๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ขอประทานกราบทูล ทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระอธิบายที่ทรงพระเมตตาประทานมาถึง เรื่องช้างศึกและเรื่องอื่นๆ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามไป ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าเหนจริงตามกระแสพระดำริว่า สัปคับพระคชาธารปักฉัตร์ จะปรุงขึ้นในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่ข้าพระพุทธเจ้าได้พบรูปภาพสลักของนครวัด ทำเป็นรูปสงครามพวกปาณฑพ ในรูปนั้นมีช้างศึกกำลังเข้าชนกัน ช้างนั้นมีควานคอถือขอหนึ่งคน กลางช้างผูกสัปคับ มีข้างเตี้ย ๆ เหนจะสูงไม่เกินศอกหนึ่ง กลางสัปคับมีแม่ทัพกำลังยืนแผลงศร ควานท้ายไม่มี บางแห่งแม่ทัพที่ยืนอยู่ในสัปคับ ยืนอยู่ในท่าก้าวเท้าหน้าอยู่ในสัปคับ และเท้าหลังอยู่ที่เบื้องท้ายของช้าง คิดด้วยเกล้าว่า ลักษณะเช่นนี้จะเป็นวิธีในประเทศหนึ่งและสมัยหนึ่ง เพราะในหนังสือมหาวงศ์ ตอนที่กล่าวถึงท้าวทุษฐคามินีชนช้างกับเอฬารราช ก็จะปรากฏว่าท้าวทุษฐคามินีเสด็จขึ้นทรงคอพระยากุณฑลหัตถี ยกพระหัตถ์สำผัสตระพองพระยาซ้าง และปรากฏต่อไปว่ามีควานช้างขึ้นขี่ท้ายช้างด้วย ที่ท้าวทุษฐคามินีทรงคอช้าง ก็เพราะผู้เป็นนักรบย่อมขับขี่ช้างเป็นทุกคน แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า การชนช้าง ๆ ย่อมแล่นเข้าหากันโดยแรง ถ้าฉวยพลาดพลั้งอาวุธที่ขุนช้างถือหลุดมือไป จะได้อาวุธที่ไหนมาแทน รูปช้างที่นครวัด ช้างสัปคับก็ไม่ปรากฏว่ามีอาวุธสำรองเป็นอาไหล่ไว้ ในหนังสือมหาวงศ์แห่งหนึ่งว่า ท้าวทุษฐคามินีพุ่งพระแสงไปประหารข้าศึก แสดงว่าต้องมีอาวุธอื่นสำรองไว้ แต่จะเอาไว้บนช้างที่ตรงไหนหรือเอาไว้กับตัวขุนช้างอย่างไร ไม่ปรากฏ บางทีอาจจะอยู่ที่คนกลางช้างก็เป็นได้ เวลาเข้ารบตะลุมบอน น่าจะสังเกตได้ยากว่าเป็นช้างแม่ทัพหรือเป็นช้างของใคร หรือจะสังเกตดูแพนหางนกยูงที่คนกลางช้างถือ ที่ใช้หางนกยูง จะเป็นเครื่องหมายบอกสัญญาให้ควานท้ายหรือให้ทหารทราบหรือประการใด ขอประทานทราบเกล้าด้วย

ในเรื่องช้างดั่งได้กราบทูลมานี้ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถวายมาโดยที่ไม่มีความรู้ ถ้าผิดพลาดประการใด ขอรับพระบารมีปกเกล้าเป็นที่พึ่ง พระอาญาไม่พ้นเกล้า

เรื่อง พนาถกำมญีหักทองขวางประดับพลอยมีคายหน้า คือ ข่ายหน้า ตามที่ทรงพระกรุณาประทานพระอธิบายมา ประจวบกับเมื่อวานนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้รับหนังสือจากพระภิกษุองค์หนึ่งอยู่ เมืองสกลนคร ชี้แจงคำแปลในคำโคลงที่ว่า คาดกร่ายชายทองวาง ร่วงรุ้ง ว่าคำว่า กร่าย นั้นได้แก่ ข่าย หรือ ร่าง คือเครื่องลาดหลังช้างที่ทำเป็นตาข่ายคล้ายร่างแห แต่ถี่กว่านั้น เดิมแท้เป็นข่าย เช่น ทางไทยภาคอุดรเรียกเครื่องลาดหลังช้างว่า ข่ายคำ กลายมาเป็น คาย กร่าย โดยลำดับตามเสียงของท้องถิ่น ดั่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าว่า น่าจะถูกเพราะเสียงกล้ำ กร กับเสียง ข เคยมีตัวอย่างในคำอื่นอยู่มาก

ข้าพระพุทธเจ้าพบในจดหมายรายวันทัพครั้งกรุงธนบุรี คราวที่ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาว่า เรือรบเขียนเป็นรูปตราตามตำแหน่ง ตรงข้างเรือเขียนเป็นลายรดน้ำ เรือพระที่นั่งทรง เขียนหน้าเรือเป็นรูปครุธ ข้างเป็นลายรดน้ำ พนักท้ายเขียนน้ำทองพระอวดทอง หลังคาสีสักหลาด ตะกุดแจว เสากะโดง ทาสีเหลือง พลแจวใส่หมวกใส่เสื้อสีดอกคำ เรือรบเจ้าราชนิกุล เขียนลายรดน้ำ หลังคาหุ้มผ้าแดง พลแจวใส่เสื้อเขียวมีธงและโคม

ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าว่า เมื่อเรือรบมีเครื่องหมายบอกให้รู้ถึงตำแหน่งผู้ที่ควบคุมไป ช้างศึกก็น่าจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นที่สังเกตเหมือนกัน กับขอประทานทราบเกล้าด้วยว่า พระอวดทอง นั้นคืออะไร และสีสักหลาดนั้นเป็นสีอะไร ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพบคำอธิบายเรื่องผ้าสักหลาดในหนังสือต่างประเทศว่า มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Scarlet คือสีแดงเลือดนก แต่โดยเหตุที่ สักหลาด คำนี้ ย่อมมีอยู่ในภาษาต่างๆ ทางภาคตะวันออกของอาเซีย การวินิจฉัยที่มาของคำจึงยังเป็นที่เถียงกันอยู่ ในภาษามลายูมีคำว่า Sakalāt ว่าเป็นภาษาเปอร์เซีย อธิบายไว้ว่าเป็นผ้าขนาดกว้างอย่างดีเนื้อหนา เช่นผ้าที่เอามาตัดเป็นเครื่องแบบ บางทีผ้าสักหลาดที่เข้ามาสู่ประเทศสยามในชั้นเดิมจะเป็นแต่สีเดียว จึงได้ใช้เรียกสีอย่างหนึ่งว่า สีสักหลาด เป็นทำนองเดียวกับสีกุหร่า (แต่ในที่อื่นเขียนว่าสักหลาดเขียวก็มี) ถ้าสักหลาดแปลว่าสีแดงเลือดนก แต่ก็มีความต่อไปในจดหมายฉะบับนั้นว่า หลังคาหุ้มผ้าแดง สีผ้าแดงที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยเหน ก็ไม่สู้ห่างไกลกับสีแดงเลือดนกนัก ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพบ ดูเหมือนว่าพวกฝีพายก็เรียกว่าตัวสักหลาด และคนถือธงนำหน้ากระบวนทัพ ได้มีผู้บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า เรียกตัวสักหลาดเหมือนกัน บางทีจะใส่เสื้อสีสักหลาด ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้สังเกตไว้แต่เดีม

ในจดหมายเหตุฉะบับนั้น และในหนังสือเก่า มักเขียนคำว่า สำนัก และ สนุก มีคำว่า นิ ต่อท้าย แต่ในสมัยนี้ตกลงเลิกคำว่า นิ เสียแล้ว จะว่าเป็นการเติมเข้ามาเปล่า ๆ ก็ดูออกจะเป็นการสันนิษฐานเรวไป ทั้งนี้ขอประทานทราบเกล้าด้วย

อนึ่ง ในเวลานี้ ทางการกำลังดำริจะเลิกใช้ตัวอักษรในวรรค ฎ ฏ เสีย เพราะเหนว่า ตัวอักษรในวรรคนี้ ถ้าว่าถึงเสียง ก็ไม่ผิดแปลกกับอักษรในวรรค ด ต และโบราณก็เคยใช้คำที่ภาษาเดีมเป็นวรรค ฎ ฏ มาเป็นวรรค ด ต เช่นคำว่า ครุธ เป็นคัน ถ้ายกเลีกแล้ว การเรียนหนังสือและการใช้พิมพ์ดีดจะสะดวกดีขึ้น แต่ที่จะเปลี่ยนเป็น ก ข เล็กนี้ เป็นเรื่องเปลี่ยนจากความเคยชิน จะมีข้อติดขัดแก่ทางภาษาขึ้นเพียงไร น่าจะกินเวลาสอบสวนกันอีกนาน จึงจะตกลงกันได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ทราบใต้ฝ่าพระบาท

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ