ทางกองพิพิธภัณฑ์แล้ว
ที่ทรงพระเมตตาประทานข้อทรงสังเกตในถ้อยคำบางคำ ที่ข้าพระพุทธเจ้าใช้ในหนังสือเรื่องอสูรและยักษ์ผิดกันอย่าง ไร ข้าพระพุทธเจ้าขอรับใส่เกล้าไว้ด้วยความรู้สึกในพระกรุณาเป็นล้นพ้น
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในข้อรับสั่งเรื่องคำ ทว่า ว่าย่อมาจากคำ ถ้าว่า ที่ถูกควรจะเขียนเป็น ถว่า เพราะจะได้รักษารูปคำเดิมไว้ให้เห็น ดีกว่าเขียนเป็น ทว่า ซึ่งทำให้ไม่เห็นรูปเดิม และให้เกิดการเดาที่มาของคำผิดพลาดไป เช่นเดาว่า ทว่า มาจาก เท่าว่า ซึ่งไม่มีที่ใช้ในภาษา โดยอาศัยยึดเอาเสียง ท เป็นเกณฑ์ หาได้เฉลียวใจไม่ว่า เสียงที่พูดและเขียนมักสับสนกันได้ เช่น เถิด เสียงกร่อนลงเป็น เถอะ แล้วมาเป็น ทะ ในเรื่องพระลอ ซึ่งที่ถูกถ้าไม่ต้องเน้นเสียงของคำ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า น่าจะเขียนว่า ถะ ในเรื่องคำที่มีเสียงกร่อนร่อยหรอไปนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้พบคำว่า ประตู และ ประกบ ในภาษาไทยถิ่นอื่นที่ยังคงเสียงเต็มเป็น ปากตู และ ปากกบ อยู่ก็มี
คำว่า เสด็จ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับใส่เกล้าฯ ว่า ที่ใช้ไปแล้วเป็นผิดแน่ คำว่า ชาติ ก็ใช้ผิดเช่นเดียวกัน ที่ข้าพระพุทธเจ้าใช้ผิดพลาดไปเห็นจะเป็นเพราะคำทั้งสองนี้มีความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญ ผิดต่อความหมายของเดิม อันแท้จริง ถ้าไม่ระวัง ก็อาจพลอยใช้ผิดไปด้วย ในข้อนี้กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าระลึกไปถึงคำบางคำซึ่งย้ายที่แห่งความหมายไปจากเดิม อย่างคำว่า บ่าว และ สงสาร เป็นต้น ซึ่งน่าจะเกิดเพราะการใช้ผิดจากจุดกลางอันเป็นความหมายที่แท้จริง ไปนิยมใช้เป็นสามัญในความหมายที่อยู่ข้างเคียงของจุดกลาง ความหมายก็ค่อยเลื่อนย้ายจากจุดกลาง จนในที่สุดความหมายเดิมก็เลือนหายไป จับเค้าไม่ค่อยได้ว่าทำไมจึงห่างไกลความหมายเดิมไปมาก
ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นดูคำว่า ชั่ว ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ปรากฏว่าในภาษาอาหม มีคำว่า จ๊า แปลว่า หยาบ หนา ชั่ว ร้าย ไม่มา ยังไม่มาถึงในภาษาไทยใหญ่ จ๊า ว่า มีพื้นหรือผิวหยาบ เช่น ในความว่า หญิงฮางจ๊า แปลว่า หญิงรูปชั่ว ในภาษาผู้ไทยขาว จ๊า ว่า หยาบ ไม่เรียบร้อย ในภาษาไทยนุง โซ้ ว่าหยาบ ว่าไม่เรียบร้อย ซึ่งเป็นคำเดียวกับคำว่า โฉ ในภาษาจีนกวางตุ้ง ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า ช้า ที่แปลว่า หยาบ ไม่เรียบร้อย คงเป็นคนละคำกับที่แปลว่าชั่ว เพราะปรากฏในภาษาผู้ไทยขาว ในคำว่า ชั่ว ไม่ได้ใช้คำว่า ช้า แต่ใช้คำว่า เซา เช่น เซาลาย แปลว่า ชั่วร้าย ซึ่งตรงกับคำว่า เฉา หรือ เช้า ในภาษาจีนกวางตุ้ง แปลความเดียวกัน ส่วนคำ ช้า ที่หมายความว่า ล่า ว่า นาน เป็นคำที่แปลกมาก ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ มักใช้ว่า ล่า นาน หึง ไม่พบคำว่า ชั่ว เลย แต่บางทีข้าพระพุทธเจ้าจะยังค้นไม่ถ้วนถี่ ในภาษาจีนกวางตุ้งมีคำว่า โฉ่ย แปลว่า ช้า ว่าเดินช้า ๆ อย่างผึ่งผาย คล้ายกับคำว่า เฉื่อย ฉุยฉาย และ โชยชาย มาก
คำภาษาไทยชะนิดซ้อนคำ ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน เมื่อตกมาในภาษาไทยสยาม คำหลังมักแปลความไม่ได้ เพราะโอนความหมายไปให้คำต้นเสียหมด คงเป็นแต่คำประกอบช่วยความในคำหน้าให้ชัดขึ้นเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในภาษาไทยถิ่นอื่นว่าคงใช้เป็นคำในภาษาตามปกติ มีอยู่เป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้พบคำในภาคอีศานและภาคพายัพอยู่หลายคำ เช่น แปด (เปื้อน) ยอพล ตะวันเบี่ยง ซาเจ้า ทั่วแดน (ฦๅชา) พระไปซื่อนั้น (พระไปตรงนั้น) หลอ (เหลือ) คนคืน (คนเดิม) วาคลอง (วัดทาง) ปลาวีหาง (พัด) เปา (ปม) ในคำซ้อนจำพวกนี้ บางทีคำหลังแปลได้ความ แต่ผิดความหมาย กระทำให้เข้าใจผิดไปก็มี เช่นคำว่า ไห้ช้าง ในเรื่อง พระลอ เคยแปลกันว่า ร้องไห้ใหญ่ เพราะไปเพ่งเล็งถึงลักษณะรูปร่างของช้าง บางท่านก็แปลว่าร้องไห้น้ำตาไหลพรากอย่างช้างร้องไห้ แต่คำว่า ช้าง นี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้พบในภาษาไทยถิ่นต่างๆ เช่น อาหม ไทยใหญ่ ผู้ไทยขาว และไทยนุง มีคำว่า จ๊าง แปลเหมือนกันหมดทุกถิ่น ว่าร้อง ครวญ คราง ร้องร่ำไร เดือดร้อน โศกเศร้า และใช้เป็นปกติในภาษา เช่นในไทยขาวใช้ว่า ตัวเสือจ๊างในดง คนเป็นไข้จ๊างกว่าคืน ข้าพระพุทธเจ้าค้นพบคำในภาษาจีนชาวกวางตุ้งว่า ช้อง ชาวแต้จิ๋วว่า ชาง แปลว่า โศกเศร้า ระกำใจ ช้ำชอกใจ ซึ่งดูรูปคำน่าจะเป็นคำเดียวกัน
ที่ได้กราบทูลมาโดยยืดยาวทั้งนี้ จะผิดถูกประการใด ขอรับพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระเมตตา
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท